ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 6 พฤศจิกายน 2564

ตะลึง แสงปริศนาสีน้ำเงิน สว่างวาบเหนือท้องฟ้าเวลส์ ก่อนไฟฟ้าดับพรึ่บ

เมื่อ 2 พ.ย. 64 เว็บไซต์เดอะซันรายงานและเผยแพร่คลิป เกิดแสงปริศนาสีน้ำเงินอมฟ้าสว่างวาบเหนือท้องฟ้ายามค่ำในเวลส์ ในคืนวันฮาโลวีน จนสร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้พบเห็น ก่อนไฟฟ้าตามบ้านและบนท้องถนนจะดับพรึ่บในหลายพื้นที่ของประเทศเพียงไม่ถึงเสี้ยวนาทีต่อมา

คลิปจากกล้องหน้ารถยนต์คันหนึ่ง เผยให้เห็นเกิดแสงสีน้ำเงินอมฟ้าสว่างวาบเหนือท้องฟ้ายามค่ำที่มืดมิดในเมืองนิวพอร์ต ก่อนแสงจะหายไป จนสร้างความตกตะลึงให้แก่คนขับรถ จากนั้นไม่กี่อึดใจต่อมา ไฟฟ้าก็ดับลงทันที

ภาพแสงไฟปริศนาเหนือท้องฟ้าในเวลส์ทำให้มีประชาชนบางคนเข้าใจว่าอาจเป็นการจุดพลุดอกไม้ไฟในคืนวันฮาโลวีน แต่ขณะเดียวกันได้มีการรายงานไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ทั่วเวลส์

หลังจากเกิดแสงปริศนาเหนือท้องฟ้าด้านโฆษกการไฟฟ้าแห่งชาติของเวลส์ได้แจ้งต่อประชาชนว่า ทางการไฟฟ้ากำลังตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้ไฟฟ้าดับ ในขณะที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าแสงปริศนาที่ปรากฏเหนือท้องฟ้าอาจเป็น 'โซลาร์ แฟลร์' หรือเปลวสุริยะ พลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถทำให้ไฟฟ้าดับได้.


ทลายโรงงานปั๊มแบงก์ดอลลาร์ปลอม กว่า 150 ล้าน จับได้ 4 คน เร่งขยายผล

ตำรวจ PCT ร่วมกับ นครบาล บุกทลายโรงงานปั๊มแบงก์ดอลลาร์ปลอม ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ยึดของกลาง 50,000 ฉบับ คิดเป็นเงินไทยมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น., พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.พลฑิต ชัยยศ ผบก.น.3, พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 และ พ.ต.อ.ศักยะ แสงวรรณ ผกก.สน.ลำผักชี ร่วมกันแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาขบวนการลักลอบผลิตธนบัตรดอลลาร์สหรัฐอเมริกาปลอม ยึดแบงก์ดอลลาร์ปลอมกว่า 36,000 ใบ รับผลิตมาแล้ว 50,000 ใบ คิดเป็นมูลค่า 5,000,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย กว่า 150,000,000 บาท

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า ศูนย์ PCT ได้มีการสืบสวนทาง Facebook ชื่อว่า fact eing ซึ่ง น.ส.จิราพัชร (สงวนนามสกุล) หรือ ฟ้า เป็นเจ้าของ พบว่ามีการประกาศขายธนบัตรปลอม จึงได้ประสานกับฝ่ายสืบสวนนครบาลร่วมกันตรวจสอบ พบว่าเป็นเครือข่ายรับจ้างผลิตธนบัตรดอลลาร์สหรัฐอเมริกาปลอม โดยผลิตมาแล้วกว่า 50,000 ฉบับ คิดเป็นเงินไทยกว่า 150 ล้านบาท

ผอ. PCT กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ตรวจสอบและสืบสวนกรณีดังกล่าวจนสามารถขออนุมัติหมายศาลและจับกุม น.ส.พชร หรือ เพชร สงวนนามสกุล ผู้ต้องหาที่ 1, น.ส.อรทัย หรือ หงษ์ ผู้ต้องหาที่ 2 และ น.ส.ศรินรัตน์ หรือ อี๊ด ผู้ต้องหาที่ 3 ได้ โดยผู้ต้องหาที่ 1,2 ให้การรับสารภาพได้รับการว่าจ้างจากผู้ต้องหาที่ 3 ให้นำธนบัตรปลอมดังกล่าวออกมาจำหน่ายให้กับประชาชนที่สนใจ และ ผู้ต้องหาที่ 3 ยังให้การว่าตนเป็นผู้ว่าจ้างจริง และมี น.ส.จิราพัชร หรือ ฟ้า เป็นผู้ผลิตให้ มีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ.นครปฐม

ต่อมาในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT พร้อมกำลังตำรวจนครบาลนำหมายค้นของศาลเข้าค้น พบ น.ส.จิราพัชร หรือ ฟ้า สงวนนามสกุล ผู้ต้องหาที่ 4 พร้อมของกลาง

1. แท่นผลิตธนบัตรปลอม จำนวน 3 เครื่อง

2. ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐอเมริกาปลอม จำนวน 50,000 ฉบับ

จึงได้แจ้งข้อหา “ร่วมกันผลิตทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี โดยผู้ต้องหาขบวนการนี้รับว่าผลิตธนบัตรปลอมนี้เป็นครั้งแรก และยังมีขบวนการที่ร่วมกระทำความผิดอีก ทั้งนี้จะได้ทำการสืบสวนขยายผลต่อไป

ผอ. PCT กล่าวอีกว่า ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีการหลอกลวงประชาชนโดยใช้ Social Media เป็นจำนวนมาก ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้กำชับให้ทุกหน่วยเร่งระดมปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความผิดเกี่ยวกับการปลอม หรือการแปลงเงินตรา ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน หลังจากนี้จะได้แจ้ง ปปง. ให้ตรวจสอบเพื่อยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาและผู้ที่เกี่ยวข้องและดำเนินคดีฐานฟอกเงินต่อไป หากพบเบาะแส หรือเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ สายด่วน PCT 1599 ตลอด 24 ชม. หรือสายตรง 081-866-3000 หรือ www.pct.police.go.th


เครื่องมือวิทยาศาสตร์เผยให้เห็นจุดแดงใหญ่ บนดาวพฤหัสบดีลึกเกินคาด

เกรต เรด สปอต (Great Red Spot) ของดาวพฤหัสบดี เป็นพายุขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะทั้งหมด มีความกว้าง 16,000 กิโลเมตร ว่ากันว่าพายุขนาดใหญ่บนดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ดวงนี้สามารถเขมือบโลกของเราได้อย่างสมบูรณ์ แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าจุดแดงใหญ่นั้นลึกเพียงใด มันเป็นเพียงเหตุการณ์ระดับพื้นผิวหรือลึกเข้าไปในดาวพฤหัสบดี

เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานที่อิงตามพฤติกรรมของชั้นบรรยากาศของโลก ตลอดจนแบบจำลองที่สร้างขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้บรรยาย ว่าจุดแดงใหญ่ของดาวพฤหัสบดีนั้นเป็นพายุที่ค่อนข้างตื้น แต่ตอนนี้ต้องขอบคุณเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 2 ชิ้นบนยานอวกาศจูโนขององค์การนาซา ที่เผยให้เห็นโครงสร้างขนาดใหญ่ของจุดแดงใหญ่ และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ว่าจุดแดงใหญ่ไม่ได้อยู่ที่พื้นผิวด้านบนเท่านั้น แต่ยังขยายลึกลงไปถึงด้านล่างหลายร้อยกิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเซาท์เวสต์ ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าความลึกของจุดแดงใหญ่หรือพายุขนาดมหึมานี้ มีระยะทาง 300-500 กิโลเมตร จริงๆแล้วอาจดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความกว้างของจุดแดงใหญ่

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า นี่เป็นการเปิดเผยครั้งแรกของภารกิจแรกที่สามารถมองเห็นภายในดาวเคราะห์ดวงนี้ นั่นหมายความว่ายังมีอะไรอีกมากมายให้เรียนรู้ว่ามีสิ่งต่างๆ กำลังปั่นป่วนอยู่ภายในดาวพฤหัสบดีอย่างไร.


เฟซบุ๊กประกาศ จะยุติการใช้ซอฟต์แวร์ "จดจำใบหน้า" ในภาพถ่าย-วิดีโอ

วันที่ 3 พ.ย. บีบีซี รายงานว่า เฟซบุ๊กประกาศจะไม่ใช้ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าเพื่อระบุใบหน้าในภาพถ่ายและวิดีโออีกต่อไป หลังมีความกังวลมาตลอดมากขึ้นเกี่ยวกับจริยธรรมของเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ด้วยคำถามที่เพิ่มขึ้นถึงความเป็นส่วนตัว อคติทางเชื้อชาติ และความแม่นยำ

จนถึงตอนนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถเลือกใช้คุณสมบัติที่จะจับใบหน้าของตัวเองในภาพถ่ายและแจ้งผู้ใช้ หากใครบางคนบนแพลตฟอร์มโพสต์รูปภาพที่มีใบหน้าของตัวเอง.

เฟซบุ๊กระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลยังไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการใช้งานซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กต้องเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้ใช้.

เจโรมา เปเซนตี รองประธานฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่เฟซบุ๊ก โพสต์ข้อความในบล็อกว่า “ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้ เราเชื่อว่าการจำกัดการใช้การจดจำใบหน้าแก่การใช้งานในวงแคบๆ มีความเหมาะสม.”

ในปี 2562 การศึกษาของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชี้ว่า อัลกอริทึมจดจำใบหน้ามีความแม่นยำน้อยกว่ามากในการระบุใบหน้าชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และเอเชีย เมื่อเทียบกับใบหน้าของคนผิวขาว. จากการศึกษาของของสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Standards and Technology), ผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกันมีแนวโน้มที่จะถูกระบุผิดมากกว่า.

เมื่อปีที่แล้ว เฟซบุ๊กยังระงับข้อพิพาททางกฎหมายที่มีมายาวนานเกี่ยวกับวิธีการสแกนและติดแท็กรูปภาพ. คดีดังกล่าวดำเนินมาตั้งแต่ปี 2558 และตกลงกันว่า เฟซบุ๊กจะจ่ายเงิน 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่กลุ่มผู้ใช้ในรัฐอิลลินอยส์ที่โต้แย้งว่า เครื่องมือจดจำใบหน้าละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของรัฐ.

เฟซบุ๊ก ซึ่งยังเป็นเจ้าของอินสตาแกรม และวอตส์แอปป์ เช่นกัน อยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแลและนักการเมือง. และเฟซบุ๊กกำลังเผชิญกับการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงคณะกรรมาธิการการค้าแห่งของสหรัฐ ซึ่งยื่นฟ้องคดีต่อต้านการผูกขาด โดยอ้างว่าเฟซบุ๊กต่อต้านการแข่งขัน.