ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 3 กรกฎาคม 2564

ตื่นเต้นพบ “เก้งยักษ์” สัตว์หายาก-ใกล้สูญพันธุ์ “ครั้งแรก” ในกัมพูชา

ตื่นเต้นพบ “เก้งยักษ์” – วันที่ 25 มิ.ย. เอเอฟพีและ สเตรตส์ไทมส์ รายงานข่าวน่ายินดีหลังทางการกัมพูชาเปิดเผยว่าพบ “เก้งยักษ์” สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ ในอุทยานแห่งชาติวีรชัย จังหวัดรัตนคีรี ทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเป็นครั้งแรกที่มีการพบเก้งยักษ์ในกัมพูชา และถือเป็นก้าวสำคัญที่จะกระตุ้นความพยายามอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศ

นายเนตร พักตรา โฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา แถลงว่ากล้องสำรวจสัตว์ที่ติดตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติวีรชัยสามารถจับภาพเก้งยักษ์ได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.2564 แต่เจ้าหน้าที่เพิ่งพบเมื่อไม่นานมานี้ระหว่างตรวจสอบข้อมูลจากกล้องสำรวจ

“นี่คือข่าวที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดสำหรับกัมพูชาและทั่วโลก เพราะสัตว์หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์มากชนิดหนึ่งถูกพบในกัมพูชา” นายพัตรากล่าว และว่าการค้นพบเก้งยักษ์แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติวีรชัยซึ่งเผชิญปัญหาลักลอบถางป่าอย่างหนักในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 เริ่มฟื้นฟูและกลับมามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

ทั้งนี้ เก้งยักษ์พบครั้งแรกในป่าที่เวียดนามและสปป.ลาว เมื่อปี 2537 และจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (Endangered species) ของบัญชีแดงไอยูซีเอ็น เก้งยักษ์มีลักษณะคล้ายเก้งทั่วไป แต่ขนาดใหญ่กว่ามาก เช่นเดียวกับเขาขนาดใหญ่เด่นชัด


นักวิทย์พบหลักฐาน ไวรัสโคโรนาเคยระบาดในเอเชียเมื่อ 20,000 ปีก่อน

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โลกเจอการระบาดของไวรัสโคโรนาหลายสายพันธ์ุ ทั้ง ซาร์, เมอร์ส์ และโควิด-19 แต่ล่าสุดนักวิทยาพบว่าไวรัสโคโรนาเคยระบาดในเอเชียเมื่อกว่า 20,000 ปีก่อนด้วย

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย. 2564 นักวิจัยจากออสเตรเลียและสหรัฐฯ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ ‘Current Biology’ ระบุว่า พวกเขาพบหลักฐานว่าเคยมีการระบาดของไวรัสโคโรนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมาเมื่อกว่า 20,000 ปีก่อน

ในผลการศึกษาดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยจีโนมของมนุษย์มากกว่า 2,500 คนจากประชากร 26 กลุ่มทั่วโลก และสามารถตีกรอบช่วงเวลาแรกสุดที่มนุษย์เคยมีปฏิสัมพันธ์ุกับจีโนมของไวรัสโคโรนา ซึ่งทิ้งร่องรอยทางพันธุกรรมเอาไว้ในดีเอ็นเอของมนุษย์ยุคปัจจุบันที่อาศัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

นาย ยาสซีน โซอิลมี ผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า จีโนมที่นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษา มีข้อมูลการวิวัฒนาการของมนุษย์ย้อนไปหลายแสนปี โดยไวรัสโคโรนาเมื่อเข้าไปในร่างของคน มันจะยึดเซลล์แล้วสร้างร่างก๊อปปี้ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งการทำเช่นนี้จะทิ้งร่องรอย ที่ตอนนี้มนุษย์สามารถตรวจสอบได้แล้ว เอาไว้ เป็นหลักฐานสำคัญว่า ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเราก็เผยสัมผัส และปรับตัวเข้ากับไวรัสโคโรนา

นักวิทยาศาสตร์พบสัญญาณทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาในประชากร 5 กลุ่มซึ่งอาศัยอยู่ที่ จีน, ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยการระบาดแพร่กระจายไปไกลกว่าประเทศเหล่านี้ แต่ภูมิภาคอื่นๆ มีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงไม่มีทางที่จะรู้ขอบเขตทั้งหมดได้

แต่สำหรับประชากรทั้ง 5 กลุ่ม นักวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด เกิดการกลายพันธ์ุทางพันธุกรรมที่เป็นประโยชน์ ซึ่งช่วยปกป้องพวกเขาจากไวรัสโคโรนา

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อ 20,000 ปีก่อน เกิดขึ้นแยกเป็นเอกเทศในแต่ละภูมิภาค และแพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกในฐานการระบาดครั้งใหญ่ แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่า คนโบราณเอาตัวรอดจากยุคการระบาดอย่างไร และไม่ทราบแน่ชัดด้วยว่า การระบาดเกิดขึ้นเป็นฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ หรือเกิดอย่างต่อเนื่องเหมือนโควิด-19


ข้อมูลใหม่ของปลา ที่ขนานนามว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิต”

ปลาซีลาแคนท์ (Coelacanths) เป็นปลาดึกดำบรรพ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏตัวครั้งแรกในช่วงยุคดีโวเนียน (Devonian) เมื่อประมาณ 400 ล้านปีก่อน คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปในช่วงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 66 ล้านปีที่ผ่านมา เรียกว่าล้มหายตายจากไปกับไดโนเสาร์

แต่กลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์เมื่อมีการค้นพบปลาที่ยังมีชีวิตชนิดนี้อย่างไม่คาดคิดบนโลก อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาใต้ในปี พ.ศ.2481 นักวิจัยขนานนามปลาซีลาแคนท์ว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิต” ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักชีววิทยาทางทะเล จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลของฝรั่งเศส รายงานการศึกษาใหม่เกี่ยวกับปลาซีลาแคนท์ที่อาศัยในทะเลลึกขนาดใหญ่และออกหากินเวลากลางคืน โดยใช้วงแหวนการเจริญเติบโตประจำปีที่สะสมอยู่บนเกล็ดปลา แบบเดียวกับการศึกษาวงปีของต้นไม้ เพื่อกำหนดอายุของปลาซีลาแคนท์แต่ละตัว นักวิจัยพบว่าพวกมันมีอายุยืนยาวกว่าที่เคยเชื่อประมาณ 5 เท่าหรือราวๆ 100 ปี โดยปลาเพศเมียจะตั้งครรภ์เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงตั้งครรภ์ที่ยาวที่สุดเท่าที่เคยรู้จักในสัตว์อื่นๆ

ส่วนชีวิตตามปกติของปลาซีลาแคนท์นั้น มักอาศัยอยู่ที่ความลึก 800 เมตร ในช่วงเวลากลางวันพวกมันจะอยู่ในถ้ำน้ำใต้ภูเขาไฟเพียงลำพังหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ทั้งนี้ ปลาตัวเมียมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าตัวผู้ โดยยาวประมาณ 2 เมตร และหนัก 110 กิโลกรัม.


พบรอยเท้าไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายที่เดินบนแผ่นดินอังกฤษ

เมื่อเร็วๆนี้ผู้เชี่ยวชาญจากหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์เฮสติงส์ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ในอังกฤษ ประกาศการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลรอยเท้าจากไดโนเสาร์อย่างน้อย 6 สายพันธุ์ซึ่งถูกค้นพบตรงหน้าผาและบริเวณหน้าหาดที่โฟล์คสโตน เมืองท่าในมณฑลเคนต์ ของอังกฤษ ระบุว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มสุดท้ายที่เดินบนแผ่นดินอังกฤษเมื่อ 110 ล้านปีก่อน

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าพายุที่พัดเข้ามากระทบหน้าผาและน่านน้ำชายฝั่ง ทำให้พบซากฟอสซิลใหม่ๆ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พบรอยเท้าไดโนเสาร์ในพื้นที่การก่อตัวของหินโฟล์คสโตน และเป็นการค้นพบที่พิเศษ เพราะไดโนเสาร์เหล่านี้เป็นกลุ่มสุดท้ายที่เดินเตร็ดเตร่ใกล้กับพื้นที่ที่ปัจจุบันคือหน้าผาสีขาวแห่งโดเวอร์ ก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไป รอยเท้าดังกล่าวเป็นของไดโนเสาร์หลายชนิด มีทั้งแองคิโลซอรัส ไดโนเสาร์หุ้มเกราะ, เธอโรพอด ไดโนเสาร์กินเนื้อ เช่น ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์, ออนิโธพอดส์ ไดโนเสาร์ปากเป็ด เดิน 2 ขา กินพืช ส่วนรอยเท้าที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดกว้าง 80 เซน-ติเมตร ยาว 65 เซนติเมตร ระบุว่าเป็นของไดโนเสาร์ที่มีลักษณะคล้ายอิกัวโนดอน ที่อยู่ในกลุ่มไดโนเสาร์กินพืช เติบโตได้สูงถึง 10 เมตร เดินด้วย 2 ขาหรือ 4 ขา รอยเท้าเหล่านี้ชี้ว่าไดโนเสาร์มีความหลากหลายค่อนข้างสูงในทางตอนใต้ของอังกฤษในช่วงท้ายๆ ของยุคครีเตเชียสตอนต้น เมื่อ 110 ล้านปีก่อน

การค้นพบไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ มากมายในที่เดียวเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ไดโนเสาร์เหล่านี้อาจใช้ประโยชน์จากคลื่นที่โผล่ขึ้นมาบนชายฝั่งทะเล บางทีอาจหาอาหารหรือใช้ประโยชน์เป็นเส้นทางอพยพ.


การพัฒนาสร้างผิวหนังเทียม สามารถรับรู้อาการบาดเจ็บ

การพัฒนาผิวหนังเทียมหรือผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ “อี-สกิน” (e-skins) หลายประเภท ซึ่งสามารถรับรู้การสัมผัสที่ส่งผ่านอิเล็กตรอน ทว่าตัวนำไฟฟ้าเหล่านี้ไม่อาจเข้ากันได้กับทางชีวภาพเสมอไป และยังมีข้อจำกัดการใช้งานในอวัยวะเทียมบางประเภท เช่น เมื่อเอาข้อศอกไปกระแทกกับผนัง ไม่เพียงแต่จะรู้สึกเจ็บแต่ยังอาจมีอาการฟกช้ำอีกด้วย หุ่นยนต์และแขนขาเทียมไม่มีสัญญาณเตือนเหล่านี้ ก็อาจนำไปสู่การบาดเจ็บของหุ่นยนต์ได้

เมื่อเร็วๆนี้ มีงานวิจัยลงในวารสาร ACS Applied Materials & Interfaces เผยถึงการสร้างผิวหนังเทียมชื่อ “ไอ-สกิน” (I-skin) โดยใช้วัสดุที่สร้างขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “ionic organohydrogel” มีโมเลกุลสไปโรไพแรน (spiropyran) ซึ่งจะเปลี่ยนสีจากสีเหลืองซีดเป็นสีม่วงอมน้ำเงินภายใต้ความเครียดเชิงกล เรียกว่าเปลี่ยนสีเพื่อเลียนแบบรอยฟกช้ำของมนุษย์ได้ ไฮโดรเจลชนิดนี้นำไฟฟ้าด้วยไอออน มีความโปร่งใส ยืดตัว ที่สำคัญคือเปรียบเทียบแล้วเข้ากันได้ทางชีวภาพเหนือกว่าอี-สกินแบบอื่นๆ

ในการทดสอบ ionic organohydrogel แสดงการเปลี่ยนแปลงของสีและค่าการนำไฟฟ้าเมื่อยืดหรือบีบรัด โดยที่สีม่วงจะคงอยู่ 2-5 ชั่วโมงก่อนจางหายไปเป็นสีเหลือง ทีมจึงแปะเทปที่ผิวและกับส่วนต่างๆของร่างกายอาสาสมัคร เช่น นิ้ว มือ และเข่า ซึ่งพบว่าการดัดหรือยืดตัวของ “ไอ-สกิน” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสัญญาณไฟฟ้าแต่ไม่เกิดรอยฟกช้ำเหมือนกับผิวหนังมนุษย์ แต่เมื่อกด ตี และบีบซ้ำๆหลายครั้งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนสี ทั้งนี้ “ไอ-สกิน” จัดว่าตอบสนองเหมือนผิวหนังมนุษย์ในแง่ของสัญญาณไฟฟ้าและแสง และเปิดโอกาสใหม่ในการรับรู้ถึงความเสียหายในอุปกรณ์เทียมและหุ่นยนต์ได้เช่นกัน.

ภาพประกอบ Credit : Adapted from ACS Applied Materials & Interfaces


เจ้าบ่าวยัวะไม่มี “แกงกะหรี่แกะ” ยกเลิกวิวาห์ฟ้าผ่า-แถมหักหน้าแต่งกับสาวอีกคน

เจ้าบ่าวยัวะไม่มี “แกงกะหรี่แกะ” – วันที่ 29 มิ.ย. มิร์เรอร์ รายงานเหตุสุดพิสดารใน ประเทศอินเดีย หลังจาก นายรามกันต์ ปาตรา วัย 27 ปี ยกเลิกพิธีวิวาห์แบบสายฟ้าแลบ เพียงเพราะไม่พอใจที่ฝ่ายเจ้าสาวไม่เสิร์ฟ “แกงกะหรี่” แบบที่ต้องการ หนำซ้ำยังหักหน้าหญิงสาวด้วยการเข้าพิธีแต่งงานกับหญิงอีกคนในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 23 มิ.ย. นายปาตรา ว่าที่เจ้าบ่าวในขณะนั้น พร้อมด้วยญาติ เดินทางจากรัฐโอริสสามายังสถานที่จัดงานในเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ซึ่งครอบครัวฝ่ายว่าที่เจ้าสาวได้ต้อนรับอย่างอบอุ่นและพาไปกินเลี้ยงอาหารกลางวันตามธรรมเนียมก่อนถึงวันจัดพิธีวิวาห์ โดยญาติของนายปาตราย้ำหนักย้ำหนาว่าต้องการกินแกงกะหรี่เนื้อแกะ

แต่เพราะครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวไม่รู้ล่วงหน้าเลยไม่ได้เตรียมวัตถุดิบ เมื่อนายปาตราและญาติรู้ว่าจะไม่มีการเสิร์ฟแกงกะหรี่แกะก็แสดงความไม่พอใจ ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีปากเสียงกัน และบานปลายกลายเป็นการวิวาทใหญ่โต

นายปาตราประกาศยกเลิกงานมงคลโดยไม่ฟังคำร้องขอของครอบครัวหญิงสาว และหนีออกมาอย่างไม่ใยดี ก่อนเดินทางไปบ้านญาติซึ่งอยู่ในเมืองชัยปุระเช่นกัน และไม่น่าเชื่อว่าจะเข้าพิธีแต่งงานกับหญิงสาวอีกคนในเย็นวันนั้น

ทั้งนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ก่อนมีเหตุแต่งงานสุดวุ่นในอินเดีย หลังจากเจ้าสาวในรัฐอุตตรประเทศปฏิเสธการแต่งงานเพราะเจ้าบ่าวสายตาไม่ดี และช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ในรัฐอุตตรประเทศ ระหว่างที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวกำลังคล้องมาลับเข้าพิธีวิวาห์ จู่ๆ หญิงสาวเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เจ้าบ่าวเลยขอแต่งงานกับน้องสาวของเจ้าสาวที่เพิ่งเสียชีวิตซึ่งพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็อนุญาต