ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ตะลึง! แสงประหลาดรูปก้นหอย ผุดกลางแสงเหนือในอะแลสกา

เกิดแถบแสงสีเขียวทรงก้นหอยขึ้นบนท้องฟ้าในรัฐอะแลสกาท่ามกลางแสงเหนือ หรือออโรราที่จะปรากฏขึ้นเหนือท้องฟ้าใกล้กับขั้วโลกเหนือในช่วงเช้าวันที่ 15 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนที่จะจางหายไปในเวลาเพียงไม่กี่นาที

อย่างไรก็ดี มีการชี้แจงตามมาว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาว หรือประตูที่เปิดออกไปสู่จักรวาลอันไกลโพ้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากเชื้อเพลิงส่วนเกินที่ถูกปล่อยออกมาจากจรวดสเปซเอ็กซ์ ที่ถูกปล่อยตัวออกจากฐานยิงจรวดในแคลิฟอร์เนีย ก่อนหน้าที่จะเกิดแถบแสงดังกล่าวราว 3 ชั่วโมง

ดอน แฮมป์ตัน นักฟิสิกส์อวกาศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวิจัย จากสถาบันธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยอะแลสกาแฟร์แบงค์ส กล่าวว่า บางครั้งจรวดก็มีเชื้อเพลิงที่จำเป็นต้องทิ้ง แม้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เขาก็เคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาราว 3 ครั้งแล้ว

“เมื่อพวกเขาทำเช่นนั้นบนที่สูงเชื้อเพลิงเหล่านั้นจะกลายเป็นน้ำแข็ง แต่หากมันเกิดขึ้นท่ามกลางแสงแดด เราจะมองเห็นว่ามันกลายเป็นก้อนเมฆก้อนใหญ่ และบางครั้งก็กลายเป็นรูปทรงก้นหอย” แฮมป์ตันกล่าว

การปรากฏขึ้นของลำแสงก้นหอยครั้งนี้ถูกจับภาพได้จากกล้องถ่ายภาพท้องฟ้าของสถาบันธรณีฟิสิกส์ และมีการแบ่งปันกันไปในวงกว้าง โดยแฮมป์ตันบอกด้วยว่า มันสร้างพายุในโลกอินเตอร์เน็ตขึ้นด้วย เช่นเดียวกับช่างภาพที่ออกไปเก็บภาพแสงเหนือก็โพสต์รูปที่พวกเขาถ่ายไว้ได้บนโซเชียลมีเดียด้วย

จรวดของสเปซเอ็กซ์ขึ้นจากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อคืนวันที่ 14 เมษายน ขณะที่เวลาของการทิ้งเชื้อเพลิงถูกกำหนดให้สามารถมองเห็นได้เหนือท้องฟ้าอะแลสกา แม้มันจะดูเหมือนกาแล็กซีที่เคลื่อนตัว แต่แฮมป์ตันยืนยันว่าไม่ใช่อย่างแน่นอน และเป็นเพียงไอน้ำที่สะท้อนแสงแดดเท่านั้น


เช็ก ‘โรคทางตา’ ที่มากับหน้าร้อน หมอแนะวิธีดูแลสุขภาพดวงตา

อุณหภูมิอากาศในประเทศไทยยังคงร้อนถึงร้อนจัดในหลายพื้นที่ นอกจาก “โรคลมแดด หรือ Heat Stroke” ที่ทุกคนจะต้องพึงระวังแล้ว นายแพทย์นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ จักษุแพทย์แห่ง “แว่นท็อปเจริญ” ได้เผยถึงปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มโรคทางตาที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูร้อน (Summer Eye Problems – SEP) ดังนี้

“อาการตาแห้ง” เป็นภาวะที่ปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวตา อากาศที่ร้อนจัดและแสงแดดจ้าอาจทำให้เกิดการระเหยน้ำตามากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพของฟิล์มน้ำตาลดลง นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้สายตากับมือถือและอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป ก็ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งได้เช่นกัน

“ภูมิแพ้ขึ้นตา” สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ สารภูมิแพ้ ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ สามารถส่งผลให้เกิดอาการคันบริเวณดวงตาและตาแดงได้

“ภาวะกระจกตาอักเสบ” รังสี UV จากแสงแดดในช่วงกลางวัน อาจส่งผลทำให้กระจกตาดำอักเสบ (Photokeratitis) โดยจะมีอาการปวดหรือไม่สบายตา ซึ่งหากเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว อาจพบต้อกระจกหรือจอตาเสื่อมได้

“อาการตาแดง” ในฤดูร้อนมักพบโรคตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปริมาณเชื้อราที่เกิดขึ้นจากเหงื่อไคลที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดหน้า ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย อาจมีอาการตาแดงมาก รวมถึงมีขี้ตาข้นเยอะ ทั้งนี้ ยังสามารถติดต่อระหว่างคนได้จากการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน

“ตากุ้งยิง” อากาศร้อนส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตไขมันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กหรือผู้ใหญ่บางรายที่ต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian Gland Dysfunction) หากขยี้ตาหรือเจอฝุ่นอาจทำให้ไขมันที่เปลือกตาอุดตันจนเปลือกตาอักเสบ หรือติดเชื้อเป็นตากุ้งยิง มีอาการเปลือกตาบวมแดงคล้ายตุ่มหนอง เจ็บบริเวณเปลือกตา

นายแพทย์นพวุฒิ จักษุแพทย์ แห่ง “แว่นท็อปเจริญ” ยังได้ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพดวงตาเพิ่มเติมว่า

“ในช่วงฤดูร้อน ผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องออกไปเจอแสงแดดจ้า ควรสวมแว่นกันแดดที่มีคุณภาพเพื่อป้องกันดวงตาจากรังสี UV พยายามดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อยๆ ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อจากสิ่งสัมผัสรอบตัว และหลีกเลี่ยงการจับหรือขยี้ตาหากมือสกปรก นอก จากนี้ ผู้ที่คลายร้อนด้วยกิจกรรมว่ายน้ำ ควรสวมใส่แว่นตาสำหรับว่ายน้ำ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและสารคลอรีนทำร้ายกระจกตา

“สำคัญที่สุด ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักสายตาจากหน้าจอต่างๆ รวมทั้งหยอดน้ำตาเทียมบ่อยขึ้น เพื่อลดอาการตาล้า ตาแห้ง ทำให้ดวงตาชุ่มชื้นตลอดเวลา รวมถึงควรตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพดวงตาคู่สำคัญและการมองเห็นที่ชัดเจน” นายแพทย์นพวุฒิกล่าว


จีนตั้งเป้าหมายสร้างฐานสถานีวิจัยบนดวงจันทร์

หลังจากการประชุมของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้รับเหมาด้านอวกาศมากกว่า 100 คนในการประชุมที่นครอู่ฮั่นของจีน ซึ่งหารือกันถึงวิธีสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนดวงจันทร์ โดยจีนประกาศว่าการสร้างที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสำรวจดวงจันทร์ในระยะยาว และจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอย่างแน่นอน โดยจีนต้องการเริ่มงานตั้งฐานบนดวงจันทร์ภายในปี 2571 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิศวกรรมแห่งสภาวิทยาศาสตร์จีนเผยว่า ทีมวิจัยกำลังออกแบบหุ่นยนต์ชื่อ “Chinese Super Masons” เพื่อใช้ทำอิฐจากดินบนดวงจันทร์สำหรับสร้างฐานรูปวงรีที่ตั้งชื่อว่า Lunar Pot Vessel สามารถสร้างขึ้นโดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติและแสงเลเซอร์ หุ่นยนต์ทำอิฐจากดินบนดวงจันทร์ จะถูกลำเลียงไปพร้อมกับภารกิจฉางเอ๋อ-8 ราวๆปี 2571 ขณะที่มีรายงานว่าจีนตั้งเป้าหมายที่จะเก็บตัวอย่างดินจากด้านไกลของดวงจันทร์ โดยอาจมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2568 ซึ่งก่อนหน้านี้จีนได้เก็บตัวอย่างดินจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ด้วยภารกิจฉางเอ๋อ-5 ในปี 2563 มาแล้ว

การพัฒนาด้านอวกาศของจีนเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทั้ง 2 กำลังแย่งชิงความเป็นผู้นำด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯนั้นเกรงว่าจีนจะกีดกันชาติอื่นๆที่มีเป้าหมายไปดวงจันทร์ ขณะที่องค์การนาซาของสหรัฐฯก็ตั้งเป้าส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ภายในปี 2568.


'นั่งไขว่ห้าง' ระวัง 'กระดูกสันหลังคด' หนุ่ม - สาว ออฟฟิศปรับพฤติกรรมด่วน

'นั่งไขว่ห้าง' ทำให้ 'กระดูกสันหลังคด' จริงหรือ นั่งไขว่ห้างนานเท่าไหร่ จึงจะส่งผลทำให้กระดูกสันหลังคด และจะแก้ไขได้อย่างไร

แค่นั่งไขว่ห้าง ทำให้กระดูกสันหลังคดจริงหรือ นั่งไขว่ห้างนานเท่าไหร่ จึงจะส่งผลทำให้กระดูกสันหลังคด แล้วถ้ากระดูกคดแล้ว การนั่งไขว่ห้าง จะทำให้การลงน้ำหนักที่ก้นทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน น้ำหนักจะเทไปก้นข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าเสมอ ซึ่งในภาวะปกติเราจะมีกระดูกก้นกบทั้ง 2 ข้างเป็นฐานรับน้ำหนักให้สมดุล กระดูกหลังจะตั้งตรง แต่หากเทน้ำหนักลงด้านเดียวกระดูกจะบิดคด เพื่อทดแทนให้ร่างกายเราตั้งอยู่ได้

ร่างกายของคนเรามีความแข็งแรงพื้นฐานแตกต่างกัน การที่เราติดนั่งไขว่ห้างจนชิน แบบนั่งปุ๊บ ก็ไขว่ห้างปั๊บ สะสมนานอย่างต่ำก็ประมาณ 3 เดือนขึ้นไป นั่งทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 4-5 ชม.ก็ทำให้กระดูกสันหลังคดได้

สัญญาณเตือนว่ากระดูกสันหลังเริ่มคด อาจจะเริ่มต้นด้วยการเมื่อยหลัง สะบัก หรือปวดก้านคอ เป็นสัญญาณเตือนว่ากล้ามเนื้อเรามีความไม่สมดุล หรือหากคดมาก ถ้าเราถอดเสื้อผ้า มองตัวเองในกระจก อาจสังเกตเห็นว่า ไหล่ หรือหน้าอก หรือเอวคอด ทั้งสองข้างไม่เท่ากัน เป็นการทราบได้เบื้องต้น

กระดูกสันหลังคด มี 2 แบบ

1. กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด การรักษาอาจเพียงแก้ไขได้เล็กน้อย และรักษาสภาพด้วยการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ไม่ให้อาการที่เป็นทรุดมากขึ้น หลีกเลี่ยงท่าทางที่ส่งผลทำให้คดมากขึ้นเช่น นั่ง หรือยืน ลงน้ำหนักไม่เท่ากัน สะพายของ หรือหิ้วของหนักๆ ฯลฯ

2. กระดูกคดแบบเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อไม่สมดุล เช่น จากนั่งไขว่ห้าง จากยืนพักขาจนชินทำให้คด แบบนี้มีโอกาสสามารถแก้ไขให้หายได้ ด้วยการคลายกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้สมดุล ยืดกล้ามเนื้อที่มีการหดรั้งมากๆ อยู่ในท่าทางนั่ง ยืน นอนที่ถูกต้องก็มีโอกาสหายได้

ดังนั้นเราควรหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง และนั่งให้ถูกต้อง ซึ่งการนั่งที่ดี เวลานั่งต้องเลื่อนก้นให้ชิดพนัก นั่งเต็มก้นทั้งสองข้าง เท้าวางบนพื้นเท้าไม่ลอย อาจใช้วิธีลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้ายันพื้นเป็นช่วงๆ เพื่อกระตุ้นให้หลังเหยียดตรง ง่ายๆ เพียงเท่านี้ มาปรับท่านั่งให้ถูกต้อง ป้องกันไว้ดีกว่าแก้


รังลับ “นกเงือกหัวหงอก” ผืนป่าคีรีล้อม-เรียนรู้วิถีอยู่ร่วมสรรพชีวิต

ความลับไม่มีในโลกนี้ แต่ป่าที่ลึกและลับนั้นมี ลับเพราะอยู่ลึกเข้าไปในป่า ยากจะไปถึง สำหรับนกเงือกที่มีประชากรน้อยและใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่น นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill) ป่าที่ลึกและลับยังคงจำเป็น

ป่าคีรีล้อม ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ติดชายแดนไทย-เมียนมา มีเทือกเขาตะนาวศรีทอดยาวเป็นแนวเขตแดน ถ้าเป็นสมัยก่อนป่าแถบนี้คือป่าผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง ผ่านยุคการสัมปทานเหมืองแร่ เข้าสู่การจับจองพื้นที่ทำกิน การเกษตร สวนผลไม้ ยางพารา

สภาพป่าในปัจจุบันยังหลงเหลือความสมบูรณ์แม้จะไม่เท่าเดิม วัดได้จากการที่ยังมีสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่หลากหลาย รวมถึงเป็นถิ่นที่อยู่ของนกเงือกหลายสายพันธุ์ เคยมีรายงานการพบนกเงือกที่หมู่บ้านคีรีล้อม โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเริ่มเข้ามาสำรวจในปี พ.ศ. 2547

การมีนกเงือกเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของคนคีรีล้อม ต่างจากผู้คนภายนอกที่รับทราบข้อมูลว่าป่าคีรีล้อมเป็นถิ่นที่อยู่ของนกเงือกมากถึง 6 สายพันธุ์ จาก 13 สายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย

เด็กๆ และชาวบ้านในหมู่บ้านคีรีล้อมคุ้นเคยกับการมีนกกกบินไปบินมา เห็นนกเงือกกรามช้างบินผ่าน เห็นนกแก๊กกินลูกไม้ ได้ยินเสียงร้องของนกเงือกสีน้ำตาล รับรู้เพียงมันเป็นนกที่สวยงาม

“เคยเห็นนกตัวนี้ เขาบินผ่านอยู่เรื่อยครับ เช้าๆ กับเย็นๆ ตัวใหญ่”

“ผมเคยเจอแต่ไกลๆ บินกันเป็นฝูง ไม่เคยเจอใกล้ๆ ครับ ร้องกกๆๆ”

“พ่อไปกรีดยางบนเขา เจอเกือบทุกวันครับ”

“บ้านผมอยู่ซอยอนุรักษ์เก่าครับ ตัวนี้จะบินผ่านเป็นฝูงๆ เลย 7 – 8 ตัว”

หลากหลายคำบอกเล่าจากเด็กๆ บ้านคีรีล้อม ทำให้รู้ว่าป่าคีรีล้อมมีนกเงือกนานาชนิด

แม้จะคุ้นเคยกับนกเงือกมานาน แต่เด็กและชาวบ้านคีรีล้อมเพิ่งจะรู้และเข้าใจว่านกเงือกสำคัญและมีหน้าที่ในระบบนิเวศมากมายขนาดไหน ก็เมื่อ ปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัยจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามาศึกษาวิจัยในพื้นที่

ทั้งในเรื่องของป่า สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของนกเงือก ชนิดพันธุ์ที่พบ การกระจายพันธุ์ ฤดูกาลที่พืชพรรณต่างๆ เจริญเติบโตผลิดอกออกผล ผลไม้ที่นกเงือกกิน สัตว์ที่นกเงือกล่าเป็นอาหาร ยังโชคดีกว่าพื้นที่อื่นๆ ที่นี่ไม่มีปัญหาการล่านกเงือกหรือล้วงลูกนกเงือกไปขาย แต่ปัญหาการคุกคามเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกยังน่าเป็นห่วง

ศูนย์อนุรักษ์นกเงือกบ้านคีรีล้อมอยู่หน้าโรงเรียนตชด.บ้านคีรีล้อม เด็กๆ ผ่านไปผ่านมาทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น นานๆ ครั้งถึงจะมีโอกาสติดตามนักวิจัยเข้าป่าไปเรียนรู้ แต่หนทางในป่าไม่ได้สะดวกสบาย

บางเส้นทางพื้นที่ราบเรียบสักนิดแทบจะไม่มีให้เหยียบย่าง บางเส้นทางต้องเดินทวนน้ำขึ้นไป เดินเท้าไกล เขาสูง ชัน อากาศร้อนชื้นแบบฉบับป่าดิบชื้นภาคใต้ ยิ่งถ้าเป็นหน้าฝนก็ยังต้องผจญกับฝูงทากอันเป็นสัญลักษณ์ของป่าแถบนี้ เส้นทางยาวไกลกว่าจะไปถึงโพรงรังนกเงือกหัวหงอก ได้ช่วยกันซ่อมแซมรังนกให้ทันฤดูทำรังที่กำลังจะมาถึง

“เหนื่อยมากครับ ผมไม่เคยไปป่าแบบนี้ ได้เห็นทั้งรังนก ได้ช่วยซ่อมรังนกเงือก มันดีมากครับ” ด.ช.ทัตพล มอญ หรือ น้องตะวัน ป.4 กล่าว

ส่วน ด.ช.นันทพงศ์ ลิ้มมุ้ย หรือ น้องไตตั้น ก็ตื่นเต้นในประสบการณ์ใหม่ “ไม่เคยเห็นรังนกเงือกมาก่อนเลย คิดว่านกเงือกต้องทำรังบนต้นไม้สูงๆ แต่พอมาเห็น รังนกเงือกหัวหงอกอยู่ต่ำจัง” ด้าน น้องแตงไทย ด.ญ.สุนิษา ศรีวัง ป.2 ดั้นด้นตามพี่ๆ มาพบความแปลกใจว่า “ตัวมันใหญ่ ทำไมรูมันเล็ก มันเข้าไปได้อย่างไร หนูอยากมาดูค่ะ”

วสวัณณ์ รองเดช รายงาน