ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ. อมตะ 7 มีนาคม 2563

วัตถุอายุ 2,600 ปีพบในโถงใต้ดินยุคโรมัน

นักโบราณคดีชาวอิตาลีได้ค้นพบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอารามเจ้าเก่าแก่สร้างขึ้นมานานนับพันปีโดยโรมุลุส (Romulus) ว่ากันว่าเป็นผู้สร้างกรุงโรมและเป็นกษัตริย์องค์ที่ 1 แห่งโรม จากการขุดค้นในจัตุรัสโรมันบริเวณโถงใต้ดินวุฒิสภาโบราณ นักโบราณคดีเผยว่า มีการขุดพบวัตถุ 2 ชิ้นที่อาจมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งใหญ่

ชิ้นแรกดูคล้ายกับอ่างที่ใช้ซักเสื้อผ้า เชื่อว่าเป็นโลงหินหรือโลงศพ ส่วนอีกชิ้นเป็นแท่งหินทรงกระบอกที่น่าจะเป็นซากบางส่วนของแท่นบูชาที่อาจเกี่ยวข้องกับลัทธิของโรมุลุส ตามตำนานเล่าว่าโรมุลุสมีฝาแฝดอีกคนชื่อแรมุส ทั้งคู่เป็นโอรสของเทพเจ้าแห่งสงครามกับธิดาของอดีตกษัตริย์เมืองหนึ่ง ทว่ากษัตริย์องค์ใหม่สั่งให้คนนำทารกแฝดไปโยนลงแม่น้ำไทเบอร์ แต่ชะตาไม่ถึงฆาต ทารกถูกทิ้งไว้ริมตลิ่ง มีแม่หมาป่าตัวหนึ่งมาพบและดูดน้ำนมของมัน จากนั้นคนเลี้ยงแกะก็มาพบและนำทารกแฝดไปเลี้ยงดู จนกระทั่งเติบโตพวกเขาออกเดินทางเพื่อสร้างเมืองของตนเอง โรมุลุสอ้างว่าได้รับการเห็นชอบจากเทพเจ้าให้สร้างบนเนินพาลาทิเน เป็นเนินที่เชื่อมต่อกับจัตุรัสโรมัน และกลายเป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองเมื่อประมาณ 753 ปีก่อนคริสตกาล ตามตำนานยังบอกว่าโรมุลุสสังหารน้องชายของตน

ขณะที่เรื่องราวต้นกำเนิดของกรุงโรมมีการถกเถียงอย่างมากมีการกล่าวอ้างว่าร่างของโรมุลุสฝังอยู่ในพื้นที่ค้นหา โลงหินดังกล่าวน่าจะมีอายุ 200 ปีหลังจากการตายของแฝดน้อง แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าตัวตนของโรมุลุสมีอยู่จริงหรือไม่ ตามประเพณีโบราณบางแห่งโรมุลุสอาจถูกฆ่าหั่นเป็นชิ้นๆ หรือขึ้นสวรรค์ ดังนั้น ที่แห่งนี้อาจไม่ได้ฝังศพของเขา แต่เป็นไปได้มากที่จะเชื่อว่าจะเป็นอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงผู้ตายซึ่งถูกฝังอยู่ที่อื่น.

"อาหารเป็นยา"ป้องกันไวรัสโควิด-19

ล่าสุดกับไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในบ้านเราและประเทศแถบเอเชียอยู่หลายประเทศ แม้การบริโภคอาหารนั้นไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทว่าการรู้จักเลือกกินอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์นั้น จะทำให้ร่างกายของผู้สูงอายุแข็งแรงและเป็นการป้องกันโรคได้ กระทั่งเวลาที่ป่วยแล้วจะทำให้หายเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่บ้านเรากำลังเผชิญไวรัสร้าย “โควิด-19”

พี่แวว-แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารอิสระ และที่ปรึกษาโครงการกินผักและผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม จาก สสส. มาให้ข้อเกี่ยวกับบริโภคอาหารกลุ่ม “A E C” เพื่อให้ผู้สูงอายุรับมือกับเชื้อไวรัสดังกล่าวไว้น่าสนใจว่า “การกินอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ จะช่วยให้ผู้สูงอายุและเด็กมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งถือเป็นการป้องกันโรคโดยอ้อมทางหนึ่ง หรือแม้แต่หากป่วย ไม่สบาย ก็จะทำให้อาการเจ็บป่วยหายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่ขยายสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งพบในบ้านเราเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ อาหารกลุ่มแรกที่ผู้สูงอายุควรบริโภคเพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสต่างๆ มีตั้งแต่กลุ่ม “เบตากลูแคน” ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเพื่อลดการเกิดโรคต่างๆ ที่มีอยู่ในเห็ดทุกชนิด รวมถึงเห็ดหอมแห้งและเห็ดหอมสด ซึ่งถ้าลูกหลานจะปรุงเห็ดหอมแห้งให้ผู้สูงอายุรับประทาน จะแช่น้ำให้นิ่มและหั่นให้ละเอียด

/

รองลงมา ได้แก่ อาหารที่อยู่ในกลุ่มของ “วิตามิน A” ที่ไม่เพียงช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายผู้สูงวัย แต่ทว่ายังช่วยขับสารพิษต่างๆ รวมถึงเชื้อโรคและเชื้อไวรัสเช่นเดียวกัน ซึ่งอาหารที่อยู่ในกลุ่มวิตามิน A นั้น ได้แก่ ฟักทอง โดยทำเป็นเมนูฟักทองผัดไข่ เพราะช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ผู้สูงอายุไม่ควรบริโภคไข่ดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือบริโภคแกงเลียงที่มีส่วนผสมของฟักทองที่มีสีเหลืองกับผักสีเขียวชนิดอื่นที่ใส่ในแกง ที่สามารถกินคู่กับไข่ดาวสุกแต่ไม่แข็ง หรือกินแกงเลียงกับไข่ลูกเขยก็ได้เช่นกัน หรือจะบริโภคมะละกอสุกที่มีวิตามิน A สูงได้เช่นกัน

ส่วนอาหารกลุ่มต่อมาคือ “วิตามิน E” ที่มีประโยชน์ในการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ซึ่งอาหารในกลุ่มของ “วิตามิน E” ได้แก่ น้ำมันชนิดที่ดีซึ่งได้จากเมล็ดเจีย, งาดำ, เมล็ดทานตะวัน, เมล็ดฟักทอง, อะโวคาโด ซึ่งจะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดโรคไปด้วยตัว ดังนั้นเวลาที่ผู้สูงอายุรับประทานอาหารในช่วงเฝ้าระวังเชื้อไวรัสต่างๆ นั้น ควรจะโรยงาดำบด, ถั่วบด หรือเมล็ดเจียบดละเอียด ลงบนอาหารที่รับประทาน ก็จะทำให้ได้รับวิตามิน E เพื่อป้องกันโรคไปด้วยในตัว

ขณะที่อาหารกลุ่ม “วิตามิน C” ก็จะมีประโยชน์ในแง่ของการต้านการอักเสบ โดยเฉพาะเวลาที่ร่างกายของผู้สูงอายุได้รับเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ นั้น จะช่วยป้องกันอวัยวะไม่ให้เกิดการอักเสบจากเชื้อโรคที่ร่างกายรับเข้าไป เช่น ปอด, ผิวหนัง ซึ่งอาหารกลุ่มวิตามิน C ช่วยป้องกันได้ ทั้งนี้ อาหารที่มี “วิตามิน C” สูง ได้แก่ ส้ม, กีวี, ฝรั่ง, สตรอว์เบอร์รี ฯลฯ ที่สำคัญการบริโภคผลไม้และผักทุกชนิดต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง ที่สำคัญในช่วงนี้ผู้สูงอายุไม่ควรบริโภคผักดิบ แต่ให้รับประทานผักสุกที่ผ่านความร้อน ก็จะช่วยป้องกันเชื้อโรค ที่เกาะอยู่กับผักสดได้เช่นกัน

นอกจากนี้ อาหารใน “กลุ่มสมุนไพรในครัว” ก็ยังสามารถป้องกันเชื้อโรคและเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ได้เช่นกัน เนื่องจากอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น “กระเทียม” ดังนั้นเวลาที่ปรุงอาหารด้วยกระเทียมนั้น ไม่ควรเจียวให้สุกเหลือง แต่เวลาที่ใส่กระเทียมทุบพอแตกลงในกระทะพร้อมกับน้ำมันนั้น ให้รีบใส่เนื้อสัตว์ลงไปทันทีโดยที่กระเทียมทุบยังสดอยู่ เพื่อให้สารสำคัญในกระเทียมได้คลุกเคล้ากับเนื้อสัตว์ที่ผู้สูงอายุรับประทาน ก็จะทำได้รับประโยชน์ในการป้องกันโรค

ตะลึง!โคโรนากลายพันธุ์ แยกเป็น 2 ชนิด ร้ายแรงมรณะ กับดั้งเดิมธรรมดา

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนทำการวิจัยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อโรคโควิด-19 พบว่า ไวรัสดังกล่าวมีวิวัฒนาการออกเป็น 2 ชนิด แต่ละชนิดมีอัตราการการแพร่ระบาดและการกระจายในภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ ชนิดแอล และชนิดเอส โดยชนิดแอลเป็นชนิดร้ายแรงกว่าและแพร่ระบาดเร็วกว่า ผู้ป่วยร้อยละ 70 ติดชนิดแอล

ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นแนล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) เมื่อวันอังคาร คณะนักวิทยาศาสตร์ทำการวิเคราะห์ยีนตัวอย่างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า SARS-CoV-2 ก่อโรคโควิด-19 จำนวน 103 ตัวอย่าง แยกออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอส หรือ S type เป็นชนิดที่แรกเริ่มติดจากคนสู่คนปลายเดือนธ.ค.2562 ที่เมืองอู่ฮั่น จากนั้นจึงแยกเป็นชนิดแอล หรือ L type เริ่มระบาดต้นเดือนม.ค.2563 และทำให้ชนิดเอสกลายเป็นเชื้อธรรมดา

ขณะที่ปริมาณไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั้งสองชนิดเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดของทางการจีนด้วยการปิดเมืองอู่ฮั่น ทำให้การแพร่ระบาดของไวรัส ชนิดแอลลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจต่อวิวัฒนาการและการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้ต่อไป

วันเดียวกัน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า ไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 สามารถแพร่ระบาดผ่านละอองของอุจจาระและปัสสาวะได้ นอกจากการแพร่ระบาดทางละอองทางเดินหายใจ (Respiratory droplets) และการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ที่เป็นรูปแบบการแพร่ระบาดหลัก หลังผลการวิจัยพบร่องรอยไวรัสดังกล่าวในตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วย

ญี่ปุ่นยกเลิกงานดอกซากุระบานโตเกียว-พิธีรำลึกสึนามิปี 54

ผู้จัดงานเทศกาลชมดอกซากุระบานในกรุงโตเกียว ประกาศยกเลิกการจัดงานในปลายเดือนนี้ เนื่องจากเกรงว่าเทศกาลดังกล่าวจะยิ่งทำให้โรคไวรัสโคโรนา หรือ โรคโควิด-19 แพร่ระบาดมากกว่าเดิม เพราะเป็นงานที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดงานเผยว่า ประชาชนทั่วไปยังสามารถชมดอกซากุระ ที่จะบานเรียงรายตามริมแม่น้ำเมงุโระในตอนกลางวันได้เช่นเดิม และยังนำเสื่อเข้าไปนั่งปิกนิกและชมดอกซากุระที่สวนสาธารณะอุเอะโนะได้ แต่จะไม่มีแผงขายอาหารและถังขยะให้บริการ ส่วนตอนกลางคืนก็ไม่เปิดไฟให้ชม

ขณะเดียวกันสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังหลายแห่งในกรุงโตเกียว ก็ปิดให้บริการไปจนถึงอย่างน้อยกลางเดือนนี้แล้ว ไม่ว่จะเป้น โตเกียวดิสนีย์แลด์ และดิสนีย์ซี, พิพิธภัณฑ์จิบลิ, โตเกียวสกายทรี และโรงละครคะบุกิซะ

ด้านสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเอของญี่ปุ่น ผยว่า รัฐบาลยกเลิกพิธีรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่พัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 แล้ว เนื่องจากเกรงว่าอาจยิ่งทำให้โรคไวรัสโคโรนายิ่งแพร่ระบาด

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 18,000 คน ทั้งยังส่งผลให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิละลาย จนแผ่กัมมันตรังสีออกมา ทำให้ต้องอพยพประชาชนจำนวนมากพลัดถิ่นฐานจากที่อยู่อาศัยในขณะนั้น

ทั้งนี้ญี่ปุ่นรายงานว่ามีจำนวนสะสมของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กว่า 1,000 คนแล้ว ขณะที่ผู้เสียชีวิตมีแล้วอย่างน้อย 12 คน