ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ไตวายเฉียบพลัน อันตรายกว่าที่คิด สาเหตุจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

ไตวายเฉียบพลัน โรคร้ายที่ นายพงษ์ศักดิ์ โสภักดี หรือโป๊งเหน่ง เชิญยิ้ม ดาราตลกชื่อดังล้มป่วยกะทันหันและมีอาการน่าเป็นห่วง ทำให้หลายคนเกิดความสนใจและสงสัยว่าโรคนี้มีสาเหตุจากอะไร และป้องกันได้หรือไม่

ไตวายเฉียบพลัน คืออะไร

ภาวะไตวายเฉียบพลัน เกิดจากไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียและขับน้ำส่วนเกินออกจากระบบทางเดินปัสสาวะอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อยลง โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้

ภาวะช็อกจากอาการหัวใจล้มเหลวติดเชื้อในกระแสเลือด

ร่างกายสูญเสียน้ำในปริมาณมาก เช่น การตกเลือด ท้องเสีย หรืออาเจียนอย่างรุนแรง การเป็นโรคไตอักเสบเฉียบพลัน

รับประทานยานอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ซึ่งมีผลเสียต่อไต เช่น ยาชุดแก้ปวด ยาสมุนไพร

การรับประทานอาหารบางชนิดมากเกินไป เช่น น้ำมะเฟือง ผักปวยเล้ง ตะลิงปลิง แครนเบอร์รี

สำหรับอาการของภาวะไตวายเฉียบพลันจะมีลักษณะดังนี้ ปัสสาวะออกน้อย, มีอาการคั่งของน้ำ ซึ่งจะมีการบวมเท้า ข้อเท้า และขา, หายใจเหนื่อย, อ่อนเพลีย, สับสน, คลื่นไส้อาเจียน, อ่อนแรง, ใจสั่น ชัก หมดสติ

ภาวะไตวายเฉียบพลันอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคแทรกซ้อนของภาวะไตวายเฉียบพลัน ได้แก่ เมื่อไตวายจะมีการคั่งของน้ำ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมปอด ผู้ป่วยจะหายใจหอบ เหนื่อย, แน่นหน้าอกเนื่องจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, กล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากเกลือแร่เสียสมดุล, ไตวายเรื้อรัง เสียชีวิต

การรักษาภาวะไตวายเฉียบพลัน

สำหรับการรักษาภาวะไตวายเฉียบพลันมีหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วย

วิธีที่ 1: แพทย์จะทำการรักษาโดยการหาสาเหตุและรีบทำการรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ไตสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติโดยเร็ว และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ แก้ไขภาวะช็อกและการให้สารน้ำในรายที่มีการขาดสารน้ำ

วิธีที่ 2: แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองและรักษาโรคแทรกซ้อน ได้แก่ การควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกร่างกายให้สมดุล หลีกเลี่ยงยาที่มีพิษต่อไต รวมทั้งปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของไตที่ลดลง แก้ไขสมดุลกรดด่าง ภาวะเกลือแร่ที่ผิดปกติในร่างกาย เป็นต้น

วิธีที่ 3: การให้สารอาหาร พลังงานและปริมาณโปรตีนให้เหมาะสม

วิธีที่ 4: เป็นวิธีสุดท้าย คือ การบำบัดทดแทนไตตามข้อบ่งชี้ เช่น ภาวะที่มีโปแตสเซียมในเลือดสูง ซึ่งหากหาสาเหตุและแก้ปัญหาได้ส่วนใหญ่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าก็จะทำให้กลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรังได้

หลังจากที่รักษาภาวะไตวายเฉียบพลันจนมีอาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องปรับการใช้ชีวิตของตนเองใหม่เพื่อลดการทำงานของไต นั่นคือ

เลือกอาหารที่มีเกลือโปแตสเซียมต่ำ เช่น แอปเปิล ดอกกะหล่ำ องุ่น สตรอว์เบอร์รี ส่วนอาหารที่มีเกลือโปแตสเซียมสูง ได้แก่ กล้วย ส้ม มะเขือเทศ มันฝรั่ง, งดอาหารเค็ม, หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ธัญพืชถั่ว

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาและสมุนไพร หากต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ ควรตรวจสุขภาพประจำปี หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการน่าสงสัยให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นให้หายเป็นปกติ

ไตวายเฉียบพลัน ป้องกันได้ไหม

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคไตก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ควรป้องกันด้วยการดูแลตนเองตั้งแต่วันนี้ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้ ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 6-8 แก้ว, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

หลีกเลี่ยงสารเคมี ยา ยาสมุนไพร และยาบำรุงต่างๆ ซึ่งควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์, ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม, ควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทันท่วงที

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการดูแลตัวเองง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน รวมถึงการป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ด้วย

อ้างอิงข้อมูล: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


นาซาเตรียมเผยผลงาน กล้องเจมส์เว็บบ์

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ระบุว่า เตรียมเปิดเผยในเร็วๆนี้ถึงภาพถ่ายในจักรวาลภาพแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งเป็นการรวมมุมมองที่ไม่เคยมีมาก่อนของดาราจักรหรือกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกล รวมถึงเนบิวลาสว่างไสว และดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์ที่อยู่ไกลออกไป

นักดาราศาสตร์จากสถาบัน Space Telescope Science Institute (STSI) ที่ดูแลกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เผยว่า คณะกรรมการระหว่างประเทศตัดสินใจว่าภาพลอตแรกของภาพทางวิทยาศาสตร์ที่มีสีสมบูรณ์ จะมีภาพของเนบิวลากระดูกงูเรือ (Carina Nebula) ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆฝุ่นและก๊าซขนาดมหึมา ลักษณะเด่นคือรูปทรงคล้ายเสาสูงตระหง่าน อยู่ห่างออกไป 7,600 ปีแสง พร้อมกับเซาเธิร์น ริง เนบิวลา (Southern Ring Nebula) ที่แวดล้อมด้วยดวงดาวที่กำลังจะตาย ซึ่งห่างออกไป 2,000 ปีแสง

นอกจากนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ยังวิเคราะห์แสงที่เปิดเผยข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับก๊าซยักษ์ที่อยู่ห่างไกลชื่อ WASP-96 b ถูกค้นพบในปี พ.ศ.2557 อยู่ห่างจากโลกเกือบ 1,150 ปีแสง มีมวลประมาณครึ่งหนึ่งของดาวพฤหัสบดี และโคจรรอบดาวฤกษ์ของตนในเวลาเพียง 3.4 วัน ขณะที่ยังตรวจดูกาแล็กซีขนาดกะทัดรัด Stephan’s Quintet ที่อยู่ห่างออกไป 290 ล้านปีแสงด้วยเช่นกัน.


ค้นพบนักล่าแขนเล็กยุคก่อนประวัติศาสตร์

นับตั้งแต่การค้นพบไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือทีเร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ในปี พ.ศ.2445 ผู้คนก็สงสัยว่าทำไมสัตว์ตัวใหญ่ถึงมีแขนเล็กๆ แล้วมีประโยชน์หรือไม่ ซึ่งมีการนำเสนอมุมมองหลายอย่าง เช่น บางทีแขนอาจจะหดสั้นลง อันเป็นผลมาจากส่วนอื่นๆของร่างกายมีการปรับเปลี่ยน

ล่าสุดทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติในอาร์เจนตินาเผยถึงการศึกษาไดโนเสาร์สายพันธุ์ขนาดมหึมาที่พบในปี พ.ศ.2555 ทางตอนเหนือของดินแดนปาตาโกเนีย ตรงปลายใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ครอบคลุมพื้นที่ในอาร์เจนตินาและชิลี

ไดโนเสาร์ตัวนี้ชื่อว่า Meraxesgigas หนัก 4,082 กิโลกรัม ยาวประมาณ 10-12 เมตร เป็นชนิดกินเนื้อ เชื่อมีชีวิตเมื่อ 90 ล้านปีก่อนในยุคครีเตเชียส Meraxes gigas มีแขนสั้นและกะโหลกศีรษะใหญ่โตคล้ายทีเร็กซ์ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตาในสหรัฐอเมริการะบุว่า กะโหลกศีรษะและแขนที่เล็กของ Meraxes gigas คือเบาะแสสำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์นักล่ายุคก่อนประวัติศาสตร์

โดยเฉพาะวิธีที่พวกมันล่าเหยื่อ และถึงแม้ Meraxes gigas จะเป็นสมาชิกของวงศ์คาร์ชาโรดอนโทซอรัส (Carcharodontosauridae) ซึ่งเป็นกลุ่มของไดโนเสาร์เธอโรพอดขนาดยักษ์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร และจะมีลักษณะคล้ายกับทีเร็กซ์ แต่ทั้ง 2 ชนิดไม่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด หมายความว่าพวกมันพัฒนาแขนเล็กๆ และกะโหลกศีรษะใหญ่โตแยกจากกัน

นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อเมื่อเวลาผ่านไปบทบาทการล่าได้ถูกถ่ายโอนไปที่กะโหลกศีรษะ การที่กะโหลกศีรษะมีการปรับปรุงให้เหมาะสมทั้งแรงกัดและขนาด ทำให้แขนไดโนเสาร์หดสั้นลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามือและแขนเล็กๆจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะอาจมีหน้าที่อื่นๆในแง่ของการล่าสัตว์และการกินอาหาร.


ค่าความดันโลหิตมีผลต่อชีวิตและสุขภาพอย่างไร

เคยสงสัยกันไหมว่า ทุกครั้งที่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล ทำไมเขาถึงต้องให้เราวัดความดันโลหิตทุกครั้งก่อนเข้าตรวจ หรือเพราะว่า... ค่าความดันโลหิตมีความสำคัญกับร่างกายของเรา แล้วถ้ามันมีความสำคัญจริง มันจะสำคัญอย่างไร หรือบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ในจุดไหน วันนี้ นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 มีคำตอบมาฝาก

ความดันโลหิตคืออะไร และสำคัญอย่างไร

ความดันโลหิต หรือ Blood Pressure หมายถึงความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดง หรือพูดง่ายๆ ว่า คือแรงดันเลือดที่ไปกระทบต่อผนังภายในหลอดเลือดแดงขณะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งค่าความดันนี้สามารถวัดได้โดยเครื่องมือทางการแพทย์ ที่นอกจากจะบอกถึงความแรงของการสูบฉีดเลือดแล้ว ยังอนุมานได้ถึงสุขภาพของผนังหลอดเลือดว่ายังดีอยู่หรือไม่ เพราะหากผนังหลอดเลือดมีความผิดปกติ แข็ง ขาดความยืดหยุ่น มีตะกรันเกาะ หรือเริ่มตีบ ก็จะถูกฟ้องด้วยค่าความดันโลหิตที่สูงขึ้นนั่นเอง เพราะความดันโลหิตสูงจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม และยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคไต และโรคแทรกซ้อนต่างๆ และหากมีการตีบ แตก หรือตันของหลอดเลือดสมองอย่างเฉียบพลัน อาจจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นความดันโลหิตจึงมีความสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแล และควรได้รับการตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะกับผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือมีความดันโลหิตผันผวน

วัดความดันโลหิตแต่ละครั้ง ทำไมตัวเลขจึงไม่เท่ากัน

เมื่อเราวัดความดันโลหิตแล้วพบว่ามีตัวเลขที่สูงกว่ามาตรฐานก็อย่าเพิ่งตกใจหรือกังวลมากไป เพราะในแต่ละครั้งที่ทำการวัด ตัวเลขอาจต่างกันเล็กน้อยได้ตามปัจจัยในขณะนั้น เช่น

มีภาวะทางอารมณ์ตื่นเต้น เครียด หรือมีความกังวล ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

เป็นช่วงที่เพิ่งทานอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีผงปรุงรส อาหารเค็ม หรืออาหารสำเร็จรูปที่มีเกลือสูง

สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือดื่มกาแฟก่อนเข้ารับการวัดความดันโลหิต

เพิ่งเดินมาถึง เดินขึ้นบันไดมา ทำให้หัวใจยังเต้นแรงเพราะเหนื่อยหอบ

ความดันโลหิต กับตัวเลขที่เหมาะสม

เราจะทราบได้อย่างไรว่าความดันโลหิตยังปกติดีอยู่ คำตอบคือ ในทางการแพทย์นั้นมีตัวเลขที่เป็นมาตรฐานอยู่ 2 ตัว คือ

1. ค่าความดันโลหิตตัวบน คือ ค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic Pressure) ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 120 มม.ปรอท

2. ค่าความดันโลหิตตัวล่าง คือ ค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว (Diastolic Pressure) ซึ่งค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 80 มม.ปรอท

โดยทั่วไปแล้วหากความดันโลหิตสูงกว่าค่ามาตรฐานเพียงเล็กน้อยก็ยังไม่ถึงกับเป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง แต่หากค่าความดันโลหิตตัวบนของใครสูงถึง 139 มม.ปรอท หรือค่าความดันโลหิตตัวล่างสูงถึง 89 มม.ปรอทเป็นประจำ นั่นอาจแสดงถึงภาวะหลอดเลือดแดงเริ่มมีปัญหา สิ่งแรกที่ทำได้คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ค่าความดันโลหิตลดลง หากปรับพฤติกรรมไปสักพักแล้วแต่ค่าความดันโลหิตยังสูงอยู่ เราแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ก่อนเริ่มการรักษา ต้องรู้ค่าความดันโลหิตที่แท้จริง

จริงๆ แล้วค่าความดันโลหิตนั้นเปลี่ยนแปลงไปในตลอดวัน ความแตกต่างนั้นอาจเกิดจากสิ่งที่รับประทาน อารมณ์ ความรู้สึก ความเครียด การพักผ่อน และกิจกรรมที่ทำในขณะนั้น การที่จะวินิจฉัยและบอกให้คนไข้ปรับพฤติกรรม หรือต้องรักษาด้วยการกินยา แพทย์จำเป็นจะต้องรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าคนไข้มีความดันโลหิตสูงจริงหรือไม่ และสูงในระดับที่ต้องการการรักษาแบบใด ซึ่งการวัดความดันโลหิตเพียงไม่กี่ครั้ง ในสภาพที่แตกต่างกัน อาจเป็นข้อมูลที่ไม่เพียงพอ

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ปัจจุบันแพทย์จะมีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่เรียกว่า “เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดพกพาติดตัวเพื่อดูผลตลอด 24 ชม.” โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้จะประกอบด้วยส่วนที่เป็นผ้าพันแขน (Cuff BP) ซึ่งมีลักษณะเหมือนเวลาที่คนไข้ไปวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาล และส่วนที่เป็นเครื่องบันทึกความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นเครื่องเล็กๆ ที่คนไข้สามารถคาดติดไว้บริเวณเอว หรือเข็มขัดได้ โดยเครื่องดังกล่าวมีคุณสมบัติสำคัญ คือ

เก็บข้อมูล หรือค่าความดันโลหิตได้ถึง 250 ค่าอย่างต่อเนื่อง

สามารถตั้งเวลา หรือความถี่ในการวัดความดันโลหิตได้ตั้งแต่ทุกๆ 5 นาที ไปจนถึงทุกๆ 120 นาที ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดค่าให้ตามความเหมาะสมแบบรายบุคคล

วัดความดันโลหิตได้ระหว่าง 25 ถึง 260 มม.ปรอท

วัดอัตราการเต้นของชีพจรได้ระหว่าง 20 ถึง 200 ครั้งต่อนาที

กำหนดการวัดค่าในช่วงเวลาต่างๆ ได้ 3 แบบ คือ ขณะตื่น ขณะหลับ และขณะทำกิจกรรมต่างๆ

ผู้ใช้ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยมีเครื่องติดตัวอยู่

เมื่อคนไข้ หรือผู้ทดสอบติดอุปกรณ์จนครบ 24 ชม. แพทย์จะนำเครื่องมาโหลดข้อมูลเข้าในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงผลเป็นกราฟค่าความดันโลหิตในแต่ละช่วงเวลา แพทย์จะพิจารณาค่าเฉลี่ยในช่วงกลางวัน และในช่วงกลางคืนที่คนไข้นอนหลับ ซึ่งตัวเลขที่ได้จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ปัญหา หรือสุขภาพของคนไข้ เช่น มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ มีปัญหาเรื่องการนอนหลับหรือเปล่า เสี่ยงกับโรคความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วหรือยัง และมีความเร่งด่วนที่ต้องทำการรักษาหรือไม่

โดยเฉลี่ยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา ต้องไม่เกิน 135/85 mmHg และความดันโลหิตในเวลาหลับต้องไม่เกิน 130/80 mmHg

อุปกรณ์นี้ยังนิยมนำมาใช้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงแต่อายุยังน้อย อย่างกรณีคนไข้ที่อายุยังไม่ถึง 35 ปี แต่เมื่อวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลแล้วพบว่ามีความดันโลหิตสูง ทั้งๆ ที่ผลการตรวจสุขภาพทั่วไปก็ดูปกติดี การที่แพทย์จะให้คนไข้กินยาลดความดันโลหิตจึงอาจจะยังเร็วเกินไป

การหาค่าความดันโลหิตเฉลี่ยที่แท้จริงจึงเป็นคำตอบที่ดีก่อนพิจารณาถึงการรักษา แม้อุปกรณ์นี้มักนำไปใช้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง แต่ก็อาจนำไปใช้กับคนไข้โรคเบาหวานที่อายุมากๆ โดยเฉพาะถ้าคนไข้มีความดันแปรปรวน หรือมีค่าความดันโลหิตที่เหวี่ยงขึ้นลงมากๆ เพื่อดูว่าคนไข้มีภาวะความดันต่ำมากๆ ด้วยหรือไม่ จะได้พิจารณาเรื่องการใช้ยาให้เหมาะสม

บทความโดย : นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3


โควิด BA.5 มีอาการโควิดลงปอดอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

“โควิดลงปอด” หนึ่งในอาการสำคัญที่พบได้จากการติดเชื้อโควิดโอมิครอน BA.5 ซึ่งต่างจากโควิดโอมิครอน BA.1 และ BA.2 ที่เคยระบาดไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้โควิดลงปอดจะมีอาการอย่างไร สามารถป้องกันได้หรือไม่ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์รวมข้อมูลมาให้แล้ว

อาการโควิดลงปอด เป็นอย่างไร

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด แต่ไม่แน่ใจว่าโควิดลงปอดหรือไม่ สามารถทดสอบตัวเองได้ด้วยการเดินไปมาประมาณ 5-6 นาที หรือลุกนั่งเร็วๆ สัก 1 นาที หรือปั่นจักรยานอากาศสัก 3 นาที แล้วสังเกตอาการต่อไปนี้

รู้สึกแน่นหน้าอก, หอบเหนื่อย, หายใจไม่อิ่ม, อ่อนเพลีย

หากทำวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วมีอาการต่อไปนี้ รวมทั้งวัดระดับออกซิเจนในเลือดแล้วต่ำกว่า 94 ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เชื้อโควิดลงปอดแล้ว

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อโควิดลงปอด

ระหว่างรอเข้ารับการรักษา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์, ดื่มน้ำ 2-2.5 ลิตร, หากรับประทานอาหารได้น้อย ให้ดื่มเกลือแร่ทดแทน

นอนพักผ่อนระหว่างรอเตียง, ควรนอนคว่ำเพื่อไม่ให้ปอดโดนกดทับนอนตะแคงและขยับขาบ่อยๆ , สำหรับผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ให้นอนตะแคงด้านซ้าย

การรับประทานยา

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว งดยาขับปัสสาวะ เพื่อป้องกันร่างกายอ่อนเพลีย

ผู้ป่วยโรคความดัน ควรวัดความดันบ่อยๆ หากความดันต่ำกว่า 90/60 ควรงดยาทันที

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจน้ำตาลวันละ 4 เวลา หากค่าน้ำตาลต่ำกว่า 100 ให้งดฉีดอินซูลิน และหยุดยาลดน้ำตาลในเลือด

หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ให้รับประทานยาพาราเซตามอล ก่อนไข้ขึ้นสูง

ข้อควรระวังเมื่อมีอาการโควิดลงปอด

หากอยู่ในระหว่างรอรับการรักษาในโรงพยาบาล แล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน หากมีอาการเหนื่อยมาก ไม่ควรเข้าห้องน้ำ เนื่องจาก การเบ่งถ่าย และลุกนั่ง อาจทำให้เป็นลมหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นได้ ควรใช้กระโถนเพื่อขับถ่ายบริเวณข้างเตียง

หากจำเป็นจะเข้าห้องน้ำ ห้ามล็อกประตูเด็ดขาด และควรบอกคนใกล้ตัวให้รับทราบ เพราะเคยมีหลายรายที่มีอาการเหนื่อยแล้วไปเข้าห้องน้ำ เกิดเป็นลมและหัวใจหยุดเต้น

หมั่นติดต่อญาติ ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยอมรับว่าโควิดโอมิครอน BA.5 สามารถทำลายปอดและมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกความรุนแรงของโรคได้ชัดเจน จึงขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกและกังวลจนเกินไป

โควิดลงปอด ป้องกันได้หรือไม่

สำหรับการป้องกันโควิดลงปอดนั้นคงเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อติดเชื้อแล้วก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการโควิดลงปอดได้ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างจากผู้คน และเลี่ยงสถานที่แออัด ที่สำคัญคือควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างน้อย 3 เข็มเป็นพื้นฐาน และควรฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน เพื่อลดโอกาสและลดความรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19

อ้างอิงข้อมูล: ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.