ทะยานฟ้า!กล้องเจมส์เวบบ์ไขปริศนากำเนิดเอกภพหมื่นล้านปี
รายงานจากต่างประเทศระบุว่า วันที่ 25 ธันวาคม 2021 เป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ของโลกเพื่อที่จะย้อนไปดูถึงถิ่นกำเนิดในอดีตตั้งแต่บิ๊กแบ็งเลยก็เป็นได้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทะยานขึ้นฟากฟ้าแล้วด้วยจรวดยักษ์ Ariane 5 ซึ่งฐานยิงในครั้งนี้อยู่ที่ เมืองคูรู ในเฟรนช์เกียนา ดินแดนโพ้นทะเล ของประเทศฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้
หัวใจสำคัญของกล้อง คือ กระจกหลักมีความกว้าง 6.5 เมตร ประกอบขึ้นจากกระจกหลายชิ้น และอุปกรณ์อื่นๆ นั่นคือ กล้องถ่ายภาพและเครื่องวัดสเปกตรัมรวมกัน 4 ชิ้น นี่คือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศขนาดใหญ่ที่สุด และทรงประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เคยมีมา
หลังจากขึ้นไปบนพสุธา 30 นาที กล้องJWST ซึ่งเป็นชื่อย่อของ James Webb Space Telescope จะออกจากลำจรวด และเข้าสู่กระบวนการติดตั้งของมันเอง โดยกระบวนการของมันมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะมีมากถึง 344 ขั้นตอน ระหว่างมุ่งหน้าไปสังเกตการณ์ในอวกาศ ตามโปรแกรมกำหนดเอาไว้ ที่ห่างจากโลกมนุษย์ไปไกลถึง 1.5 ล้านกิโลเมตร
แผนงานจากคณะทำงานมากกว่า 1,000 ชีวิต วางเป้าเอาไว้ว่า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน กว่าที่กล้อง JWST จะปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถส่งภาพถ่ายห้วงอวกาศลึกภาพแรกกลับมายังโลกมนุษย์ คาดว่าอยู่ที่กลางปีหน้า หรือ มิถุนายน 2022
สำหรับ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เป็นโครงการความร่วมมือขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศแคนนาดา (CSA) เพื่อตะลุยอวกาศ ทำภารกิจควบคู่กันไปกับ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ตะลุยจักรวาลอันไกลโพ้นมานานกว่า 3 ทศวรรษ
“นาซ่า” มั่นใจอย่างมากว่า โลกจะได้เห็นภาพการก่อตัวของดาราจักรแห่งแรกในเอกภพ เมื่อประมาณ 13,500 ล้านปีก่อน รวมไปถึงเข้าใกล้จุดเริ่มต้นของกาลเวลา และกำเนิดของกาแล็คซี่แห่งแรกเลยทีเดียว
ภัยใกล้ตัว! แพทย์เผย กดเลื่อนนาฬิกาปลุกยามเช้า เสี่ยงโรคหัวใจ สมองเสื่อม
แน่นอนว่าการตื่นขึ้นเป็นเรื่องยาก บางครั้งถึงแม้จะผ่านไป 8 ชั่วโมงก็ตาม นั่นเป็นเหตุผลที่หลาย ๆ คนมักเลื่อนนาฬิกาจนติดนิสัย ‘ขออีก 5 นาที’
จากการสำรวจผู้ใหญ่มากกว่าหนึ่งในสามคนกดเลื่อนนาฬิกาปลุกสามครั้งก่อนจะตื่นนอนตอนเช้า และมากกว่าครึ่งของผู้ใหญ่ในวัยยี่สิบและสามสิบต้น ๆ กล่าวว่า ตนเองมักกดปุ่มเลื่อนซ้ำทุกเช้า
หมอนุ้ย ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม ริดสีดวงส่องกล้อง เผยองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพการนอนผ่านช่องทางติ๊กต็อก โดยการเลื่อนเวลานาฬิกาปลุกไปเลื่อน ๆ นั้นเป็นอันตรายมาก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย 2 ระบบ ได้แก่ ระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด
หมอนุ้ยเผยว่า วงจรการนอน ที่เรียกว่า Sleep Cycle ของคนเรา คืนหนึ่งจะมีทั้งหมด 6 ประกอบด้วยหลับธรรมดา, หลับลึก, หลับตื้น, หลับฝัน และหลับไม่ฝัน ซึ่งแต่ละ 1 รอบการนอนนั้นใช้เวลาประมาณ 90 นาที แต่การเลื่อนนาฬิากาปลุกจะเลื่อนทุก 10, 20, 30 หรือ 60 นาที ทำให้เกิดการรบกวนวงจรการนอน ส่งผลต่อความจำระยะยาวและภาวะสมองเสื่อม
ส่วนผลกระทบของระบบหัวใจและหลอดเลือด มักจะเกิดขึ้นในยามเช้า ร่างกายจะเริ่มหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล เพื่อปรับความดันชีพจรขึ้นช้า ๆ ทว่าการตั้งปลุกแบบฉับพลันจะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติปรับความดันให้สูงขึ้นทันที อาจทำเกิดโรคหัวใจหรือโรคความดันสูงในระยะยาวได้ ดังนั้น คุณหมอนุ้ยจึงเตือนว่า อย่ากด snooze หรือเลื่อนนาฬิกาปลุกซ้ำบ่อย ๆ พร้อมทั้งควรตื่นแล้ว ตื่นเลย เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง
8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา
1. กินยาดัก เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
ความเชื่อยอดนิยมที่ว่า หากรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ให้กินยาดักไว้ก่อน โดยคิดว่ายาจะสามารถป้องกันไข้หวัดได้ โดยเฉพาะการกินยาพาราเซตามอลหรือยาลดไข้ชนิดอื่นๆ ในความจริงนั้น ยาเหล่านี้มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ลดไข้ แต่ไม่ได้มีสรรพคุณในการป้องกันอาการป่วย
2. กินรวบมื้อ
การลืมกินยามื้อหนึ่งแล้วรวบยอดไปมื้อถัดไป หรือการลืมกินยาก่อนอาหาร แต่เอาไปกินพร้อมยาหลังอาหารแทน เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เนื่องจากการกินยาแบบรวบมื้อ อาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดในมื้อถัดไป และยาที่จำเป็นต้องกินก่อนอาหารก็จะถูกลดประสิทธิภาพลงเมื่อนำไปกินหลังอาหาร
3. กินยาเกินขนาด (overdose) จะได้หายเร็วๆ
การกินยาในปริมาณหรือขนาดที่มากกว่าแพทย์กำหนด ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ ความเข้าใจผิด หรือคิดว่าจะทำให้หายจากโรคเร็วขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องของปริมาณและระยะเวลาของการกินยา ซึ่งยาที่พบบ่อยว่ากินเกินขนาด คือ ยาพาราเซตามอล โดยแนะนำว่าขนาดที่ถูกต้องในการกินยา 1 ครั้ง ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
4. ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบคือยาชนิดเดียวกัน
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เรียกกันทั่วไปว่ายาฆ่าเชื้อหรือยาต้านแบคทีเรีย เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง แผลเป็นฝีหนองที่ผิวหนัง หรือปอดอักเสบจากแบคทีเรียทำให้มีเสมหะเหลือง/เขียว
5. เป็นหวัดเจ็บคอต้องกินยาปฏิชีวนะ
ภาวะเจ็บคอส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสหรือที่เรียกกันว่าเชื้อหวัด ส่วนอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นจะต้องมีอาการบ่งชี้อื่นๆ เช่น มีไข้สูง มีฝีหนองที่ต่อมทอนซิล น้ำมูก/เสมหะสีเหลือง/เขียว การติดเชื้อไวรัสหรือหวัดไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ใช้การรักษาตามอาการให้ร่างกายกำจัดเชื้อออกไปเอง ดังนั้น จึงมีความเข้าใจผิดว่าเมื่อมีอาการเจ็บคอควรซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะมากินจึงไม่ช่วยรักษาอาการเจ็บคอจากหวัดได้
6. หยุดยา เพิ่มยา ลดยา หรือซื้อยาเดิมกินเองต่อเนื่องเป็นปีๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
การใช้ความรู้สึกในการหยุดยา เพิ่มยา หรือลดยาเอง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อย ไม่ว่าจะเป็นเพราะอยากหายจากโรคไวๆ หรือรู้สึกว่าอาการดีขึ้นจริงๆ จึงหยุดยาเพราะคิดว่าหายแล้ว ข้อเท็จจริง คือ โรคบางโรคใช้ยารักษาเพียงระยะสั้นๆ ก็เพียงพอ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้ากินยาครบตามที่แพทย์กำหนดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกินต่อ หรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้อักเสบลดปวด ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาระบาย หากไม่มีอาการแล้วก็สามารถหยุดทานได้
7. โรคเดียวกัน แบ่งยากันกินได้
ในบางครั้งเมื่อหายจากโรคแล้วแต่ยังมียาเหลืออยู่ จึงแบ่งยาให้คนอื่นที่มีอาการเดียวกันนำไปรับประทานต่อ สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีโรคประจำตัว พื้นฐานการทำงานของตับ ไต รวมถึงน้ำหนักตัวและปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อชนิดและขนาดของยาที่แตกต่างกัน ยาจึงเหมาะที่จะให้การรักษาเฉพาะแต่ละบุคคลเท่านั้น ที่สำคัญที่สุด ผู้ใหญ่ไม่ควรแบ่งยาของตนเองให้กับเด็กโดยใช้วิธีแบ่งครึ่งให้ทานโดยเด็ดขาด
8. การกินยากับเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า
• การกินยาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรกินกับน้ำเปล่าที่สะอาด ไม่ควรกินคู่เครื่องดื่มอื่น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการออกฤทธิ์ของยาได้
…บทความโดย : พญ. ทิปภา ชุติกาญจน์โกศล แพทย์ด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
วีธีสังเกตอาการ 8 อย่าง สัญญาณบ่งบอกติดเชื้อไวรัส ‘โอไมครอน’
ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ “โอมิครอน” กำลังแพร่ระบาด นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกหันมาเน้นทำการวิจัยอย่างจริงจัง ก่อนจะระบาดถึงขั้นวิกฤติ ล่าสุดสื่อในสหราชอาณาจักรได้รายงานผลการวิจัย วิธีสังเกตอาการของผู้ติดเชื้อโอไมครอน
หนังสือพิมพ์มิร์เรอร์ และเทเลกราฟ แห่งสหราชอาณาจักร รายงานเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ว่า ศาสตราจารย์ ทิม สเปคเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาทางพันธุกรรม ของมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจลอนดอน ในสหราชอาณาจักร ผู้นำทีมศึกษาวิจัย โซ (ZOE Covid App Symptom) กล่าวว่า อาการของโอไมครอน มีความคล้ายคลึงกับอาการของไข้หวัดหวัด โดยจากการวิจัยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ทดสอบพีซีอาร์ (PCR) มีผลเป็นบวก การติดเชื้อโอไมครอน แท้จริงแล้วมีอาการคล้ายหวัด ไม่มีอาการไข้ ไอเรื้อรัง หรือสูญเสียกลิ่นและรสชาติ...
ทีมศึกษาวิจัย โซ สรุปอาการ 8 อย่าง ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกการติดเชื้อโอไมครอน ได้แก่ 1.เจ็บคอ 2. เหนื่อยล้า 3. ปวดศีรษะ 4. ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ 5. น้ำมูกไหล 6. จาม โดยมีอาการใหม่ 2 อาการ คือ 7. เหงื่อออกตอนกลางคืน และ 8. ปวดหลังส่วนล่าง
ส่วนผลการวิเคราะห์ผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนกว่า 78,000 คน ในประเทศแอฟริกาใต้ โดยทีมงานวิจัยของบริษัทประกันสุขภาพ ดิสคัฟเวอรี่ เฮลธ์ พบว่า สัญญาณแรกเริ่มของผู้ติดเชื้อโอไมครอน ที่พบบ่อยที่สุดคือ เจ็บคอ ตามด้วยคัดจมูก ไอแห้ง และปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการปวดหลังส่วนล่าง เป็นอาการที่พบมากที่สุด นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยของแพทย์ทั่วไปในแอฟริกาใต้ ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีผลตรวจติดเชื้อโอไมครอน จะมีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน แม้ว่าจะนอนหลับในห้องที่มีอากาศหนาวเย็นก็ตาม...
ทางด้าน เซอร์ จอห์น เบลล์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และที่ปรึกษารัฐบาลสหราชอาณาจักร เรื่องไวรัสโควิด-19 กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานผลการวิจัยของหลายสำนัก บ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์โอไมครอน มีอาการค่อนข้างแตกต่างจากตัวแปรก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป้นอาการคัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หรืออุจจาระเหลวในผู้ป่วยบางราย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกที่ต้องระวัง
เครดิตภาพ – Times of India
เครดิตคลิป – LOCAL 12...
การงีบหลับยามบ่ายมีประโยชน์อย่างไร
ในวันที่เราต้องทำงานหนัก มีธุระหลายอย่างต้องสะสาง บางครั้งเราหมดแรงตั้งแต่เริ่มต้นวันใหม่ไปได้ไม่นาน
จะดีไหมหากเรามีปุ่มวิเศษที่กดแล้วร่างกายกลับมามีพละกำลังใหม่อีกครั้ง สำหรับใครหลายคน ปุ่ม ๆ นั้นก็คือการงีบหลับระหว่างวันนั่นเอง
ตอนนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการงีบสามารถทำให้เรากลับมาตื่นตัวและมีแรงเหมือนตอนเริ่มวันใหม่ในตอนเช้าได้
กาย เมโดวส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนและผู้ก่อตั้ง Sleep School ซึ่งให้คำแนะนำด้านการนอน บอกว่า ประโยชน์หลัก ๆ ของการงีบคือการโต้กลับการเปลี่ยนแปลงของระบบร่างกายหลังจากคนเราตื่นนอน
เขาบอกว่า หลังตื่นนอน สารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า อะดีโนซีน (adenosine) จะเพิ่มปริมาณขึ้น และจะทำให้คนเรารู้สึกง่วงขึ้นเรื่อย ๆ
เมโดวส์บอกว่า เมื่อเรางีบ ปริมาณของอะดีโนซีนก็จะลดลง ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและมีเรี่ยวแรงมากกว่าเดิม
