ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ.อมตะ 28 ตุลาคม 2560

มิตร ชัยบัญชา พระเอกในดวงใจของคนไทยตลอดกาล

พอเดือนตุลาคมย่างเข้ามาคราวใด ก็อดจะระลึกถึงอดีตพระเอกภาพยนต์ไทย ขวัญใจที่ยังคงอยู่กลางใจคนดูตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุ ขณะถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง “อินทรีย์ทอง” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ทำให้ชีวิตการแสดงที่กำลังก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตหยุดนิ่งและปิดฉากลง

มิตร ชัยบัญชา ได้เกิดมาในแผ่นดินไทย เป็นข้าละอองธุลีพระบาทใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ชมพระบารมีพระองค์ท่าน ปี พ.ศ.2508 เป็นปีที่ มิตร โชคดีได้รับพระราชทานรางวัล “ดาราทอง” ด้วยคุณสมบัติ 4 ประการคือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี น้ำใจ เป็นรางวัลแรกสำหรับชีวิตการแสดง การสร้างความดีของเขา มิตรได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัล “ดาราทอง” เป็นที่ปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น ในหัวใจของเขา มิตรได้นำไปบูชาไว้บนหิ้งพระ เพราะถือว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ที่ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นอกจากนั้น “มิตร” ยังได้คอยเฝ้ารับเสด็จทั้งสองพระองค์อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรภาพยนต์ไทย ในรอบปฐมทัศน์และรอบเสด็จพระราชกุศล

ความประทับใจในชีวิตทหารที่ไม่อาจลืมได้ “ผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้เชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนาม ผมรักเครื่องแบบลูกทัพฟ้า” เสียดายเครื่องแบบทหารอากาศมากที่ต้องสิ้นสุดลง เมื่อเขาได้รับยศพันจ่าอากาศโทก็ได้ทำหนังสือลาออก ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2506 จึงกลายเป็นอดีตทหารอากาศ แม้การแสดงจะเป็นภาระที่ทำให้ต้องลาออก แต่จิตใจและตัวของเขาก็คือทหารอากาศ

เกือบทุกปีที่ “มิตร” ได้ไปปรากฏตัวพร้อมนำภาพยนต์ที่เขาแสดงเรื่องดีๆ และดังๆ ใหม่ๆ ไปฉายที่โรงภาพยนต์ทหารอากาศ เก็บเงินเพื่อการกุศล ให้กับหน่วยงานที่เขาสังกัดอยู่ รวมทั้งโทรทัศน์ที่เขาเห็นว่ามีประโยชน์ กับทหารต่อสู้อากาศยาน เขาก็จะซื้อไว้ให้ในกองทัพ มอบให้ในฐานะที่เขาเป็นครูฝึกของทหาร

มิตร ชัยบัญชา เตรียมเดินตามรอยรุ่นพี่ เมื่อเขาได้มาพบกับ สุรัตน์ พุกกะเวส ผอ.นิตยสารดาราไทย ได้พามิตร ไปพบกับ ประทีป โกมลภิส ผู้กำกับชื่อดัง และรังสรรค์ ตันติวงศ์ ที่โรงถ่ายศรีอยุธยา อยู่ที่ สี่กั๊กพระยาศรี ถนนบ้านหม้อ ไปๆมาๆ กับโรงถ่ายอยู่ 6 เดือน

โอกาสที่มิตร รอคอยก็มาถึง 20 พฤศจิกายน 2500 ประทีป โกมลภิส ก็ได้มอบบทบาท “ไวย ศักดา” พระเอกของเรื่อง “ชาติเสือ” ซึ่งร่วมแสดงกับ 3 นางเอกสาว เรวดี ศิริวิไล ประภาศรี สาธรกิจ น้ำเงิน บุญหนัก พร้อมกับการที่ได้ชื่อใหม่จาก จ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม มาเป็น มิตร ชัยบัญชา มิตร ชื่นชอบกับนามสกุล ชัยบัญชาเป็นอย่างมาก เขาก็ได้ใช้นามสกุลนี้มาแล้ว 10 ปีแล้ว จึงอยากจะใช้ตลอดไป

มิตร ชัยบัญชา ภูมิใจกับความเป็นไทย รักบ้านเกิดเมืองนอน รักแผ่นดินไทย เป็นคนตั้งใจทำงาน ไม่ว่าจะรับราชการเป็นทหารอากาศหรือเป็นนักแสดง เขารักทั้งสองอาชีพ เพราะรุ่นพี่ที่โรงเรียนจ่าอากาศโยธิน ที่เข้ามาเป็นนักแสดงจนมีชื่อเสียงก็คือ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ พระเอกตุ๊กตาทอง ประจวบ ฤกษ์ยามดี ก็มีชื่อเสียงมาก ทำให้เขาอยากจะเริญรอยตาม

