ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



รู้จัก "ก๊าซเรือนกระจก" ตัวการ "ภาวะโลกร้อน" ปรากฏการณ์ "ก๊าซเรือนกระจก" คือ

ก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วยก๊าซหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ โอโซน สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และฮาโลคาร์บอน ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะมีหน้าที่เก็บกักรังสีความร้อนจากผิวโลก แล้วคายรังสีความร้อนนั้นกลับลงมา ทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้ออกไปจากโลก จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) และเรียกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เข้าใจง่ายว่า การปล่อยคาร์บอน (carbon emission)

"ก๊าซเรือนกระจก" มาจากไหน?

นายอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หากหลายคนยังมองว่า ก๊าซเรือนกระจก ตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องไกลตัว แต่อยากให้รู้เลยว่า "มนุษย์" อย่างเราก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิด "ก๊าซเรือนกระจก" ได้เหมือนกัน เพราะมนุษย์ คือ ตัวการที่ปล่อยคาร์บอนฯ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

โดย "ก๊าซเรือนกระจก" เปรียบเสมือนฟิล์มที่ห่อหุ้มโลก ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศบางๆ มีหน้าที่กรองแสงอาทิตย์ไม่ให้รังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ลงมาสู่โลกมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ช่วยให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิต แต่ถ้ามี "ก๊าซเรือนกระจก" มากเกินไปก็จะทำให้โลกอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ที่เราเรียกว่า "ภาวะโลกร้อน" กระทั่งเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

แต่ถ้าถามว่า โลกเราไม่ควรมีคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศเลยจะดีไหม? นายอภิสิทธิ์ อธิบายว่า ไม่ เพราะจะไม่มีชั้นบรรยากาศที่กรองรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลก และที่ไม่ดีไปกว่านั้น ถ้าเราไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเลย กลางวันเราจะร้อนมาก และกลางคืนก็จะหนาวมาก

ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจก มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural Greenhouse Gas) เช่น ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น

และก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น (Anthropogenic Greenhouse Gas) เช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินในกระบวนการการผลิตไฟฟ้า การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ กระบวนการหมักของจุลินทรีย์จากน้ำในนาข้าว กระบวนการในภาคอุตสาหกรรม สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ แอร์รถยนต์ และระบบทำความเย็นในอาคาร เป็นต้น

ดังนั้น อยากให้ตระหนักไว้ว่า มนุษย์ ตัวเล็กๆ อย่างเรานี่แหละที่ช่วยทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ การสร้างขยะ ฯลฯ

ก๊าซเรือนกระจก ทำให้ "โลกร้อน" ขึ้นจริงหรือ

มีหลักฐานและปรากฏการณ์มากมายที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ร่วมกันศึกษา ติดตาม และวิจัย จนยืนยันได้ว่าภาวะโลกร้อนกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ

นายอภิสิทธิ์ อธิบายว่า หลักฐานที่บ่งบอกว่าโลกร้อนขึ้นคือ ก๊าซเรือนกระจกในอากาศเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โดย 8 พันกว่าปีก่อน คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีอยู่ประมาณ 300 PPM (PPM คือ 1 ส่วนในล้านส่วน) แต่ 100 กว่าปีที่ผ่านมามันเพิ่มจาก 300 PPM มาอยู่ที่ 419 PPM แม้จะยังไม่ทำให้ใครตาย แต่ก็ทำให้หลายคนตระหนักถึงคำว่าโลกร้อน เพราะมีทฤษฎีที่บอกไว้ว่า หากมีคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเกิน 450 PPM จะทำให้โลกวิบัติ สิ่งมีชีวิตจะอยู่ไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ สมัยก่อนอุณหภูมิเฉลี่ยจะไม่เกิน 1 องศาฯ แต่ในช่วงไม่ถึง 100 ปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 องศาฯ เหมือนจะเล็กน้อย แต่หลายคนรู้สึกได้ว่าอุณหภูมิความร้อนในบ้านเราเพิ่มมากขึ้น ดังเช่นเมื่อช่วงปลายเมษายน 2566 ที่เกิดคลื่นความร้อนปกคลุมเอเชีย และสุดท้าย น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 องศาฯ แต่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจไม่สมดุลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม่ หรือการเกิดของสิ่งมีชีวิต โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าสิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 30 เผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผลผลิตข้าวและธัญพืชอาจลดลง มนุษย์ในฐานะที่ต้องพึ่งระบบนิเวศและอาหาร ก็อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย

นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อน ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้อากาศแปรปรวนไปจากเดิม และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น.


กล้องเจมส์เว็บบ์เผยภาพพื้นที่ก่อตัวดาวฤกษ์ที่ไม่เคยปรากฏ

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา เผยภาพระยะใกล้ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของบริเวณก่อตัวดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด จากฝีมือของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ โดยบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นกลุ่มเมฆก๊าซที่สลับซับซ้อน ได้รับการตั้งชื่อว่า “โร โอฟิวคี” (Rho Ophiuchi)

“โร โอฟิวคี” อยู่ห่างออกไป 390 ปีแสง เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์มองเห็นพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างละเอียด ช่วยให้นักดาราศาสตร์เห็นช่วงเวลาสั้นๆ ในวงจรชีวิตของดาวฤกษ์ที่อยู่ใน “โร โอฟิวคี” ได้อย่างชัดเจน โดยระบุว่าดวงอาทิตย์ของเราเคยผ่านช่วงเช่นนี้มานานแล้ว และตอนนี้เทคโนโลยีที่เรามี ก็ทำให้เรามองเห็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของดาวดวงอื่นบ้าง

นักวิทยาศาสตร์ของนาซาเผยว่า ดาวบางดวงในภาพ “โร โอฟิวคี” แสดงถึงเงาซึ่งบ่งชี้ถึงจานฝุ่นก๊าซที่ให้กำเนิดดาวเคราะห์ บริเวณนี้มีดาวฤกษ์อายุน้อยประมาณ 50 ดวง ทั้งหมดมีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์หรือเล็กกว่า ขณะเดียวกันในภาพยังปรากฏลำโมเลกุลไฮโดรเจน 2 ขั้วสีแดงขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งระเบิดทะลุฝุ่นคอสมิกที่ห่อหุ้มออกมา และยิงลำก๊าซพุ่งในลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามออกสู่อวกาศ

ทั้งนี้ ในเวลาเพียง 1 ปี กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ได้เปลี่ยนมุมมองของมนุษยชาติที่มีต่อจักรวาล ทำให้เรามองผ่านเข้าไปในเมฆฝุ่นก๊าซและเห็นแสงจากพื้นที่อันห่างไกลของจักรวาลได้ ซึ่งภาพใหม่ทุกภาพคือการค้นพบครั้งใหม่ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถตั้งคำถามและไขคำตอบที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน.


เตือนภัย 8 'โรคที่เกิดจากการทำงานหนัก' เกิดได้ปุ๊บปั๊บ แบบไม่ทันตั้งตัว

การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่บางครั้งการทำงานหนักเกินไปก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว อาการป่วยต่างๆ อาจเกิดขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว วันนี้จะไปดูกันว่า 'โรคที่เกิดจากการทำงานหนัก'มีอะไรบ้าง

สำหรับ โรคที่เกิดจากการทำงานหนัก ที่มักพบได้บ่อยมีดังนี้

1. อาการปวดหัวข้างเดียว หรือไมเกรน อาจเกิดขึ้นได้จากความเครียดสะสม อารมณ์ที่ไม่คงที่ ความวิตกกังวล และความตื่นเต้นที่พบในชีวิตประจำวัน รวมถึงการโหม ทำงานหนัก ทำให้ส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนของร่างกายที่ไม่เพียงพอ นอกจากนั้นยังทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อีกด้วย ไมเกรน จะมีอาการปวดหัวข้างเดียวและปวดมากในบางครั้ง มีลักษณะการปวดแบบตุ้บๆ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยในบางครั้ง

2. ออฟฟิศซินโดรม เป็นโรคที่พบได้บ่อยสำหรับผู้ที่ทำงานสำนักงาน เกิดขึ้นได้จากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ เป็นลักษณะของการนั่งทำงานในท่าเดียว ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการตึงและสามารถอักเสบได้ อาการเบื้องต้นจะพบอาการปวดที่ บ่า ไหล่ และต้นคอ เป็นต้น

3. ภาวะเครียดลงกระเพาะ เมื่อร่างกายเกิดความเครียด สมองจะทำการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติ เมื่อน้ำย่อยอาหารมีมากกว่าที่ร่างกายต้องการจะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เมื่อสะสมบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดเป็นโรคกระเพาะได้ในที่สุด

4. โรคหัวใจ การ ทำงานหนัก อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ใครหลายคนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นอาหารที่มีไขมันสูง หรือการรับประทานอาหารตามความชอบที่มีรสชาติจัดจ้าน ประกอบกับการพักผ่อนน้อย อาจส่งผลให้เป็นโรคหัวใจเกิดขึ้นในวัยทำงานได้

5. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ก็เป็นหนึ่งใน โรคที่เกิดจากการทำงานหนัก ที่สาเหตุเกิดจากการกลั้นปัสสาวะบ่อยครั้ง การดื่มน้ำน้อย หรือการเลือกดื่มน้ำชนิดอื่นๆ แทนการดื่มน้ำเปล่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลให้ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

6. น้ำหนักเกินเกณฑ์ การรับประทานอาหารตามใจ โดยเน้นความสะดวกรวดเร็ว ประกอบกับการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานโดยที่ไม่ได้ขยับร่างกาย อาจทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง หรือไม่ทันกับสิ่งที่รับประทานเข้าไป จนทำให้มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น

7. มีปัญหาทางสายตา การนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานเกินไป หรือการทำงานที่ใช้สายตาในการงาน อาจจะพบปัญหาทางสายตา อาทิ ตาแห้ง มองภาพเบลอ ภาพซ้อน ค่าสายตาเปลี่ยน การปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลทำให้ดวงตาเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรได้

8. กรดไหลย้อน ก็เป็นหนึ่งใน โรคที่เกิดจากการทำงานหนัก เนื่องจาก ทำงานหนัก ทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา กินอย่างเร่งรีบ รวมไปถึงการชอบกินเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของมัน ของทอด หรือน้ำอัดลม ล้วนทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ทั้งสิ้น

การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนวัยทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมและรับมือกับปัญหาสุขภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้กับร่างกายหลังจากทำงานหนัก ทั้งนี้เราสามารถเริ่มต้นดูแลสุขภาพของเราได้ง่ายๆ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ก็เป็นอีกการดูแลสุขภาพที่สามารถทำได้เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ข้อมูล : รพ.จุฬารัตน์ 9


อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (Bell's Palsy)

อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (Bell's palsy) เป็นภาวะที่ส่งผลต่อเส้นประสาทใบหน้า ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งอย่างกะทันหัน บทความให้ความรู้โดย นพ.ชยานุชิต ชยางศุ แพทย์อายุรศาสตร์ประสาทวิทยา ประจำศูนย์โรคระบบสมอง (Neurology Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้ไขข้อสงสัยและอธิบายถึงสาเหตุ อาการ รวมถึงแนวทางการรักษา โรคอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกเพื่อให้นำไปสังเกตตนเองและคนรอบข้าง หากมีอาการดังกล่าวจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

สาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่แท้จริงของอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณใบหน้า ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือ การติดเชื้อทางเดินหายใจต่าง ๆ เป็นต้น

อาการที่พบได้บ่อย

อาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยอาการจะปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือหลายวัน ได้แก่

ใบหน้าอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตข้างหนึ่ง ทำให้ปิดตาไม่สนิท

ปากหรือเปลือกตาข้างที่ได้รับผลกระทบ มีอาการหย่อนลง

สูญเสียการรับรสที่ด้านหน้า 2 ใน 3 ของลิ้น

ปวดหรือไม่สบายบริเวณกราม หรือหลังใบหูด้านที่ได้รับผลกระทบ

ใครบ้าง? ที่เสี่ยง

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

สตรีตั้งครรภ์

ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน

ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยสามารถทำได้โดย ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดกับแพทย์เฉพาะทาง อาจต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด และการตรวจวินิจฉัยทางรังสี MRI

รักษาอย่างไร?

การรักษามีเป้าหมายเพื่อลดการอักเสบ บรรเทาอาการ และเสริมการฟื้นตัวของเส้นประสาท ได้แก่

การรักษาด้วยยา Steroid เพื่อลดการอักเสบและบวมของเส้นประสาทใบหน้า และอาจให้ยาต้านไวรัสในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อไวรัส

การดูแลดวงตา เนื่องจากอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก อาจส่งผลต่อความสามารถในการปิดตาได้เต็มที่ จึงแนะนำให้ใช้ยาหยอดตา เพื่อป้องกันตาแห้งและปกป้องดวงตาจากการบาดเจ็บ

กายภาพบำบัด การกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณใบหน้าด้วยไฟฟ้า (Facial Nerve Stimulation) สามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และช่วยในการฟื้นตัวของการเคลื่อนไหวใบหน้า ภายหลังจากที่มีอาการ 2 สัปดาห์

โรคอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก เป็นภาวะชั่วคราวที่ส่งผลต่อเส้นประสาทใบหน้า นำไปสู่การอ่อนแรงของใบหน้าหรือเป็นอัมพาตที่ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า แม้ว่าสาเหตุที่แน่ชัดยังไม่แน่นอน แต่การได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม จากแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางโดยตรง สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคได้มากขึ้น หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์โรคระบบสมอง

(Neurology Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 I Line: @navavej I www.navavej.com


แนะเคล็ดลับ ฮาวทูนอนให้หลับมีคุณภาพ ป้องกันโรคร้าย-อ้วนโทรม

การนอนหลับที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพพอๆกับอาหารและน้ำ เพราะในขณะนอนหลับ สมองจะเกิดการเชื่อมโยงและมีการซ่อมแซมตัวเอง ดังนั้นการนอนหลับที่ไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ ความทรงจำและสมาธิ

รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ภาวะซึมเศร้าและโรคอ้วน

นอกจากนี้ การนอนหลับยังเป็นส่วนสำคัญของนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยทางชีวภาพภายในร่างกายร่วมกับปัจจัยแวดล้อม เช่น แสงและอุณหภูมิ โดยมักเกิดขึ้นพร้อมกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ทำให้คนเรารู้สึกง่วงนอนในตอนกลางคืนและรู้สึกตื่นตัวในเช้า

วิธีการจัดการนาฬิกาชีวภาพ

การลดสิ่งกระตุ้นที่อาจรบกวนการนอนหลับเป็นกุญแจสำคัญในการรีเซ็ตนาฬิกาชีวภาพ ทำให้สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพในเวลากลางคืน และตื่นขึ้นแบบรู้สึกสดชื่นในตอนเช้า ซึ่งการจัดการนาฬิกาชีวภาพให้มีคุณภาพสามารถทำได้โดยวิธีการต่อไปนี้

• กำหนดเวลาเข้านอนและเวลาตื่นนอนให้เหมาะสมสม่ำเสมอ

• หลีกเลี่ยงการงีบหลับตอนกลางวัน

• ออกกำลังกายระหว่างวัน

• ใช้เตียงเพื่อนอนเท่านั้น ไม่ทำงานหรือกินอาหารบนเตียง เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างเตียงกับการนอน

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ การจำกัดการนอน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดระยะเวลาที่ใช้บนเตียงและรักษาคุณภาพของนาฬิกาชีวภาพไว้ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่นอนไม่หลับ เช่น หากไม่สามารถหลับได้ภายใน 20 นาที ให้ลุกออกจากเตียงและกลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อรู้สึกง่วงเท่านั้น

แม้ผลลัพธ์จากการอดนอนจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าในคืนถัดไป แต่หลังจากที่นิสัยการนอนเริ่มดีขึ้น เวลาในการนอนก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตาม

อาหารและโภชนาการเพื่อการนอนหลับอย่างสบายตลอดคืน

การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนควบคุมความหิวในร่างกาย เช่น เลปติน (Leptin) หรือฮอร์โมนความอิ่มที่ทำหน้าที่บอกสมองว่าร่างกายอิ่มแล้ว ซึ่งการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ จะมีผลต่อการลดลงของฮอร์โมนเลปติน ทำให้ความหิวเพิ่มขึ้น

รวมไปถึงการอดนอนยังนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนความหิว หรือเกรลิน (Ghrelin) ทำให้คนที่อดนอนมักอยากกินของว่างเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพราะร่างกายต้องการรักษาระดับพลังงานให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ การกินอาหารยังมีผลต่อคุณภาพการนอนทั้งในเชิงบวกและลบ โดยอาหารที่แนะนำว่าควรกินและควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้

• ควบคุมปริมาณอาหารเย็น การเข้านอนโดยที่ท้องอิ่มมากไปอาจทำให้รู้สึกอึดอัดและอาจทำให้อาหารไม่ย่อย ในทางกลับกัน หากกินน้อยเกินไป อาจทำให้รู้สึกหิวตอนนอนได้

• งดการกินไขมันและโปรตีนในปริมาณมากช่วงมื้อค่ำ เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะใช้เวลาย่อยนาน ส่วนโปรตีนจะกระตุ้นการผลิตสารเคมีในสมองที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว ในทางกลับกันการกินคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพ จะช่วยกระตุ้นการผลิตสารเคมีในสมองที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับ

• โอเมก้า 3 สามารถพบในปลา ถั่วและเมล็ดพืช มีส่วนช่วยในการควบคุมนาฬิกาชีวภาพภายในร่างกาย โดยโอเมก้าจะมีผลต่อการปล่อยฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ

• ควบคุมปริมาณคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หากเป็นคนดื่มกาแฟเป็นประจำ อาจไม่ส่งผลต่อการนอนมากนัก อย่างไรก็ตาม คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ยังสามารถรบกวนการนอนในช่วงที่หลับลึกที่สุดได้

• อย่าดื่มของเหลวมากเกินไปในตอนเย็น เพราะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็มจนรบกวนการนอนหลับ ดังนั้น ควรเลือกดื่มในปริมาณมากตอนระหว่างวันแทนการดื่มในตอนกลางคืน

การออกกำลังกายกับการนอน

โดยปกติช่วงเช้ามักเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะเป็นเวลาที่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และมีพลัง แต่การออกกำลังกายในตอนเย็นหรือเวลาอื่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเวลาที่ดีที่สุดในการออกกำลังกาย คือเวลาที่รู้สึกดีและสะดวกที่สุด ซึ่งรูปแบบการออกกำลังกายในตอนเย็นขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน

หากเป็นคนที่อยากออกกำลังกายและมีเป้าหมายคือการได้พักผ่อนจากวันที่เหนื่อยล้า อาจลองเลือกเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ หรือสไตล์ที่มีความเข้มข้นต่ำ เช่น โยคะ พิลาทิส การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือการเดินสบายๆ ที่จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายขึ้นและอาจส่งผลดีต่อการนอนหลับ

การนอนหลับเปรียบเสมือนน้ำพุแห่งความเยาว์วัย ช่วยให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนเพื่อซ่อมแซมตัวเอง ส่งผลต่อรูปร่าง ผิวพรรณและประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีความกระฉับกระเฉง เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่แอ๊กทีฟในการใช้ชีวิต