“นี่จะช่วยให้เราอารมณ์ดีขึ้น ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น และลดโอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาด ทำให้เรามีสมาธิที่จะทำอะไรมากขึ้นในตอนบ่าย”
การงีบเอาแรงสั้น ๆ หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “power nap” จะเป็นการนอนแค่ 10 ถึง 20 นาที
แต่หากเราอยากจะเพิ่มความสามารถในการจดจำ ความคิดสร้างสรรค์ และกระบวนการในการรับรู้ ซารา เมดนิก เจ้าของหนังสือ “Take a Nap! Change Your Life.” บอกว่าเราต้องงีบนานถึง 90 นาที
ระหว่างการงีบแบบยาว ๆ 60-90 นาที ร่างกายคนเราจะเข้าสู่ภาวะการนอนหลับแบบลูกตากรอกตัวอย่างรวดเร็ว (Rapid eye movement sleep หรือ REM ) ซึ่งเป็นการหลับลึกเหมือนตอนกลางคืน
ฝึกตัวเองให้งีบ
ไม่ใช่ทุกคนที่จะงีบให้เป็นนิสัยได้ ยกเว้นว่าคุณจะมาจากประเทศอย่างสเปนหรือกรีซที่การงีบช่วงบ่ายหรือคำว่า “siesta” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
เขาแนะนำให้คนเราตั้งเวลาจะได้ไม่นอนนานเกินไป และเมื่อทำแบบนี้ซ้ำ ๆ สัก 3 เดือน ร่างกายก็จะจดจำเป็นนิสัยว่าช่วงเวลานั้น ๆ มีไว้สำหรับงีบ
สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่บังคับตัวเองให้หลับ แค่ไปนอนสบาย ๆ บนเตียงหรือนั่งเอนบนเก้าอี้ ปิดม่านให้ห้องมืดลงหรือไม่ก็ใส่ที่ปิดตา พยายามอยู่นิ่ง ๆ และก็พักผ่อน
นอกจากนี้ เราควรจะหยุดดูมือถือหรืออ่านอีเมลสัก 5 นาทีก่อนที่จะงีบ
หลับแบบไม่รู้ตัว
บางคนบอกว่าไม่สามารถหลับ 15 นาทีระหว่างวันได้เพราะเป็นคนหลับยาก แต่เมโดวส์บอกว่าจริง ๆ แล้วเรามักหลับโดยไม่รู้ตัว
จากการทดลองที่ใช้ขั้วไฟฟ้าติดไว้ที่ศีรษะของผู้เข้าร่วมการทดลอง คนถึง 65% บอกว่าพวกเขาไม่ได้หลับทั้ง ๆ ที่จริงแล้วพวกเขาเข้าสู่ภาวะหลับในขั้นแรกไปแล้ว
แต่ถึงแม้จะไม่หลับ การได้หลับตาพักแค่ 10-20 นาทีก็มีประโยชน์แล้ว
การพักที่ว่าเป็นประโยชน์สำหรับทั้งคนที่นอนหลับดีและนอนหลับไม่ดีในคืนก่อน
อย่างไรก็ดี เราไม่ควรนอนเกิน 20 นาทีสำหรับการงีบสั้น ๆ หรือ 90 นาทีสำหรับการงีบยาว ๆ เพราะเราไม่อยากจะให้ร่างกายรู้เซื่องซึมเมื่อตื่น
ทางเลือกอื่น
ข้อมูลจากหลายเว็บไซต์แนะนำให้กินกาแฟก่อนจะงีบ เพราะว่าคาเฟอีนจะเริ่มออกฤทธิ์เมื่อเวลาผ่านไปราว 20 นาทีซึ่งก็คือเมื่องีบเสร็จพอดี
แต่ เมดนิกบอกว่านั่นไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย เพราะการงีบคือการพยายามเพิ่มพลังงานให้ร่างกายโดยธรรมชาติ
ย้อนไปเมื่อปี 2008 เมดนิกและเพื่อนนักวิจัยทดลองเปรียบเทียบความสามารถในการจดจำของคนที่ได้รับคาเฟอีน 200 มิลลิกรัมกับคนที่ได้งีบ 60-90 นาที
ผลการทดลองชี้ว่า การงีบทำให้คนสามารถจดจำอะไรได้ดีขึ้น ส่วนคาเฟอีนไม่มีผลอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นในเชิงบวกหรือเชิงลบ
อย่างไรก็ดี นักวิจัยพบว่าบางคนที่ไม่สามารถปรับตัวให้ชอบงีบได้ มันก็จะไม่มีผลดีต่อกระบวนการรับรู้ของพวกเขา
เมดนิกบอกว่า สำหรับคนที่ไม่ชอบงีบจริง ๆ ก็อาจจะมองหาทางเลือกอื่นได้ เช่นการออกไปเดิน ออกกำลังกาย หรือนั่งสมาธิ