ขึ้นชื่อว่า “ทาสแมว” แล้ว เวลาไปเจอแมวที่ไหนก็คงอดไปเล่นด้วยไม่ได้ โดยเฉพาะเจ้าตัวที่เลี้ยงอยู่ที่บ้านยิ่งแล้วใหญ่ เราทั้งลูบ อุ้ม หรือซุกขนนุ่มๆ ตลอดทั้งวัน บางคนถึงขั้นเอามานอนกอดทั้งคืน จนบางทีอาจสังเกตว่าตัวเองเริ่มมีผื่นแดงคันผิดปกติตามร่างกาย แถมยิ่งเกาก็ยิ่งลามเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจเป็นอาการของ “โรคเชื้อราแมว” ที่ติดต่อจากการสัมผัสเชื้อราบนผิวหนังแมว และหากไม่รักษาและทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้ติดเชื้อขั้นรุนแรง
พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลวิมุต ให้ข้อมูลว่าโรคเชื้อราแมว เกิดจากการสัมผัสเชื้อราMicrosporum canis ที่อยู่ตามผิวหนังของแมว ซึ่งมนุษย์สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับแมวที่มีเชื้อหรือสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อราที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม คนส่วนใหญ่จะมีผื่นวงแดงที่มีอาการคัน มีขอบผื่นชัด มีขุยบริเวณขอบของผื่น ตำแหน่งที่มักเป็นบ่อย ได้แก่ ใบหน้า หนังศีรษะ แขน คอ และสามารถติดจากคนสู่คนได้
ทั้งนี้ การกระจายตัวของเชื้อราหรือรอยผื่นนั้นจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สัมผัสและรับเชื้อมา เช่น ถ้าอุ้มแมวก็จะติดตรงแขน ถ้าแมวเลียหน้าก็อาจมีผื่นขึ้นที่หน้า นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยหากเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้ป่วย HIV ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ การกระจายตัวของผื่นก็จะมากเป็นพิเศษ รวมถึงการเกาก็จะทำให้ผื่นลามไปตามตำแหน่งต่างๆ ได้”
อย่างไรก็ตาม โดยปกติเราจะสังเกตการติดเชื้อราเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองจากลักษณะผื่นที่เกิดขึ้น หากมีผื่นเป็นวงแดง มีขุยบริเวณขอบผื่น ก็อาจเข้าข่ายเป็นโรคเชื้อราแมว เมื่อพบก็ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง และในบางครั้งอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งก่อนการรักษา แพทย์จะขูดบริเวณขุยไปตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ และอาจส่งเพาะเชื้อเพื่อหาลักษณะหรือสายพันธุ์ของเชื้อราเพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง
วิธีการรักษานั้น แพทย์จะรักษาตามอาการ หากเป็นการติดเชื้อไม่กี่ตำแหน่ง จะจ่ายยาทาต้านเชื้อราร่วมกับยาลดอาการคันหากมีผื่นที่บริเวณศีรษะหรือมีผื่นเป็นบริเวณกว้าง แพทย์จะให้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน โดยเมื่อรักษาอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 สัปดาห์ ผื่นที่เกิดตามร่างกายขึ้นจะดีขึ้น ส่วนผื่นบริเวณหนังศีรษะอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น โดยจะใช้เวลารักษาประมาณ 6-8 สัปดาห์”
ทาสแมวทุกคนสามารถป้องกันเชื้อราแมวได้หลายวิธี เช่น ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายเมื่อสัมผัสแมวทุกครั้ง อาบน้ำทำความสะอาดให้แมวที่บ้านของเราอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตว่าหากน้องๆ ของเรามีผื่นแดง ขนร่วง หรืออาการผิดปกติ ก็ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาเชื้อรา อีกวิธีที่สำคัญคือต้องหมั่นทําความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่น้องๆ ไปสัมผัส เช่น โซฟา โต๊ะ สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน เพราะขนและเศษผิวหนังของสัตว์สามารถร่วงมาติดบริเวณเหล่านี้ได้เสมอ และ ไม่ใช่แค่แมวเท่านั้นสัตว์หลายๆ ชนิด เช่น สุนัข กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ก็สามารถเป็นตัวแพร่เชื้อราของสัตว์มาให้เราได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อสัมผัสสัตว์ไม่ว่าจะชนิดไหน ก็ควรทำความสะอาดให้ดีทุกรอบ
“เข้าใจว่าทาสแมวทุกคนชอบคลุกคลีอยู่กับน้องๆ ดังนั้น ควรพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ เช่น การให้แมวเลียปาก เลียหน้าหรือว่านอนด้วยกันตลอดทั้งวัน เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อรา นอกจากนี้ควรหมั่นสํารวจแมวที่บ้านของเราว่ามีผื่น มีขนร่วงผิดปกติไหม และพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพผิวหนังเป็นประจำ อย่าลืมทําความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังจากสัมผัสใกล้ชิดแมว รวมถึงดูดฝุ่น เช็ดทําความสะอาดในจุดที่แมวของเราไปสัมผัสด้วย เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดี จะได้อยู่ดูแลน้องๆ ของเราไปได้นานๆ” พญ.สุธาสินี ไพฑูรย์วัฒนกิจ กล่าวทิ้งท้าย
21 ส.ค.67 ที่จ.สตูล วันนี้พามารู้จักเมนูพื้นถิ่นที่หาทานค่อนข้างยากคือ เมนูฉลูไข่ที่มีส่วนผสม ประกอบด้วย หอม กระเทียม พริกสด ตะไคร้ ใบมะกรูด และที่คาดไม่ได้เลยคือ ฉลู หรือกุ้งตัวเล็ก ๆ หรือที่คนใต้เรียกตัวเคย ที่ผ่านการดองมาแล้วมาผสมเข้าด้วยกันกับไข่ไก่ เป็นเมนูฉลูไข่
เมื่อนำส่วนผสมทั้งหมดมาเข้าด้วยกันแล้ว ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงน้ำปลาเพิ่มแล้ว เพราะมีความเค็มของกุ้งเคย หรือฉลูในตัวแล้วนำไปทอดในกระทะเหมือนไข่ทอดทั่วไป ให้ด้านในสุกก็พร้อมรับประทานได้ รสชาติของฉลูไข่ จะมีความหอมของเครื่องเทศ และความเค็มนิด ๆ ของตัวฉลูหรือตัวกุ้งเคย จะเหมาะทานเป็นกับข้าวมากกว่า ซึ่งหาทานค่อนข้างยาก
คุณเข็ม อักษร ภูผาแดงโฮมสเตย์ล่องแก่งสตูล อ.ละงู จ.สตูล บอกว่า โดยเมนูฉลูไข่ จะเป็นเมนูรับแขกบ้านแขกเมืองที่เข้ามาเยือนเมืองสตูล และมีไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ภูผาแดงโฮมสเตย์ล่องแก่งสตูล อ.ละงู จ.สตูล
ฉลู หรือ เคยเค็มที่ชาวประมงพื้นบ้านนิยมทำกันในพื้นที่บางจังหวัดทางภาคใต้ นิยมนำเอากุ้งตัวเล็กๆหรือที่เรียกว่ากุ้งฝอย หรือกุ้งรำ นำมาหมักไว้จนได้รสชาติของกะปิหรือเคย จะออกรสเค็ม หากนำมาปรุง บ้างนำไปนึ่ง และผัดรวมกับวัตถุดิบอย่างอื่นด้วย ก็จะได้รสชาติที่ดี และหอมอร่อยเหมือนอย่างเมนูฉลูไข่ที่จ.สตูล
วันที่ 21 สิงหาคม 2567 กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ เมื่อมีหนุ่มคนหนึ่งได้ออกมาโพสต์เรื่องราวของชีวิตตนเองที่น่าเบื่อ พยายามหาหนทางแก้ให้ดีขึ้น
โดยเจ้าตัวเล่าผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มกระทู้ปักหมุด ระบุว่า “เบื่ออยู่บ้านเฉย ๆ อายุ 35 ครับ แต่ก่อนผมทำงานโรงงาน เป็นวิศวกรเเถวระยอง ภรรยาเป็นหมอ Anes พอแต่งงาน ภรรยาให้ผมลาออกมาอยู่บ้าน เพราะทำงานไกลกัน กลัวผมมีกิ๊กในโรงงาน พอลาออกมา ภรรยาให้วันละ 1,000 บาท เอาไว้ใช้จ่ายส่วนตัว ไม่รวมค่าน้ำมันรถ+ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เบิกที่ภรรยา
