ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



รู้จัก “คาโรชิ ซินโดรม” โรคทำงานหนักจนตาย อาการเป็นอย่างไร

“คาโรชิ ซินโดรม” (Karoshi Syndrome) โรคทำงานหนักจนตาย มีอาการอย่างไร อะไรคือปัจจัยเสี่ยง ป้องกันได้หรือไม่

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “งานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย” แต่ความจริงแล้วนั้นตรงกันข้าม เพราะมีหลายเคสพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “งานหนักทำให้คนตายได้” โดยเฉพาะเคสล่าสุดที่มีพนักงานออฟฟิศชาวไทยคนหนึ่งฟุบหลับเสียชีวิตที่โต๊ะทำงานนานข้ามวันโดยไม่มีใครรู้ จึงทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวในสังคม เพราะที่ผ่านมาเรามักจะเห็นเคสเหล่านี้จากต่างประเทศ แต่เคสล่าสุดนี้เกิดขึ้นในไทยจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำให้หลายคนเริ่มกังวล

โรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) คืออะไร

โรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) หรือโรคทำงานหนักจนตาย เป็นอาการเหนื่อยหรืออ่อนเพลียจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย เครียดสะสม จนทำให้เสียสุขภาพ และอาจเกิดอาการร้ายแรงที่นำไปสู่ชีวิต เช่น หัวใจวาย เป็นต้น

คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่พนักงานของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวจากการทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก จากนั้นก็มีพนักงานบริษัทเอเจนซี่ชื่อดังทนความเครียดจากการทำงานไม่ไหว จนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง จึงทำให้หลายคนหันมาสนใจผลกระทบจากการทำงานหนักจนเกินไปมากขึ้น

ที่ผ่านมา คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) พบได้บ่อยในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นสังคมที่กดดันเรื่องการทำงานอย่างหนัก จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ ส่วนมากเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรที่สร้างความกดดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างหนักจนก่อให้เกิดความเครียดในการทำงาน รวมไปถึงชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปจนทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน บางรายกระทบถึงขั้นไม่มีเวลานอน ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการเหนื่อยล้าสะสมเป็นเวลานาน

อาการโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome)

หากมีอาการดังต่อไปนี้อาจแปลว่าเรากำลังป่วยเป็นโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) อยู่

คิดหมกมุ่นเรื่องงานแทบจะตลอดเวลา เหมือนสมองไม่ได้พักผ่อน บางครั้งอาจเก็บไปฝัน

ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

ใช้เวลาในการทำงานเยอะมาก เริ่มงานเร็ว และเลิกงานช้า ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ไม่สามารถลางานได้ ไม่มีโอกาสลางาน หรือแทบไม่ได้ใช้วันลา ทั้งลาป่วย ลาพักผ่อน และลากิจ

เคร่งเครียดจากการทำงาน ทำงานภายใต้ภาวะกดดัน แทบไม่เคยใช้วันลาหยุด ไม่ว่าจะลาป่วย หรือลาพักร้อน

นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท รู้สึกอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ แทบไม่มีเวลาพักผ่อน จำไม่ได้ว่าได้พักผ่อนจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนที่เรารัก

อาการดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายเรื้อรังอื่นๆ ตามมา โดยข้อมูลจาก WHO เผยว่าคนในช่วงอายุ 45-74 ปี ที่ทำงานหนักจนเกินไป หรือมีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด คือ โรคหัวใจ 42% และเส้นเลือดในสมอง 19%

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ข้อมูลสรุปเกี่ยวกับ คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ไว้ดังนี้

ปริมาณงานจำนวนมากที่ทำในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเหล่านี้ตามความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบัน ดังนั้นแนวคิดว่าการทำงานหนักจึงทำให้เป็นโรคนี้จึงถูกต้อง

การสะสมความล้าเรื้อรังจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจได้ ดังนั้นการสะสมของความล้าเรื้อรังซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเวลาก่อนจะเกิดโรคแต่เป็นช่วงก่อนหน้านั้นซึ่งชัดเจนว่ามีการทำงานหนักเกินไป

การประเมินความหนักของงานจะต้องตรวจสอบในสภาพงานเป็นเวลา 6 เดือนก่อนเป็นโรค และจะต้องประเมินว่างานที่หนักหรือความล้าที่สะสมมากนั้นทำให้เกิดโรคขึ้นจากการทำงานหนักเกินไป

นอกจากนี้ จะต้องประเมินผลของปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชั่วโมงการทำงาน ความไม่สม่ำเสมอของงาน ข้อจำกัดในงาน ระบบงานกะ และสภาพแวดล้อมในงาน รวมทั้งความเครียดทางจิตใจที่เกิดจากงานด้วย

ถ้าเน้นที่ชั่วโมงทำงาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมความล้า ถ้าพนักงานคนนั้น (1) ทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมงมากจนเห็นได้ชัด (โดยปกติคือทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมง) ในช่วง 1 เดือนก่อนเกิดโรค หรือ (2) ทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกันนาน (โดยปกติคือทำงานล่วงเวลามากกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน) มากผิดปกติ ระหว่างสองถึงหกเดือนก่อนเกิดโรค ดังนั้นงานนั้นสัมพันธ์กับโรคอย่างชัดเจน

ถ้าชี้บ่งไม่ได้ว่ามีการทำงานล่วงเวลามากกว่าเดือนละ 45 ชั่วโมง ในช่วง 1-6 เดือนก่อนเกิดโรค ความสัมพันธ์ระหว่างงานกับโรคก็ไม่เกิดขึ้น จะบอกว่าโรคเกิดจากการทำงานได้ต่อเมื่อมีการทำงานล่วงเวลามากกว่าเดือนละ 45 ชั่วโมง

ความดันโลหิตสูง การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจได้ ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยหลายอย่างจะเป็นโรคได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพผู้ป่วย โรคที่มีอยู่เดิม และภาระงานที่มีมากขึ้น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของงานกับการเกิด คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ในกลุ่มคนเหล่านี้

วิธีป้องกัน คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome)

หากรู้ตัวว่าเริ่มมีพฤติกรรมการทำงานที่หนักเกินไป ไม่ว่าจะเป็น จำนวนชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป การทำงานล่วงเวลาที่ยาวนาน การโหมงานอย่างหนักเพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้ จนทำให้เกิดความเครียดแบบไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ในอนาคตได้ หนทางป้องกันที่สามารถทำได้มีดังต่อไปนี้ แบ่งเวลาเพื่อการพักผ่อนบ้าง

ทำกิจกรรมชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือคนที่เรารัก

พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีปัญหากับการนอน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

รู้จักการปล่อยวางความคิด

ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน หรือคิดเรื่องงานที่บ้านมากจนเกินไป

หากรู้สึกว่าตนเองทำงานมากจนเกินความพอดี ควรรีบปรึกษาหัวหน้าเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่ารอให้เสียสุขภาพแล้วจึงค่อยคิดหาทางแก้

ข้อมูลอ้างอิง: Jobsdb.com, สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย


เปิด 6 ข้อห้าม "ชาร์จโทรศัพท์" ใครชอบ ชาร์จแบตมือถือ ผิดวิธี เช็คด่วน

สาวก สมาร์ทโฟน ต้องอ่าน เปิด 6 ข้อห้าม "ชาร์จโทรศัพท์" ใครชอบ ชาร์จแบตมือถือ ผิดวิธี เช็คด่วน แค่ทำตามง่าย ๆ เซฟแบตยาว ๆ

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า “โทรศัพท์มือถือ” แทบจะเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับคนทั่วโลกไปแล้ว แถมมีการออกรุ่นใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ สาวกมือถือ ตามเปลี่ยนรุ่นกันแทบไม่ทัน แต่ใครที่เป็นคนไม่ชอบเปลี่ยนโทรศัพท์ เพราะแค่เอาไว้ใช้ยามจำเป็นเท่านั้น การรักษาให้โทรศัพท์มือถือ อยู่กับเราไปนาน ๆ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

หนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญของโทรศัพท์มือถือ ก็คือ แบตเตอรี่ ซึ่งต้องบอกเลยว่า เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ ชาวเน็ตแห่แชร์ และให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก สำหรับวิธีการ “ชาร์จโทรศัพท์” เมื่อแบตเตอร์รี่ต่ำ เชื่อว่า หลายคนที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ อาจจะเป็นวิธีที่ผิดก็ได้ คมชัดลึกออนไลน์ ได้รวบรวมวิธี ชาร์จแบตมือถือ ที่ถูกวิธี มาฝาก

6 ข้อห้าม ชาร์จโทรศัพท์

1. ปัจจัยหลักที่จะบ่งบอกได้ว่า แบตเตอรี่จะใช้ได้ยาวนาน หรือเสื่อมเร็วขึ้นกว่าเดิม สำหรับแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน นั้น ควรจะปล่อยให้พลังงานแบตเตอรี่ เหลือเกิน 50% จะดีที่สุด ยิ่งเราปล่อยให้แบตเตอรี่เหลือ 0% บ่อย ๆ ยิ่งทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วมากขึ้นเท่านั้น

2. อย่าพยายามชาร์จจนเต็ม 100% เพราะนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ แบตเตอรี่ค่อย ๆ เสื่อมอายุลง เพราะฉะนั้น ถ้าหากแบตเตอรี่ลดลงถึงระดับ 40% ก็ควรจะหยิบสายออกมาชาร์จกันได้แล้ว และควรจะชาร์จให้อยู่ที่ระดับ 90%

3. อย่าชาร์จโทรศัพท์ทิ้งไว้ทั้งคืน หรือถ้าต้องการชาร์จให้เต็ม 100% ควรจะทำแค่เดือนละครั้งก็พอ

4. เมื่อชาร์จแบตเต็มแล้ว ก็ควรรีบถอดที่ชาร์จออก เนื่องจากสถานะการชาร์จแบตเต็มนั้น ก็เหมือนกับกล้ามเนื้อของเราที่กำลังตึงเครียดอยู่ การที่เราถอดที่ชาร์จออก จะช่วยทำให้แบตเตอรี่ผ่อนคลาย และไม่มีแรงดันสูง

5. เราควรจะปล่อยให้พลังงานแบตเตอรี่เหลือเกิน 50% จะดีที่สุด แต่เนื่องจากทุกคนไม่สามารถทำตามได้ ที่ดีที่สุดก็คือ มีเวลา ก็หยิบสายออกมาชาร์จโทรศัพท์กันได้แล้ว และควรจะชาร์จให้อยู่ที่ระดับ 90%

6. อย่าปล่อยให้มือถือร้อนเกินไป ถ้าคุณรู้สึกว่ามือถือของคุณร้อนมาก เวลาชาร์จแบตให้ถอดเคสออกจะดีกว่า เพื่อให้มือถือสามารถระบายความร้อนได้ และควรหลีกเลี่ยงไม่ให้มือถือไปโดนแสงแดด

ทั้งหมดนี้ เป็นทริคดี ๆ สำหรับการดูแลโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน ของคุณให้มีประสิทธิภาพ และอยู่ใช้งานได้นานที่สุด

ขอบคุณที่มาจาก potato techs


รู้จัก ‘ดาวหางสีเขียว’ เยือนโลกครั้งแรก ในรอบ 5 หมื่นปี

นักดาราศาสตร์ตื่นเต้น ‘ดาวหางสีเขียว C/2022 E3 (ZTF)’ จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 1 ก.พ.นี้ จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

การมาเยือนโลกของดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะเป็นการโคจรมาใกล้โลกครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี ใครพลาดครั้งนี้ ไม่ต้องหวังจะได้เห็นอีกแล้วในชั่วชีวิตนี้

นักดาราศาสตร์สังเกตพบดาวหางสีเขียว C/2022 E3 (ZTF) เมื่อช่วงต้นปี 2565 ขณะกำลังอยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี และตอนแรกคิดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย ก่อนจะมากระจ่างว่าเป็นดาวหาง C/2022 E3(ZTF) เมื่อเร็วๆ นี้เอง

สร้างความฮือฮาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ ดาวหาง ‘สีเขียวสดใส’ ซึ่งถูกนักดาราศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า ‘C/2022 E3 (ZTF)’ หรือเขียนสั้นๆ ว่า ‘C/2022 E3’ จะมาให้ชาวโลกได้ยล จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยจะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ นี้

สาเหตุที่การมาเยือนของดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ทำให้ผู้คนที่หลงรักการดูดาวและเหล่านักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์รู้สึกตื่นเต้นกันอย่างมาก และพากันเฝ้ารอดู เป็นเพราะดาวหางสีเขียวขจีดวงนี้ มีความโดดเด่นหลายประการ

นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อต้นปี 2565

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เพิ่งถูกค้นพบโดยเหล่านักดาราศาสตร์ที่ศูนย์ Zwicky Transient Facility ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ขณะที่ดาวหางกำลังอยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี และตอนแรก นักดาราศาสตร์คิดว่า เป็นดาวเคราะห์น้อย แต่มากระจ่างว่ามันคือดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีแสงสว่างปรากฏออกมา ขณะโคจรใกล้ดวงอาทิตย์

นักดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อเล่นเรียกดาวหางดวงนี้ว่า ‘ดาวหางสีเขียว’ (Green Comet) ด้วยความที่เป็นดาวหางที่เรืองแสงสีเขียวขจี

มาเยือนโลกครั้งแรกในรอบ 5 หมื่นปี

การมาเยือนโลกดาวหางสีเขียวออร่าสุกสกาว C/2022 E3 (ZTF) รอบนี้ ถือเป็นการมาเยือนโลกมนุษย์ของเรา ครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี เรียกว่า หากใครพลาดชมการมาเยือนโลกของดาวหางสีเขียวรอบนี้ล่ะ ก็คงหมดโอกาสที่จะได้เห็นอีกแล้วในชั่วชีวิตนี้

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เคยมาเยือนโลกของเราก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยยุคหินเก่าตอนปลาย และยังมีมนุษย์ยุคหิน ‘นีแอนเดอร์ทัล’ เดินไปเดินมาอยู่บนโลก

ขณะที่ นักดาราศาสตร์ยังเข้าใจว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) มาจากกลุ่มเมฆออร์ต (Oort cloud) ซึ่งเป็นชั้นทรงกลมของกลุ่มก้อนน้ำแข็งปนหิน ที่อยู่โดยรอบระบบสุริยะของเรา และเชื่อว่า กลุ่มเมฆออร์ตเป็นแหล่งต้นกำเนิดของดาวหางจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร

นิโคลัส บีเวอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่หอดูดาวปารีส กล่าวถึงดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ถูกสร้างขึ้นโดยน้ำแข็งและฝุ่น เปล่งแสงออร่าสีเขียว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าดาวหาง NEOWISE เป็นดาวหางดวงสุดท้ายที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยมันพุ่งผ่านโลกในเดือนมีนาคมปี 2563 และก่อนหน้านี้ คือ ดาวหางเฮล-บอพพ์ (Hale-Bopp) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 67 กิโลเมตร และโคจรใกล้โลกมากที่สุดในปี 2540

ทำไมดาวหาง C/2022 E3 เรืองแสงสีเขียว

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ที่เราเห็นว่า เปล่งแสงออร่าสีเขียวสุกสกาว แต่แท้จริงแล้วตัวของมันเองไม่ได้สีเขียว แต่สาเหตุที่ทำให้เราเห็นดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) มีสีเขียว เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาเคมี อันเนื่องมาจากโมเลกุลอะตอมคู่ของธาตุคาร์บอนของดาวหาง ถูกแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์แตกโมเลกุล จึงทำให้เราเห็นดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เปล่งแสงสีเขียวออกมา

โคจรใกล้โลกที่สุด 1 ก.พ. 2566

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะโคจรใกล้โลกเรามากที่สุดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีระยะห่างจากโลกของเราราว 26 ล้านไมล์ หรือประมาณ 42 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่าประมาณ 28% ของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ จนทำให้ชาวโลกสามารถมองเห็นดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ได้ด้วยตาเปล่า แต่คงมีข้อแม้ว่าท้องฟ้ายามค่ำคืนในจุดที่เราดูดาวหางต้องไม่เต็มไปด้วยแสงไฟฟ้าในเมือง

นักดาราศาสตร์ระบุว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะโคจรใกล้โลกจนมองเห็นได้ในเวลาประมาณ 23.49 น. ของคืนวันพุธที่ 1 ก.พ. 2566 ตามเวลามาตรฐานกรีนิช ที่ระดับ 49 องศาเหนือเส้นขอบฟ้าทางทิศเหนือ และดาวหางจะไต่ขึ้นไปถึงระดับสูงสุดบนท้องฟ้า อยู่ที่ระดับ 58 องศาเหนือเส้นขอบฟ้าทางทิศเหนือในเวลาประมาณ 02.46 น.

จากนั้น ดาวหางจะหายไปโดยแสงอาทิตย์ยามเช้า หรือประมาณ 10.57 น. ของวันที่ 2 ก.พ. 2566 ตามเวลามาตรฐานกรีนิช

เราสามารถมองเห็นดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ด้วยตาเปล่า แต่จะมองเห็นได้ง่ายขึ้นหากดูด้วยกล้องสองตาส่องทางไกล หรือกล้องโทรทรรศน์ และโอกาสที่ดีที่สุดในการดูดาวหางสีเขียว คือวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2566

ในขณะที่ นิโคลัส บีเวอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่หอดูดาวปารีส ยังกล่าวด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่หลังจากดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) โคจรผ่านโลกและดวงอาทิตย์ครั้งนี้แล้ว มันจะถูกขับออกจากระบบสุริยจักรวาลของเราอย่างถาวรไปตลอดกาล.

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : space.com , TheGurdian, Aljazeera

ขอบคุณภาพปก : NASA


ส่องธรรมชาติ ‘เขาใหญ่’ สัตว์ป่าเริงร่ารับลมหนาว

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระบุรี จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย นอกจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์แล้ว ยังมีเหล่าสรรพสัตว์อาศัยอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

6 กุมภาพันธ์ 2566 ช่วงฤดูหนาว อากาศก็หนาวเย็น ในช่วงกลางวันเฉลี่ยอยู่ที่ 22-25 องศาฯ พอช่วงกลางคืน อุณหภูมิลดลง อยู่ที่เลขตัวเดียว ประมาณ 8-9 องศาฯ เท่านั้น ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นไปท่องเที่ยวฟินรับลมหนาวไปตาม ๆ กัน ที่สำคัญถือเป็นจุดท่องเที่ยวสัมผัสความเย็นไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมธรรมชาติที่สวยสดงดงามแล้ว ยังปรากฏสัตว์ป่าออกมาโชว์ตัวอวดโฉมนักท่องเที่ยวหลากหลายชนิด

ทั้งช้างป่า ที่มักออกมาปรากฏตัว บริเวณโป่งทุ่งกวาง โป่งชมรมเพื่อน และตามแหล่งอาหารอื่น ๆ บนอุทยานฯ เขาใหญ่ ทุกครั้งที่ช้างป่าออกมาอวดโฉม นักท่องเที่ยวจะได้ชมอิริยาบถน่ารัก ๆ ที่ช้างป่าแสดงออกมาให้เห็นเป็นประจำสม่ำเสมอ สร้างความสุขแก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยจะมี นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่ นำกำลังเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม สัตว์ป่าที่ออกมาให้ชม นอกจากช้างป่าแล้ว ช่วงฤดูหนาวที่บริเวณหลังศูนย์อาหารอุทยานฯ เขาใหญ่ ก็จะมี นกทึดทือมลายู นกเค้าแมวขนาดกลาง พาลูกน้อยออกจากรังมาเกาะต้นมะม่วง ให้นักท่องเที่ยวได้เชยชม ท่ามกลางเสียงชะนีร้องระงมป่า เช่นเดียวฝูงนากที่พากันแหวกว่ายในลำตะคอง บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จับปลากินเป็นอาหารอย่างสบายใจ รวมทั้งยังมีนกอพยพหลากหลายชนิด มาอวดโฉมอีกด้วย เรียกได้ว่าใครขึ้นไปเที่ยวอุทยานฯเขาใหญ่ช่วงปลายหนาวนี้ ได้ชมสัตว์ป่านานาชนิดอย่างแน่นอน.

ข้อมูล:ไอศูรย์ นิลนคร...