ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



นักวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลใหม่ฟ้าผ่าบนดาวพฤหัสบดี คล้ายโลกอย่างไร

ดาวพฤหัสบดีถูกปกคลุมด้วยเมฆแอมโมเนียสีน้ำตาล ซึ่งทำจากน้ำเช่นเดียวกับบนโลก และเช่นเดียวกับโลก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่ามักจะก่อตัวขึ้นภายในกลุ่มเมฆเหล่านี้บนดาวพฤหัสบดี ซึ่งการบันทึกภาพเหตุการณ์เหล่านี้ จากยานอวกาศหลายลำที่เคยไปเยือนดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา รวมถึงยานอวกาศจูโน ของ องค์การนาซา สหรัฐฯ กลายเป็นภาพที่ชวนสงสัยให้ไขความกระจ่าง

เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศของสถาบันเช็ก ในกรุงปราก สาธารณรัฐเชก เผยว่าข้อมูลที่ยานจูโนเก็บรวบรวมมา ได้ให้ข้อมูลใหม่ว่ากระบวนการเกิดฟ้าแลบ ฟ้าผ่าของดาวพฤหัสมีความคล้ายคลึงกับกระบวนการบนโลกอย่างไร

แม้ว่าดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงจะมีความแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม โดยอธิบายว่าฟ้าแลบเป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นภายในเมฆฝนฟ้าคะนอง อนุภาคน้ำแข็งและน้ำภายในก้อนเมฆถูกพุ่งชนกันและก่อตัวเป็นชั้นของอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าขั้วเดียวกัน ซึ่งกระบวนการเริ่มต้นของฟ้าผ่าบนดาวพฤหัสบดี เคลื่อนไหวเป็นจังหวะที่คล้ายคลึงกับจังหวะบนโลก สังเกตได้ว่าบนดาวพฤหัสบดีเมื่อเกิดแสงวาบเกิดขึ้น จะมีระยะเวลาห่างประมาณ 1 มิลลิวินาที คล้ายกับพายุฝนฟ้าคะนองบนโลก

นอกจากนี้ ยังมีการสังเกตเห็นฟ้าผ่าบนดาวเคราะห์ก๊าซดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะด้วย เช่น ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ส่วนหลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับฟ้าผ่าในเมฆของดาวศุกร์ ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่.


สถานีอวกาศจีนเปิดรับ “ลูกเรือต่างชาติ” ร่วมปฏิบัติภารกิจ

รัฐบาลปักกิ่ง กำลังมองหาและยินดีต้อนรับ การเข้ามามีส่วนร่วมของนักบินอวกาศต่างชาติ ในภารกิจการบินสู่สถานีอวกาศของจีน...

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองจิ่วเฉวียน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ว่า จีนได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานอวกาศต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมาก ขณะเดินหน้าพัฒนา และก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกง

หลินซีเฉียง รองผู้อำนวยการองค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน กล่าวว่า “จีนผลักดันโครงการความร่วมมือต่างๆ ตามแผนร่วมกับสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอโอเอสเอ) องค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) และองค์กรอื่นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขยายการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มประเทศซึ่งมีศักยภาพด้านอวกาศ โดยมุ่งเน้นการทดลองและประยุกต์ใช้ทางวิทยาศาสตร์ในวงโคจร และการร่วมเดินทางสู่สถานีอวกาศของนักบินอวกาศ”

ขณะเดียวกัน จีนมีส่วนร่วมอภิปรายและจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่นการกำกับดูแลสภาพแวดล้อมอวกาศ การจัดการการจราจรบนอวกาศ รวมถึงการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศอย่างแข็งขัน โดยความพยายามเหล่านี้ มีส่วนช่วยจัดการ ความท้าทายร่วมของมนุษยชาติในอวกาศ...

ปัจจุบัน จีนสามารถดำเนินภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม ณ ความถี่ 2 ครั้งต่อปี ด้วยสถานีอวกาศใกล้โลกที่มีมนุษย์ควบคุมอันสมบูรณ์ ระบบขนส่งยานอวกาศซึ่งมีมนุษย์ควบคุม และกรอบการปฏิบัติงานคัดเลือก ฝึกอบรม และสนับสนุนนักบินอวกาศอย่างรอบด้าน.

ข้อมูล : XINHUA... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/2386234/


ตะลึง! ภาพสแกน 3 มิติซากเรือ ‘ไททานิก’ จากก้นมหาสมุทร รายละเอียดสุดทึ่ง

ภาพชุดใหม่ในแบบ 3 มิติ ของซากเรือไททานิก ซึ่งจมลงสู่ก้นมหาสมุทรเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เผยรายละเอียดใหม่หลายประการ จากการประกอบข้อมูลภาพมากกว่า 700,000 ภาพด้วยกัน

ภาพรายละเอียดสูงชุดใหม่ของซากเรือไททานิก ที่โด่งดังทั้งในฐานะเรือโดยสารที่ยิ่งใหญ่ และเป็นศูนย์กลางของโศกนาฏกรรมทางทะเลที่ยากจะลืมเลือน เมื่อปี ค.ศ. 1912 ได้ถูกเผยแพร่ออกมา และกลายเป็นจุดสนใจในทันที ด้วยรายละเอียดที่สุดแสนจะน่าทึ่ง

ภาพสแกน 3 มิตินี้ เผยให้เห็นซากเรือไททานิกแบบชัด ๆ ในสภาพที่อยู่ใต้ก้นมหาสมุทร ซึ่งมีความลึกเกือบ 4,000 เมตร โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ดีพซี แม็พปิง

นับตั้งแต่เรือจมลงเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,500 ชีวิต ไททานิกก็ต้องรอถึงปี ค.ศ. 1985 จึงจะมีคนพบซากของมันเป็นครั้งแรก นอกชายฝั่งแคนาดา และได้กลายเป็นซากเรือจมที่คนสำรวจมากที่สุดในโลกลำหนึ่ง นับตั้งแต่บัดนั้น

การสร้างภาพรายละเอียดสูงครั้งนี้ ทำกันตั้งแต่ปี 2565 เป็นผลงานของบริษัททำแผนที่ใต้ทะเลด้วยเทคโนโลยีดีพซี แม็พปิง ชื่อว่า บริษัทแมคเจลแลน และบริษัทแอตแลนติก โปรดักชันส์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสารคดีที่พวกเขาดูแลอยู่

พวกเขาใช้เรือดำน้ำแบบพิเศษที่ควบคุมจากระยะไกล เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลของซากเรือไททานิก ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกมากกว่า 200 ชม. ถ่ายภาพไปมากกว่า 700,000 ภาพ เพื่อสร้างภาพสแกน 3 มิติ ของซากเรือไททานิกขึ้นมา

ความยากของการเก็บข้อมูลก็คือ พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้แตะต้องหรือเคลื่อนย้ายส่วนใด ๆ ของเรือ หรือแม้กระทั่งกองโคลนเลนที่เกาะอยู่ และยังจะต้องทำแผนผังอย่างละเอียดระดับ ตร.ซม. แต่ผลงานที่ออกมาก็น่าทึ่ง สมกับความพยายาม และเป็นครั้งแรกของชาวโลก ที่ได้เห็นซากเรือใต้ทะเลลึกว่า จมลงไปแล้วอยู่ในลักษณะแบบใดอย่างชัดเจน

ภาพสแกนชุดใหม่นี้ ยังอาจจะช่วยไขความกระจ่างว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือลำนี้ ถึงได้จมลงอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ถูกมองว่ามั่นคงแข็งแรง และได้รับฉายาว่าเป็น “เรือที่ไม่มีวันจม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ ต่างต้องรีบทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากซากเรือนั้น มีการกัดกร่อนผุพังลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ยังมีข้อมูลอีกมากมาย ที่ต้องค้นหาและเรียนรู้กันอีกมาก

เครดิตภาพ : Magellan Ltd. / Atlantic Productions... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/2350439/


จีนปล่อยยานอวกาศเสินโจว-16 พร้อมนักบินพลเรือนคนแรกขึ้นอวกาศสำเร็จ

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 : สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศเสินโจว-16 พร้อมด้วยนักบินอวกาศ 3 คน ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดลองมาร์ช 2 เอฟ เพื่อไปยังสถานีอวกาศเทียนกงของจีน ถือเป็นครั้งแรกที่มีการส่งนักบินอวกาศพลเรือนของจีนขึ้นไปสู่วงโคจรของโลก ขณะที่จีนตั้งเป้าว่าจะส่งนักบินอวกาศไปบนดวงจันทร์ให้ได้ก่อนปี 2030

จรวดลองมาร์ช 2 เอฟถูกปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู่ เมื่อเวลา 09.31 น. ตามเวลาท้องถิ่น ท่ามกลางสายตาของพนักงานโครงการด้านอวกาศของจีน และประชาชนที่ต่างตะโกนขอให้นักบินอวกาศ “โชคดี” พร้อมกับโบกมือขณะที่จรวดทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

ผู้อำนวยการศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนกล่าวว่า การปล่อยยานอวกาศเสินโจว-16 ขึ้นสู่วงโคจรของโลกนั้นประสบความสำเร็จ นักบินอวกาศของจีนทั้ง 3 คนในภารกิจครั้งนี้ประกอบไปด้วยนายจิ่ง ไห่เผิง ผู้บัญชาการของภารกิจ นายจู หยางจู้ ทำหน้าที่เป็นวิศวกร และนายกุ้ย ไห่เฉา นักบินอวกาศพลเรือนคนแรกของจีนซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหนักบรรทุก

หลังขึ้นสู่อวกาศแล้ว ยานอวกาศเสินโจว-16 จะเทียบท่ากับสถานีอวกาศเทียนกง โดยลูกเรือของยานเสินโจว-16 จะมาปฏิบัติหน้าที่แทนนักบินอวกาศจีน 3 คนจากยานอวกาศเสินโจว-15 ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่บนสถานีอวกาศเทียนกงเป็นระยะเวลา 6 เดือนที่จะเดินทางกลับมายังโลกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ประเทศจีนเป็นเพียงประเทศที่ 3 ของโลกที่นำมนุษย์ขึ้นไปบนวงโคจรของโลก และสถานีอวกาศเทียนกงถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในโครงการด้านอวกาศของจีน


รู้จัก เชื้อไวรัส HPV คืออะไร อันตรายแค่ไหน ผู้ชายสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้หรือเปล่า

ทำความรู้จักเชื้อไวรัส HPV ต้นเหตุของโรคร้ายหลายชนิด ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งชนิดต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในผู้หญิง สามารถป้องกันได้ โดยวัคซีน HPV ที่นอกจากผู้หญิงแล้ว ผู้ชายก็ฉีดวัคซีนได้

ในทุกวันนี้ โรคร้ายจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อราหลายชนิด มีเพิ่มมากขึ้นบนโลกของเรา ที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก ด้วยการวิวัฒนาการของเชื้อเหล่านี้ที่ปรับเปลี่ยนและขยายพันธุ์ให้มีความแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ไปตามองค์ประกอบรอบตัว

หนึ่งในโรคร้ายใกล้ตัวของมนุษย์เพศหญิงที่ควรเฝ้าระวังที่สุด คือ เชื้อไวรัส HPV ที่สามารถติดต่อได้ง่าย และมีเชื้อในร่างกายถึง 80% โดยเชื้อไวรัส HPV นี้ เป็นสาเหตุของ “มะเร็งปากมดลูก” ซึ่งเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงขั้นร้ายแรง ถ้าหากพบเจอเชื้อเร็ว ก็จะมีโอกาสรักษาได้สูงถึง 98% ซึ่งวิธีการป้องกันก็ไม่ยากอย่างที่คิด

เชื้อไวรัส HPV คืออะไร

เชื้อไวรัสเอชพีวี หรือ ไวรัส HPV ย่อมาจาก Human papillomavirus เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่มักจะก่อตัวตามอวัยวะเพศและทวารหนัก สามารถทำให้ติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว และก่อโรคตามบริเวณที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการอะไรจนกว่าเชื้อจะพัฒนาไปในขั้นอย่างร้ายแรง และไม่สามารถรู้ตัวได้ว่าตนเองนั้นเป็นโรค HPV ซึ่งสามารถนำโรคนี้ไปติดต่อผู้อื่นได้ง่าย สามารถพบเจอได้โดยการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สามารถติดต่อได้จากการสัมผัส และการมีเพศสัมพันธ์

อาการของเชื้อไวรัส HPV

เชื้อไวรัส HPV จะไม่ได้มีอาการที่แสดงได้อย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนใหญ่จะพบสิ่งแปลกปลอมบริเวณอวัยวะเพศและร่างกาย เช่น หูดหงอนไก่ ที่สามารถพบเจอได้ง่ายที่สุด ซึ่งจะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ ขึ้นโดยรอบ บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย รวมไปถึงอาการตกขาวที่มากกว่าปกติของผู้หญิง บางรายอาจมีเลือดปนออกมาด้วย และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์

โรคติดต่อที่มาจากเชื้อไวรัส HPV, มะเร็งปากมดลูก , มะเร็งปากช่องคลอด ,มะเร็งช่องคลอด, มะเร็งช่องปาก, มะเร็งองคชาต, มะเร็งหลอดคอ, มะเร็งทวารหนัก, หูดหงอนไก่

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อไวรัส HPV มีคู่นอนหลายคน, , มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง, มีเพศสัมพันธ์ และตั้งครรภ์ในช่วงอายุน้อย, มีบุตรจำนวนมาก, สูบบุหรี่

การป้องกัน และรักษาเชื้อไวรัส HPV การฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV : วัคซีนจะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ HPV เกณฑ์ในการฉีดวัคซีนจะแบ่งตามช่วงอายุ หากมีอายุ 9-14 ปี จะฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม, และสำหรับอายุ 15 ปีขึ้นไป จะฉีดวัคซีนจำนวน 3 เข็ม

เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และเชื้อไวรัส HPV เมื่อถึงวัย : ซึ่งหากตรวจพบความเสี่ยง HPV หรือโรคมะเร็งปากมดลูกได้ไว ก็จะสามารถรักษาได้ไวมากขึ้น

รักษาและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง : เนื่องจากปัจจุบันเชื้อไวรัส HPV ยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้หายขาด แต่การดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย เพื่อสร้างภูมิต้านทาน ก็จะสามารถทำให้เชื้อไม่ลุกลามจนเป็นมะเร็ง และสามารถหายเองได้ภายใน 2 ปี

ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัส HPV จะมีความเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุดในผู้หญิง โดยมีโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายมากมาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ชายควรที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรค HPV และหมั่นตรวจเชื้อโรค HPV ด้วยเช่นกัน เพราะผู้ชายก็มีความเสี่ยงที่จะมีเชื้อไวรัส HPV อยู่ในตัว นอกจากจะทำให้สามารถรักษาโรคร้ายได้ทันท่วงทีแล้ว ยังลดการเป็นพาหะนำโรคนี้ไปติดต่อสู่ผู้อื่นได้ในอนาคตอีกด้วย

เชื้อไวรัส HPV เป็นเชื้อที่ควรระมัดระวัง และหมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะ HPV เป็นเชื้อไวรัสที่แสดงตัวได้ช้า

อาการรุนแรง และใกล้ตัวอย่างมากในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน โดยบุคคลที่มีความจำเป็นในการตรวจ และได้รับวัคซีน คือ บุคคลที่เริ่มต้นจะมีชีวิตคู่และครอบครัว ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

อ้างอิง : rama.mahidol