ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



รู้จัก อัตโตวินาที วิทยาการยิงลำแสงความเร็วสูง ที่ได้รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ปี 2023

ทำความรู้จัก อัตโตวินาที วิทยาการของการยิงลำแสงความเร็วระดับสูงที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2023 สามารถสร้างประโยชน์ และมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันมนุษย์แบบใดบ้าง

ความเร็วระดับ ‘อัตโตวินาที’ (Attosecond Pulses) มีความเร็วเท่ากับ 1 ในล้านล้านล้านของวินาที ซึ่งเป็นความเร็วกว่าชั่วพริบตา ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึง และสัมผัสได้ เป็นขั้นสูงสุดของหน่วยวินาที สามารถไล่เรียงตามลำดับมากที่สุด-น้อยที่สุด ได้แก่ วินาที (Second), มิลลิวินาที (Milliseconds), ไมโครวินาที (Microsecond), นาโนวินาที-พิโควินาที (Nanosecond-Picosecond), เฟมโตวินาที (Femtosecond) และอัตโตวินาทีในลำดับสุดท้าย

ดร.ฮันส์ เจค็อบ เวอร์เนอร์ นักวิจัยจากสถาบัน ETH Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องของ อัตโตวินาที กับสำนักข่าว AFP ว่า อัตโตวินาที คือ ช่วงเวลาของวินาทีที่สั้นที่สุดที่มนุษย์สามารถตรวจวัดได้ในปัจจุบัน มีค่าเท่ากับ 0.000000000000000001 วินาที หรือ 10 ยกกำลัง -18 วินาที

ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ 3 คน นามว่า Pierre Agostini (ปิแอร์ อากอสตินี), Anne L'Huillier (อานน์ ลูอิลิเยร์) และ Ferenc Krausz (เฟเรนซ์ เคราซ์) ได้ทำการทดลอง จนค้นพบการยิงลำแสงความเร็วสูงระดับอัตโตวินาทีได้สำเร็จ จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2023 นี้ไปครอบครอง ภายใต้ชื่อว่า ‘อัตโตฟิสิกส์’ (Attophysics) คือ เทคนิคการใช้ลำแสงความเร็วสูงระดับล้านล้านล้านวินาที ที่ถูกเชื่อว่าจะกลายเป็นวิทยาการสำคัญในอนาคต ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ และเป็นส่วนประกอบของเทคโนโลยีต่างๆในอนาคต

ปัจจุบันมนุษย์เรานั้นสามารถควบคุมความเร็วของอิเล็กตรอน ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ในระดับนาโนวินาทีเท่านั้น ความสำคัญของ “อัตโตฟิสิกส์” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจอย่างมากในการที่มนุษย์จะพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือวิทยาการจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถประมวลผลข้อมูลได้ด้วยความเร็ว และแม่นยำกว่าเดิมหลายเท่าตัว

อัตโตฟิสิกส์ จึงมีแนวโน้มในการพัฒนาเทคโนโลยีในแวดวงต่างๆ เช่น กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่แม่นยำยิ่งขึ้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เร็วมากขึ้น และการทดสอบใหม่ที่สามารถนำวินิจฉัยโรคได้ในระยะที่เร็วกว่ามาก

Eva Olsson (เอวา โอลส์สัน) ประธานคณะกรรมการโนเบลสาขาฟิสิกส์ กล่าวว่า "ขณะนี้เรามีจุดเริ่มต้นที่จะสามารถเปิดประตูสู่โลกของอิเล็กตรอนได้ และฟิสิกส์ของอัตโตวินาทีได้แล้ว ด้วยกลไกนี้เราสามารถเปิดโลกของนวัตกรรมหลายๆ อย่าง และเข้าใจในกลไกที่จะสามารถควบคุมอิเล็กตรอนได้มากยิ่งขึ้น"

ข้อมูล : bbc

ภาพ : iStock


ดาวเทียม THEOS-2 คืออะไร มีคุณสมบัติ และประโยชน์อะไรบ้าง

ทำความรู้จัก ดาวเทียม THEOS-2 มีหน้าที่และประโยชน์อย่างไรต่อคนไทย หลังจากเพิ่งถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศ ในช่วงเช้าที่ผ่านมา

ดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส 2) เป็นโครงการของหน่วยงาน GISTDA ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2543 ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยคำว่า ‘THEOS (ธีออส)’ เป็นคำย่อมากจากคำว่า ‘Thailand Earth Observation Satellite’ หมายถึง ดาวเทียมสำรวจโลกของประเทศไทย และเป็นรุ่นพัฒนาต่อยอดมาจาก ดาวเทียม THEOS-1 หรือ ไทยโชต (Thaichote) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สำหรับโครงการ THEOS-2 นอกจากประเทศไทยจะได้ดาวเทียมทรัพยากรดวงใหม่ที่ยกระดับเทคโนโลยีแล้ว ยังได้โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากรที่ผ่านการอบรมสร้างดาวเทียมจากประเทศผู้ผลิต ซึ่งช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศในทุกๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

วันที่ 9 ต.ค. 2566 ช่วงเช้าเวลา เวลา 08.36 น. ตามเวลาประเทศไทย GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้นำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในที่สุด ณ ท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้เป็นที่เรียบร้อย หลังมีการเลื่อนการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ออกไปก่อนในวันที่ 7 ต.ค. 2566 เนื่องจากระบบมีการแจ้งเตือนว่าพบปัญหาจากอุปกรณ์บางอย่าง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความยินดีที่ประเทศไทยส่งดาวเทียม “THEOS-2” ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จว่า “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อต่อยอดการพัฒนาทั้งสังคมและเศรษฐกิจของประเทศสืบไป”

คุณสมบัติของดาวเทียม THEOS-2

ดาวเทียม THEOS-2 ใช้ในการเก็บภาพรายละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล กลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูง (Very High Resolution) ซึ่งดีที่สุดในกลุ่มของประเทศอาเซียน เทียบชั้นกับดาวเทียมรายละเอียดสูงในกลุ่มผู้นำโลก สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลลงมาที่สถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และถูกวางโครงสร้างให้มีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี

ดาวเทียม THEOS-2 มีประโยชน์อย่างไร

ดาวเทียม THEOS-2 คือ เครื่องมือพัฒนาประเทศ เป็นคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนชาวไทย โดยใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในด้านการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำเอามาพัฒนาในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการเกษตร

ด้านการจัดการเมือง

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้านการจัดการน้ำ

ด้านการจัดการภัยภิบัติ

ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

ขณะนี้ดาวเทียม THEOS-2 เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลกแล้ว โดยหลังจากปล่อยดาวเทียมในเวลา 08.36 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) จะใช้เวลากว่า 52 นาที ในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราว 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5-8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร

ข้อมูลและภาพ : GISTDA


7 ท่าออกกำลังกาย ห่างไกลโรคหลอดเลือดอุดตัน

โรคหลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis) เป็นภาวะที่ลิ่มเลือดก่อตัวและไปอุดตันในหลอดเลือด ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายและโรคร้ายแรงตามมา หากอยากห่างไกลโรคร้ายนี้ เรามีวิธีออกกำลังกาย 7 ท่า 7 วัน มาฝาก

โรคหลอดเลือดอุดตัน คืออะไร

โรคหลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis) เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ และลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ โดยโรคหลอดเลือดดำอุดตันจะมีอาการบวมและปวดที่ขาข้างเดียว และถ้าลิ่มเลือดที่ขาหลุดลอยไปอุดหลอดเลือดแดงที่ปอด ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บอก หมดสติ และเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ จากรายงานของ International Society on Thrombosis and Haemostasias (ISTH) พบว่า 1 ใน 4 ของผู้คนทั่วโลก เสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน

การไม่ขยับเคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน เนื่องจากเลือดไหลเวียนที่ช้าลงกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำได้ การออกกำลังกายเป็นประจำทำให้เลือดสูบฉีดได้ดีจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อแขนขา สามารถกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและลดอัตราการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันได้

7 ท่าออกกำลังกาย ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน

ISTH จึงได้เสนอแนวคิดการออกกำลังกายแบบใหม่ ให้คนตระหนักถึงความสำคัญของการขยับร่างกาย ภายใต้แคมเปญ “60 For 60 Fitness Challenge” เชิญชวนทุกคนขยับร่างกายง่ายๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 60 วินาที ทุกๆ 60 นาที ผ่าน 7 ท่าขยับร่างกาย สุขภาพดีตลอด 7 วัน ในธีม ‘สวัสดี’ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ความรู้ และลดความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดอุดตัน

1. สวัสดีวันจันทร์

หันคอไปทุกทิศ ท่าขยับร่างกาย 60 วินาที ในทุกๆ 60 นาทีของวันนี้ ทำได้ง่ายๆ เพียงลุกจากเก้าอี้ยืนตรง เอียงศีรษะไปทางซ้ายค้างไว้ 5 วินาที สลับเอียงศีรษะไปด้านขวาค้างไว้ 5 วินาที ก้มศีรษะลงค้างไว้ 5 วินาที และเงยศีรษะขึ้นค้างไว้ 5 วินาที ทำสลับกันช้าๆ จนครบ 60 วินาที แล้วทำอีกครั้งในชั่วโมงถัดไป

2. สวัสดีวันอังคาร

มือประสานข้างหน้า ท่าขยับร่างกายวันนี้ เริ่มด้วยการยืนตรง ประสานมือเข้าด้วยกัน เหยียดมือที่ประสานไปข้างหน้า จากนั้นยืดแขนตรงขึ้นไปเหนือศีรษะ โยกมือไปทางซ้ายและขวาสลับกัน 8 ครั้ง จนครบ 60 วินาที แค่นี้ก็สามารถห่างไกลหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายๆ

3. สวัสดีวันพุธ

เหยียดขาให้สุด แล้วเตะไปมา ท่าขยับร่างกายประจำวันพุธ ทำได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำได้ง่ายๆ เพียงนั่งบนเก้าอี้ยืดหลังตรง เหยียดขาให้สุดตรงไปข้างหน้าให้ขนานกับพื้น แล้วเตะขาไปมาช้าๆ 60 วินาที ทุกๆ 60 นาที ใช้เวลาเท่านี้สุขภาพก็ดีขึ้นได้

4. สวัสดีวันพฤหัสฯ

สะบัดมือ สะบัดเท้า ท่าขยับร่างกายวันนี้ทำได้ทั้งในท่านั่งและยืน แต่เราขอแนะนำให้ยืนทำจะผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ทำได้โดยการเหยียดมือลงกับพื้น สะบัดข้อมือทั้ง 2 ข้างช้าๆ ประมาณ 8 วินาที สลับด้วยการสะบัดข้อเท้าซ้าย 8 วินาที สะบัดข้อเท้าขวา 8 วินาที ทำซ้ำจนครบ 60 วินาที

5. สวัสดีวันศุกร์

ลุกขึ้นมาหมุนไหล่ ท่าขยับร่างกายที่เชื่อว่าหลายๆ คนทำเป็นประจำ ด้วยการงอแขนทั้งสองข้าง และนำมือมาแตะที่ไหล่ หมุนไหล่เซตละ 8 วินาที พัก 2 – 4 วินาที ไปเรื่อยๆ จนครบ 60 วินาที และที่สำคัญในชั่วโมงสุดท้ายหลังเลิกงาน อย่าลืมลุกจากเก้าอี้หรือโซฟาไปออกกำลังกาย เดินเล่นสวนสาธารณะ หรือช็อปปิ้งกันนะ

6. สวัสดีวันเสาร์

เอาตัวออกจากเก้าอี้ ท่าขยับร่างกายวันนี้พิเศษกว่าวันไหนๆ แนะนำให้ทุกคนลุกจากเก้าอี้ เตียงนอน หรือโซฟา ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และอย่าลืมชวนคนที่คุณรักหรือห่วงใยไปด้วยกัน วันนี้ฟรีสไตล์ออกกำลังกายได้เกินกว่า 60 วินาที

7. สวัสดีวันอาทิตย์

บิดสะโพกโยกย้าย บริหารร่างกายเตรียมต้อนรับวันจันทร์ที่สดใส ด้วยท่าขยับร่างกายที่ทำได้ทุกที่ เริ่มด้วยการยืนขึ้นตรง นำมือทั้งสองข้างจับไว้ที่เอว หมุนเอวไปทางด้ายซ้าย 8 ครั้ง และหมุนเอวไปทางด้านขวา 8 ครั้ง ทำซ้ำ 4 เซต ในทุกๆ 60 นาที เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายๆ ทุกที่

ท่าออกกำลังกายเหล่านี้ทำได้ง่ายๆ ที่บ้านหรือที่ทำงาน แต่ต้องอย่าหักโหมจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ร่ายกายบาดเจ็บได้ ไม่เพียงเท่านี้ส่งต่อความห่วงใยและเชิญชวนคนที่คุณรักร่วมขยับร่างกายไปพร้อมกัน ผ่านการส่งภาพเหล่านี้ไปยังกลุ่มต่างๆ บนกรุ๊ปไลน์ ให้คนรอบตัวจะได้มีสุขภาพดีร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ภาวะหลอดเลือดอุดตันเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ หากมีความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือด โดย ISTH ได้จัดตั้ง ‘วันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD)’ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี พร้อมผลักดันแคมเปญ '60 For 60 Challenge' เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือด อาการของโรค การป้องกันและรักษา ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันร่วมกันทั่วโลก

ภาพ : iStock, ISTH


“กระชังหอยอ่างศิลา” รางวัลเวทีภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กล่าวว่า แสดงความยินดีกับนายฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล ศิลปินศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรมประจำปี 2563 สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบกระชังหอยอ่างศิลา คว้ารางวัล INDE Awards 2023 สาขา The Influencer ซึ่งเป็นรางวัลด้านสถาปัตยกรรมรางวัลอันทรงเกียรติด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และรางวัล Australia Good Design Award Gold Winner & "Best in Class"

พร้อมกันนี้ยังได้รับการพิจารณาผ่านเข้ารอบการประกวดผลงานการออกแบบและอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินรางวัลในต่างประเทศหลายรายการ ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ในโครงการ “เทศกาลชิมหอยสุดปัง ชมกระชังอ่างศิลา” ร่วมกับหลักสูตรนานาชาติ International Program In Design & Architecture ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับผลงานดังกล่าวสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในแง่มุมที่ถูกซุกซ่อนอยู่ผ่านทางสถาปัตยกรรม การให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่รอบตัวแต่อาจถูกมองข้าม การเปิดมุมมองให้มนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันระหว่างส่วนพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ สร้างให้กลายเป็นชุมชนที่น่าอยู่ โดยศิลปิน ได้นำความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาผนวกเข้ากับภูมิปัญญาชุมชน โดยดัดแปลงกระชังหอยอ่างศิลาให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัย ใช้ไม้ไผ่วัสดุพื้นถิ่นและวัสดุสมัยใหม่

โดยผลงานนี้จะสามารถช่วยสร้างโอกาสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยด้วย ทั้งนี้โครงการ “เทศกาลชิมหอยสุดปัง ชมกระชังอ่างศิลา” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 บนกระชังหอยที่ตั้งอยู่กลางทะเล ณ ชุมชนอ่างศิลา ชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรี