ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ทีมนักดาราศาสตร์เผยภาพใหม่ดาวมวลขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบ

กระจุกดาวที่ชื่อ R136 ในกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ ที่เป็นกาแล็กซีบริวารของกาแล็กซีทางช้างเผือก อยู่ห่างจากโลกประมาณ 150,000 ปีแสง กระจุกดาวดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก และมีดวงดาวเกิดใหม่ที่สว่างไสวอย่างน่าตื่นตะลึงมากมาย จัดเป็นเป้าหมายการศึกษาของบรรดานักดาราศาสตร์

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติและหลายสถาบัน เผยภาพดาวฤกษ์มวลขนาดใหญ่ชื่อ R136a1 เป็นสมาชิกในกระจุกดาว R136 ทีมประเมินว่า R136a1 มีมวลอยู่ระหว่าง 150-200 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา และ R136a1 ยังคงมีอุณหภูมิพื้นผิวที่ร้อนกว่าดวงอาทิตย์ถึง 8 เท่าและรัศมีใหญ่กว่า 40 เท่า มีแนวโน้มว่า R136a1 จะเป็นดาวฤกษ์มวลมหึมาดวงหนึ่งในจักรวาล

ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่ายิ่งค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับดาวฤกษ์ยักษ์อย่าง R136a1 มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกาแล็กซีมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการเข้าใจขีดจำกัดสูงสุดของดวงดาวจะช่วยให้นักดาราศาสตร์รวบรวมทุกอย่างตั้งแต่วงจรชีวิต ของดวงดาวไปจนถึงความเป็นมาของกาแล็กซี.

(ภาพประกอบ Credit : NASA/U. Virginia / INAF, Bologna, Italy / USRA / Ames / STScl / AURA)


ไดโนเสาร์คอยาวสายพันธุ์ใหม่ ค้นพบในโคลอมเบีย

ในปี พ.ศ.2486 มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลกระดูกสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 55 เซนติเมตร กว้าง 45 เซนติเมตร ระหว่างการวางแผนทำแผนที่ทางธรณีวิทยาโดยบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งในพื้นที่ภูเขา Serranía del Perijá ทางตอนเหนือของโคลอมเบีย ฟอสซิลถูกนำไปเก็บเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และรับการอธิบายไว้เบื้องต้นในปี พ.ศ.2498 ว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดชนิดหนึ่ง

ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งอาร์เจนตินา และมหาวิทยาลัยนอร์ท ในโคลอมเบีย เผยผลการวิจัยฟอสซิลดังกล่าวว่า เป็นของไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดกลางชนิดใหม่ ได้รับการตั้งชื่อว่า เพียร์อีฮาซอรัส ลาปาซ (Perijasaurus lapaz) สายพันธุ์ใหม่นี้เป็นของยูซอโรโพดา (Eusauropoda) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สืบทอดมาจากไดโนเสาร์ 4 เท้า คอยาว กินพืชเป็นอาหารอย่างเดียวเท่านั้น ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้อาศัยอยู่ในป่าที่ราบลุ่มเขตร้อน ซึ่งปัจจุบันคือโคลอมเบีย ในยุคจูราสสิกเมื่อประมาณ 175 ล้านปีก่อน

ทีมวิจัยเผยว่า การค้นพบไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้ มักมาจากหินในยุคครีเต เชียสที่พบในอาร์เจน ตินาและบราซิล แต่ไดโนเสาร์จากทางตอนเหนือของอเมริกาใต้นั้นหายากกว่ามาก โดย เฉพาะอย่างยิ่งจากยุคจูราสสิกและไทรแอสซิก ดังนั้น การค้นพบเพียร์อีฮาซอรัส ลาปาซ จะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับที่มาของซอโรพอดในยุคจูราสสิกมากขึ้น.

(ภาพประกอบ Credit : U-M Online Repository of Fossils viewer developed by the U-M Museum of Paleontology)


รับมืออย่างไรกับ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

“โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ monkeypox virus ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่เกิดในคน แต่ที่เรียกว่าฝีดาษลิง เนื่องจากพบในการทดลองที่เกิดขึ้นกับลิงนั่นเอง

“โรคฝีดาษลิง” เป็นโรคที่ไม่ได้มีความรุนแรง สามารถหายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและเด็กเล็ก ส่วนมากจะพบในแอฟริกาใต้ แต่เมื่อไม่นานมานี้เองมีการพบมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย และเริ่มระบาดไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทยเป็นครั้งแรก จำนวน 3 ราย (ณ วันที่นำเสนอบทความ) จึงจำเป็นต้องรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในทุกราย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง มีดังนี้

1. เกิดจากการไปสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคฝีดาษลิง และสัมผัสเป็นเวลานาน เช่น การมีเพศสัมพันธ์

2. การใช้อุปกรณ์ เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอนร่วมกัน ก็อาจจะทำให้เกิดการติดได้

3. สัมผัสกับสัตว์ที่เป็นแหล่งนำโรค เช่น หนูเล็กๆ ลิง กระรอก เป็นต้น

โดยที่ตัวโรคมีระยะฟักตัว 7-21 วัน

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมักมีอาการไข้นำมาก่อน ร่วมกับมีอาการอย่างน้อย 1 อย่างต่อไปนี้ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง โดยที่มีการกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลำตัว บริเวณอวัยวะเพศ หรืออาจพบบริเวณรอบทวารหนัก แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า โดยตุ่มจะมีลักษณะนูน ใส หนอง และตกสะเก็ด โดยที่ผื่นในบริเวณเดียวกันจะเป็นระยะเดียวกัน จำนวนตุ่มที่พบจะมากหรือน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วย รวมระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ก็จะมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติมว่าใน 21 วันที่ผ่านมา

- มีประวัติสัมผัสคนไข้หรือไม่

- มีการเดินทางมาจากประเทศที่มีเคสค่อนข้างเยอะหรือไม่

- มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ปาร์ตี้

- ผู้ป่วยทำอาชีพที่ต้องคลุกคลีกับต่างประเทศหรือไม่

- เป็นผู้ที่ต้องดูแลสัตว์ สัตวแพทย์ หรือคนค้าขายสัตว์ที่ต้องดูแลสัตว์พันทาง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น

การติดต่อและการแพร่กระจายของเชื้อ

ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการสัมผัสผื่นของผู้ป่วยโดยตรงในระยะแพร่เชื้อ หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยยืนยัน อาจมีการติดต่อกันทางละอองฝอยได้โดยเฉพาะ หากมีการทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก (contact transmission & droplet transmission)

การวินิจฉัย มี 2 วิธี ดังนี้

โดยการทำ real time PCR เพื่อตรวจดูว่ามีสารพันธุกรรม money pox virus หรือไม่ หรือตรวจโดย DNA sequencing คือ การเพาะหาเชื้อ ซึ่งวิธีนี้จะค่อนข้างยากกว่าวิธีแรก

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

โรคฝีดาษลิงมี 2 ประเภท คือ รุนแรงมาก และรุนแรงน้อย ซึ่งเชื้อที่กำลังแพร่อยู่ในขณะนี้เป็นประเภทรุนแรงน้อย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น แอฟริกาก็อาจจะมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในยุโรป ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ทั่วโลกตอนนี้มีประมาณ 10 ราย

การรักษา

ในประเทศไทยแนะนำให้รับผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกราย และให้ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เนื่องจากองค์ความรู้เรื่องการรักษาและการป้องกันยังมีค่อนข้างจำกัด

การรักษามี 2 วิธี คือ การรักษาตามอาการ กล่าวคือ ให้ยาลดไข้ ลดความไม่สบายจากตุ่มหนอง และไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

การรักษาวิธีที่ 2 คือ การให้ยาต้านไวรัส TPOFX ซึ่งเป็นการใช้ที่ยังไม่มาก และอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยยาตัวนี้มีทั้งรูปแบบกิน และการให้ทางหลอดเลือด ซึ่งสามารถรักษาโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น small pork คือ รักษาโรคฝีดาษวัว และฝีดาษคนด้วย ซึ่งจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแทรกตัวของไวรัสเข้าไปในเซลล์

การใช้ยาจะต้องพิจารณาว่าเหมาะกับคนไข้กลุ่มไหนบ้าง เช่น คนไข้ HIV ที่ยังควบคุมอาการได้ไม่ดี คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ คนไข้โรคมะเร็งเม็ดเลือด คนไข้ปลูกถ่ายอวัยวะ คนไข้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี เป็นต้น

การป้องกัน

ควรระวังการสัมผัส หรือการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องคอยสังเกตอาการตัวเอง หากมีตุ่มหนองขึ้นผิดปกติ ร่วมกับอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน

แหล่งข้อมูล

อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


ตะลึง นาซาเผยภาพดาวพฤหัสบดีสุดคมชัดพร้อมแสงออโรร่า ถ่ายจากกกล้อง "เจมส์ เว็บบ์"

องค์การนาซาเผยภาพถ่ายล่าสุดของ "ดาวพฤหัสบดี" คมชัดมีแสงออโรราสว่างบริเวณขั้วเหนือและใต้ เป็นภาพหาชมยาก ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา ของสหรัฐฯ เปิดเผยภาพถ่ายล่าสุด จำนวน 2 ภาพ จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) เป็นภาพของ "ดาวพฤหัสบดี" ที่มีความคมชัดที่สุดเท่าที่เคยมีการถ่ายภาพดาวเคราะห์ดวงนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ

ภาพนี้แสดงให้เห็น "จุดแดงใหญ่" (Great Red Spot) พายุหมุนขนาดใหญ่บนดาวพฤหัสบดี อย่างชัดเจน ท่ามกลางกลุ่มพายุที่มีขนาดเล็กกว่าจำนวนนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ยังเห็นหมอกควันที่มีการหมุนวน และแสงออโรราส่องสว่างอยู่บริเวณขั้วด้านเหนือและใต้ของดาว โดยในภาพมุมกว้างนี้ยังแสดงให้เห็นเส้นวงแหวนจางๆ 2 เส้นรอบดาวพฤหัสบดี และยังเห็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีอีก 2 ดวง ได้แก่ แอดรัสเทีย (Adrastea) และ แอมัลเทีย (Amalthea) ตลอดจนมองเห็นกาแล็กซีที่อยู่ไกลออกไป

โดยนาซาเปิดเผยว่า ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้องอินฟราเรดของเจมส์ เว็บบ์ เมื่อเดือนมิถุนายน ผ่านการย้อมแสงสีน้ำเงิน ขาว เขียว เหลือง และส้ม ทำให้เห็นรายละเอียดของดาวพฤหัสบดีในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

อิมเก เดอ ปาเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่อยู่ในโครงการศึกษาดาวพฤหัสบดีกล่าวว่า ไม่ได้คาดคิดว่าภาพจะออกมาดีมากขนาดนี้ เพราะได้เห็นรายละเอียดของดาวพฤหัสบดี ทั้งวงแหวน ดวงจันทร์บริวาร และแม้กระทั่งกาแล็กซี่ในภาพเดียวกัน.

ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ ซึ่งเป็นการลงทุนระหว่างนาซาและองค์การอวกาศของสหภาพยุโรปมูลค่ากว่าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 350,000 ล้านบาท ได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้ทำหน้าที่สอดส่องจักรวาลนับตั้งแต่นั้น โดยนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะสามารถเฝ้ามอง “รุ่งอรุณของเอกภพ” ได้ด้วยกล้องเจมส์ เวบบ์ผ่านการย้อนศึกษาตั้งแต่ต้นกำเนิดของดาวดวงแรก รวมถึงการก่อตัวของกาแล็กซีเมื่อ 1.37 หมื่นล้านปีในอดีต

เครดิตภาพ : NASA/Instagram


"อาการลองโควิด" กระทบ 6 อวัยวะภายในที่สำคัญ ดูแลอย่างไรไม่ให้โดนโจมตี

"อาการลองโควิด" ส่งผลกระทบ 6 ระบบอวัยวะภายในที่สำคัญ แนะวิธีดูแล และการสังเกตความผิดปกติ ต้องทำอย่างไรเมื่อร่างกายกำลังถูกโจมตีด้วย ภาวะ Long COVID

ภาวะ Long COVID อีกหนึ่งผลข้างเคียยงที่ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมักจะประสบปัญหาหลังจากที่หายจากการติดเชื้อมาแล้ว ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุ ว่า ผู้ที่หายจากการติดโควิด แล้วมักจะเจอ "อาการลองโควิด" ที่ส่งผกระทบต่อ 6 ระบบร่างกาย ได้แก่

1.ระบบทางเดินหายใจ 44.38% เช่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มปอด ไอเรื้อรัง

2.ระบบสุขภาพ 32.1% เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า

3.ระบบประสาท 27.33% เช่น อ่อนแรงเฉพาะที่แบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หลงลืม

4.ระบบทั่วไป 23.41% เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ

5.ระบบหัวใจและหลอดเลือด 22.86% เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น

6.ระบบผิวหนัง 22.8% เช่น ผมร่วง ผื่นแพ้

โดย "อาการลองโควิด" ที่มักจะตามมาหลังจากติดเชื้อนั้นสร้างความกังวลต่อเราค่อนข้างมาก เนื่องจากระบบอวัยวะที่ ภาวะ Long COVID เข้าไปโจมตีเป็นส่วนสำคัญของระบบร่างกายอย่างมาก แต่หากได้รับการดูแล และมีการฟื้นฟูอวัยวะส่วนไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางจิตใจ ระบบสุขภาพจิต ระบบประสาท ระบบทั่วไป ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง อย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ร่างกายสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ

สำหรับแนวทางการดูแล "อาการลองโควิด" กับระบบอวัยวะทั้ง 6 อย่าง สามารถทำได้ดังนี้

1. ระบบทางเดินหายใจ พบภาวะ ไอเรื้อรัง เนื่องจากการติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการไอทั้งไอแห้ง ไอมีเสมหะ บางรายไอแบบมีเลือดปนมา อาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื้อทางเดินหายใจ จึงทำให้ระบบทางเดินหายใจไวต่อสิ่งเร้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอาการไอ แต่โดยปกติแล้วอาการดังกล่าวจะสามารถหายไปเองได้ ขึ้นอยู่กับเวลาและความเสียหายของเนื้อเยื้อทางเดินหายใจ

วิธีดูแล "อาการไอเรื้อรัง" ทำได้ดังนี้

-ทานยาแก้ไอ เพื่อลดอาการระคายเคืองในลำคอ

-ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองคอ

-ดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาว เพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ และลดเสมหะ

-ใช้สเปย์พ่น เพื่อลดการอักเสบและลดการระคายเคืองในลำคอ

-นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่

-ไม่อยู่ในสถานที่ ที่มีอากาศแห้งมากเกินไป เพราะอาจเกิดการระคายเคืองในลำคอได้

-หลีกเลียงบริเวณที่มีฝุ่นหรือควันเยอะ เพราะอาจทำให้อาการไอกำเริบ

2.ระบบทางเดินหายใจ หลังจากที่หายป่วยจาก โควิด พบว่า "อาการลองงโควิด" ส่วนใหญ่ที่เจอมักจะมีความเกี่ยวข้องกับหัวใจประมาณ 22.86% เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการต่อสู้ของระบบภูมิคุ้มกัน อาการเบื้องต้นมักจะเจอภาวะ ใจสั่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกแบบแปลก ๆ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากภาวะลองโควิดที่กระทบระบบหัวใจไม่สามารถรักษาเองได้ ต้องให้แพทย์วินิจฉัย

3.ระบบทั่วไป เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะเข้าไปทำลายระบบทางเดินหายใจและปอด ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับอ๊อกซิเจน เข้าไปได้เต็มที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ วิธีการดูแลอย่างด่วนที่สุด ดังนี้

-ฝึกหายใจ เพื่อฟื้นฟูปอดให้ร่างกายได้รับอ็อกซิเจนเข้าไปเต็มปอด

-ออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสมกับร่างกาย เพื่อให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉง ไม่ง่วงซึม อ่อนล้า อ่อนเพลีย

-พักผ่อนระหว่างวันไม่โหมทำกิจกรรมหนัก เช่น ไม่หักโหมเดินทางไกล ไม่ตากแดดนานเกินไป

-ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เน้นโปรตีน โพรไบโอติก อาหารที่มีกากใย เลี่ยงอาหาร Junk Food

4.ระบบประสาท สาเหตุที่ทำให้โควิด มีผลกับระบบประสาทโดยตรง มาจากภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วยทำงานต่อสู้กับไวรัส จนเกิดการอักเสบกับระบบประสาทและสมอง การตรวจเช็คเบื้องต้น ว่าอาการปวดหัว อ่อนเพลีย ว่าเป็นผลกระทบเรื้อรังจากการติดเชื้อหรือไม่ ทำได้ดังนี้

-ปวดศีรษะ

-มึนงงสับสน

-มีอาการสมาธิสั้น

-มีอาการซึม

-มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามร่างกาย หรือชาแขนขา

-หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด

สมองไม่โปร่ง

5.อาการที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง โดย อาการทางผิวหนังที่เกิดขึ้นหลังจากติดโควิด เกิดจากภูมิต้านทานสร้างเม็ดเลือดขาวมาต่อสู้กับไวรัสภายในร่างกาย มักจะทำให้เป็นผื่นคัน ผื่นนูนแดง ผื่นตุ่มใสๆ ผื่นแบบลมพิษ หรือบางรายอาจมีอาการผมร่วง

โดย วิธีการแยกระหว่างอาการทางผิวหนังปกติกับอาการผิวหนังปกติ โดยสังเกตุจากอาการผลข้างเคียงจาก Long covid อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นเป็นไข้ ตัวร้อน ปวดหัว อ่อนเพลีย หากพบ "อาการลองโควิด" ที่มีผลกระทบจากผิวหนังให้ดูตัวเองด้วยการทาโลชัน ไม่เกาบริเวณที่คัน แต่ให้ลูบเบา ๆ ในจุดที่คันแทน

6.อาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะจิตใจ จากข้อมูลพบว่า หลังจากที่หายจากโควิดพบว่าผู้ป่วยกว่า 32.1% มีภาวะซึมเศร้าเป็นเวลานาน โดยอาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทโดยตรงที่ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ และทางจิตใจที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยป่วยโควิด และคนใกล้ชิดสามารถดูแลจิตใจหลังจากหายโควิดได้ ดังนี้

-หางานอดิเรกทำ

-ทำกิจกรรม พูดคุบกับครอบครัว

-หลีกเลี่ยงข่าว หรือสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดภาวะเครียด

-หากยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ด้านสุขภาพจิตโดจเฉพาะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจหายแล้ว ต้องรักปอด By Imura Long