ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 30 เมษายน 2565

กล้องฮับเบิลติดตามสำรวจปีกของกาแล็กซี

โครงการวิทยาศาสตร์กาแล็กซี ซู (Galaxy Zoo) เป็นโครงการที่ชักชวนให้ผู้คนจำนวนมากมาเป็นอาสาสมัครที่เรียกว่า “นักวิทยาศาสตร์พลเมือง” ในการตามหาและจำแนกดาราจักรหรือกาแล็กซี รวมถึงช่วยนักดาราศาสตร์ก้าวผ่านข้อมูลจำนวนมากจากกล้องโทรทรรศน์ที่ทำงานอย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีมนุษย์ คอยควบคุม ซึ่งในกระบวน การนี้ อาสาสมัครทั้งหลายจึงได้ค้นพบกาแล็กซีที่แปลกประหลาดและมหัศจรรย์หลายแห่งหน โดยรวบรวมเก็บเป็นคลังรูปและข้อมูลไว้

อย่างไรก็ตาม กาแล็กซีบางประเภทก็ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน ล่าสุดนักดาราศาสตร์ได้ศึกษาภาพกาแล็กซีรูปทรงแปลกๆที่ได้มาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขององค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรป เป็นภาพกาแล็กซี 2 แห่งที่กำลังชนและควบรวมตัวกัน โดยตั้งชื่อระบบนี้ว่า VV-689 แถมยังตั้งชื่อเล่นว่า “แองเจิล วิง” (Angel Wing) หรือ “ปีกนางฟ้า” ซึ่งมองดูแล้วก็แตกต่างจากการเรียงตัวของกาแล็กซีปกติ VV-689 ดูเหมือนว่าจะทับซ้อนกันเมื่อมองจากโลก แต่จริงๆแล้วการเข้าชนกันของ 2 กาแล็กซีในระบบ VV-689 ทำให้เห็นลักษณะกาแล็กซีมีปีกขนาดมหึมา

ทั้งนี้ กล้องสำรวจขั้นสูง (Advanced Camera for Surveys-ACS) ที่ติดตั้งบนกล้องฮับเบิล กำลังติดตามการสังเกตอย่างละเอียดของวัตถุที่น่าสนใจจากทั้ง 2 กาแล็กซี.

Credit : ESA/Hubble & NASA;

W.Keel; Acknowledgment: J.Schmidt


นักท่องอวกาศกลับโลกแล้ว หลังเดินทางเที่ยวยาว 2 สัปดาห์

26 เม.ย.65 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักท่องเที่ยวอวกาศกลุ่มแรกที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) โดยบริษัทสตาร์ทอัพ แอ็กเซียมสเปซ ได้เดินกลับโลกแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน

นักท่องเที่ยวอวกาศประกอบด้วยนายแลร์รี่ คอนนอร์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ จากเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ นายมาร์ค พาธีย์ ซีอีโอบริษัทการลงทุนในแคนาดา และนายอีทาน สติปเบ นักลงทุนชาวอิสราเอลจากกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งทั้ง 3 คนต้องจ่ายเงินคนละ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,870 ล้านบาท

การเดินทางครั้งนี้มีนายไมเคิล โลเปซ อะเลเกรีย อดีตนักบินอวกาศนาซาผู้มีประสบการณ์ที่มารับตำแหน่งรองประธานบริษัทแอกเซียม สเปซ เป็นผู้ดูแลตลอดการเดินทาง ตั้งแต่จรวดขึ้นจากศูนย์อวกาศเคนเนดี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา

ยานของสเปซเอ็กซ์นี้ ออกจากไอเอสเอส เมื่อเวลา 08.10 น.ตามเวลาประเทศไทย เมื่อวานนี้ และลงจอดที่นอกชายฝั่งรัฐฟลอริดาในเวลา 00.00 ของวันที่ 26 เมษายนตามเวลาประเทศไทย


อังกฤษเปิดศักราชรถบิน ผุดสถานีแห่งแรก-ลุยสร้างเพิ่ม200แห่งทั่วโลก

อังกฤษเปิดศักราชรถบิน – วันที่ 25 เม.ย. เดลีเมล์รายงานว่า สถานีใช้บริการรถยนต์บินได้แห่งแรกของโลกเปิดตัวแล้วที่เมืองโคเวนทรี ภูมิภาคปกครองเวสต์มิดแลนด์ ประเทศอังกฤษ เพื่อรองรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบขึ้นลงทางดิ่ง (eVTOL) ยนตรกรรมแบบใหม่ของมนุษย์

สถานีดังกล่าวเรียกว่า เวอร์ติพอร์ต หรือที่ผู้พัฒนาอย่าง เออร์บัน-แอร์ พอร์ต เรียกสถานีชนิดนี้ว่า แอร์-วัน (Air-One) จะถูกใช้เป็นลานจอดโดรนขนาดใหญ่และรถยนต์บินได้ในอนาคตอย่างค่ายเจ็ตสัน สตาร์ทอัพชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งสร้างความฮือฮาเปิดตัวรถบินได้ไปไม่นาน

เวอร์ติพอร์ตแห่งแรกดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแม่แบบสำหรับแผนก่อสร้างสถานีเพิ่มอีกกว่า 200 แห่งในหลายประเทศทั่วโลกภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้

นายริกกี ซานดู ซีอีโอของบริษัทเออร์บัน -แอร์ พอร์ต กล่าวว่า รถยนต์มีถนน รถไฟมีราง เครื่องบินมีสนามบิน ยาน eVTOL ก็ต้องมีเออร์บัน-แอร์ พอร์ต นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการขนส่งมวลชนที่ไร้การจราจรติดขัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายซานดู ระบุว่า สถานีแอร์-วันนั้นได้รับการเปิดเผยครั้งแรกเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา หลังทางบริษัทใช้เวลาก่อสร้างสถานีเพียง 15 เดือน ซึ่งจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการก่อสร้างสถานีในอีกหลายแห่งทั่วโลกตามมาเพื่อเปิดประตูสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ให้มนุษยชาติ

ซีอีโอของเออร์บัน-แอร์ พอร์ต กล่าวอีกว่า สถานีแอร์-วันนั้นเป็นเพียงแม่พิมพ์แบบแรกของทางบริษัท โดยทางบริษัทยังคงเปิดรับออเดอร์ผู้สนใจร่วมลงทุน ซึ่งล่าสุดนั้นมีนักลงทุนติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสาเหตุที่เลือกเมืองโคเวนทรีเป็นสถานที่ประเดิมสถานีแห่งแรกเนื่องจากภูมิลำเนาอยู่ใจกลางของสหราชอาณาจักรจึงทำให้สามารถรับส่งผู้โดยสารไปได้ทั่วประเทศภายในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง

สำหรับสถานที่อื่นที่ทางบริษัทเตรียมก่อสร้างสถานีเวอร์ติพอร์ต อาทิ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ สแกนดิเนเวีย รวมถึงชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ทั้งนี้ สถานีแอร์-วัน จะถูกใช้เป็นสถานีทดสอบยาน eVTOL ที่ทำหน้าที่เป็นแท็กซี่บินได้ รวมถึงยาน eVTOL สกายแฟเรอร์ ซึ่งเป็นรถตำรวจบินลาดตระเวนใหม่ล่าสุดของตำรวจเวสต์มิดแลนด์ ส่วน eVTOL นั้นย่อมาจาก electric Vertical Take-Off and Landing


ดาวเทียมสำรวจพบการระเบิดของดวงดาวในรูปแบบใหม่

นานหลายศตวรรษที่นักดาราศาสตร์รู้จัก “โนวา” (Nova) ซึ่งเป็นการระเบิดของนิวเคลียร์อย่างรุนแรง เกิดจากการสะสมมวลของไฮโดรเจนสู่พื้นผิวของดาวแคระขาว ก่อให้เกิดการจุดระเบิดและเกิดนิวเคลียร์ฟิวชันในภาวะความร้อนแบบฉับพลัน นักดาราศาสตร์ชาวแดนมาร์กในศตวรรษที่ 16 ชื่อทีโค บราห์ เป็นผู้คิดคำนี้ขึ้นหลังได้เห็น “ซุปเปอร์โนวา” (Supernova) เมื่อ พ.ศ.2115 จนล่วงเลยมาถึงทศวรรษที่ 1930 นักวิทยาศาสตร์เริ่มแยกแยะเหตุการณ์ต่างๆได้ และพบว่าสาเหตุและพลังงานของ “โนวา” และ “ซุปเปอร์โนวา” นั้นแตกต่างกันมาก

ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ร่วมด้วยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอรัมในอังกฤษ เผยว่า พบข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจอวกาศเทสส์ที่ทำภารกิจตามหาดาวเคราะห์นอกระบบ แสดงให้เห็นถึงแสงวาบช่วงระยะเวลาสั้นๆจากดาวแคระขาว แทนที่จะหรี่แสงลง แต่แสงวาบนั้นเล็กเกินกว่าจะเป็นโนวา ซึ่งมีพลังมากกว่าและมีช่วงเวลายาวนานกว่ามาก ทีมงานจึงเริ่มค้นหาสถานการณ์ที่สามารถอธิบายแสงวาบช่วงสั้นๆ นี้ และพบว่าคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดคือมันน่าจะเป็น “ไมโครโนวา” (Micronovae) พร้อมอธิบายว่าเมื่อดาวแคระขาวที่มีสนามแม่เหล็กกำลังสูงอยู่ในระบบดาวคู่ มันสามารถดูดสสารออกจากดวงดาวข้างเคียงได้ โดยสนามแม่เหล็กจะส่งสสารไปยังขั้วของดาวแคระขาว ซึ่งสะสมจนทำให้เกิดการระเบิดนั่นเอง

ปรากฏการณ์นี้ท้าทายความเข้าใจของนักดาราศาสตร์ว่าการระเบิดนิวเคลียร์อย่างรุนแรงในดาวฤกษ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้ ไมโครโนวาอาจพบได้ทั่วไปในจักรวาลแต่ตรวจจับได้ยากเพราะอยู่ได้ในชั่วเวลาไม่นาน


ผลตรวจ ATK ดูยังไง อยู่ได้กี่วัน? ATK 1 ขีด 2 ขีด ขีดจาง แพร่เชื้อเลยไหม!

ตรวจ ATK คือ วิธีตรวจคัดกรองการติดเชื้อโรคโควิด-19 เบื้องต้น โดยประชาชนที่สงสัยว่าตัวเองมีอาการหลังจากใกล้ชิดผู้ติดเชื้อก็สามารถซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจหาได้ด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากการอ่านผลนั้นมีโอกาสขึ้นผลบวกลวง หรือขึ้นขีดแต่ไม่ได้ติดเชื้อ จึงต้องศึกษาวิธีใช้จากฉลากชุดตรวจ ATK ที่ซื้อมาใช้ ทั้งแบบน้ำลาย และแยงจมูก

ตรวจ ATK ขึ้น 1 และ 2 ขีด แปลว่าอะไร

หากตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด มีคำแนะนำจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเข้าสู่การรักษาแต่ละสิทธิผู้ป่วยนอก หรือ OPD Case เพื่อเข้ารับการรักษากับคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) หรือคลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI) กับทุกโรงพยาบาลในสิทธิ สปสช. ดังนี้

1. สิทธิบัตรทอง 30 บาท : โรงพยาบาลที่รับสิทธิบัตรทอง และหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น รพ.สต., รพ.ศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นต้น

2. สิทธิประกันสังคม : โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม

3. สิทธิข้าราชการ : โรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐ

นอกจากนี้ยังมีช่องทางที่โทรศัพท์ติดต่อรักษาได้ดังนี้

1. กรุงเทพมหานคร โทรสายด่วนแต่ละเขต

2. ต่างจังหวัด โทรศัพท์ไปยังสายด่วนโควิดอำเภอหรือจังหวัด หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน

3. ทั่วประเทศโทร สายด่วน สปสช. 1330 กด 14

ระหว่างที่เข้าสู่ระบบการรักษา เมื่อ ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำก็เข้าสู่ระบบการรักษาได้ โดยแยกตามอาการ ดังนี้

มีภาวะเสี่ยง

1. กลุ่มผู้มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

2. กลุ่มผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง

3. กลุ่มผู้มีอาการโรครุนแรงมาก

ไม่มีภาวะเสี่ยง

1. เข้าสู่ระบบรักษาแบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน

2. สถานพยาบาลดูแลแบบ tele-health

วิธีการรักษาเมื่อตรวจATK ขึ้น 2 ขีด

1. จ่ายยาตามอาการ

2. โทรติดตามอาการครั้งเดียว 48 ชั่วโมง

3. ระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง

4. ไม่ได้รับอาการ ไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมิน เช่น เครื่องวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว