ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



‘โรคซึมเศร้าหลังคลอด’ ตัวการทำลายความสุขในครอบครัว

มนุษย์แม่หลายคนจะต้องเผชิญทั้งความสุข ความเหนื่อยล้าจากการตั้งครรภ์ คลอดลูก และการเลี้ยงดูลูกจนทำให้มนุษย์แม่หลายคนอาจเกิดความเครียด ความกังวล จนมีอาการซึมลง ไม่ค่อยมีความสุขเหมือนเมื่อก่อนและอาจเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดโดยไม่ได้ตั้งใจ

พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH-Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) เป็นโรคแทรกซ้อนหลังคลอดที่พบได้บ่อยในระยะ 1 ปีแรก ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังจากคลอดลูกส่งผลให้อารมณ์ของแม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues หรือ Baby Blues) เกิดจากการที่ยังปรับตัวหลังคลอดไม่ค่อยได้ ทำให้มีความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก นอนไม่หลับ รับประทานอาหารได้น้อยลง โดยทั่วไปมักมีอาการอยู่ในช่วง 4 สัปดาห์แรก และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) สามารถเกิดได้ในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังการคลอด กลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงกว่า เช่น มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อยอ่อนไหวง่าย บางครั้งหงุดหงิด ความผูกพันกับลูกหายไป บางครั้งมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายลูก โดยจะมีระยะของอาการที่ต่อเนื่องตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึงหลายเดือน และจะต้องได้รับการรักษาไม่สามารถหายเองได้

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis) มักเกิดในช่วงหลังคลอด 1-4 วัน โดยผู้ป่วยมักมีอาการฉุนเฉียว ร้องไห้ง่าย คึกคัก คล้ายอาการของโรคไบโพลาร์ หูแว่ว ประสาทหลอน บางครั้งก็ได้ยินเสียงสั่งให้ฆ่าลูก โดยโรคกลุ่มนี้ไม่สามารถหายได้เอง และจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการของภาวะโรคจิตหลังคลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและลูก

สาเหตุของโรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากการสูญเสียคุณค่าตัวเองในช่วงตั้งครรภ์ เช่น ไม่พร้อมตั้งครรภ์, ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย, ตั้งครรภ์ครั้งแรก หรือมีประวัติแท้งมาก่อน ไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเอง ขาดการช่วยเหลือสนับสนุนที่เพียงพอจากครอบครัวและสังคมทั้งด้านจิตใจและร่างกาย มักมีประวัติซึมเศร้าก่อนตั้งครรภ์

หลังคลอดคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย คือบาดเจ็บหลังคลอด การได้รับยานอนหลับหรือยาสลบเพื่อระงับความเจ็บปวด การอดนอนการเสียเลือด นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอร์โรน และสารสื่อประสาท serotonin, norepinephrineส่งผลให้การตื่นตัวลดลง รู้สึกเบื่อหน่ายง่าย

ด้านจิตสังคม คือ การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ การฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด การเปลี่ยนแปลงบทบาทมาเป็นคุณแม่ การให้นมบุตร รับมือกับความคาดหวังของตัวเองและคนรอบข้างในการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณแม่

การรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดต้องพิจารณาความเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะความเสี่ยงของโรคต่อคุณแม่และทารก และความเสี่ยงของการได้รับยารักษา เพราะยาบางชนิดสามารถผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้ หากอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาการรักษาโดยไม่ใช้ยาก่อน อาจเป็นการทำจิตบำบัดชนิดต่างๆ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรให้การรักษาแบบใช้ยาชนิดเดียวจะปลอดภัยกว่า แต่ถ้าในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงจิตแพทย์อาจมีการพิจารณาให้ทำจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยา

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่เริ่มมีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหลังคลอดควรเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขกับครอบครัวเหมือนเดิม


กินอะไรช่วยลดไขมันในเลือดได้ อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อการบำรุงสุขภาพ

ภาวะไขมันในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง จึงถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการดูแลตัวเองที่ได้ผลวิธีหนึ่งคือการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยควบคุมระดับในไขมันในเลือดนั่นเอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ใยอาหาร หรือสารต้านอนุมูลอิสระชนิดต่างๆ อาหารเหล่านี้ มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้

อาหารลดไขมันในเลือดที่ควรเลือกรับประทาน

1. ผักใบเขียว

ผักใบเขียวไม่เพียงแต่มีใยอาหารสูงเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติในการช่วยลดการดูดซึมไขมันในลำไส้ ทำให้ไขมันและคอเลสเตอรอลจากอาหารที่รับประทานเข้าไปถูกส่งผ่านไปยังอุจจาระแทนการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ผักใบเขียวยังอุดมไปด้วยสารลูทีนและสารแคโรทีนอยด์ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ด้วย

2. เนื้อปลาที่มีไขมันดี

เนื้อปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 สามารถช่วยปรับปรุงระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำงานของหัวใจและระดับความดันโลหิต อาทิเนื้อปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงและสามารถหารับประทานได้ง่าย เช่น ปลาสวาย ปลาทู ปลาช่อน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า หรือปลาแซลมอน โดยควรรับประทานเนื้อปลาสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง และควรเลือกวิธีการปรุงสุกด้วยการต้มหรือการนึ่งแทนการทอดหรือการผัด เพื่อช่วยลดไขมันในเลือดอีกทางหนึ่ง

3. ถั่วชนิดต่างๆ

การรับประทานถั่วชนิดต่างๆ วันละประมาณ 50 กรัมหรือ 1 กำมือสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในร่างกายได้ อีกทั้งถั่วหลายชนิดยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

4. กระเทียม

กระเทียมมีสารประกอบกำมะถันชื่อว่าอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งอาจมีฤทธิ์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีในร่างกายได้ อีกทั้งกระเทียมยังมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงหัวใจและมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตด้วย การรับประทานกระเทียมเป็นประจำจึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้

5. ขิง

ขิงเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพมากมาย รวมถึงอาจช่วยลดไขมันในเลือดได้ โดยจากงานวิจัยพบว่าการรับประทานขิงทุกวันอาจช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกาย ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจลดลงไปได้ด้วย และนอกจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของขิงแล้ว การดื่มน้ำขิงก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่แพ้กันเลยทีเดียว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร สามารถช่วยป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงได้ โดยหากพบว่าตนเองอยู่ในภาวะไขมันในเลือดสูง ควรลดบริโภคอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง ลดอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง เน้นการปรุงอาหารที่ใช้วิธี นึ่ง ต้ม อบ ย่าง แทนการทอดหรือการใช้น้ำมันผัด และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ เป็นต้น


ฮอทดอก - เบคอน - เนื้อแดงแปรรูป เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม

ผลการศึกษาวิจัยครั้งใหญ่ใหม่พบว่า ผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์ เช่น เบคอน ไส้กรอก ฮอทดอก และเนื้อเย็นธรรมดา เช่น โบโลญญาและซาลามิ เพียงแค่ 2 มื้อต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม สูงขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารน้อยกว่า 3 มื้อต่อเดือน การลดการบริโภคเนื้อแดงแปรรูปโดยหันไปกินถั่วและถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งมีน้ำมันพืชที่ไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงโปรตีน สามารถให้ผลการปกป้องได้

โดยส่วนผสมบางชนิดในเนื้อแดงแปรรูปอาจเป็นอันตรายได้เป็นพิเศษ “เนื้อสัตว์แปรรูปโดยทั่วไปจะมีไนเตรต ไนไตรต์ สารกันบูด และเกลือในระดับสูง” สารเติมแต่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดการอักเสบ ความเครียดจากออกซิเดชัน และความเสียหายต่อหลอดเลือด ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สารกันบูดและสารเคมีบางชนิดที่ใช้ในการแปรรูปอาจมีผลต่อระบบประสาท ส่งผลให้ความสามารถในการรับรู้ลดลงอีกด้วย

การวิเคราะห์ใหม่แสดงให้เห็นว่าการรับประทานเนื้อแดงแปรรูปเพียง 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 14

ไม่พบความเสี่ยงในเนื้อแดงที่ไม่ได้ผ่านการแปรรูป เช่น แฮมเบอร์เกอร์ สเต็ก หรือสเต็กหมู

การลดปริมาณการรับประทานเนื้อแดงแปรรูปลงหนึ่งมื้อต่อวัน แล้วเปลี่ยนเป็นถั่ว ถั่วชนิดต่างๆ หรือเต้าหู้แทน อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

สิ่งสำคัญคืออาหารมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพสมอง และการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจะช่วยลดความเสี่ยงของการเสื่อมถอยของความสามารถในการรับรู้และภาวะสมองเสื่อมได้ การจำกัดการรับประทานเนื้อแดงแปรรูปและรับประทานอาหารจากพืชมากขึ้น เช่น ถั่ว พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ และถั่วชนิดต่างๆ อาจส่งผลดีต่อสุขภาพสมองในระยะยาว


"ป๊อปคอร์น" ของว่างทานเล่นช่วยแก้ท้องผูกได้

ป๊อปคอร์น (Popcorn) หรือ ข้าวโพดคั่ว คือของว่างหรือขนมขบเคี้ยวที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และน่าจะเป็นหนึ่งในอาหารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย ในปัจจุบันป๊อปคอร์น กลายเป็นของว่างที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก สามารถทานได้ทุกโอกาส

ป๊อปคอร์น ช่วยลดอาการท้องผูกเนื่องจากป๊อปคอร์นทำมาจากธัญพืช ดังนั้นเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำที่พบในป๊อปคอร์นจึงอาจช่วยการทำงานของระบบย่อยอาหารและป้องกันท้องผูกได้ โดยการเลือกรับประทานป๊อปคอร์นที่ปรุงด้วยวิธี Air-popped หรือการปรุงโดยไม่ใช้น้ำมันในปริมาณ 3 ถ้วย ร่างกายอาจได้รับไฟเบอร์ประมาณ 3.5 กรัมและได้รับพลังงานไม่เกิน 100 กิโลแคลอรี

ป๊อปคอร์น นั้นไม่ได้เป็นเพียงของว่างที่อร่อยและเป็นของโปรดของใครหลายคนเท่านั้น แต่ป๊อปคอร์นยังอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้อีกด้วย แต่ที่สำคัญการไม่กิน ผักและผลไม้ การขาดไฟเบอร์หรือใยอาหารอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการท้องผูก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าภายในหนึ่งวันควรรับประทานผักหรือผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมหรือเทียบเท่าไฟเบอร์ราว 20-35 กรัมอาจช่วยให้ลำไส้สามารถทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งแอปเปิล มะนาว ส้ม กีวี่ ลูกฟิก ลูกแพร์ ลูกพรุน ผักปวยเล้ง ผักใบเขียวอื่นๆ และพืชตระกูลถั่ว ขาดไม่ได้คือ น้ำเปล่า ดื่มน้ำราว 8 แก้วต่อวันหรือราว 1.5-2 ลิตรต่อวันเพื่อช่วยให้การระบบทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ ซึ่งรวมถึงการทำงานของลำไส้และระบบขับถ่าย โดยของเหลวจะช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวลงและสามารถขับออกได้ง่ายขึ้น

“โฮลเกรน” (Whole grain) คือธัญพืชเต็มเมล็ดที่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าสารอาหารอย่างครบถ้วน การบริโภคป๊อปคอร์นนั้นเท่ากับเราได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากธัญพืชเต็มเมล็ดที่ยังไม่ผ่านการปรับแต่ง และในป๊อปคอร์นนั้นเปี่ยมไปด้วยสารโพลีฟีนอล (polyphenol)เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมาก พบมากในพืชผัก มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอสิระ และลดการอักเสบ ผื่นคัน

ป๊อปคอร์นยังเป็นตัวช่วยลดน้ำหนักได้ดีของทานเล่นที่เส้นใยอาหารจำนวนมาก อาหารประเภทนี้จะใช้เวลาในการย่อยมากกว่าอาหารประเภทที่มีเส้นใยน้อย นั่นแปลว่าเมื่อเรารับประทานไปแล้วจะอิ่มได้นานขึ้น สำหรับคนที่อยากควบคุมน้ำหนักจึงแนะนำให้ทานป๊อปคอร์นที่คั่วด้วยลมร้อน และไม่ต้องเติมเนยหรือเกลือ ในระหว่างมื้ออาหาร จะทำให้เรามีความอยากทานของหวานหรือไขมันลดน้อยลง


ระวัง! 4 กลุ่มโรคที่มากับ "น้ำท่วม" พร้อมแนะวิธีป้องกันการเจ็บป่วย

ในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก แนะนำติดตามข้อมูลข่าวสาร พร้อมบันทึกข้อมูลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน หรือแผนอพยพ เมื่อเกิดเหตุจะได้พร้อมรับมือ ลดอันตรายจากอุทกภัย

โดยโรคที่มากับน้ำท่วม

แบ่งเป็น 4 กลุ่มโรคใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง

1. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม

2. กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง

3. กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โรคไข้ฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง

4. กลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือ แมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อต และการจมน้ำ

โรคที่มากับน้ำท่วม สามารถป้องกันและดูแลตัวเองได้

1. ไม่ทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงแหล่งน้ำที่ท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง

2. อย่าปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน และอาจรับเชื้อจากน้ำที่มีสิ่งสกปรก ทำให้ป่วยด้วยโรคตาแดง หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัด ต่อยได้

3. ล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ

4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง และหลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด เพราะอาจติดเชื้อโรคจากหนูและสัตว์นำโรคอื่นๆ

5. หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าลุยน้ำ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือนำถุงพลาสติกที่สะอาด มาสวมเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผล ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ

6. ป้องกันยุงกัด เช่น ทาโลชั่นกันยุง หรือนอนในมุ้ง

7. รักษาสุขอนามัยเบื้องต้น ล้างมือบ่อย ๆ หากอยู่ในที่แออัด หรือมีอาการป่วย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ

8. ทำความสะอาดบริเวณบ้านให้โล่ง และตรวจสอบบริเวณมุมอับของบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ

9. หากถูกสัตว์มีพิษกัดให้จดจำลักษณะสัตว์ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด จำกัดบริเวณที่ถูกกัด ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


5 ยาสามัญ ช่วยรักษาอาการท้องเสีย กินกันไว้ช่วยบรรเทาได้

ท้องเสีย (Diarrhea) เป็นภาวะของผู้ที่มีการขับถ่ายออกมาอย่างไม่ปกติ โดยทั่วไปมีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง ร่วมกับอาการอื่น ๆ อาทิ อาเจียน ปวดท้อง คลื่นไส้ โดยสาเหตุหลักมาจากการทานอาหารเสีย อาหารเป็นพิษ การแพ้อาหาร และติดเชื้อจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร แม้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นง่ายแบบไม่รู้ทิศรู้ทาง แต่อาการท้องเสียก็ส่งผลลบต่อร่างกายค่อนข้างมาก โดยปัจจัยที่ลดความเสี่ยงเกิดอาการท้องเสีย ล้างมือทุกครั้ง เลือกกินอาหารที่สุกสะอาด แต่หากเกิดปวดท้องและมีอาการท้องเสีย ดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วย 5 ยาสามัญ ช่วยรักษาอาการท้องเสีย กินกันไว้ช่วยบรรเทาได้ แต่หากไม่ดีขึ้นควรเข้าพบแพทย์

5 ยาสามัญ ช่วยรักษาอาการท้องเสีย

ท้องเสียเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน แต่สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาฆ่าเชื้อท้องเสีย ซึ่งเป็นยาสามัญที่มีความปลอดภัย สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

1. ยาผงถ่าน คา-อา-บอน

ยาที่มีส่วนประกอบสำคัญอย่างถ่านกัมมันต์จากไม้ถ่าน ช่วยดูดซับสารพิษ และสารแปลกปลอมในลำไส้ การทานยาคาร์บอน ถือเป็นวิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำได้เห็นผลอย่างรวดเร็ว แม้อาจมีผลข้างเคียงอย่างอาการท้องผูก กิน 2 เม็ดทันทีที่มีอาการ กินซ้ำได้ทุก 3-4 ชั่วโมง ตามความรุนแรงของอาการหากถ่ายบ่อย หรือถ่ายเป็นน้ำให้กินยาให้ถี่ขึ้นไม่ควรใช้เกิน 16 เม็ดต่อวัน

2. ยาธาตุน้ำขาว

เป็นยาอีกชนิดที่มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลของเหล็กในร่างกายจากอาการท้องเสีย และช่วยฟื้นฟูสภาพที่แข็งแรงของเซลล์เลือด ขนาดรับประทาน แบบขวด : เขย่าขวดก่อนใช้

เด็ก ≥12 ปี – ผู้ใหญ่ ครั้งละ 15 มล. วันละ 3 ครั้ง

เด็ก < 12 ปี ครั้งละ 5 มล. วันละ 3 ครั้ง

แบบซอง : เขย่าซองก่อนใช้

ผู้ใหญ่ ครั้งละ 1 ซอง (15 มล.) วันละ 3 ครั้ง

3. ยาธาตุน้ำแดง

ตัวยาที่มีสารอาหารสำคัญอย่างเหล็ก สังกะสี และกรดฟอลิก ช่วยในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย และช่วยเร่งการย่อยอาหาร และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ผู้ใหญ่ รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ

เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้งเช้า กลางวัน เย็น ครั้งละครึ่ง-1 ช้อนโต๊ะ

นอกจากนี้ยังไม่ควรรับประทานยาธาตุน้ำแดงติดต่อกันมากเกิน 2 สัปดาห์ด้วยนอกเหนือจากแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้ร่างกายมีความผิดปกติเกี่ยวกับการดูดซึมเกลือโซเดียม ค่าเอนไซม์ในตับสูงเกินไป และทำให้ค่ากรดด่างในเลือดเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดภาวะเลือดเป็นด่างได้

4. เกลือแร่

แหล่งของธาตุเสริมสำคัญ ช่วยเร่งการฟื้นฟูและรักษาสมดุลของน้ำและเกลือในร่างกายที่เสียไป จากการท้องเสีย ชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ชง 1 ซอง ผสมน้ำสะอาดตามปริมาณที่ระบุไว้ที่ชองยา ดื่มจนหมด หรือค่อย ๆ จิบถ้ามีอาการคลื่นใส้วิธีใช้ (ห้ามใช้หากถ่ายเป็นมูกปนเลือด) กิน 2 เม็ดในครั้งแรก และกินซ้ำครั้งละ 1 เม็ด ทุกครั้งที่ถ่ายเหลวไม่เกิน 8 เม็ดต่อวันหากทำทั้ง 3 วิธีแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 24-48 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์ ข้อสำคัญ ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะใช้เองก่อนไปพบแพทย์

5. ยาโลเพอราไมด

ยาต้านอาการท้องเสีย ใช้ในการควบคุมอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ช่วยลดความถี่และปริมาณอุจจาระในผู้ป่วยท้องเสีย

ปริมาณการใช้ยา Loperamide

ท้องเสียแบบฉับพลัน ผู้ใหญ่: รับประทานขนาดเริ่มต้น 2 แคปซูล และตามด้วย 1 แคปซูล ภายหลังจากที่ขับถ่าย

ท้องเสียแบบเรื้อรัง ผู้ใหญ่: รับประทานขนาดเริ่มต้น 2 แคปซูล ต่อวัน และอาจปรับขนาดยาหากถ่ายอุจจาระแข็งตัวขึ้น 1-2 ครั้ง ใน 1 วัน โดยขนาดยาปกติ คือ 1-6 แคปซูลต่อวัน ปริมาณการใช้ยาสูงสุดสำหรับท้องเสียเฉียบพลันและเรื้อรังไม่เกิน 8 แคปซูลต่อวัน ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา