ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ. อมตะ 18 เมษายน 2563

กิจกรรมคลายร้อน! ‘เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี’ สร้างความสุขให้สัตว์วันปีใหม่ไทย

13 เมษายน 2563 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) สำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จัดกิจกรรมคลายร้อนให้กับเหล่าสัตว์นานาชนิดที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมเชิญชวนชาวไทยร่วมใจแสดงพลังต้านภัยโควิด ส่งกำลังใจถึงบุคลากรทางการแพทย์ อยู่บ้านต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้

นายอนุชา ดำรงมณี กรรมการบริหาร ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงการดำเนินงานด้านการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ในช่วงเดือนเมษายน ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนับเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในประเทศไทย เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจึงได้จัดกิจกรรมคลายร้อนให้กับสัตว์ต่างๆ โดยการจัดทำอาหารคลายร้อนให้กับสัตว์ อาทิ หวานเย็นข้าวโพดและแครอทสำหรับหมี กล้วยแช่แข็งสำหรับยีราฟ หวานเย็นเนื้อไก่และเลือดสำหรับเสือและสิงโต เป็นต้น รวมทั้งได้จัดพื้นที่เล่นน้ำให้กับสัตว์บางชนิด อาทิ ช้าง หมีควาย และนกซันคอร์นัวร์ เป็นต้น เพื่อสร้างความผ่อนคลายและช่วยคลายร้อน

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมใจแสดงพลังต้านภัยโควิด โดยการอยู่บ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเชิญร่วมแสดงออกผ่านการแสดงความคิดเห็นใน Facebook:เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี Chiang Mai Night Safari เพื่อแชร์ออกไปถึงทุกคนที่คุณรัก และเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งเพื่อปกป้องชาวไทยทุกคน โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook:เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี Chiang Mai Night Safari หรือ Line OA:nightsafari และสำหรับท่านที่ต้องการติดต่อสำนักงานพัฒนาพิงคนคร และเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในช่วงเวลานี้ สามารถติดต่อได้ที่ E-mail : pinkanakorn.adm01@gmail.com หรือโทร.053-999000

'บิล เกตส์'เพิ่มงบให้อนามัยโลก 4 พันล้าน หลังถูกสหรัฐตัดเงิน ซัดช่างไร้เหตุผลสิ้นดี

16 เมษายน 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน บิล เกตส์ นักธุรกิจชาวอเมริกันและหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ กล่าวถึงการที่สหรัฐระงับงบประมาณสนับสนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นเรื่องที่อันตรายและไร้เหตุผลสิ้นดี เพราะฮูเป็นองค์กรกลางที่สามารถเป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคดรนา หรือ โควิด-19 ได้

โดยมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้เงินสนับสนุนฮูเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ได้ประกาศเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของดับเบิลยูเอชโออีก 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,910.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,636.75 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 และการเพิ่มความช่วยเหลือด้านระบบสาธารณสุขให้กับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาด้วย

ค้างคาวแม่ไก่

โรคระบาดในมนุษย์หลายชนิดมาจากสัตว์ อย่าง โรคซาร์ส ระบาดเมื่อปี 2545 เป็นเชื้อไวรัสที่มาจากชะมด โรคเมอร์ส ระบาดเมื่อปี 2555 เป็นไวรัสที่มาจากอูฐ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไวรัสโคโรนาที่เคยระบาดในมนุษย์มี 6 สายพันธุ์ และสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ที่ 7 มาจาก...ค้างคาวมงกุฎ...ไม่มีในประเทศไทย

แต่ที่เห็นกันชินตา คือ ค้างคาวแม่ไก่ ทำเอาหลายคนหวั่นใจ...น.สพ.เกษตร สุเตชะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ค้างคาวแม่ไก่ไม่มีเชื้อไวรัสโคโรนาแต่อย่างใด

ค้างคาวแม่ไก่ (Flying foxes) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่บินได้ มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ออกลูกคราวละ 1 ตัว ลักษณะหน้าตาคล้ายสุนัขจิ้งจอก จมูกและใบหูเล็ก ตาโต ขนสีน้ำตาลแกมแดง ปีกเป็นพังผืดบางๆ สีดำเชื่อมติดระหว่างนิ้ว มีเล็บแหลมคม สำหรับเกาะกิ่งไม้

เมื่อโตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 800 กรัม อาหารของค้างคาวแม่ไก่ ได้แก่ ใบไม้ เกสรดอกไม้ และผลไม้ เช่น ใบโพธิ์ และผลมะม่วง ใบมะขาม ออกหากินตอนกลางคืน เวลากลางวันอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เกาะกิ่งไม้ห้อยหัวลงมา

โดยมีวิวัฒนาการของเส้นเอ็น คอยทำหน้าที่ดึงให้เล็บงอจับวัตถุนั้น ลักษณะเป็นรอยหยักคล้ายๆเกล็ด ซึ่งเอ็นบริเวณนั้นจะถูกดึงเข้าไปล็อกแน่นอยู่ในช่องที่เรียกว่า reticulum ของกระดูกนิ้วท่อนที่ 2 การห้อยหัวนอนลักษณะนี้ ทำให้ไม่มีการใช้พลังงาน

ใครอยากไปยลโฉมทำได้ไม่ยาก มีอยู่หลายที่ไม่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เช่น ที่ วัดโพธิ์บางคล้า ต.บางคล้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา วัดหนองสีดา ต.หนองสีดา อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ วัดจันทาราม ต.โคกพุทรา อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง.

เชื้อโคโรนาไวรัสมีอิทธิฤทธิ์ทำลายภูมิคุ้มกันเหมือนเอชไอวี

เชื้อโคโรนาไวรัสโจมตีเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ แทนที่จะถูกภูมิคุ้มกันฆ่า ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสียหาย คล้ายกับที่พบในผู้ติดเชื้อเอชไอวี

งานวิจัยของ Lu Lu จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเซี่ยงไฮ้และ Jang Shibo จากศูนย์โลหิตนิวยอร์ก ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cellular & Molecular Immunology ได้นำเชื้อโคโรนาไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่มาใส่รวมกับเซลล์ภูมิคุ้มกัน หรือ T lymphocyte ที่ทำหน้าที่ตรวจจับและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย

ปรากฏว่าระหว่างที่เซลล์ภูมิคุ้มกันเข้าไปจับเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสแล้วเจาะรูเข้าไปในเยื่อหุ้มเซลล์เพื่อฉีดสารเคมีเข้าไปในเซลล์นั้น สารเคมีกลับฆ่าทั้งเชื้อไวรัสและเซลล์ที่ติดเชื้อด้วยการฉีกออกเป็นชิ้นๆ

แต่สิ่งที่ทำให้นักวิจัยประหลาดใจก็คือ เซลล์ภูมิคุ้มกันกลับเป็นเหยื่อของเชื้อโคโรนาไวรัสเสียเองแทนที่จะเป็นตัวฆ่าไวรัส

นักวิจัยพบโครงสร้างโปรตีนที่เป็นหนามของไวรัสที่กระตุ้นให้เกิดการเชื่อมผนังเซลล์ระหว่างเปลือกหุ้มไวรัสกับเยื่อหุ้มเซลล์ จากนั้นไวรัสก็บุกเข้าไปในเซลล์ภูมิคุ้มกันแล้วจับเป็นตัวประกัน เป็นการทำลายกลไกภูมิคุ้มกันของมนุษย์

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองแบบเดียวกันนี้กับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาด กลับไม่พบว่าไวรัสซาร์สโจมตีเซลล์ภูมิคุ้มกัน ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะไวรัสโรคซาร์สไม่มีกลไกการเชื่อมผนังเซลล์

ขณะที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลรัฐที่รักษาผู้ป่วย Covid-19 ในกรุงปักกิ่งเผยว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นการเพิ่มหลักฐานที่เป็นที่วิตกกังวลในวงการแพทย์ ว่าเชื้อโคโรนาไวรัสมีความสามารถในการจู่โจมภูมิคุ้มกันของมนุษย์โดยตรงเช่นเดียวกับเชื้อเอชไอวี

นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยจากสถาบันวิทยาภูมิคุ้มกันของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนเตือนว่า ผู้ป่วย Covid-19 มีเซลล์ภูมิคุ้มกันลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งยิ่งมีเซลล์ภูมิคุ้มกันน้อยเท่าไร ความเสี่ยงเสียชีวิตยิ่งสูง

ข้อสังเกตนี้ยืนยันได้จากการชันสูตรผู้ป่วย Covid-19 กว่า 20 คน ที่พบว่าระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายแทบจะทั้งหมด ส่วนความเสียหายของอวัยวะภายในก็เทียบเท่ากับโรคซาร์สและเอชไอวีรวมกัน

อย่างไรก็ดี ทั้งเชื้อโคโรนาไวรัสและเชื้อเอชไอวีก็มีความต่างกันที่ชัดเจน คือ เอชไอวีสามารถขยายจำนวนในเซลล์ภูมิคุ้มกัน เพื่อเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตเซลล์ติดเชื้อ ส่วนเชื้อโคโรนาไวรัสเมื่อเข้าสู่เซลล์ภูมิคุ้มกันแล้ว ตัวมันเองและเซลล์ภูมิคุ้มกันจะตายไปพร้อมๆ กัน

งานวิจัยชิ้นนี้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ตามมา อาทิ เชื้อโคโรนาไวรัสสามารถอยู่ในตัวผู้ป่วยได้หลายสัปดาห์ก่อนจะแสดงอาการ เชื้อนี้มีปฏิกิริยาอย่างไรกับเซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยหนักบางรายมีภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดไปโจมตีเซลล์ที่แข็งแรง

ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบเพิ่มเติม

เปิดตัว "ลูกค่างแว่นแฝด” แห่งผืนป่าหมู่เกาะอ่างทอง

พักเรื่อง โควิด-19 มาเรื่องราวที่ทำให้คนไทยชื่นหัวใจกันบ้าง เมื่อป่าปิดไร้นักท่องเที่ยว สัตว์น้อยใหญ่ต่างออกมาใช้พื้นที่ในบ้านของพวกเขา รวมถึง ครอบครัวค่างแว่นที่พาลูกแฝดตัวน้อยสีทองออกมาท่องโลกกว้าง

ครอบครัวค่างแว่นพากันนี้ออกมาเที่ยวเล่นกลางสนามหญ้าหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยแม่ค่างแว่นอุ้มลูกน้อยฝาแฝดสีเหลืองทองออกมาด้วย

นายปิยะ หนูนิล หัวหน้าอุทยานฯ คาดว่า อายุของค่างแว่นแฝดไม่น่าเกิน 3 เดือน และหลังจากนี้มันจะเปลี่ยนสีขนเหมือนกับแม่ที่สำคัญไม่เคยเจอค่างแว่นลูกแฝดแบบนี้มาก่อน

สำหรับในช่วงนี้เป็นช่วงปิดเกาะเนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวถือเป็นโอกาสอนุรักษ์ให้ธรรมชาติได้กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากครอบครัวค่างแว่นแล้วยังมีฝูงนกแก๊กในตระกูลนกเหงือกเล็กที่สุดออกมาหากิน ขณะที่บางช่วงจะพบโลมาว่ายน้ำหน้าเกาะ หากตรงกับรอบหากินจะพบวาฬใหญ่ด้วย