ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



การพัฒนากระบวนสกัดออกซิเจนและโลหะจากเรโกลิธ

เรโกลิธ (Regolith) คือเศษดินหรือเศษหินที่อยู่บนพื้นผิวชั้นบนของดวงจันทร์ ซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ การค้นพบนี้จุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์ต้องการใช้ประโยชน์ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ทำให้เกิดการแข่งขันของบริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และเมื่อย้อนไปในปี 2563 บริษัทแอร์บัส ยักษ์ใหญ่ด้านการบินและอวกาศของยุโรป ได้ประกาศเทคโนโลยีที่อาจมีนัยสำคัญต่อภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต นั่นคือการพัฒนากระบวนสกัดออกซิเจนจากเรโกลิธ

กระบวนการที่แอร์บัสคิดค้นขึ้นถูกเรียกว่า Regolith to OXYgen and Metals Conversion หรือ “ร็อกซี” (ROXY) ซึ่งคล้ายกับกระบวนการ Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment หรือ “ม็อกซี” (MOXIE) ที่เป็นเครื่องผลิตออกซิเจนจากคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งยานหุ่นยนต์โรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ ทำการทดลองเมื่อร่อนลงจอดบนดาวอังคารเมื่อปี 2564

ด้านแอร์บัสอ้างว่ากระบวนการ “ร็อกซี” ไม่เพียงสร้างออกซิเจนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อมนุษย์ในการหายใจ และใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับจรวดเท่านั้น แต่ยังสร้างโลหะที่สามารถใช้ในการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ และแม้แต่โครงสร้างบนดวงจันทร์ โดยทำได้ง่ายๆ จากเรโกลิธที่มีอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวดวงจันทร์และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับวิธีการทำโลหะที่มีอยู่ในปัจจุบันบนโลก

แต่การพัฒนาระบบนี้ต้องใช้มากกว่าความเชี่ยวชาญของบริษัทเดียว แอร์บัสจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งและบริษัทอื่นๆในโครงการนี้ เช่น สถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์ ในเยอรมนี และทีมจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ในสหรัฐฯ.


รู้จักโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อที่ผู้สูงอายุต้องระวัง

โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) หรือภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ค่อยขยับร่างกาย ส่งผลเสียอย่างไรบ้างในระยะยาว

โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) คืออะไร

เมื่ออายุเข้าสู่ช่วงผู้สูงวัย นอกจากโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลเป็นพิเศษแล้ว อีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังสำหรับผู้สูงอายุคือ โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) หรือภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ที่ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และอัตราเร็วของการเดินลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุลดลงไปด้วย และยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) หรือภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ

ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ สามารถพบได้บ่อยในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อจะเริ่มลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปี เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป มวลกล้ามเนื้อจะลดลงถึงร้อยละ 3 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปได้เช่นกัน ลักษณะที่สังเกตได้เด่นชัดคือ มีแขนขาที่ลีบเล็ก และอ่อนแรงลง เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนไม่เพียงพอ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคซาร์โคเพเนียโดยไม่รู้ตัว

อาการโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)

สำหรับอาการของโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) หรือภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

ลุกนั่งลำบาก

ทรงตัวไม่ดี

หกล้มบ่อยๆ

น้ำหนักลดลงโดยไม่ตั้งใจ

เพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกหัก ภาวะเปราะบาง

เหนื่อยง่ายจนจำกัดความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน

คุณภาพชีวิตลดลง

อาจเกิดโรคซึมเศร้า

เพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

การวินิจฉัยโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)

แม้ว่าผู้ป่วยโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ส่วนใหญ่จะมีลักษณะแขนขาที่ลีบเล็ก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีรูปร่างผอมบางทุกคนจะป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีวิธีการประเมินและวินิจฉัยสุขภาพเบื้องต้นโดยใช้เครื่องมือประเมินมวลกล้ามเนื้อ Bioelectrical Impedance Analysis (BIA) หากได้ค่าน้อยกว่า 7.0 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเพศชาย และน้อยกว่า 5.7 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในเพศหญิง จึงจะถือว่าเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia)

ผู้สูงอายุ หรือวัยกลางคน ที่สุขภาพยังแข็งแรงดี ควรมีกิจกรรมที่ให้ร่างกายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวบ่อยๆ

นอกจากนี้จะต้องส่งต่อให้นักกายภาพประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยทดสอบจากการนั่ง-ลุก-ยืน-เดิน และการวัดความเร็วในการเดิน พร้อมใช้เครื่องวัดแรงบีบมือ (Hand-Grip Strength) ในการทดสอบ จะต้องมีแรงบีบไม่ต่ำกว่า 26 กิโลกรัมในเพศชาย และไม่ต่ำกว่า 18 กิโลกรัมในเพศหญิง

วิธีป้องกันโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นทำให้มวลกล้ามเนื้อสลายไปตามวัย แต่ก็สามารถป้องกันได้ พยายามยืนและเดินให้มากขึ้น โดยนั่งหรือนอนเท่าที่จำเป็น

หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมควบคุมอาหารไม่ให้มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของหลายๆ โรครวมถึงโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ด้วย

วิธีออกกำลังกายที่ดีสำหรับผู้สูงอายุคือ การเดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เพราะไม่ทำให้เจ็บเข่า

ผู้สูงอายุที่ยังมีเรี่ยวแรงควรทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองมากขึ้น เพราะการมีผู้ช่วยคอยดูแล คอยพยุง ก็จะทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อเร็วยิ่งขึ้นตามไปด้วย

สำหรับผู้สูงวัยที่สามารถยืนและเดินได้ด้วยตัวเอง ให้พยายามยืนขึ้นแล้วฝึกใช้มือและแขนดันผนังในแนวตั้ง โดยใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงกด หากทำเป็นประจำจะทำให้กำลังแขนแข็งแรงขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์พิเศษมาใช้ให้สิ้นเปลือง

ส่วนผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) ให้พยายามใช้มือและแขนพยุงตัวให้ลุกขึ้นเดินด้วยตัวเอง เพื่อให้กล้ามเนื้อเข่า ขา และเท้าได้เคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อในส่วนอื่นๆ รวมทั้งมือ แขน หลัง ไหล่ และสะโพก ให้เคลื่อนไหวตามไปด้วย การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุดในผู้สูงอายุ ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคซาร์โคเพเนีย

โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) ไม่ได้เกิดกับแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็สามารถเป็นได้เช่นกัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้สูญเสียกล้ามเนื้อในระยะยาว

สำหรับการป้องกันโรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) นี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะการได้เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อในระยะยาวได้

ข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์จังหวัดนครสวรรค์, โรงพยาบาลกรุงเทพ


ระทึก ภูเขาไฟมายอนพ่นลาวาแดงฉาน ฟิลิปปินส์อพยพคนกว่าหมื่นแล้ว

ภูเขาไฟมายอนในฟิลิปปินส์ พ่นลาวาแดงฉาน หลังปะทุครั้งใหม่ ทางการต้องอพยพชาวบ้านกว่าหมื่นคนแล้ว ยกระดับเตือนภัยเป็นระดับ 3 เมื่อ 12 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานภูเขาไฟมายอน บนเกาะลูซอน ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ พ่นลาวาแดงฉาน ขณะเกิดการปะทุครั้งใหม่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตรัศมี 6 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟ ซึ่งเป็นเขตอันตราย ถึงประมาณ 13,000 คน ต้องถูกอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ด้าน Teresito Bacolcol หัวหน้าสำนักงานภูเขาไฟวิทยาในฟิลิปปินส์ กล่วว่า อาจมีการอพยพประชาชนมากขึ้น ถ้าภูเขาไฟมายอนมีการปะทุพ่นลาวาออกมาอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า ขณะที่ทางการฟิลิปปินส์ได้ประกาศเตือนภัยอันตรายจากภูเขาไฟมายอนปะทุครั้งใหม่อยู่ที่ระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ

ทั้งนี้ ภูเขาไฟมายอน ตั้งอยู่ในจังหวัดอัลเบ บนเกาะลูซอน และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเขาไฟมายอน เกิดการปะทุครั้งใหญ่ในปีค.ศ. 1814 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 ศพ และลาวาเถ้าถ่านจากภูเขาไฟได้ฝังกลบเมืองทั้งหมด

ภูเขาไฟมายอน เป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ ด้วยรูปร่างทรงกรวยที่มีความสมมาตรอย่างสวยงาม ทำให้ภูเขาไฟมายอน นับเป็นภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในฟิลิปปินส์

ที่มา : BBC


4 เรื่องราว 'กล้ามเนื้อ' พร้อมเคล็ด(ไม่)ลับการดูแล สุขภาพ หัวจรดเท้า

เคล็ด(ไม่)ลับที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับในการฟื้นฟูสุขภาพหัวจรดเท้า กับ 4 เรื่องราวเกี่ยวกับ 'กล้ามเนื้อ' ที่หลายคนยังไม่รู้

ทุกกิจกรรมในแต่ละวันล้วนต้องใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเดิน วิ่ง แดนซ์ หรือแม้กระทั่งการนอนนิ่งเฉยๆ และในขณะที่เรากำลังทำกิจกรรมต่างๆ อยู่นั้น มีหลายเรื่องราวเกี่ยวกับกล้ามเนื้อในร่างกายที่หลายคนอาจยังไม่รู้ และนี่คือ 4 เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ พร้อมเคล็ด(ไม่)ลับที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับในการดูแลสุขภาพของกล้ามเนื้อตั้งแต่หัวจรดเท้า

1. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเชื่อมโยงกับสุขภาพหัวใจ

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของไทย ปี 2565 การเสียชีวิตทั่วโลกมีสาเหตุสำคัญจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 32% หรือประมาณ 18 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 7 หมื่นราย โดยที่ผู้ป่วยหลายคนไม่ได้มีอาการบ่งชี้ของโรคจึงไม่ทราบว่าตัวเองกำลังประสบกับภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet พบว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ที่ประเมินจากแรงบีบมืออาจระบุความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดร้ายแรงได้แม่นยำกว่าการตรวจความดันโลหิตซิสโตลิก (ค่าความดันช่วงบน ซึ่งเป็นแรงดันสูงสุดขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว) นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition and Metabolic Care แนะว่าอัตราส่วนของมวลกล้ามเนื้อต่อมวลไขมันเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพโดยรวมที่ดีกว่าดัชนีมวลกาย (BMI)

ดังนั้น ในการเริ่มดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อควรเน้นในเรื่องของการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและโภชนาการสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำว่าควรกินโปรตีน 0.8 ถึง 1 กรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับคือ 48 – 60 กรัม ต่อวัน เพื่อกล้ามเนื้อและร่างกายที่แข็งแรง

2. เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น

ในร่างกายประกอบด้วยกล้ามเนื้อกว่า 600 มัด คิดเป็น 40% ของร่างกาย และการสลายของกล้ามเนื้ออาจเริ่มต้นไวแบบไม่ทันตั้งตัว ผลการวิจัยพบว่าเมื่อถึงวัย 40 ปี กลุ่มวัยผู้ใหญ่จะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปได้มากถึง 8% ในทุกๆ 10 ปี และอัตราการสูญเสียนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่ออายุ 70 ปี การสูญเสียกล้ามเนื้อจึงอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในผู้สูงวัย และอาจมีความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น ทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มหรือขาดกำลังวังชาในการเดินขึ้นบันได การมีมวลกล้ามเนื้อน้อยยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้ออินซูลินจนอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ การสูญเสียกล้ามเนื้ออาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ต่อการหายใจได้

จากรายงานฉบับล่าสุดเรื่องปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย 2563 ของสำนักโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดโปรตีนถึง 42.6% อย่างไรก็ดี เรามีทางเลือกมากมายในการเพิ่มโปรตีนในแต่ละมื้อเพื่อเสริมสร้างสุขภาพกล้ามเนื้อที่ดีและร่างกายที่แข็งแรง

เราจึงควรให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ครบถ้วนจากอาหารหลัก 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน และอาจเสริมมื้ออาหารด้วยอาหารสูตรครบถ้วนที่มี HMB สารอาหารสำคัญที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของมวลกล้ามเนื้อ จึงช่วยส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรง นอกจากนี้ยังพบ HMB ได้ในปริมาณเล็กน้อยในอาหาร เช่น ไข่ไก่ อกไก่ เนื้อวัว และอะโวคาโด

3. กล้ามเนื้อที่แข็งแรงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ช่วงหลายปีมานี้ ทั่วโลกต้องเผชิญกับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องการเตรียมร่างกายให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นเหล่านี้ ดังนั้น หากต้องการเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ เรื่องสุขภาพของกล้ามเนื้อจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

มีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อมีบทบาทในการกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกัน หากมวลกล้ามเนื้อลดลงอาจส่งผลให้การทำงานตามปกติของระบบภูมิคุ้มกันลดลงด้วย

เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงควรรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารที่หลากหลายครบถ้วนและเพียงพอในปริมาณที่เหมาะสมโดยเน้นมื้ออาหารประจำวันไปที่โปรตีนที่มีไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ถั่วต่างๆ และนมไขมันต่ำ อาหารเหล่านี้มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม วิตามินดี เหล็ก และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง

4. การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

การออกกำลังกายเป็นการช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ง่ายที่สุด เพราะทุกครั้งที่ร่างกายใช้แรงจะเกิดแรงต้านกับกล้ามเนื้อและจะส่งสัญญาณให้ร่างกายหลั่งกรดอะมิโนจากโปรตีนไปยังกล้ามเนื้อเพื่อสร้างความแข็งแรงขึ้นในที่สุด

เพื่อให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรกินโปรตีน 25 - 30 กรัมหลังออกกำลังกาย เพราะโปรตีนจะช่วยในกระบวนการซ่อมแซมและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ในช่วงอากาศร้อนทำให้มีเหงื่อออกมาก การออกกำลังกายจึงควรเน้นกิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น การเดิน โยคะ การปั่นจักรยานเบาๆ และการยืดกล้ามเนื้อ

ดังนั้น เราควรเริ่มดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อตั้งแต่วันนี้โดยการให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ครบถ้วนจากอาหารหลัก 5 หมู่ ร่วมด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และเสริมด้วยอาหารสูตรครบถ้วนที่มี HMB และโปรตีนคุณภาพดีที่หลากหลาย HMB มีส่วนช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของมวลกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ให้คุณมีความสุขกับทุกกิจกรรมแบบไม่มีวันเกษียณ