สดร.เผยภาพ ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 2 สิงหาคม 2564 บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ในช่วงเช้ามืด เวลา 03.40 น. ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ คืนวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งหมายถึง ดวงอาทิตย์โลก และดาวเสาร์จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,337 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ดาวเสาร์จะปรากฏสว่าง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากฟ้าใส ไร้เมฆฝนสามารถสังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
ในคืนวันดังกล่าวหลายพื้นที่ทั่วไทยไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ เนื่องจากตรงกับช่วงฤดูฝน ฟ้าปิด มีเมฆมาก สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ดาวเสาร์จะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าไปจนถึงประมาณเดือนมกราคม 2565
สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลกครั้งต่อไป คือ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ห่างจากโลกประมาณ 600 ล้านกิโลเมตร ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างมาก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า สังเกตได้ชัดเจนด้วยตาเปล่าจนถึงรุ่งเช้าวันถัดไป
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี (Saturn Opposition) ห่างประมาณ 1,337 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า จะมองเห็นดาวเสาร์สว่างอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า บริเวณกลุ่มดาวแพะทะเล ดูได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า หากดูผ่านกล้องส่องทางไกล หรือกล้องสองตาที่มีขนาดหน้าเลนส์ไม่น้อยกว่า 50 มิลลิเมตร กำลังขยายตั้งแต่ 10 เท่าขึ้นไป จะเริ่มมองเห็นวงแหวนดาวเสาร์ได้ หรือดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4 นิ้ว ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวน A และวงแหวน B แยกกันอย่างชัดเจน โดยมีช่องว่างแคสสินีอยู่ตรงกลางระหว่างวงแหวนทั้งสอง สวยงามมาก
พบแสงด้านหลัง "หลุมดำ" ครั้งแรก ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์
พบแสงด้านหลัง – ซีเอ็นเอ็น รายงานวันที่ 2 ส.ค. ว่า นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบแสงไฟจากด้านหลังของหลุมดำเป็นครั้งแรก เป็นไปตามการทำนายที่มีมาอย่างยาวนานในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
แดน วิลกินส์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเพื่อนร่วมงาน สังเกตรังสีเอกซ์ที่ปล่อยออกมาจากหลุมดำมวลมหาศาล ซึ่งตั้งอยู่ที่ใจกลางกาแลคซี ที่อยู่ห่างจากโลก 800 ล้านปีแสง
แสงไฟเจิดจ้าเหล่านี้ไม่ธรรมดา เนื่องจากแม้ว่าแสงไฟไม่สามารถหนีจากหลุมดำได้ แรงดึงดูดมหาศาลที่อยู่รอบๆ หลุมดำ สามารถให้ความร้อนแก่วัสดุได้หลายล้านองศา นี่สามารถปล่อยคลื่นวิทยุและรังสีเอกซ์ บางครั้งวัตถุร้อนจัดนี้ถูกพุ่งออกไปในอวกาศด้วยเครื่องบินไอพ่นเร็ว รวมถึงรังสีเอกซ์และรังสีแกมมา
แต่นายวิลคินส์สังเกตแสงแวบเล็กๆ ของรังสีเอกซ์ ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังและมีสีต่างกัน และพวกมันมาจากด้านไกลของหลุมดำ
“แสงใดที่เข้าไปในหลุมดำจะไม่ออกมา เราจึงไม่ควรมองเห็นสิ่งใดที่อยู่ด้านหลังหลุมดำ” วิลกินส์ นักวิทยาศาสตร์วิจัย สถาบันอนุภาคดาราศาสตร์ฟิสิกส์และจักรวาลวิทยา “คัฟลี” มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และห้องปฏิบัติการเร่งความเร็วแห่งชาติ SLAC ผู้เขียนการศึกษาดังกล่าว ระบุ
อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติแปลกประหลาดของหลุมดำทำให้การสังเกตการณ์มีความเป็นไปได้จริง
“เหตุผลที่เราสามารถเห็นได้คือว่าเนื่องจากหลุมดำเป็นพื้นที่แปรปรวน แสงหักเห และสนามแม่เหล็กหมุนรอบตัวมันเอง” นายวิลคินส์ระบุ
การศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์เมื่อวันพุธที่ 28 ก.ค. ในวารสารวิทยาศาสตร์ เนเจอร์
“50 ปีก่อน เมื่อนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์เริ่มคาดเดาว่า สนามแม่เหล็กจะมีพฤติกรรมใกล้กับหลุมดำอย่างไร พวกเขาไม่รู้ว่า วันหนึ่งเราอาจมีเทคนิคสังเกตสิ่งนี้โดยตรง และเห็นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ในการปฏิบัติจริง” โรเจอร์ แบลนด์ฟอร์ด ศาสตราจารย์ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ร่วมเขียนการศึกษาดังกล่าว ระบุ
ทฤษฎีไอน์สไตน์ หรือแนวคิดที่ว่าแรงโน้มถ่วงเป็นสสารแปรปรวนในกาลอวกาศ ยังอยู่มาเป็นเวลาร้อยปีเมื่อมีการค้นพบทางดาราศาสตร์ครั้งใหม่
หลุมดำบางหลุมมีโคโรนา หรือวงแหวนแสงจ้าก่อตัวขึ้นรอบๆ หลุมดำ เมื่อสสารตกลงไปในหลุมดำนั้นและร้อนถึงอุณหภูมิสุดขั้ว แสงรังสีเอ็กซ์เรย์นี้เป็นวิธีหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาและทำแผนที่หลุมดำได้
เมื่อก๊าซตกลงไปในหลุมดำ อุณหภูมิจะสามารถพุ่งสูงขึ้นได้ถึงหลายล้านองศา ทำให้อิเล็กตรอนแยกออกจากอะตอม ซึ่งสร้างพลาสมาแม่เหล็ก แรงโน้มถ่วงทรงพลังของหลุมดำทำให้สนามแม่เหล็กนี้โค้งสูงเหนือหลุมดำและหมุนวนจนสนามแม่เหล็กแตกกระจาย
นี่ไม่ต่างจากวงแหวนรอบดวงอาทิตย์หรือบรรยากาศภายนอกร้อนระอุ พื้นผิวดวงอาทิตย์ถูกปกคลุมด้วยสนามแม่เหล็ก เกิดเป็นวงสนามแม่เหล็กและกระจุกขนนกขณะทำปฏิกิริยากับอนุภาคในวงแหวนรอบดวงอาทิตย์ นี่คือเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์เรียกวงแหวนรอบหลุมดำว่าเป็นโคโรนา
“สนามแม่เหล็กนี้ผูกมัดและเข้าใกล้หลุมดำ ทำให้ทุกอย่างร้อนขึ้นและผลิตอิเล็กตรอนพลังงานสูงเหล่านี้เพื่อผลิตรังสีเอกซ์” วิลกินส์กล่าว
เปิดเงินอัดฉีดนักกีฬาแต่ละชาติ ได้เท่าไรหลังคว้าเหรียญโอลิมปิก
แต่ละประเทศมีรางวัลที่แตกต่างกันออกไปสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิก
วันที่ 03 ส.ค. 2564 : เมื่อสัปดาห์ก่อนไฮดีลีน ดิแอซ (Hidilyn Diaz) นักกีฬายกน้ำหนักหญิงจากฟิลิปปินส์คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ให้แก่ประเทศ ซึ่งเป็นเหรียญทองเหรียญแรกนับตั้งแต่ฟิลิปปินส์เข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกเมื่อปี 1924
เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของเธอรัฐบาลฟิลิปปินส์และภาคส่วนธุรกิจจึงได้มอบเงินรางวัลสูงถึง 33 ล้านเปโซหรือประมาณ 21 ล้านบาท พร้อมด้วยบ้าน คอนโด และรถยนต์ รวมถึงมีเงินอัดฉีดเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่างๆ
ขณะที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ให้คำมั่นว่าจะมอบเงินส่วนตัวมูลค่า 3 ล้านเปโซหรือราว 2 ล้านบาทพร้อมด้วยบ้านพร้อมเฟอร์นิเจอร์ให้แก่ดิแอซ
ด้านเกาหลีใต้ก็มีการมอบรางวัลสำหรับนักกีฬาเช่นกันโดยกระทรวงวัฒธรรม การท่องเที่ยว และกีฬาของเกาหลีใต้ประกาศว่าจะมอบเงินรางวัล 63 ล้านวอนหรือราว 1.8 ล้านบาทสำหรับแต่ละเหรียญทอง
เงินรางวัล 35 ล้านวอนหรือประมาณ 1 ล้านบาทสำหรับเหรียญเงิน และ 25 ล้านวอนหรือ 720,000 บาทสำหรับเหรียญทองแดง สำหรับนักกีฬาประเภททีมจะได้รับ 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินรางวัลทั้งหมด ตามรายงานของ The Korea Times
อัน ซาน (An San) นักยิงธนูทีมชาติเกาหลีใต้ซึ่งคว้า 3 เหรียญทองจากโตเกียวโอลิมปิกจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 157.5 ล้านวอนจากกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้เธอจะได้รับเงินอัดฉีดจากมูลนิธิส่งเสริมกีฬาเกาหลีใต้อีก 95 ล้านวอน และนับตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปหญิงสาววัย 20 ปีคนนี้จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 1 ล้านวอนตลอดชีพ
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสมาคมกีฬายิงธนูเกาหลีใต้จะมอบเงินรางวัลให้เธอเท่าไร แต่ในการแข่งขันโอลิมปิกริโอ 2016 นั้นได้มอบเงินรางวัลแก่นักกีฬาที่คว้าเหรียญรวมทั้งสิ้น 2,500 ล้านวอน ซึ่งนักกีฬาเหรียญทองประเภทเดี่ยวได้เงินรางวัลคนละ 200 ล้านวอน และนักกีฬาเหรียญทองประเภททีมได้เงินรางวัลคนละ 150 ล้านวอน
ด้านอู ซังฮยอก (Woo Sang-hyeok) นักกีฬากระโดดสูงที่แม้จะจบที่อันดับ 4 ชวดเหรียญทองไปอย่างน่าเสียดายแต่เขาและโค้ชจะได้รับเงินอัดฉีดคนละ 20 ล้านวอนจากสมาคมสหพันธ์กรีฑาแห่งเกาหลีใต้จากการสร้างสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์โอลิมปิกของเกาหลีใต้
ขณะที่ Nikkei Asia รายงานว่านักยกน้ำหนักจากอินโดนีเซียจะได้รับเงินมูลค่า 5,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 11 ล้านบาท) จากการคว้าเหรียญทอง, 2,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.6 ล้านบาท) สำหรับเหรียญเงิน และ 1,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 2.3 ล้านบาท) สำหรับเหรียญทองแดง ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยของชาวอินโดนีเซีย
ส่วนคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศญี่ปุ่นจะมอบเงินรางวัลจะมอบเงินรางวัลมูลค่า 5 ล้านเยน (1.5 ล้านบาท) สำหรับนักกีฬาญี่ปุ่นที่คว้าเหรียญทอง
Forbes ระบุว่าเฉิ่ง กา หลง (Cheung Ka-long) นักกีฬาจากฮ่องกงซึ่งคว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากกีฬาฟันดาบประเภทฟอยล์ชายเดี่ยวได้รับเงินอัดฉีด 5 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 21 ล้านบาท) จากรัฐบาล และจะได้รับเงินอีก 2.5 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 10 ล้านบาท) จาก Lam Tai Fai College
นอกจากนี้ Forbes และ BuzzFeed ได้รวบรวมเงินอัดฉีดของประเทศอื่นๆ ที่มอบให้แก่นักกีฬาที่คว้าเหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิกไว้ดังนี้
มาเลเซียมอบเงินอัดฉีด 236,000-237,000 เหรียญสหรัฐสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทอง, 71,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญเงิน และ 24,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญทองแดง
สิงคโปร์มอบเงินอัดฉีด 737,000-738,000 เหรียญสหรัฐสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทอง, 369,000-500,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญเงิน และ 184,000-250,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญทองแดง
สหรัฐอเมริกามอบเงินอัดฉีด 37,500 เหรียญสหรัฐสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทอง, 22,500 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญเงิน และ 15,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญทองแดง
อิตาลีมอบเงินอัดฉีด 213,000-214,000 เหรียญสหรัฐสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทอง, 90,000-107,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญเงิน และ 60,000-71,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญทองแดง
บราซิลมอบเงินอัดฉีด 49,000 เหรียญสหรัฐสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทอง, 29,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญเงิน และ 20,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญทองแดง
แคนาดามอบเงินอัดฉีด 16,000 เหรียญสหรัฐสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทอง, 12,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญเงิน และ 8,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญทองแดง
ออสเตรเลียมอบเงินอัดฉีด 15,000 เหรียญสหรัฐสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทอง, 11,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญเงิน และ 7,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญทองแดง
แอฟริกาใต้มอบเงินอัดฉีด 37,000 เหรียญสหรัฐสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทอง, 19,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญเงิน และ 7,000 เหรียญสหรัฐสำหรับเหรียญทองแดง
คลื่นความร้อนซัด! แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ละลายวันเดียวเทียบเท่า “ระดับน้ำสูง 2 นิ้วทั้งรัฐฟลอริดา”
แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ประสบเหตุ “การหลอมเหลวครั้งใหญ่" ในช่วงคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติมากกว่า 10 องศา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
เว็บไซต์ Polar Portal นักวิจัยชาวเดนมาร์ก รายงานว่าตั้งแต่วันอังคารที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมอาณาเขตอาร์กติกอันกว้างใหญ่ได้ละลายประมาณ 8 พันล้านตันต่อวัน ซึ่งมากเป็นสองเท่าของอัตราเฉลี่ยปกติในช่วงฤดูร้อน
สถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งเดนมาร์กรายงานว่ามีอุณหภูมิมากกว่า 20 องศาเซลเซียส (68 องศาฟาเรนไฮต์) มากกว่าอุณหภูมิฤดูร้อนเฉลี่ยปกติในฤดูร้อนถึงสองเท่าในภาคเหนือของกรีนแลนด์ และที่สนามบิน Nerlerit Inaat ทางตะวันออกเฉียงเหนือของดินแดนบันทึก 23.4 องศาเซลเซียส (74.1 F) ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค.ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึก
คลื่นความร้อนที่กระทบส่วนใหญ่ของกรีนแลนด์ในวันนั้น เว็บไซต์ Polar Portal รายงานว่า "เป็นเหตุการณ์การหลอมเหลวครั้งใหญ่" ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายเพียงพอที่จะครอบคลุมทั้งรัฐฟลอริดาด้วยระดับน้ำสูง 2 นิ้ว (5 เซนติเมตร)โดยพื้นที่ที่เกิดการละลายในครั้งนี้มีขนาดใหญ่กว่าเมื่อสองปีก่อน
แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์เป็นมวลน้ำแข็งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ทั้งนี้ แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์เป็นมวลน้ำแข็งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยมีพื้นที่เกือบ 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร (695,000 ตารางไมล์) รองจากทวีปแอนตาร์กติกาเท่านั้น
"การละลายของแผ่นน้ำแข็งที่นี่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2533 และพบว่าเร่งตัวขึ้นนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งการสูญเสียมวลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มากกว่าก่อนปี 2000 ประมาณสี่เท่า" นักวิจัยรายงานใน Polar Portal
กรีนแลนด์สูญเสียมวลพื้นผิวมากกว่า 8.5 พันล้านตันในวันอังคาร และ 18.4 พันล้านตันตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามรายงานของสถาบันอุตุนิยมวิทยาเดนมาร์ก แม้ว่าการสูญเสียน้ำแข็งทั้งหมดในสัปดาห์นี้จะไม่รุนแรงเท่าเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในปี 2019 ซึ่งเป็นปีแห่งการละลายเป็นประวัติการณ์
ผลการศึกษาของยุโรปฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าระดับน้ำในมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 10 ถึง 18 เซนติเมตรภายในปี 2100 หรือเร็วกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ 60% ในอัตราที่แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังละลาย และหากว่าแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ละลายจนหมดนั้นจะทำให้ระดับมหาสมุทรสูงขึ้น 6-7 เมตร
ทั้งนี้ กรีนแลนด์ เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป และทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนเหนือสุดของโลก และอยู่ในทวีปเมริกาเหนือ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,166,086 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันกรีนแลนด์อยู่ในฐานะเป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก
ข้อมูลอ้างอิง https://www.voanews.com/science-health/heat-wave-causes-massive-melt-greenland-ice-sheet
https://edition.cnn.com/2021/07/29/us/greenland-ice-melting-climate-change/index.html