ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ปั้น‘เกาะมันใน’ ระยอง สู่โมเดลทรัพยากรทะเล

ปั้น‘เกาะมันใน’ ระยอง - หมู่เกาะมัน ถือเป็นสวรรค์แห่ง ท้องทะเลตะวันออก แบ่งเป็น 3 เกาะ คือ เกาะมันใน เกาะมันกลาง และเกาะมันนอก ทั้ง 3 เกาะล้วนมีธรรมชาติที่สวยงามแตกต่างกันไป

หมู่เกาะมันตั้งอยู่ในต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ห่างจากท่าเรือแหลมตาล ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร

อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อ อ.เขาชะเมา และอ.วังจันทร์ จ.ระยอง ทิศใต้ ติดต่อชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ.แก่งหางแมว และ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับอ.เมือง จ.ระยอง

หนึ่งในสามเกาะอย่าง “เกาะมันใน” กำลังถูกผลักดันให้เป็นต้นแบบพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้นกอพยพตามธรรมชาติ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

เกาะมันในครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 137 ไร่ตั้งอยู่ห่างจากอ่าวมะขามป้อมประมาณ 6 กิโลเมตร บนเกาะมีสถานีอนุรักษ์พันธุ์ เต่าทะเลตามโครงการสมเด็จอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของศูนย์วิจัยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยทางฝั่งตะวันออก

สำหรับจุดท่องเที่ยวและพักผ่อนที่น่าสนใจบนเกาะส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางบริเวณทางด้านทิศเหนือของเกาะ ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของบ่อเลี้ยงเต่าทะเลหลากหลายสายพันธุ์ เช่น เต่าตนุและเต่ากระ ส่วนเต่าตัวที่มีอายุมากที่สุด 25 ปี มีน้ำหนักประมาณ 85 กิโลกรัม

นอกจากนั้นยังมีอาคารนิทรรศการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ซึ่งภายในอาคารประกอบไปด้วยเต่าทะเลสายพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกนำมาสตัฟฟ์ไว้เพื่อการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม

บริเวณด้านหน้าชายหาดที่อยู่ตรงข้ามกับอ่าวมะขามป้อมและแหลมแม่พิมพ์มีชื่อว่าหาดหน้าบ้าน ยังเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจและลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัยและเป็นจุดที่สามารถชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดบนเกาะมันใน

เกาะมันในยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและชมวิวทิวทัศน์รอบเกาะอีกด้วย

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง เล่าที่มาของเกาะมันใน ว่า สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานเกาะมันใน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2522 ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรมประมงดูแล ต่อมาในปี 2528 ได้โอนภารกิจมายังสังกัดศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จวบจนปัจจุบัน

เกาะมันใน ครอบคลุมพื้นที่ 137 ไร่ ในพื้นที่ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง นับเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง และยังเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญของจ.ระยองอีกด้วย แต่หลายปีที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่เกาะใกล้แนวชายฝั่งและในทะเล ที่เป็นแหล่งอาศัยของทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์ทะเล และนกที่มีความหลากหลาย เริ่มได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ของมนุษย์ หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลกระทบมากขึ้น

ขณะที่งานด้านการศึกษาวิจัย และพัฒนาด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ค่อนข้างมีความซับซ้อน จึงมีความจำเป็นที่ ต้อง บูรณาการระหว่างหน่วยงานอื่น รวมทั้งภาคประชาชน ชุมชนในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงด้านองค์ความรู้ บุคลากรที่มีความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้การดำเนินงานด้านระบบนิเวศทางทะเลของประเทศครอบคลุมที่ในทุกมิติ

ล่าสุดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ โดย ดร.ปิ่นสักก์ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และ น.ส.แนนซี่ ลิน กิ๊บสัน ประธานกรรมการมูลนิธิรักสัตว์ป่า ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ที่กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกรุงเทพฯ เพื่อมุ่งหวังให้เกาะมันใน จ.ระยอง เป็นต้นแบบพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้นกอพยพและนกธรรมชาติ

“เกาะมันในมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาทางทะเล มีศูนย์แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลเต่าทะเล และเราพร้อมจะ ผลักดันให้เกาะมันในเป็นโมเดลพื้นที่สำหรับการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนางานด้านระบบนิเวศทางทะเล ระบบนิเวศทางบก และความหลากหลายของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ รวมถึงนกที่มักจะอพยพมาเป็นประจำทุกปีและนกที่อยู่ตามธรรมชาติบนเกาะอย่างเป็นระบบแห่งแรกของประเทศไทย จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แห่งอื่นๆ ของประเทศ และจะเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศ และนานาประเทศด้วย” ดร.ปิ่นสักก์ระบุ

ดร.ปิ่นสักก์กล่าวอีกว่า หากเราพัฒนาเกาะมันในเป็นต้นแบบการอนุรักษ์แล้ว ก็จะเตรียมประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหมู่เกาะมัน จ.ระยอง ตามพ.ร.บ. ส่งเสริมการบริการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับการสงวน คุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูให้คงสภาพธรรมชาติและมีสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้ประชาชน รุ่นหลังได้ใช้เป็นฐานทรัพยากรต่อไป

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเห็นว่างานด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ รวมทั้งความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในระบบนิเวศปะการัง หญ้าทะเล ชายหาด และป่าชายเลน ซึ่งเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่มีความซับซ้อน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ทั้งด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ การสนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการดำเนินงาน และเครื่องมือเฉพาะด้าน

เพื่อให้การดำเนินงานด้านระบบนิเวศทางทะเลของประเทศ ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การวิจัย การบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งที่เหมาะสม

รูป : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

โดย...นนทวรรณ มนตรี