ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ระทึก แผ่นดินไหว 6.4 เขย่าแคลิฟอร์เนียเหนือ ถนน-บ้านเรือนพังเสียหาย

เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 6.4 นอกชายฝั่งแปซิฟิก เขย่าภาคเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำถนนและบ้านเรือนเสียหาย ไฟดับกระทบคนนับหมื่น แต่ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

สำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ หรือยูเอสจีเอส (USGS) รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 02.34 น. วันอังคารที่ 20 ธ.ค. 2565 ตามเขตเวลามาตรฐานแปซิฟิก (PT) หรือราว 17.34 น. วันเดียวกันตามเวลาไทย เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.4 แมกนิจูดขึ้นที่นอกชายฝั่งทางตะวันตกรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา จุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองเฟิร์นเดล 15 กม. และอยู่ที่ความลึก 17.9 กม.

ระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิของสำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติ (NWS) ระบุว่า ไม่มีความเสี่ยงเกิดคลื่นยักษ์ ขณะที่มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายสิบครั้ง แต่เกือบทั้งหมดมีความรุนแรงไม่ถึง 4 แมกนิจูด

เบื้องต้นยังไม่มีรายงานว่าพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ แต่สำนักงานนายอำเภอเขต ฮัมโบลต์ เคาน์ตี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเฟิร์นเดล เปิดเผยว่า เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและถนนหลายสายทั่วเขต

ด้านบริษัท ‘แปซิฟิก แก๊ส แอนด์ อิเล็กทริก’ หนึ่งในผู้ให้บริการระบบไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียระบุว่า มีลูกค้าหลายหมื่นรายยังไม่มีไฟฟ้าใช้แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 5 ชั่วโมงแล้วหลังเกิดแผ่นดินไหวหลัก โดยในเขตฮัมโบลต์ เคาน์ตี แห่งเดียวก็มีประชาชนต้องอยู่ในความมืดมากกว่า 71,000 คนแล้ว

ทั้งนี้ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนับเป็นครั้งรุนแรงที่สุดที่แคลิฟอร์เนียเคยเผชิญในรอบ 3 ปี หลังเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.1 แมกนิจูดทางตอนใต้ของรัฐเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562

ที่มา : USAtoday


ECMO (เอคโม่) เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ อุปกรณ์สำคัญสำหรับการยื้อชีวิตผู้ป่วย มีหลักการทำงานอย่างไร เหมาะกับผู้ป่วยแบบไหน

เครื่อง ECMO (เอคโม่) คืออะไร ECMO (เอคโม่) มีชื่อเต็มว่า Extracorporeal Membrane Oxygenation เป็นเครื่องมือที่ใช้เพิ่มระดับออกซิเจนและลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดจากภายนอกร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่ปอดและหัวใจไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซในสภาวะปกติได้อย่างพอเพียง ซึ่งในประเทศไทยมีการใช้เครื่อง ECMO ตามโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ๆ ทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มใช้เครื่อง ECMO ครั้งแรกในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤติหลังการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (CVT ICU) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และเริ่มมีการใช้ในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กวิกฤติ (PICU) ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2554 จากรายงานพบว่าอัตราการรอดชีวิตจากการใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจของเด็กแรกเกิดอยู่ที่ 70% ส่วนในเด็กและผู้ใหญ่จะมีอัตราการรอดชีวิตใกล้เคียงกัน คือ 40-50% แต่หากเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการช่วยชีวิตด้วยเครื่อง ECMO พบว่าผู้ป่วยจะมีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 90% เลยทีเดียว ผู้ป่วยแบบไหนที่ต้องใช้ ECMO (เอคโม่)

ลักษณะผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่อง ECMO (เอคโม่) คือผู้ป่วยวิกฤติที่มีภาวะการทำงานของหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรงและผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง หรือในบางรายอาจมีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน โดยระบบการทำงานของ ECMO นั้น มีอยู่ 3 ระบบได้แก่

1. Veno-Arterial (VA) สำหรับกรณีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรง หรือ มีทั้งปอดและหัวใจล้มเหลว

เครื่องจะดูดเลือดออกจากเส้นเลือดดำใหญ่ เช่น จากคอในเด็กเล็ก หรือขาในเด็กโตและผู้ใหญ่ และผ่านเครื่องปอดเทียมเพื่อเพิ่มออกซิเจนและช่วยแลกเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าสู่เส้นเลือดแดงใหญ่ส่วนบนหรือส่วนล่าง

2. Veno-venous (VV) สำหรับกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรง เครื่องจะดูดเลือดออกจากเส้นเลือดดำใหญ่ผ่านปอดเทียม และเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่อีกครั้ง

3. Arterial-venous สำหรับกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรงปานกลาง ซึ่งจะใช้แรงดันจากด้านหลอดเลือดแดงโดยไม่ต้องใช้เครื่องดึงผ่านปอดเทียม

อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่อง ECMO (เอคโม่) ก็มีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีปัจจัยร่วมบางประการ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย, ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจมาเป็นระยะเวลานาน หรือผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้เครื่อง ECMO (เอคโม่) ยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการต่อผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเลือดออกในสมอง, ภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ขา (ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ ระบบ Veno-Arterial ECMO), ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก, ภาวะติดเชื้อ, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ซึ่งแพทย์และพยาบาล ต้องเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วย อย่างใกล้ชิด ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

ดังนั้น การใช้เครื่อง ECMO เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤติ ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และญาติผู้ป่วย โดยประเมินจากระดับความรุนแรงของโรค ข้อบ่งชี้และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อีกทั้ง ECMO เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องเป็นการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพที่อาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ไขปริศนางาหักใน 'ศึกช้างชนช้าง' บนเขาใหญ่ด้วยซินโครตรอน

20 ธ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ภาพเดินทางมาส่งมอบตัวอย่างชิ้นส่วนงาหักจากเหตุการณ์ศึกช้างชนช้างบนเขาใหญ่ ให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ตรวจวิเคราะห์ พร้อมตัวอย่างดินโป่งจากโป่งเทียมบนเขาใหญ่ เพื่อวิเคราะห์ภาวะทุพโภชนาการของสัตว์ป่า

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมคณะ นำตัวอย่างงาจากเหตุการณ์ช้างป่าเขาใหญ่ “พลายทองคำ” ต่อสู้กับ “พลายงาทอง” จนงาหักทั้งกิ่ง ให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแสงซินโครตรอน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า “การตรวจวิเคราะห์งาช้างด้วยแสงซินโครตรอนครั้งนี้ เพื่อหาสัดส่วนธาตุองค์ประกอบ และหาสัดส่วนหมู่ฟังก์ชันทางเคมีของสารอินทรีย์ เพื่อบ่งชี้ความแตกต่างขององค์ประกอบกลุ่มสารชีวเคมีภายในงาช้าง รวมถึงหารูพรุนภายในงาช้างด้วยเทคนิคถ่ายภาพเอกซเรย์สามมิติ เพื่อตอบสมมติฐานว่า งาช้างป่าหักง่ายเพราะภาวะทุพโภชนาการหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลสุขภาพช้างป่าต่อไป”

พร้อมกันนี้นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน ยังได้นำตัวอย่างดินโป่งจากโป่งเทียมบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 7 จุด มาตรวจวิเคราะห์หาแร่ธาตุต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ภาวะทุพโภชนาการของช้างป่า โดยมีข้อสังเกตพบช้างป่าเขาใหญ่หักง่ายมากขึ้น ซึ่งกรณีของพลายทองคำที่งาหักทั้งกิ่งนั้น พบว่ามีงาหักตั้งแต่โคนงาและพบภาวะเหงือกร่นร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมของช้างป่าที่ออกจากป่ามากินขยะหรืออาหารในครัวของชาวบ้าน ซึ่งมักเป็นอาหารรสเค็ม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกลือแกง และปลาร้า เป็นต้น จึงตั้งข้อสังเกตว่า ช้างป่าอาจจะขาดแคลนแร่ธาตุบางชนิด การนำดินโป่งมาวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนจะช่วยตอบคำถามได้ว่า แร่ธาตุในโป่งเทียมที่ทำขึ้นนั้นเหมาะสมกับสัตว์ป่าหรือไม่

“แหล่งดินโป่งนอกจากเป็นแหล่งอาหารเสริมให้ช้าง กระทิง วัวแดงแล้ว ยังเป็นห้องพยาบาลให้สัตว์หลายชนิดด้วย เพราะเกลือแร่หลายชนิดก็คือยารักษาโรคใช้ในการควบคุม ลดการติดเชื้อ ไล่แมลง ถ้าเรารู้องค์ประกอบของแร่ธาตุเหล่านี้ ต่อไปถ้าเราจะทำดินโป่ง ไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารเสริมให้สัตว์เท่านั้น แต่ต่อไปจะเป็นห้องพยาบาลให้แก่สัตว์ป่า ซึ่งแหล่งดินโป่งที่ลดน้อยลงเป็นปัจจัยให้ช้างป่าออกนอกเขตอนุรักษ์ เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เกิดการทำลายทรัพย์สินและชีวิตประชาชน เกิดความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ซึ่งพฤติกรรมการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าแสดงถึงห้องครัวของเขาไม่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นข้อมูลจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะนำไปสู่การบริหารจัดการเพื่อผลักดันให้ช้างกลับเข้าป่า การแก้ไขปัญหาช้างป่า นำไปสู่การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป” นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อนกล่าว

ขอบคุณข้อมูลเฟซบุ๊ก ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน


อาการวูบ-หมดสติ ภัยเงียบที่ต้องระวัง

ระยะไม่กี่ปีมานี้ ข่าวการเสียชีวิตของนักกีฬาระหว่างการแข่งขัน หรือการวูบ หมดสติของคนอายุน้อย ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น มีความถี่ในการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

อาการหน้ามืด วูบ หมดสติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย ยืนตากแดดนานๆ หรือมีการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่ในร่างกาย เช่น เสียเหงื่อมาก หรือท้องเสียรุนแรง บางคนอาจมีอาการหลังใช้ยาลดความดัน ยาที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะก็สามารถนำไปสู่อาการหน้ามืด หมดสติได้

วูบ หน้ามืด คือภาวะหมดสติหรือเกือบหมดสติ ที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือเป็นเวลานานก็ได้ ในทางการแพทย์จะเรียกว่า อาการลมวูบหมดสติ (Syncope) ผู้ป่วยจะรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน มักมีสาเหตุเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ บางรายมีสาเหตุมาจากอาการชัก หรือระบบหูชั้นในมีปัญหา ทำให้เสียการทรงตัวหรือวิงเวียน

ส่วนภาวะหมดสติ (Unconsciousness) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่รู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่รับรู้ต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีการตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ

สาเหตุของหน้ามืด วูบ หมดสติ มีหลายสาเหตุตั้งแต่เบาสุด เช่น เป็นลมธรรมดาสภาพจิตใจที่ไม่เป็นปกติ เช่น เครียดมาก กลัว หรือตกใจมากๆ มักเกิดขึ้นเมื่อประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด อยู่ในสถานที่หรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เช่น อยู่ในสถานที่แออัดคับคั่ง หรือที่ที่ร้อนอบอ้าว ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นลมได้จากการยืนนานๆ

หรืออาจเกิดจากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น รู้สึกหิวมาก เป็นเวลานานๆ ร่างกายสูญเสียน้ำมากหรือมีภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสีย หรือเสียเหงื่อมากเกินไป ร่างกายอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า จากการทำงานหนัก การหักโหมออกกำลังกาย หรือนอนดึกเป็นประจำ ความดันตกในช่วงสั้นๆ แล้วทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก คนที่ไอรุนแรง เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ นอนหรือนั่งอยู่นานแล้วลุกขึ้นยืนทันที เรียกว่า ความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ (Orthostatic hypotension) ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจมาจากโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันเลือดสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะตกเลือด หรือเป็นภาวะของร่างกายในผู้สูงอายุ

ซึ่งทั้งหมดยังเป็นสาเหตุที่ไม่ถือว่าร้ายแรง แต่ที่ร้ายแรง บางครั้งมีลักษณะอาการที่ดูคล้ายคลึงกันกับประเภทแรก แต่มาจากสาเหตุที่อันตรายกว่า เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในระดับรุนแรง อาจมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานกำเริบ ผู้ป่วยเนื้องอกบางชนิด ผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณมาก

จากการศึกษาข้อมูลการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุต่ำกว่า 35 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า สาเหตุหลักของการวูบ หมดสติ และนำมาสู่การเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นอาการจากภาวะหัวใจ ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic Cardiomyopathy : HCM), กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน และแสดงอาการด้วยหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะรุนแรง, คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (Arrthymias), โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease), โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกไขมันแทรกแทนที่ (Arrhythmogenic right ventricular dysplasia : ARVD), หัวใจหยุดทำงานฉับพลันจากการถูกกระแทกที่หน้าอก (Commotio Cordis) แรงกระแทกจะกระตุ้นให้เกิดการนำไฟฟ้าหัวใจห้องล่างผิดปกติที่เร็วมากภายในเวลาไม่กี่วินาที กระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องล่างสั่นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation)

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นักกีฬาเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจากการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดบางชนิดในปริมาณมากก่อนการแข่งขัน รวมถึงกรณีที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุได้อีกด้วย

อาการวูบจากสาเหตุของหัวใจ ผู้ป่วยมักมีอาการหน้ามืดใจสั่น มวนท้อง เหงื่อแตก ตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน ที่สำคัญคือผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการวูบในช่วงเวลาสั้นๆ และเมื่อตื่นขึ้นมาก็ยังจำเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ได้ และกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง แต่หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้ ไม่เข้ารับการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และรักษาอย่างถูกวิธีแล้ว อาจส่งผลให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพาต หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อีกสาเหตุคือ อาการวูบจากภาวะทางสมอง ผู้ป่วยมักมีอาการวูบร่วมกับอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น อาการเกร็งชัก เหม่อ สับสน เมื่อตื่นจากอาการวูบ ผู้ป่วยไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเมื่อฟื้นขึ้นมา เช่น ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ชาหรืออ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก เป็นต้น

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของภาวะทางสมอง เช่น หลอดเลือดในสมองตีบได้ ด้วยสาเหตุนี้ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดควรต้องสังเกตอาการวูบที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยลดความสูญเสียได้มาก.


เตือนภัย! อุทธรณ์ทางการแพทย์ 'หัวเราะจนตาย' มีอยู่จริง

แพทย์เตือนภัย รู้ไว้ใช่ว่า อุทธรณ์ทางการแพทย์ ‘หัวเราะจนตาย’ มีอยู่จริง การแสดงอารมณ์มากเกินไป ส่งผลต่อหัวใจ ต้องหมั่นตรวจสุขภาพ

เรามักจะใช้คำว่า “หัวเราะจนตาย” เพื่ออธิบายสิ่งที่ตลกมาก แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนหัวเราะจนตายจริงๆ ตามข่าวของ Netease ชายชาวจีนและเพื่อนบ้านของเขาพบกันที่ร้านค้าใกล้บ้าน ทั้งสองคุยกันอย่างมีความสุข โดยไม่คาดคิดฝ่ายหนึ่งหัวเราะจนเกือบตายจริงๆ

เป็นไปได้ไหมที่คนเราจะหัวเราะจนตาย ? แพทย์โรคหัวใจของจีนกล่าวว่า เป็นไปได้และไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตจากการหัวเราะเสมอไป คุณอาจล้มลงทันทีเมื่อมีอารมณ์รุนแรง เพราะอารมณ์เป็นตัวกระตุ้นชนิดหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ ในความเป็นจริงแล้วการทำงานของหัวใจไม่เพียงได้รับผลกระทบจากหลอดเลือดเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อระบบประสาทอีกด้วย

ขณะที่เราหัวเราะอย่างหนัก ร่างกายจะไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ ในรายที่หัวเราะรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ออกซิเจนในกระแสเลือดจะลดลงถึงขั้นวิกฤต ทำให้หมดสติหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต นอกจากนี้การหัวเราะอย่างหนักจะทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเลือดออกในสมองได้ ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ การลดลงของความดันโลหิตอย่างรวดเร็วจนทำให้หัวใจบีบตัวผิดปกติ มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น หรืออาการอื่นๆ ที่อันตรายถึงชีวิต

อาการผิดปกติทางสมองหลายอย่าง เช่น โรคพาร์กินสัน จะทำให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติ ผู้ป่วยบางคนไม่สามารถควบคุมการหัวเราะของตัวเองได้ อย่างไรก็ตามไม่ต้องตื่นตระหนกเกินไป เพราะหากสุขภาพหัวใจปกติดี ก็สามารถแสดงอารมณ์ได้ อย่างไม่ต้องกังวล

ที่มา: ctwant