ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 12 พฤษภาคม 2561

ลึกซึ้งของ สวลี ผกาพันธ์ กับคนไทยในแอลเอ

ชื่อเสียงของ สวลี ผกาพันธ์ ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยในอเมริกา จะมีใครรู้บ้างมั๊ย ว่า “พี่รี่” มีความผูกพันธ์กับคนไทยในแอลเอ.อย่างมากมาย เริ่มจากน้องสาวคือ คุณเมาลียา สุวรรณสุขุม “พี่แดง” มาปักหลักอยู่ที่ Long Beach นานเกือบห้าสิบปีแล้ว ต่อมาก็ส่งลูกสาวคือ คุณฐานียุตนาถ เศวตนันท์ มาศึกษาซึ่งภายหลังได้แต่งงานกับคนไทยและอาศัยอยู่ที่ San Bernardino จนตราบเท่าทุกวันนี้ และมีคนที่ “พี่รี่” รักเหมือนน้องสาวแท้ๆอีก 1 คนคือ คุณเพ็ญพิมพ์ จิตรธร รวมทั้งการที่ได้รู้จักกับคนในแอลเอ. มากมาย แอลเอ. จึงกลายเป็นเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่งของ สวลี ผกาพันธ์

สวลี ผกาพันธ์ ได้มีโอกาสได้โชว์เสียงร้องของเธอตามงานราตรีสโมสร และห้องอาหารไทยต่างๆ ในอเมริกาหลายสิบครั้ง แต่ละครั้งจะมีผู้คนแห่แหนกันไปดูมากมาย เพราะทุกคนยังรักและชื่นชมในน้ำเสียงและเพลงของเธออย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

ด้วยความที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น คุณเพ็ญพิมพ์ จิตรธร จึงได้เอ่ยปากขอความกรุณาจาก “พี่รี่” ให้ช่วยกำกับละครเวทีที่จะเอามาแสดงที่โรงภาพยนต์ Los Feliz บนถนน Vermont เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2526 โดย คุณเพ็ญพิมพ์ ได้ขอบทประพันธ์เรื่อง “ดรรชนีนาง” จาก “ครูอิงอร” ศักดิ์เกษม หุตาคม มาให้นักแสดงที่นี่ได้มีโอกาสแสดงละครเวทีให้ชมกัน ในครั้งนั้นมีผู้แสดงคือ สุวัจชัย สุทธิมา ,เพ็ญพิมพ์ จิตรธร ,ศศิธร เพชรรุ่ง ,เสนีย์ ถนอมรัตน์, เมาลียา สุวรรณสุขุม, สังเวียน จันทราภัย, สุพรรณิกา สุทธิมา และ เรวัติ พลจันทร์ โดยมี สวลี ผกาพันธ์ เป็นผู้กำกับการแสดง

ต่อมา “ดรรชนีนาง” ได้ถูกนำมาเผยแพร่อีก 2 ครั้งที่สวนอาหารไทยแลนด์พลาซ่า และ ทุกครั้ง “พี่รี่” จะต้องมีส่วนร่วมในการแสดงหรือกำกับในการแสดง นอกจากนี้ คุณเพ็ญพิมพ์ จิตรธร ยังนำ “ดรรชนีนาง” ไปแสดงที่ในประเทศไทย ที่ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อปี 2555 โดยมี สวลี ผกาพันธ์ ร่วมแสดงด้วย

มีบทความชิ้นหนึ่งของ “อิงอร” หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม เขียนลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในคอลัมน์พระอาทิตย์ชิงดวง เรื่อง “ดรรชนี” ที่แอลเอ.- อเมริกา ลองอ่านดูค่ะ

ผมมี “ลูกสาว” อาภัพนิ้วอยู่คนหนึ่ง

ชื่อ “ดรรชนี” แปลว่า นิ้วชี้

ตำหนิของลูกสาวคนนี้ รู้กันมานานแล้วว่า อยู่ที่นิ้วคือนิ้วชี้ด่วน

สาเหตุมีอยู่ว่า มีชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยคนหนึ่งมียศเป็นนายทหารเรือ ชั้นนายนาว ามีตำแหน่งเป็น

ผู้บังคับการเรือรบหลวง “อรุโณทัย” ไปเล่นไม่ซื่อกับแกเมื่อขึ้นบก ไปพบแกที่กระท่อม ในเวิ้งอ่าวหัวเขาแดง

ทะเลสาปสงขลา แล้วกลับมาแต่งงานกับหญิงอื่น

แกเลยตัดนิ้วที่เป็นแผลเป็น เกิดจากรักแรกพบ ดองส่งมาให้เป็นของขวัญวันวิวาห์

เรื่องย่อมีอยู่เท่านั้น สำหรับนิ้วของ “ดรรชนี”

เรื่องราวของนวนิยาย-ละคร-หนัง-และเพลง เกี่ยวกับ “ดรรชนี” และลูกๆ หลานๆ แตกกอ ออกไปอีก เยอะ แยะ ตาแป๊ะ….อย่าให้ผมพูดมากไปกว่านี้ เลยนะครับ บอกตรงๆ ว่า…..เขินจังเลย

แต่ที่ผมต้องเอา “ดรรชนี” มาเขียนถึงอีกครั้งในคราวนี้…..เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ

คุณเพ็ญพิมพ์ จิตรธร เจ้าของบริษัท พี.เจ. ครีเอชั่น ผู้นำภาพยนตร์ไทยไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา เธอยังมีรายการ “เพลงพิมพ์ใจ” เป็นวิทยุภาคภาษาไทยใน ลอสแองเจลิส เคยประสพความสำเร็จ ในการจัดละครเวทีมาแล้ว เช่น จุฬาตรีคูณ

ได้ส่ง คุณวิรัช โรจนปัญญา ผู้ร่วมงานมาหาผมที่บ้านพร้อมกับตัวแทนที่เมืองไทยที่ยังคิดถึง “ดรรชนี” เมื่อเป็นบทละคร

ขอบทละครเวที บวก ทีวี. ที่เคยแสดงมาแล้วจนไม่รู้จะแสดงที่ไหนอีกแล้ว ไปแสดงให้คนไทย ในแอลเอ. ดูอีกสักครั้งหนึ่ง

ขออนุญาต ดัดแปลงบทให้กระชับเข้าสักนิดให้เหมาะสม กับเวลา ต้องการเอาเนื้อเรื่องไว้ พออุ้มเพลงไว้ พูดง่ายๆ เขาอยากได้ไปแสดงเป็นละครเพลง ฟังเพลงเก่า ซึ่งมีตั้งเจ็ดแปดเพลง ให้สบายอารมณ์ มากกว่าดูเนื้อเรื่องละเอียด ซึ่งเขาคงเล่นให้เหมือนต้นฉบับเดิมได้ยาก จะพูดว่าแสดงเป็นแบบรีวิว ก็คงได้

ผมอนุญาตด้วยความเต็มใจ และยินดี

ผม--ก่อกำเนิดให้เธอเกิดมา ก็พลอยปลาบปลื้มใจไปด้วย ที่มีลูกสาว แม้จะนิ้วชี้ด้วน อายุก็ไม่ใช่สาวรุ่นแล้ว เกิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. เก้าสิบ รวมสี่สิบแล้ว คนดูก็ยังไม่เห็นว่า เธอแก่เกินดู

แปลกนะครับ “ลูกสาว” คนนี้ของผม ชะตาแก ถูกโฉลกกับเมืองนอก

เมื่อสิบสี่ สิบห้าปีมาแล้ว คงจะได้ แกได้ไปอังกฤษ มาหนหนึ่งแล้ว

สมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ ขณะนั้นตัวแทนหรือนายกสมาคม ผมอาจจะเลือนเสียแล้ว แต่ยังจำชื่อท่านได้

เมื่อท่านเรียนสำเร็จกลับมาได้รับใช้ชาติบ้านเมือง ในเวลาต่อมาทางด้านเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ในตำแหน่งสำคัญที่คนรู้จักชื่อท่านทั่วประเทศ

ท่านมีจดหมายขอ “ดรรชนีนาง” ไปแสดงเป็นละครให้คนไทยในอังกฤษดูกัน

จึงนับเป็นครั้งที่สอง สำหรับละคร “ดรรชนีนาง” ที่เมืองนอก

ครั้งแรกที่อังกฤษแสดง แสดงหนักไปทางเรื่องเอาแต่เนื้อ เป็นละครพูด เข้าใจว่า คงไม่มีเพลงประกอบ

คราวนี้ที่อเมริกา คุณเพ็ญพิมพ์ จิตรธร และ คุณสุวัจชัย สุทธิมา ถนัดทางร้องเพลงได้ดีทั้งคู่ ละครก็คงจะหนักไปทางเพลง ซึ่งเป็นหัวใจของละครเรื่องนี้ คงมันเขาล่ะ ! แต่จะพังหรือไม่พังก็อยู่ที่คนไทย จะยังสนใจเพลงสากลแบบไทย-ไทย หรือไม่เท่านั้น ก็เสี่ยงดวงกันไป

สำหรับในเมืองไทยเคยมีนักจัดรายการละครมาแย้ม พรายทาบทาม ขอเรื่องไปยืดแสดง แบบละครหลายตอนจบ ตามแฟชั่นละครที่กำลังดูอยู่ในขณะนี้ ผมไม่กล้าเสี่ยงดวง เกรงผู้ดูจะ-ผิดหวัง เพราะเนื้อหาของละครเรื่อง “ดรรชนีนาง” ถ้าจะแสดงตามรูปแบบของละครกึ่งภาพยนตร์ในปัจจุบันไม่มีทางจะยืดได้มากกว่าห้าตอน ละครเวทีหรือทีวี.สมัยก่อน เป็นบทละครที่สร้างขึ้นสำหรับดูคืนเดียวจบ ภายในเวลา ไม่เกิน 2 ชั่วโมง จำเป็นต้องใช้บทที่กระชับ ไม่ยืดเยื้อยืดยาด เมื่อบรรจุเนื้อหาสาระ ไว้ในเวลาการแสดงที่กระชับแล้วกลับมายึดยืดออกเป็นการแสดงให้ได้อย่างน้อย 20 ตอน ก็จะเหมือนเรากับเราหุงข้าวสวย แล้วเอาข้าวสวยมา เติมน้ำให้เป็นข้าวต้ม จะให้เหมือนข้าวต้มที่เราตั้งใจจะต้มให้เป็นข้าวต้ม ตั้งแต่ยังเป็นข่าวสาร นั้นไม่ได้แน่

กับอีกประการหนึ่ง “ดรรชนีนาง” เป็นละครที่เด่นขึ้นมาด้วยบทพูดกับเพลงประกอบเรื่อง เพลงทุกเพลงในเรื่อง “ดรรชนีนาง” เป็นส่วนสำคัญของเรื่อง ขัดกับรูปแบบละครทีวี. ในปัจจุบัน…….ซึ่งเน้นแสดงความสมจริง มากกว่าเพลงและคำพูด โต้ตอบแบบละครพูด

เป็นต้นว่า ในบทละครเดิม เมื่อพระเอกนายนาวานิรันดร์ฤทธิ์ ลงเรือจ้าง ให้นางเอกดรรชนี แจว จะมีเพลงชื่อ “กลางสายชล” ให้เพลงนี้เป็นเพลงเอกของเรื่อง ที่ตัวละครแบบเก่าจำเป็นต้อง ร้องกลางทะเลมีดนตรีคลอ การแสดงแบบนี้ถ้าทำไปตามบทละคร –เก่า และดูกันตามแบบละครเก่า ซึ่งเป็นการดูการแสดงละครตามแบบละครของเก่า ก็พอดูกันได้

แต่ถ้าจะทำกันตามละครแบบใหม่คือ แสดงบทบาทให้สมจริง นั่งเรือไปเฉยๆ ไม่ร้องเพลง “กลางสายชล” คนที่เคยดูละคร “ดรรชนีนาง” แบบเก่า ก็จะทนไม่ได้อีก เพราะละครขาดสิ่งที่เขาเคยมีเคยได้ และ อุปาทานยึดถือว่า เป็นสิ่งสำคัญคือ เพลง

เกิดความขัดแย้งขึ้นดังนี้ ผมจึงตัดใจไม่ยอมให้ “ดรรชนีนาง” ออกไปเป็นละครแบบใหม่

เว้นไว้แต่ว่า จะต้องแสดงให้จบ ตามบทเดิมภายในคืนเดียว หรือสองคืนติดต่อกัน

ละครแบบนี้……ไม่มีอีกแล้วที่ท่านจะได้ชมทางจอโทรทัศน์ ไม่มีผู้จัดรายการรายไหนจัดแสดงได้

“ดรรชนีนาง” ละครเพลง จึงต้องไปแสดงให้คนไทยที่อเมริกาดู เป็นละครเวที ด้วยประการฉะนี้

ไปอย่างผม เต็มใจ เสี่ยงดวงให้ไป

เพื่อว่าอย่างน้อย คนไทย ณ ที่นั่น เมื่อได้ยินเพลง “ดรรชนีไฉไล” “เดือนต่ำดาวตก” “หนาวตัก” “กลางสายชล” “ดรรชนีครวญ” ฯ จะได้นึกถึงความหลัง …….ร่วมสมัย และ อะไร- อะไร เคยมีในเมืองไทย

แล้วคิดถึงเมืองไทย ไม่ต้องคิดถึงมากนัก สักนิด ก็ยังดี

ผมตั้งใจส่ง “ดรรชนีนาง” ไปเป็นละครทูตในแอลเอ. แล้วสินะ/ อิงอร