หน้าที่ตอนเช้า จัดเตรียมข้าวกล่องให้ภรรยาไปทำงาน เที่ยงส่งข้าว เย็นไปรับ รู้สึกเบื่อ จำเจ ว่างมาก เคยบอกภรรยาว่าเบื่อ อยากกลับไปทำงาน เธอก็ไม่ให้กลับ วัน ๆ ทำงานบ้านเสร็จ เปิดซีรีส์จีนดู ดูข่าว ดูโน้นนี่ จบวัน วนลูป เบื่อที่สุด”
ไข่แดง เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกทั้งยังมีรสชาติที่อร่อย รับประทานง่าย ไข่แดงไม่เพียงแต่อุดมไปด้วยโปรตีนเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งของสารอาหารหลากหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบีชนิดต่าง ๆ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค ธาตุเหล็ก สารโคลีน สารแคโรทีนอยด์ และกรดไขมันโอเมก้า 3 ด้วย แต่ไข่แดงก็มีคอเลสเตอรอลในปริมาณมาก ผู้ที่กำลังควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายจึงควรระมัดระวังในการรับประทานไข่แดง อย่างไรก็ตาม การรับประทานไข่แดงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลเสียแก่สุขภาพได้เช่นกัน
5.คุณประโยชน์ต่อสุขภาพของไข่แดง
1. ช่วยเสริมการพัฒนาสมองในเด็กเล็ก
ไข่แดงอุดมไปด้วยโปรตีน โคลีน และกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมองในระยะเริ่มต้นของเด็กเล็ก โดยเฉพาะโคลีนที่มีคุณสมบัติในการช่วยสร้างสารเคมีที่สำคัญสำหรับระบบประสาท และช่วยเสริมความจำ
2. ช่วยปกป้องดวงตา
ไข่แดงมีสารแคโรทีนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงมีคุณสมบัติในการช่วยปกป้องดวงตาไม่ให้เสียหายจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระภายในร่างกายได้ โดยไข่แดงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อมและโรคต้อกระจก ซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ
3. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ในไข่แดงอุดมไปด้วยสารประกอบหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารแคโรทีนอยด์ โปรตีนฟอสวิติน แร่ธาตุซีลีเนียม และวิตามินอี ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้มีคุณสมบัติในการช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้อักเสบหรือเสียหายจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระภายในร่างกาย จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง
4. ช่วยบำรุงสุขภาพลำไส้
ในไข่แดงจะมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าฟอสวิติน (Phosvitin) ซึ่งอาจให้ลำไส้ได้ทำงานดีขึ้นได้ โดยโปรตีนชนิดนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งสารประกอบในร่างกายที่ทำให้เกิดการอักเสบ รวมถึงช่วยเรื่องการทำงานของจุลินทรีย์ในลำไส้ด้วย การรับประทานไข่แดงจึงดีต่อระบบทางเดินอาหารโดยรวม
5. ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
ในเยื่อหุ้มไข่แดงจะมีสารที่ชื่อว่าซัลเฟตไกลโคเปปไทด์ (Sulfate Glycopeptides) สารชนิดนี้สามารถช่วยกระตุ้นการผลิตแมคโครฟาจ (Macrophage) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การรับประทานไข่แดงจึงสามารถช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคล็ดลับในการรับประทาน