“ชาติเสือ” ภาพยนต์เรื่องแรกของมิตร ได้เข้าฉายเมื่อปี 2501 ที่ศาลาเฉลิมกรุง ภาพยนต์เรื่องนี้เหมือนกับเป็นไตเติ้ลในการแนะนำตัวชีวิตการแสดงของเขาเท่านั้น ส่วนภาพยนต์ที่ทำให้ประชาชนจดจำเขาได้ ก็กำเนิดขึ้นด้วยจากเรื่อง “จ้าวนักเลง” เขาสวมบทบาทเป็นอินทรีย์แดง ในนาม โรม ฤทธิไกร จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต “มิตร” รักบทอินทรีย์แดงนี้มาก เพราะทำให้เขาโด่งดังและมีชื่อเสียง เขาสวมชุดอินทรีย์แดงนี้ในอีกหลายเรื่องอย่าง ทับสมิงคลา ,อวสานอินทรีย์แดง ,ปีศาจดำ, จ้าวอินทรีย์ ทุกครั้งที่เขาสวมชุดอินทรีย์แดง เขาแสดงได้ดีเหมือนจริงมาก ทำให้แฟนๆภาพยนต์ ได้รับความสนุกสนานไปกับเขาทุกเรื่อง

จากปี 2500-2504 มีนักแสดงเกิดขึ้นในวงการบันเทิงหลายคน อาทิ แมน ธีรพล แสน สรศักดิ์ พิศมัย วิไลศักดิ์ กิ่งดาว ดารณี เกศริน ปัทวรรณ ภาวนา ชนะจิต สมบัติ เมทะนี และเพชรา เชาวราษฎร์ ฯลฯ

มิตร ได้แสดงคู่กับ “อิ๊ด” เพชรา เชาวราษฏร์ เป็นเรื่องแรกคือ บันทึกรักของพิมพ์ฉวี ในปี 2504 จากนั้นก็แสดงคู่กันเป็นดาราคู่ขวัญ ร่วมงานกันจนมีฐานะขึ้นมา มิตร บอกแฟนๆ ภาพยนต์เรียกเขาว่า มิตร-เพชรา อิ๊ดเขาได้รับสโลแกนว่า “โฉมตรูนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง หรือ ดารานัยน์ตาโศก” ผมเคยบ่นอยู่เหมือนกันว่า เวลานี้นามสกุลผมไม่ใช่ชัยบัญชาแล้ว แฟนๆเขาเรียกผมว่า มิตร-เพชรา ยังกับว่าผมนามสกุล “เพชรา” เพราะ ผอ.ผู้สร้างนี่แหละที่เจาะจง ให้เรามาแสดงคู่กัน แฟนๆ เขาชอบมาก จนอยากให้เราแต่งงานกันจริงๆ ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะแสดงร่วมกันประมาณ 200 กว่าเรื่อง จริงๆแล้ว เขาก็โกรธเคียงกันอยู่บ่อยๆ ยิ่งเรื่องรักๆ ใคร่ๆ นี้ไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเลย มิตรบอกว่า เป็นขมิ้นกับปูนก็ว่าได้ บางทีไม่พูดกันเป็นเดือนๆก็เคยมี แต่ทั้งสองก็พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด

ในปี 2508 นี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณ์ มงคลการ แห่งละโว้ภาพยนต์ ได้สร้างผลงานใหม่เป็นภาพยนต์ 35 ม.ม. เรื่อง เงิน เงิน เงิน มิตรคู่กับเพชรา , ชรินทร์ นันทนาคร คู่กับ สุมาลี ทองหล่อ ,สุเทพ วงศ์คำแหง คู่กับ อรสา อิศรางกูรฯ มี 14 เพลงไพเราะ 15 ยอดนักร้อง พร้อมดาราทั่วฟ้าเมืองไทย ประมาณ 58 คน เนื้อเรื่องสนุกสนาน มีคติสอนใจ ปรากฏว่าถูกใจแฟนๆเป็นอย่างมาก ทำรายได้เป็นเงินล้านเป็นประวติการณ์ ทำให้ปี 2509 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง ได้มอบโล่ห์รางวัลพระราชทาน “มิตร-เพชรา” ในฐานะภาพยนต์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ทำรายได้มากที่สุด

ปี พ.ศ.2513 เป็นปีที่ มิตร สนุกกับงานมาก ถึงแม้ว่าในปีสองปีที่ผ่านมา จะมีเรื่องผิดหวังเสียใจอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ยังมีหลายโครงการที่มิตรวางแผนไว้ว่าจะทำให้เรียบร้อยในปีนี้ จึงทำให้ มิตร เป็นคนมุทะลุทำอะไรต้องทำให้ได้ และต้องทำให้เต็มที่ การงานแสดงก็เข้ามามากพร้อมๆกัน ก็เพราะภาพยนต์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ได้ปลุกความนิยม มิตร - เพชรา ขึ้นมาอีกครั้ง มิตร แสดงเป็น “คล้าว” หนุ่มบ้านนาผู้ยากจน รักแม่ รักเพื่อนและรักเดียวต่อคู่รักคือ ทองกวาว (เพชรา) ลูกสาวเศรษฐีในหมู่บ้านเดียวกัน เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้พิสูจน์รักแท้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เรื่องดำเนินไปพร้อมกับเพลงลูกทุ่ง ที่ช่วยบรรยายอารมณ์ ความรู้สึกของตัวแสดง ถึง 14 เพลง และภาพยนต์เรื่องนี้ยังโฆษณาว่า มิตรร้องเพลงลูกทุ่งด้วยตัวเองถึง 2 เพลง

….ปรากฏว่า มนต์รักลูกทุ่ง ฉายอยู่ในกรุงเทพฯ นานถึง 6 เดือน รายได้ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท และเพลงลูกทุ่งในภาพยนต์ดังทุกเพลง และทำให้คนกรุงเทพฯ มาหัดร้องเพลงลูกทุ่งได้เหมือนกัน

“มิตร” มีความสุข และมีกำลังใจมากขึ้นที่แฟนๆ ภาพยนต์ไทยยังไม่ทอดทิ้ง มิตร-เพชรา

ปี 2513 นี้ มิตร มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการรับการแสดงภาพยนต์ในต่างประเทศด้วย เป็นการแสดงภาพยนต์จีนกำลังภายในของฮ่องกง จึงต้องเดินทางไปถ่ายที่ฮ่องกง และเมื่อนวันที่ 5 ตุลาคม 2513 เดินทางจากการถ่ายทำภาพยนต์ที่ฮ่องกง มาถึงดอนเมืองประมาณ 3 ทุ่มกว่า เพื่อมาถ่ายทำฉากสุดท้ายของอินทรีย์ทอง ที่พัทยา หาดดงตาล พัทยาใต้ จ.ชลบุรี มิตร ในฐานะผู้กำกับการแสดงพยายามควบคุมไม่ให้งบประมาณบานปลายออกไป จึงต้องสรุปทุกอย่างในการถ่ายทำคิวของตัวเองที่ยังเหลือให้จบภายในวันที่ 8 ตุลาคม

ฉากสุดท้ายตามบทที่วาสนา (เพชรา) เป็นผู้ขับขี่เฮลิปคอ๊อบเตอร์ ที่ยึดได้จากเหล่าร้าย มารับตัวอินทรีย์ทองเพื่อจะได้หนีรอดพ้น ภาพที่ออกมาต้องตื่นเต้นว่าจะหนีได้ทันหรือไม่ ดังนั้นต้องเป็นการหนีเป็นแบบไม่ธรรมดา ของพระเอกและจบด้วยความดีใจของผู้ชมที่เอาใจช่วยพระเอกให้หนีไปอย่างปลอดภัย

มิตร รีบร้อนเกินไป ห่วงแต่ว่างานจะไม่สำเร็จ กลัวแสงแดดไม่พอ กลัวภาพที่ออกมาจะไม่สวย มิตร ไม่เคยกลัวความตาย หากเขาไม่เจ็บข้อมือที่โหนอยู่บันไดเฮลิปคอบเตอร์ เขาก็สามารถจะโหนอยู่ได้ จนกว่าการถ่ายทำจะเสร็จสิ้น ภาพที่มิตรหลุดร่วงลงจากบันไดลิง เฮลิปคอบเตอร์ ภาพยนต์เรื่องนี้จึงเป็นตอนอวสานของ “อินทรีย์ทอง” ถ้าโรงภาพยนต์ไหนมีคำโฆษณาไว้หน้าโรงว่า มีหนังการเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา มาประกอบด้วย มีคนเข้ากันแน่นจนโรงแทบพัง

เป็นที่น่าเสียใจแม้ว่า มิตร จากแฟนภาพยนต์ไปเร็วเกินวัยอันควร แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังถือความฝันและความหวังนั้นต่อไป

“ชัยบัญชา” เป็นนามสกุลที่มิตรชื่นชอบ เพราะประชาชนรู้จักเขาดี ถือว่าเป็นมงคลแก่ตัวเขาและครอบครัว จึงทำเรื่องขอเปลี่ยนมาใช้นามสกุลที่ อำเภอดุสิต “ชัยบัญชา” ตั้งแต่วันที่ 13มีนาคม 2510 และบัตรประชาชน ใบใหม่ที่ออกจึงเป็นชื่อ นายพิเชษฐ์ ชัยบัญชา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2512 และบัตรจะหมดอายุ ในวันที่ 2 มกราคม 2518 น่าเสียดายที่เขาต้องหมดอายุก่อนที่บัตรเขาจะหมดอายุ ในวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ถ้ามิตร ยังมีอายุอยู่ เขาจะมีอายุ 83 ปี และเขาจะต้องแสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้ง ในพระราชพิธีพิธีส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย.