ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 2 ตุลาคม 2564

ข่าวดี ไฟเซอร์ทดลองเฟสสุดท้าย ยาเม็ดป้องกันติดโควิด จากผู้ป่วยแสดงอาการ

เมื่อ 28 ก.ย.64 เดลี่เมลรายงานบริษัทไฟเซอร์ อินซ์ เริ่มทดสอบทางคลินิกเฟสสุดท้าย ยาเม็ดแบบรับประทาน หรือยากินป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ให้แก่บุคคลที่ต้องอยู่ท่ามกลางผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ โดยยากินป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาคิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์นี้ มีชื่อเรียกว่า PF-07321332

ยาเม็ดของบริษัทไฟเซอร์ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 มาแล้วนั้น เรียกว่าเป็นยาประเภท protease inhibitors (ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส หรือการทำให้กระบวนการสร้างส่วนประกอบโปรตีนของไวรัสไม่สมบูรณ์) ซึ่งยา PF-07321332 จะทำงานในการยับยั้งเอนไซม์ที่เชื้อโควิด-19 ใช้ในการก๊อบปี้ หรือคัดลอกตัวเองภายในเซลล์ร่างกายมนุษย์ จึงทำให้ไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทไฟเซอร์จะมีการทดสอบทางคลินิกเฟสสุดท้ายของยา PF-07321332 กับอาสากับอาสาสมัครที่ร่างกายแข็งแรงจำนวน 2,660 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ต้องอาศัยอยู่ในอาคารที่พักอาศัยที่มีผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาสาสมัครถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้กินยาเม็ด ป้องกันติดโควิด-19 ของไฟเซอร์ และจะต้องกินยาเม็ดวันละ 2 เวลาต่อเนื่องเป็นเวลา 5 หรือ 10 วัน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้กินยาหลอก

จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จะประเมินประสิทธิภาพของยา PF-07321332 ในการป้องกันการติดเชื้อ และอาการต่างๆ ภายใน 14 วันหลังจากต้องอยู่ร่วมกับคนในบ้านที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19

นอกจากนั้นขณะนี้ บริษัทไฟเซอร์ยังได้เริ่มศึกษายาป้องกันโควิด-19 PF-07321332 กับผู้ติดเชื้อวัยผู้ใหญ่ที่ไม่ป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ด้วย

เดลี่เมลรายงานด้วยว่า ขณะนี้ บริษัทไฟเซอร์ ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก ประเทศ สหรัฐอเมริกา และบริษัทผลิตเวชภัณฑ์หลายแห่ง รวมทั้ง บริษัท Merck&Co Inc ในสหรัฐฯ และบริษัท Roche Holding AG ในสวิตเซอร์แลนด์ กำลังแข่งขันพัฒนายากินแบบเม็ดที่ง่ายต่อการต้านไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2563 จนมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 212 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 4.55 ล้านศพ


ฮือฮา ดาวตกพุ่งผ่านฟ้านอร์ท แคโรไลนา ความเร็ว 32,000 ไมล์ต่อชั่วโมง

เมื่อวันอังคารที่ 28 ก.ย. 2564 สมาคมดาวตกอเมริกัน (AMS) เผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นวินาทีที่ ลูกไฟขนาดใหญ่พุ่งผ่านท้องฟ้ายามค่ำของเมืองโรว์แลนด์ พอนด์ รัฐนอร์ท แคโรไลนา ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 19.40 น. วันศุกร์ (24 ก.ย.) โดยเป็นหนึ่งลูกไฟ 5 ลูกที่มีรายงานการพบเห็นในสหรัฐฯ ในคืนวันเดียวกัน

นวันศุกร์ AMS ได้รับรายงานการพบเห็นลูกไฟ 148 ครั้งจากประชาชนในรัฐแมรีแลนด์, นอร์ท แคโรไลนา, เซาท์ แคโรลา, เวสต์ เวอร์จิเนีย และเวอร์จิเนีย โดยลูกไฟที่นอร์ท แคโรไลนา มีรายงานพบเห็นมากสุดที่มากกว่า 80 ครั้ง

ด้านองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ระบุว่า ผลการวิเคราะห์ภาพที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ดาวตกลูกนี้เคลื่อนที่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 32,000 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศชั้นบนของโลกเข้ามาราว 26 ไมล์ ก่อนจะแตกสลายที่ความสูง 28 ไมล์ เหนือเมืองมอร์เฮด ชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา


3 สมุนไพร บำรุงสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงขอแนะนำสมุนไพร 3 ชนิด ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่

1.บัวบก เป็นสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี นิยมนำมารับประทานเป็นอาหารและเครื่องดื่ม มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย และแก้ช้ำใน

จากรายงานการศึกษาวิจัย พบว่า สารสกัดจากบัวบก สามารถเพิ่มความจำและปรับสภาพ อารมณ์ในผู้สูงอายุที่มีภาวะความจำเสื่อมเล็กน้อย รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กพิการทางสมองได้

2 พรมมิ หรือ ผักมิ พรมมิ หรือ ผักมิ เป็นสมุนไพรอีกอย่างหนึ่งที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ใช้รับประทานเป็นผักลวกและจิ้มน้ำพริก ในตำราอายุรเวทของอินเดีย กล่าวว่า พรมมิ มีสรรพคุณช่วยเพิ่มความจำ บำรุงสมอง

จากข้อมูลทางเภสัชวิทยา พบว่า พรมมิ มีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความจำ การตัดสินใจ ช่วยปกป้องเซลล์สมอง มีฤทธิ์ต้านความจำเสื่อม ช่วยในเรื่องการนอนหลับ และลดความวิตกกังวลได้

3.กลีบบัวแดง กลีบบัวแดง จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสหอมเย็น ที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ จากการศึกษาวิจัย พบว่า กลีบบัวแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของโปรตีน เบต้าอะมัยลอยด์ ซึ่งมีผลช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม ทั้งชนิดความจำระยะสั้นและความจำระยะยาวได้

กลีบบัวแดง สามารถนำมาชงเป็นชาดื่มได้โดยการนำกลีบบัวแดง ผสมกับเกสรทั้ง 5 ได้แก่ มะลิ พิกุล บุนนาค สารภี และเกสรบัวหลวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ในอัตราส่วน 1:1 ชงในน้ำร้อน ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน

วิธีลดเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากสมุนไพรที่แนะนำทั้ง 3 ชนิดแล้ว ท่านควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

คือ

1. งดสูบบุหรี่

2. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

5. ดื่มน้ำมากๆ

6. พักผ่อนให้เพียงพอ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย หรือ การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือ ติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ เฟซบุ๊กและไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก


นักวิทยาศาสตร์วางแผนภารกิจ เพื่อเจาะลึกเกี่ยวกับดาวศุกร์

ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยภูเขาไฟที่มีอายุน้อยกว่า 300 ล้านปี ซึ่งกิจกรรมของภูเขาไฟมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ ในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมดในระบบสุริยะของเรานั้นดาวศุกร์ถือว่าเป็นแหล่งภูเขาไฟมากที่สุด แม้ว่าเส้นเวลาที่แม่นยำของอดีตภูเขาไฟบนดาวศุกร์ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชี้ชัด แต่ข้อมูลบางส่วนก็เผยให้เห็นว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อาจมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่

จนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์มีปัญหาในการระบุว่ามีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่บนดาวศุกร์หรือไม่ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เนื่องจากชั้นบรรยากาศถูกกัดกร่อนและมีแรงกดดัน อุณหภูมิสูงกว่า 450 องศาเซลเซียสก็ไม่เอื้อต่อการลงจอดยานอวกาศที่จะอยู่ได้นานหลายปีเหมือนดาวอังคารหรือดวงจันทร์ อีกทั้งเมฆหนาที่มีกรดกำมะถันก็เป็นอุปสรรคบดบังพื้นผิวดาว นักวิทยาศาสตร์จึงหันไปใช้การวัดระยะไกลอื่นๆ ซึ่งการศึกษาล่าสุดมีการรวมแผนที่ทางธรณีวิทยาของกระแสลาวาที่ปะทุในอดีตเข้ากับข้อมูลเรดาร์เพิ่มเติมที่ได้จากภารกิจยานอวกาศแมกเจลแลน ที่วัดการแผ่รังสีของดาวเคราะห์ เพื่อวัดว่าพื้นผิวดาวโต้ตอบและปล่อยรังสีไมโครเวฟอย่างไร

การวิจัยชี้ให้เห็นว่า การค้นหาตำแหน่งการแผ่รังสีสามารถใช้กำหนดระดับการผุกร่อนของสารเคมีที่เกิดจากการไหลของลาวาหลังจากที่ปะทุและสัมผัสกับบรรยากาศที่รุนแรง สภาพดินฟ้าอากาศเหล่านั้นเกิดขึ้นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน อีกทั้งการแผ่รังสียังอาจช่วยระบุถึงกระแสลาวาที่ไหลใหม่ได้ โดยเชื่อว่าข้อมูลจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต กับการมาถึงของภารกิจ Davinci+ ของนาซาที่ตั้งเป้าสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์แบบเจาะลึก.

(ภาพประกอบ Credit : NASA/JPL)


ไอคิวทะลุฟ้า - บัณฑิต วิศวะ ม.ขอนแก่น 1 ใน 7 คว้าทุนฟุลไบรท์ อเมริกา

บัณฑิต วิศวะ ม.ขอนแก่น – กองการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาต่างประเทศ และสนับสนุนกิจกรรมนานาชาติ ร่วมยินดีกับ น.ส.กชกร เข็มทองหลาง บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโอกาสสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยเป็น 1 ใน 7 ของประเทศ ผู้คว้าทุนฟุลไบรท์ (Fulbright) ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขา Bioengineering/ Biomedical Engineering ประจำปีการศึกษา 2565 (ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 – เดือนพฤษภาคม 2567)

น.ส.กชกร เข็มทองหลาง กล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับทุน Fulbright Thai Graduate Scholarship Program 2022 (TGS) จากมูลนิธิฟุลไบรท์ ทุนการศึกษานี้มีความหมายต่อตนเองและเป็นอีกหนึ่งก้าวความฝันที่จะมีส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีอันจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาส่วนรวม

ในขณะเดียวกันยังช่วยผลักดันเยาวชนรุ่นใหม่ให้ทำตามความฝันของตนเอง ขอขอบคุณอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ และขอบคุณศิษย์เก่าฟุลไบรท์ รวมถึงครอบครัวและเพื่อนๆ ที่สนับสนุนตนเองมาโดยตลอด ในตอนนี้พร้อมเริ่มต้นชีวิตการศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายและเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตในอนาคต

Fulbright Thai Graduate Scholarship (TGS) เป็นทุนการศึกษาจากมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน หรือ Fulbright เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยสมัครชิงทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและ/หรือปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ทุนนี้เปิดรับสมัครทุกสาขาวิชายกเว้นสาขาแพทยศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ เว้นแต่สาขาที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ไม่มีการฝึกปฏิบัติการทางคลินิก รวมระยะเวลาทุนในแต่ละสาขาวิชาสูงสุดไม่เกิน 2 ปี