ไข่แดงมีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ควรระวังเรื่องคอเลสเตอรอล ผู้ที่กำลังควบคุมระดับคอเลสเตอรอลเพื่อควบคุมน้ำหนัก ควรรับประทานไข่แดงในปริมาณที่เหมาะสมและเน้นรับประทานไข่ขาวมากกว่า ผู้ที่มีสุขภาพดีสามารถรับประทานไข่ได้วันละ 1 ฟองโดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณที่แนะนำต่อวัน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อโรคที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ดี การรับประทานไข่ทั้งฟองอาจส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากทั้งไข่แดงและไข่ขาว
21 ส.ค. 2567 จากกรณีพบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร (MPox) สายพันธุ์ Clade 1b รายแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศคองโก ล่าสุดทางด้าน อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ตั้งโต๊ะแถลง กรณีพบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร หรือ เอ็มพ็อกซ์ (MPox) สายพันธุ์ Clade 1b รายแรกในประเทศไทย โดย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค โดยระบุว่าการแถลงครั้งนี้เป็นการสร้างความตระหนัก ต้องเรียนว่าไม่ใช่ว่ายืนยันว่าพบผู้ป่วยฝีดาษวานร เพียงแต่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าป่วย ยังไม่ยืนยันร้อยเปอเซนต์ว่าเป็นฝีดาษวานร
เบื้องต้นคิดว่าผู้ป่วยรายนี้อาจจะเป็นไทป์ 1 ไม่ใช่ไทป์ 2 โดยเป็นผู้ป่วยชาวยุโรปที่เดินทางเข้าไทยวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 18.00 น. และเดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งมีการระบาดของโรคฝีดาษวานร ชนิด Clade 1b โดยเดินทางมาจากที่ประเทศที่สงสัย และต่อเครื่องบินจากประเทศตะวันออกกลาง ไม่ใช่เดินทางโดยตรงมายังประเทศไทย สำหรับผู้ป่วยต้องสงสัยรายนี้คอนข้างเชื่อได้ว่าเป็นฝีดาษลิงแน่ และมาจากประเทศที่มีการระบาดของเคลด 1 บี และเรามีระบบในการติดตามคนสัมผัส คนนั่งเครื่องบินเดียวกัน 2 แถวใกล้ผู้ป่วยรายนี้ มีการสอบสวนโรค ซึ่งมีรายชื่อทั้งหมดแล้ว รวม 43 คน ทั้งไทยและต่างชาติ เข้าสนามบินอย่างไร พบใครบ้าง พักที่ไนน จะเห็นว่า ผู้ป่วยรายนี้มีเวลาสัมผัสกับคนสั้นมาก เพราะมาถึงไทย 6 โมงเย็น แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปพบแพทย์ และอยู่ที่ รพ. เลย ทั้งนี้ติดตามคนสัมผัสประมาณ 21 วัน
ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ต้องตรวจต่อว่าป่วยเป็นฝีดาษลิงชนิด Clade 1b หรือไม่ แต่ต่อให้ไม่ร้อยเปอเซนต์ ในเรื่องการควบคุมโรค ที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณให้ความสำคัญมากในการให้ข้อมูล เพื่อป้องกันการจินตนาการกันไปเอง คาดว่าวันศุกร์นี้จะทราบชัดเจน นพ.ธงชัย ย้ำว่าผู้ป่วยเป็นฝีดาษวานรแน่ๆ แต่ยังต้องรอผลตรวจว่าเป็น Clade 1b หรือไม่ พร้อมชี้ว่าผู้ป่วยคนนี้มีเวลาสัมผัสกับผู้ป่วยคนอื่นน้อยมาก โดยตอนนี้มีรายชื่อผู้ที่นั่งใกล้หมดแล้ว ส่วนอาการป่วยของผู้ป่วยล่าสุดอาการดี และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล คาดว่าวันศุกร์นี้ จะยืนยันได้ 100% ว่าเป็นสายพันธุ์ใดกันแน่ รวมถึงจะยืนยันได้ว่าเป็นเคลด 1 บี หรือไม่ ถ้ายืนยันก็ถือว่าเป็นรายแรกของไทย ที่ป่วยสายพันธุ์เคลด 1 บี เบื้องต้นรายนี้ไม่มีการป่วยโรคอื่น