ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ตัวอะไรบนดวงอาทิตย์? องค์การอวกาศยุโรปเผยคลิปวินาทีจับภาพได้

ตัวอะไรบนดวงอาทิตย์? – วันที่ 17 พ.ย. ไซแอนส์อะเลิทรายงานว่า องค์การอวกาศยุโรปหรืออีเอสเอเผยคลิปวิดีโอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์พบลักษณะการเคลื่อนที่คล้ายงูเลื้อยอยู่บนดวงอาทิตย์ แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานน่าจะเป็นปรากฏการณ์การระเบิดบางอย่างมากกว่าสัตว์ประหลาด...

คลิปดังกล่าวเป็นผลงานล่าสุดจากยานสำรวจ โซลาร์ ออบิเตอร์ (Solar Orbiter) หลังถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ 10 ก.พ. 2563 โดยคลิปนี้ยานถ่ายภาพไว้เมื่อ 5 ก.ย. ระหว่างโคจรเข้าใกล้จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด หรือจุด “เพอริฮีเลียน” เมื่อ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา (จุดไกลสุดเรียกอาฟีเลียน)...

ระหว่างที่ยานสำรวจกำลังโคจรเข้าใกล้จุดเพอริฮีเลียนก็พบเส้นประหลาดบนดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนไหวคล้ายกับการเลื้อยของงู เคลื่อนพาดผ่านดวงอาทิตย์ไปอย่างรวดเร็ว...

นักวิทยาศาสตร์ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการไหลของพลาสม่าที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าพลาสม่ารอบข้างบนชั้นบรรยากาศ ซึ่งถูกยึดเหนี่ยวไว้โดยสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์

นายเดวิด หลง นักดาราศาสตร์จากคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า พลาสม่าไหลจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งของดวงอาทิตย์ แต่ด้วยความที่สนามแม่เหล็กมีความบิดเบี้ยวสูง จึงทำให้พลาสม่าเปลี่ยนทิศทางไปมาเหมือนกับงูเลื้อยอย่างที่พบ

รายงานระบุว่า สนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์นั้นมีความซับซ้อนสูงมากและนักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจ ทว่า ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์นั้นประกอบด้วยพลาสม่าที่เต็มไปด้วยอนุภาคที่มีประจุและถูกยึดโยงไว้ด้วยสนามแม่เหล็กข้างต้น

หลักการดังกล่าวถูกนักวิทยาศาสตร์นำมาประยุกต์ใช้เพื่อยึดโยงการไหลเวียนของพลาสม่าในการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบปฏิกิริยา “ฟิวชั่น” เป็นการรวมอะตอมเพื่อสร้างพลังงาน แตกต่างจากฟิสชั่นที่แตกอะตอมออกเพื่อคายพลังงานออกมา

ในทางกลับกันการไหลของพลาสม่าจึงสามารถทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดคะเนสภาพการเคลื่อนที่ของสนามแม่เหล็กได้

ทว่า สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่ใช่การเคลื่อนที่ของเจ้างูยักษ์พลาสม่าตัวนี้อย่างเดียว แต่เป็นไม่กี่วินาทีหลังปรากฏการณ์ดังกล่าว จุดเริ่มต้นของพลาสม่าก็เกิดการระเบิดปลดปล่อยก้อนมวลสารต่างๆ ออกมาจากบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection – CME)

CME มักมีความเชื่อมโยงกับจุดมืดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) เป็นบริเวณที่มีความเข้มของสนามแม่เหล็กสูงมากทำให้อุณหภูมิจุดมืดต่ำกว่ารอบข้าง สนามแม่เหล็กที่เคลื่อนที่พัวพัน ทับถม และหักล้างกันนี้เองที่นำไปสู่ CME และบางครั้งพายุสุริยะ (Solar flare)

ภารกิจดังกล่าว ยานสำรวจ โซลาร์ ออบิเตอร์ ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง แต่ยังมียานสำรวจ พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker’s Solar Probe) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่าอยู่ใกล้ๆ ซึ่งอยู่ในทิศทางของ CME ล่าสุดที่ถูกปล่อยออกมา...

ดยยานสำรวจ พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบนั้นปลอดภัยดี เนื่องจากนาซ่าออกแบบมาให้ยานมีความทนทานต่อปรากฏการณ์สุดขั้วและตรวงวัดดวงอาทิตย์ได้อย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นข้อมูลชุดถัดไปที่นักวิทยาศาสตร์รอคอย

ส่วนยานสำรวจ โซลาร์ ออบิเตอร์ มีกำหนดจะเข้าจุดเพอริฮีเลียนอีกครั้งในเดือนเม.ย. 2566 ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของจุดมืดต่างๆ ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากดวงอาทิตย์กำลังจะเข้าสู่ช่วงสูงสุดของวัฏจักรสุริยะซึ่ง 11 ปี จะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างมุ่งให้ความสนใจว่าภาพที่ถ่ายมาได้นั้นดวงอาทิตย์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร...


สดจากเยาวชน - ล่องเรือส่องป่า ห้วยขาแข้ง

“31 สิงหาคม-1 กันยายน 2567” วันรำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี จัดกิจกรรมรำลึกการจากไปของต่อเนื่องมาทุกปีนับแต่การจากไปในปี 2534

จากวันนั้นความจริงจากป่าห้วยขาแข้งส่งเสียงตะโกนก้องจากพงไพร สื่อสารไปถึงผู้คนให้เกิดความตระหนักรู้ร่วมปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่า เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศและความยั่งยืนของสรรพชีวิตให้กลับคืนมา และผืนป่าห้วยขาแข้งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในเวลาต่อมา

เด็กๆ และชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้ป่าห้วยขาแข้ง ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี รับรู้การมีอยู่และเป็นไปของสัตว์ป่า หลายๆ หมู่บ้านได้รับอานิสงส์จากป่าและสัตว์ป่า ส่วนหนึ่งคือการรวมกลุ่มกันชวนคนมาท่องเที่ยวชมผืนป่ามรดกโลกแบบเข้าใจ ใกล้ชิด ไม่รบกวนกัน

การท่องเที่ยวธรรมชาติของแต่ละชุมชนแต่ละท้องถิ่นมีการจัดการที่แตกต่างกันไปตามบริบทของชุมชนตนเอง บุญเลิศ เทียนช้าง ผู้ประสานงานการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนใกล้ป่าห้วยขาแข้ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ กล่าวว่า “พื้นที่ของเราเป็นการท่องเที่ยวศึกษาวิถีชุมชน ส่องป่าห้วยขาแข้ง เน้นชมธรรมชาติ ผู้นำเที่ยวต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนการเห็นสัตว์เป็นผลพลอยได้ สัตว์ป่ามีไหม มี และเป็นสัตว์ที่อยู่ตามป่าในธรรมชาติจริงๆ”

การท่องเที่ยวแบบนี้พิเศษและแตกต่าง เพราะการจะได้เจอสัตว์นั้นขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและโอกาสที่ธรรมชาติมอบให้ เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่คาดหวัง ไม่เรียกร้องสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ และมีระยะห่างระหว่างกันทั้งคนและสัตว์ป่า

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวธรรมชาติตำบลระบำจัดการท่องเที่ยวภายใต้กฎการจัดการพื้นที่แนวเขตกันชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พาล่องเรือยามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัตว์ป่าเริ่มออกมาใช้ชีวิตและหากิน ภาพเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะสัตว์ป่ารู้สึกปลอดภัยและวางใจ

การท่องเที่ยวธรรมชาติอ่างเก็บน้ำทับเสลา-ห้วยระบำ ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันสัตว์ป่าก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว การเข้าไปในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหรือเข้าใกล้จนเกินไปอาจสร้างความรำคาญ เครียด หงุดหงิด กังวล ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์ป่า ผู้นำเที่ยวจำเป็นต้องสื่อสารและย้ำชัดเจนต่อนักท่องเที่ยวอย่างตรงไปตรงมา

น้องบัส ด.ช.นววัชพล เทียนช้าง บอกว่า “แต่ก่อนแถวนี้เป็นป่าของเขาครับ แล้วเขาก็คิดว่าปลอดภัยด้วย เขาก็เลยออกมา เราควรดูอยู่ไกลๆ จะทำให้สัตว์ป่าสบายใจครับ”

การได้พบเห็นสัตว์ป่าของเด็กๆ ที่นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ทุกครั้งที่พบเจอกันก็ยังตื่นเต้นเสมอ นะโม ด.ช.บดินทร์เทพ ขำปากพลี ยืนยันอย่างนั้น “เจอวัวแดง เจอช้าง เจอหมูป่า มีนกยูง เก้ง เนื้อทราย เขาอยู่กันตามธรรมชาติ ชอบดูช้างเล่นน้ำ มันน่ารักมาก”

เรื่องราวจากชายขอบป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติของไทย พร้อมแล้วที่จะบอกเล่าผ่านเด็กๆ ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ในวันรำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร

ทุ่งแสงตะวันภูมิใจเสนอเช้าวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2567 ทางช่อง 3 HD 05.05 น. และ 07.30 น. พร้อมกันอีกสองช่องทางคือเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน และยูทูบ payaiTV ในตอน ล่องเรือส่องป่าห้วยขาแข้ง ปักหมุด กดกระดิ่งแจ้งเตือนไว้เลย

วสวัณณ์ รองเดช...


แผลเล็กอย่ามองข้าม แบคทีเรียกินเนื้อคน ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต

เชื่อว่าหลายๆ คนเวลามีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ อย่างรอยถลอก แมลงกัด มีดบาด หรือแผลจากของมีคม ก็คงไม่ได้รู้สึกกังวลและดูแลอะไรเป็นพิเศษ ด้วยคิดว่าปล่อยไว้ไม่นานก็คงหายเอง แต่จริงๆ แล้วการไม่ดูแลแผลให้สะอาด อาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในแผลจนเกิดอาการปวด บวมแดง และเกิดความผิดปกติรอบบาดแผล ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของ "โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน" ภาวะที่เนื้อเยื่ออ่อนมีการติดเชื้อรุนแรง และถ้าไม่รีบรักษา ก็อาจโชคร้ายจนถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้

นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต หัวหน้าศูนย์ศัลยกรรม รพ.วิมุต เผยถึงอันตรายของโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน เพื่อให้เข้าใจว่าการดูแลแผลอย่างถูกวิธีสำคัญแค่ไหน

โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน อันตรายที่มากับแผลสกปรก

โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน (Necrotizing Fasciitis) เป็นภาวะติดเชื้อรุนแรงในเนื้อเยื่ออ่อน เกิดในบริเวณผิวหนังกำพร้า ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และกล้ามเนื้อ มักพบในแผลเปิด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต อธิบายต่อว่า "เชื้อที่ทำให้เกิดภาวะแบคทีเรียกินเนื้อคนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม เชื้อโรคผสม (Mixed Organisms) เป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดพร้อมกัน มักพบในแผลทั่วไปที่สัมผัสกับสิ่งสกปรก กลุ่มต่อมาคือ Streptococcus ชนิด A ที่เกิดได้จาก เชื้อ Species Streptococcus หรือ Staphylococcus พบรองลงมาจากกลุ่มแรก ลุกลามเร็วและมีอาการรุนแรงกว่า ที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนัง มักเกิดจากหัตถการที่ไม่สะอาด เช่น การเจาะเลือด การฉีดยา รวมถึงการฉีดยาของกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด กลุ่มสุดท้ายคือ Gas Gangrene พบในแผลที่มีเนื้อตายอยู่ก่อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสามารถแก๊ส เมื่อคลำที่แผลจะรู้สึกถึงฟองอากาศคล้ายบับเบิ้ลกันกระแทก"

อาการโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนเกิดได้กับทุกคน โดยมีความเสี่ยงจากการไม่รักษาความสะอาดของแผลให้ดี ซึ่งอาการจะรุนแรงขึ้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ภาวะตับแข็ง โรคอ้วน และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วย HIV หรือคนไข้ที่ได้รับยากดภูมิ สำหรับอาการเริ่มต้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อคนที่พบได้มีดังต่อไปนี้

• มีอาการปวด บวมแดง หรือร้อนบริเวณบาดแผล

• บาดแผลมีลักษณะผิดปกติ เช่น ผิวหนังมีสีดำคล้ำ มีเนื้อตาย

• มีหนองปริมาณมาก มีตุ่มน้ำ มีอาการพอง

หากติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เริ่มมีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ตัวเย็น มึนงง ซึมลง และช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด นำไปสู่การสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน

การติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ได้นำไปสู่ภาวะแบคทีเรียกินเนื้อคนเสมอไปแต่หากเป็นแผลก็ควรรักษาความสะอาดให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ใช้น้ำเกลือ 1-2 ลิตร หรือน้ำดื่มเพื่อทำความสะอาด ไม่ควรใช้น้ำประปา และหากดูแลแผลเบื้องต้นแล้วยังปวด บวมแดง หรือพบลักษณะผิดปกติที่เข้าข่ายภาวะแบคทีเรียกินเนื้อคน ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต เล่าถึงการรักษาว่า “การวินิจฉัยโรคนี้มีหลายวิธี ซึ่งวิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดคือการตรวจบริเวณบาดแผล หากยังไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการผ่าตัดกรีดขยายบริเวณบาดแผล ใช้การตรวจพิเศษ MRI, CT Scan, หรือ X-Ray เพื่อตรวจดูชั้นเนื้อเยื่ออย่างละเอียด ส่วนการรักษา แพทย์จะพิจารณาตามอาการ มีตั้งแต่การใช้ยาฆ่าเชื้อ ผ่าตัดระบายหนองและของเหลว ผ่าตัดเนื้อเยื่อที่ตายออก ในกรณีที่เนื้อตายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นอาจต้องตัดอวัยวะที่ติดเชื้อ ในบางกรณีอาจต้องปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อปิดแผลร่วมด้วย"

“โรคแบคทีเรียกินเนื้อคนแม้จะอันตรายแต่ก็ป้องกันได้ โดยถ้าเป็นแผลก็ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำเกลือหรือน้ำดื่ม แล้วปิดแผลด้วยผ้าสะอาดหรือปลาสเตอร์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อโรค อยากให้เข้าใจว่า เวลาเป็นแผลหรือเมื่อคนใกล้ตัวเป็นแผล ให้สังเกตลักษณะและการเปลี่ยนแปลงของแผลให้ดี ถ้ามีสัญญาณไม่ดีดั่งที่กล่าวไป ต้องรีบมาพบแพทย์ เพราะยิ่งรักษาเร็ว โอกาสหายก็จะยิ่งเยอะ นอกจากนี้ ก็อยากให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อมีเกราะป้องกันที่ดี โรคร้ายก็มารบกวนชีวิตเราได้ยากขึ้น” นพ.รัชตะ ฉัตราติชาต กล่าวทิ้งท้าย


RSVไวรัสตัวร้าย! พ่อแม่อย่าลืมยาเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันให้เจ้าตัวเล็ก

RSV ไวรัสตัวร้ายของเจ้าตัวเล็ก! “ยาเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัส RSV” ช่วยลูกน้อยห่างไกลไวรัสร้าย

ฤดูฝนทีไรคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะเกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ลูกน้อยป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV” ซึ่งโรคนี้มองเผินๆ อาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้ และหากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า โรค RSV เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจได้ทั้งทางเดินหายใจส่วนบนและทางเดินหายใจส่วนล่าง พบได้ในเด็กทุกช่วงวัย จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบการติดเชื้อ RSV มากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุ 2-5 ปี ซึ่งโรค RSV จะมีการระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวของทุกปี

พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน ให้ข้อมูลต่อว่า เด็ก ๆ ที่ติดเชื้อ RSV จะเริ่มแสดงอาการรุนแรงหลังจากเด็กติดเชื้อมาแล้ว 4-6 วัน เนื่องจากเชื้อ RSV จะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 5 วัน โดย 2-4 วันแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูกใส ๆ หรือขาวขุ่นปริมาณมาก คอแดง หลังจากนั้นจะเริ่มไอและมีไข้สูงถึง 39-40 องศา เมื่อมีการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลต่อทางเดินหายในส่วนล่าง ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ หายใจเร็วและหายใจลำบาก กล่องเสียงอักเสบ และส่งผลให้เกิด “โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ” คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อย หากมีความเสี่ยงให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลว อันตรายถึงชีวิตได้

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค RSV แพทย์จะทำการประเมิน และรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก

พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน กล่าวปิดท้ายว่า คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กและไม่อยากให้ลูกป่วยเป็นโรค RSV สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้ 1. ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 2. ทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อย ๆ ป้องกันการสะสมของเชื้อโรค 3. สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กเล็ก และทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กโต 4. พักผ่อนให้เพียงพอ 5. ดื่มน้ำสะอาด 6. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย 7. งดพาเด็กไปเล่นในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า 8. แยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ซักล้าง ทำความสะอาดหลังใช้งาน

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันลูกน้อยจากโรค RSV ในปัจจุบันมี “โปรแกรมยาเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัส RSV” ลักษณะเหมือนการฉีดวัคซีนทั่วไป เพื่อกระตุ้มภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ ลดความรุนแรงของโรค โดย “ยาเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัส RSV” เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในป้องกันโรค RSV ให้กับเด็ก ๆ โดยแนะนำฉีด 5 เข็ม ฉีดเดือนละ 1 เข็มในฤดูที่มีการระบาด เหมาะสำหรับทารกแรกเกิด โดยเฉพาะทารกคลอดก่อนกำหนด, เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีที่มีโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหัวใจหัวใจ หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจ “โปรแกรมยาเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัส RSV” สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.1270 หรือ Website: www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และ Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital อย่าลืมชวนคนที่คุณรัก มาร่วม “โอบกอดสุขภาพดีไปด้วยกัน” เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน


ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ "ไขมันในเลือดสูง" เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

"ไขมันในเลือดสูง" ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำความเข้าใจและสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูง เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

"ภาวะไขมันในเลือดสูง" เป็นหนึ่งในภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในร่างกายของเราโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ และหนึ่งตัวการที่ค่อยๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดของคุณได้ การเข้าใจความเชื่อมโยงกันระหว่างภาวะไขมันในเลือดสูงและสุขภาพของหัวใจนั้นจึงสำคัญมาก การเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างภาวะไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือดมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและจัดการกับปัญหาสุขภาพเหล่านี้ สาเหตุของภาวะนี้ ผลกระทบต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

1.ภาวะไขมันในเลือดสูงคืออะไร?

ภาวะไขมันในเลือดสูงเกี่ยวข้องกับระดับไขมันในเลือดที่สูงเกินไป รวมถึงคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลเป็นสารไขมันที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์ที่แข็งแรง แต่ระดับสูงเกินไปอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้

2.ภัยซ่อนเร้นของภาวะไขมันในเลือดสูง อันตรายที่ไม่มีสัญญาณเตือน

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งของภาวะไขมันในเลือดสูงคือมันมักไม่มีสัญญาณเตือน คุณอาจรู้สึกว่าร่างกายปกติดีโดยไม่รู้ว่าหลอดเลือดของคุณกำลังถูกอุดตันขึ้นเรื่อยๆ การตรวจเลือดเป็นประจำมักเป็นวิธีเดียวที่จะตรวจพบมันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

3.สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูง

มีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูง ทั้งพันธุกรรม อาหาร ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และปัญหาสุขภาพอื่นๆ หากคุณมีคนในครอบครัวที่มีประวัติการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือหากคุณมีภาวะเช่นโรคเบาหวานหรือโรคอ้วน ความเสี่ยงของคุณจะยิ่งสูงขึ้น

4.ภาวะไขมันในเลือดสูงส่งผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร

คอเลสเตอรอลเดินทางผ่านกระแสเลือดในรูปแบบต่างๆ ของไลโปโปรตีน ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) ซึ่งมักเรียกว่าคอเลสเตอรอล "เลว" หรือไขมันเลว สามารถสะสมบนผนังหลอดเลือดและก่อให้เกิดพลัค กระบวนการนี้เรียกว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบและจำกัดการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

5.ภาวะไขมันในเลือดสูง ต้องตรวจถึงจะรู้ อาการและการวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันในเลือดสูงมักไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดความเสียหายอย่างมาก การตรวจสุขภาพและการตรวจเลือดเป็นประจำมีความสำคัญในการติดตามระดับไขมันในเลือดและสุขภาพหัวใจโดยรวม การตรวจพบและแทรกแซงแต่เนิ่นๆ สามารถป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงจากการพัฒนาไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงได้