ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ.อมตะ 14 พฤศจิกายน 2563

เผยภาพประทับใจ! แม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ รังที่ 3 ของฤดูกาล

10 พฤศจิกายน 2563 เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา เวลา 01.00 น. ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองหาดบางขวัญ ได้รับแจ้งจากนายสมยศ เสาเวียง ชาวบ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา แจ้งพบการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟือง บริเวณชายหาดบางขวัญ หมู่ที่ 7 ต. โคกกลอย อ. ตะกั่วทุ่ง จ. พังงา ขณะกำลังลาดตระเวนชายหาด พร้อมบันทึกภาพตอนแม่เต่ามะเฟืองกำลังคลานลงทะเล หลังจากขึ้นมาวางไข่ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯเข้าตรวจสอบ

โดยจุดที่พบห่างจากหลุมเดิมรังแรกเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ขึ้นมาทางทิศใต้ ประมาณ 90 เมตร ร่องรอยที่พบมีความกว้างของอก 110 ซม. ความกว้างพาย 214 ซม. พร้อมกัยได้กั้นแนวเชือกห้ามเข้า และจะทำการขุดหาตำแหน่งของไข่เต่าในช่วงเช้าต่อไป

ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูกาลวางไข่ของเต่ามะเฟือง และนับเป็นรังที่ 3 ของฤดูกาล ซึ่งสามารถพบตัวแม่เต่ามะเฟือง และสามารถบันทึกภาพได้ ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะมีแม่เต่าจะขึ้นวางไข่อีก ตั้งแต่พื้นที่หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ตลอดแนวชายหาดต่อเนื่องไปจนถึงหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่วางไข่แหล่งสุดท้ายของเต่ามะเฟืองในประเทศไทย

เจ้าหน้าที่ได้เตรียมความพร้อมและเฝ้ารอคอยการกลับมาวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ด้วยดีมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในพื้นที่ ทำให้มีโอกาสพบเจอแม่เต่า และร่องรอยการขึ้นวางไข่อย่างต่อเนื่อง


ประโยชน์ของโปแตสเซียมในน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม

มะพร้าว ผลไม้ใกล้ตัวที่นำทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ตั้งแต่ลำต้น ใบ ดอก ยอด รวมถึงผล ผลมะพร้าวถ้าเป็นผลที่มีเนื้อแก่ จะนำมาทำเป็นกะทิใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารไทย ทั้งอาหารคาวและหวาน ถ้าเป็นผลอ่อนที่เป็นมะพร้าวน้ำหอมด้วยแล้ว จะนิยมดื่มน้ำในลูกมะพร้าว โดยเชื่อว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ และมีประโยชน์สูง

ถ้าดื่มจากลูกสดๆ น้ำมะพร้าวอ่อน 1 ลูก=น้ำหนักส่วนที่กินได้ประมาณ 259 กรัม เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกายจะให้ทั้งพลังงาน น้ำ น้ำตาล แคลเซียม โซเดียม วิตามินซี แก่ร่างกาย ที่สำคัญยังให้โปแตสเซียมในปริมาณสูงด้วย มีโปแตสเซียมสูงแล้วดีอย่างไร เป็นคำถามที่ต้องตอบให้เกิดความกระจ่าง

โปแตสเซียมมีหน้าที่ช่วยรักษาภาวะสมดุลของน้ำ และความเป็นกรดด่างในร่างกาย ช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อ การนำความรู้สึกทางประสาท ช่วยการทำงานของเอนไซม์ภายในเซลล์หลายชนิดที่เกี่ยวกับกระบวนการเมตาบอลิซึม และยังช่วยลดโอกาสการเกิดนิ่วลงได้ ในคนปกติต้องการโปแตสเซียมจากอาหารประมาณ วันละ 1,950-3,900 มิลลิกรัม

หากได้รับโปแตสเซียมจากอาหารน้อยกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคนิ่วในไต การทานอาหารที่ช่วยเพิ่มปริมาณโปแตสเซียมให้แก่ร่างกายในแต่ละวันนั้น มีข้อดีคือ ช่วยลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดการเกิดโรคอ้วนลงพุง และช่วยลดผลเสียจากการได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย อาหารที่เป็นแหล่งของโปแตสเซียมได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวกล้อง ส่วนผลไม้ใกล้ตัวที่เป็นแหล่งของโปแตสเซียมได้แก่ กล้วย มะละกอสุก ลำไย ขนุน น้ำมะพร้าว

พื่อสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค วันนี้สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มบรรจุขวดหรือกล่องหรือกระป๋อง ที่วางจำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณโปแตสเซียม ผลวิเคราะห์พบว่าในน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม 1 ขวด หรือกล่อง มีปริมาณโปแตสเซียมอยู่ในช่วง 126.89-821.63 มิลลิกรัม เห็นข้อมูลอย่างนี้แล้ว ยืนยันได้ว่าการดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้เราได้โปแตสเซียมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูง แต่ก็ขอแนะเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวันควรเลือกทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบตามชนิด และปริมาณที่ร่างกายต้องการ ที่สำคัญควรทานผักผลไม้หมุนเวียนชนิด เพื่อความสมดุลของร่างกายเรา.


7 วิธี ลดอาการ "ปวดหัวไมเกรน" อย่างได้ผล

ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนต่างใช้ชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยปัจจัยที่ก่อให้เกิดความกังวลและความเครียดต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ อาชีพการงาน โรคติดเชื้อโควิด-19 และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ และโรคที่พบบ่อยมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ โรคปวดศีรษะเรื้อรัง หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่า โรคไมเกรน ที่มักจะพบในกลุ่มวัยทำงานเป็นส่วนมาก

มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ประสบภาวะอาการปวดหัวไมเกรน นอกจากจะรบกวนและลดประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย หากคำนวณเป็นตัวเลขจะพบว่าโรคไมเกรนนี้สามารถคิดเป็นหนึ่งในสามของภาวะการเจ็บป่วยยอดฮิตที่พบมากที่สุดในโลก หรือพูดง่ายๆ คือในคนเจ็ดคนจะพบว่ามีผู้ป่วยโรคไมเกรนอย่างน้อยหนึ่งคนเลยทีเดียว

ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคไมเกรนที่สาเหตุของการเกิดโรค

ไมเกรน เป็นอาการเจ็บป่วยทางร่างกายที่สามารถเกิดและพบบ่อยสุดในช่วงอายุระหว่าง 15-30 ปี หรือบางรายสามารถตรวจพบได้เมื่ออายุเพียง 7-8 ปีเท่านั้น แต่อายุโดยเฉลี่ยที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือช่วงวัยรุ่นถึงวัยทำงานในช่วงต้นๆ และพบน้อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเป็นต้นไป นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยในเพศหญิงมากกว่าเพศชายอีกด้วย

นายแพทย์เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ด้านโรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ไมเกรน เป็นโรคที่พบมานานเป็นร้อยปีแล้ว จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคไมเกรนได้อย่างชัดเจนนัก แต่โดยการตรวจวินิจฉัยส่วนมากจะพบว่าผู้ที่มาหาหมอจะมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่อง หรือมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจมารับการวินิจฉัยโรค ซึ่งปกติตามขั้นตอนจะมีการตรวจซักประวัติถามถึงข้อมูลต่างๆ ทั้งประวัติการเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว รูปแบบการใช้ชีวิต เป็นต้น ซึ่งหากทำการวินิจฉัยแล้วพบว่าผู้ป่วยเป็นไมเกรน ทางการแพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยยาตามอาการนั้นๆ ซึ่งโดยรวมแล้วสามารถจำแนกตามลักษณะการเกิดอาการได้เป็นสองประเภทหลักๆ คือ อาการปวดไมเกรนแบบนานๆ ครั้ง (Episodic Migraine) และการปวดไมเกรนแบบเรื้อรัง (Chronic Migraine)

การรักษาเมื่อรู้ว่าเป็น “ไมเกรน”

ตั้งแต่โลกรู้จักกับ “โรคไมเกรน” วงการแพทย์เองก็ได้ทำการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าไม่มียาใดที่รักษาไมเกรนให้หายขาดได้ ซึ่งยาที่ใช้รักษาไมเกรนโดยทั่วไปจะใช้เพื่อการควบคุมอาการเมื่ออาการกำเริบเท่านั้น โดยแบ่งยารักษาออกเป็นสองประเภท คือ

1. ยารักษาแบบเฉียบพลัน (Acute Treatment) สำหรับรับประทานทันทีที่มีอาการปวด ซึ่งยาจะได้ผลดีเมื่อรับประทานได้เร็วทันท่วงที เพราะหลังจากนี้ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนซึ่งจะมีผลให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง

2. ยารักษาแบบป้องกัน (Preventive or Prophylactic Treatment) ซึ่งเป็นยารับประทานแบบป้องกันที่ต้องได้รับอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อลดความรุนแรงหรือความถี่ของการเกิดอาการไมเกรน ซึ่งยาประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการขึ้นก่อน ยาในกลุ่มป้องกันนี้แพทย์มักจะแนะนำสำหรับกลุ่มผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการค่อนข้างบ่อย หรือกรณีที่ปวดนาน ๆ ครั้งแต่เมื่ออาการกำเริบแล้วรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติได้

ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม “ยาป้องกันไมเกรน” ที่เป็นยากลุ่มชีวโมเลกุลแบบฉีด โดยจะฉีดให้ผู้ป่วยเดือนละครั้ง ทั้งยังสามารถฉีดได้ทั้งกับผู้ป่วยที่มีอาการแบบเรื้อรัง (Chronic Migraine) และแบบนาน ๆ ครั้ง (Episodic Migraine) ทั้งนี้ แพทย์ผู้ทำการรักษาจะพิจารณาการใช้ยาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษาโดยส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาและให้ยาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยไมเกรนนี้จะใช้เวลารักษาต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป แล้วแต่การวินิจฉัยในแต่ละราย

ในรายที่ได้รับยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ พบว่าอาการปวดศีรษะดีขึ้นและความถี่ในการเกิดอาการน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายให้ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม การยอมรับการรักษาจึงอยู่ที่การตัดสินใจของผู้ป่วย แพทย์จะแนะนำทางเลือกที่เหมาะสมในการรักษา พร้อมวิธีการดูแลตัวเองและให้กำลังใจผู้ป่วย รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ได้แก่ สภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด ฯลฯ

7 วิธี ลดอาการ "ปวดหัวไมเกรน" อย่างได้ผล

แนะนำให้ผู้ป่วยไมเกรนดูแลตัวเอง และปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม คือ

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

4. เลือกทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายสมองบ่อยๆ อย่าให้เครียดมากเกินไป

5. ควรหลีกเลี่ยงแดดจัด หรืออาหารที่ไปกระตุ้นอาการ

6. ดื่มน้ำมากๆ เพราะภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydrate) ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นได้เช่นกัน

7. ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทุกอย่างที่อาจเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้ไมเกรนกำเริบบ่อยขึ้นหรือรุนแรงขึ้น

โรคไมเกรน แม้จะยังเป็นกลุ่มภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกายที่ติดอันดับต้นๆ และในปัจจุบันมีการค้นพบสารที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้แล้ว และด้วยวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีในแง่ของประสิทธิภาพ พร้อมกับลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ผู้ป่วยไมเกรนสามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมได้ที่โรงพยาบาลและศูนย์บริการทางการแพทย์

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :นายแพทย์เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ด้านโรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์,migraineresearchfoundation.org

ภาพ :iStock


รู้ทันโรค "ลมพิษ" สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

โรคลมพิษเป็นโรคหนึ่งที่คนในสังคมรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าโรคลมพิษสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทและมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมพิษอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิดก็เป็นได้

อาการของโรคลมพิษ

ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าศูนย์โรคลมพิษและแองจิโออีดีมา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย ขนาดของผื่นเกิดได้ตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตรหรืออาจจะมีขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตรก็ได้ อาการมักเกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน และขา ร่วมกับมีอาการคัน แต่ผื่นลมพิษมักจะคงอยู่ไม่นาน ส่วนใหญ่ผื่นจะราบหายไปภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ทิ้งร่องรอย แต่ก็อาจจะมีผื่นขึ้นใหม่ที่บริเวณอื่น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวมหรือตาบวม (angioedema) ร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นรุนแรงนี้ มีเพียงจำนวนน้อย

โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

• โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน คือ อาการผื่นลมพิษที่เป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์

• โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง คือ อาการผื่นลมพิษเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ เกิดต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ในต่างประเทศมีรายงานอุบัติการณ์ของโรคลมพิษเรื้อรังประมาณร้อยละ 5-1 ของประชากร ส่วนข้อมูลในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

สาเหตุของโรคลมพิษเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยา การติดเชื้อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ หรือปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่ออิทธิพลทางกายภาพ แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดจากความแป รปรวนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเอง โดยทั่วไปโรคลมพิษเรื้อรังสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 20-40 ปี อาจเป็นได้ว่ากลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเครียดสะสมและอาจจะละเลยต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มา

โรคลมพิษส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และเนื่องจากผู้ป่วยโรคลมพิษจำนวนมากอาจจะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ดังนั้นการมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสาเหตุของโรคลมพิษจึงนับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการสังเกตตนเองและหลีกเลี่ยงภาวะที่อาจกระตุ้นให้ผื่นลมพิษแย่ลง หรือช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น

อันตรายจากโรคลมพิษ

สำหรับผู้ป่วยโรคลมพิษที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคลมพิษเฉียบพลันที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วเนื่องจากอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังที่มีอาการเป็นๆ หายๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลรักษาอาการต่อเนื่องตามแนวทางการรักษามาตรฐาน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีน อาจมีความจำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปหรือยาฉีดชนิดอื่นๆ เพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษ เมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อยๆ ปรับลดยาลง จนถึงพยายามหยุดยาเพื่อควบคุมโรคในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังต่อเนื่องหลายปี ดังนั้นการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายก็จะช่วยให้ควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น ซึ่งย่อมทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย

แต่อย่างไรก็ตามผื่นลมพิษเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง ผู้ป่วยและญาติจึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าศูนย์โรคลมพิษและแองจิโออีดีมา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาพ :iStock


ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส อาจชนโลกในอีก 48 ปี

ในประวัติศาสตร์โลกของเราถูกโจมตีด้วยหินอวกาศมาตลอด แต่โชคดีที่ทุกวันนี้ยังไม่มีหินขนาดใหญ่พุ่งชน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้นักดาราศาสตร์ระมัดระวังเฝ้าจับตาดูท้องฟ้า เพื่อสังเกตหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า และนานพอที่จะหาหนทางรับมือกับภัยคุกคามจากนอกโลกได้

และล่าสุด นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายและห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นขององค์การนาซา ในสหรัฐอเมริกา เผยการศึกษาดาวเคราะห์น้อย 99942 อะโพฟิส (99942 Apophis) ระบุว่าดาวเคราะห์น้อยทรงแท่งสูงนี้เป็นหนึ่งในวัตถุที่น่ากังวลที่สุด เพราะอาจพุ่งชนโลกในปี พ.ศ.2611 จริงๆ แล้วมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อย 99942 อะโพฟิส มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 โดยหอดูดาวแห่งชาติคิตพีค ซึ่งการสังเกตเบื้องต้นเมื่อหลายปีก่อนชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสสูงถึง 2.4% ที่จะชนโลกในปี พ.ศ.2572 โชคดีที่การวิจัยเพิ่มเติมได้ลดความน่าจะเป็นไปได้ที่ 99942 อะโพฟิส จะชนโลกในปี พ.ศ.2572 แต่ถึงกระนั้นนักดาราศาสตร์ก็จับตาดู 99942 อะโพฟิส มาโดยตลอด

นักดาราศาสตร์เผยว่าตามข้อมูลตารางความเสี่ยง Sentry Risk Table ของนาซา แสดงโอกาส 1 ใน 150,000 ที่ 99942 อะโพฟิส จะพุ่งชนโลกในปี พ.ศ.2611 หรือในอีก 48 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงชนโลกของ 99942 อะโพฟิส ไม่น่าจะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่หากชนจริงก็จะก่อหายนะแน่นอน ซึ่งตามการคำนวณทางฟิสิกส์เผยว่า 99942 อะโพฟิส จะทำให้เกิดการระเบิดเทียบเท่ากับ ระเบิดทีเอ็นทีขนาด 1,151 เมกะตัน ก็ไม่อยากจะคิดว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะเป็นวันที่เลวร้ายสำหรับโลกขนาดไหน.