ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 13 กุมภาพันธ์ 2564

“Silent Hypoxemia” ภาวะขาดออกซิเจนเงียบ ต้นเหตุผู้ป่วย COVID เสียชีวิตกะทันหัน

หลายวันก่อน เพจดัง Drama addict ออกมาเผยถึงอันตรายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวของผู้ป่วย COVID-19 ที่เรียกว่า “Happy Hypoxemia” หรือ “silent hypoxemia” ซึ่งไม่มีอาการแสดง กว่าจะรู้ตัว ส่วนใหญ่อาการมักเข้าขั้นรุนแรงแล้ว และทำให้เสียชีวิตในที่สุด

ความน่ากลัวของอาการที่ว่า คือ ไม่มีอาการเหนื่อย หรือมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แต่เมื่อวัดค่าออกซิเจนในเลือด กลับพบว่าต่ำกว่าปกติมาก และพอเริ่มมีอาการ เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก นั่นก็คืออาการรุนแรงแล้ว ส่วนใหญ่ถ้าไปโรงพยาบาลไม่ทันการณ์ มักเสียชีวิตภายในระยะเวลาเพียง 1-2 วัน

บทวิเคราะห์โดย EIU Healthcare, supported by Reckitt Benckiser ระบุว่า ปรากฏการณ์ของการขาดออกซิเจนเงียบหรือ hypoxemia ถูกรายงานครั้งแรกในการศึกษาจากประเทศจีน และต่อมาก็เริ่มมีการสังเกตโดยแพทย์ ทั้งในอังกฤษ และ ประเทศในยุโรปอื่นๆ

ดหมายเผยแพร่โดยแพทย์จากจีน รายงานลักษณะและการรักษาผู้ป่วย 168 รายที่เสียชีวิตจาก COVID-19 ระหว่างวันที่ 21-30 มกราคม ปี 2020 ใน 21 โรงพยาบาลของเมืองอู่ฮั่น ระบุว่า อายุเฉลี่ยของผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ อยู่ที่ประมาณ 70 ปี โดย 75% มีปัญหาสุขภาพพื้นฐาน และมีรายงานว่า คนป่วยทั้ง 168 ราย ได้รับออกซิเจนขณะอยู่ในโรงพยาบาล

27% รับออกซิเจนผ่านหน้ากากหรือจมูก cannula เท่านั้น 43% ได้รับการระบายความดันเป็นบวก และ 20% ถูกใส่ท่อช่วยหายใจและรับการช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ

ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าว ยังระบุว่า เปอร์เซ็นต์ของการใช้เครื่องช่วยหายใจอาจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากในเวลานั้นเป็นช่วงพีกสูงสุดของการระบาด ที่เครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ และผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะ hypoxemia รุนแรง แต่ไม่มีอาการอื่นๆ เช่น หายใจถี่ เหนื่อย หอบ ที่เรียกว่า silent hypoxemia หรือการขาดออกซิเจนเงียบ

บทบรรณาธิการใน วารสาร Intensive Care Medicine อธิบายว่า อาการปอดบวมในผู้ป่วย COVID-19 เป็น “โรคที่เฉพาะเจาะจง” ซึ่งอาจมีภาวะ hypoxemia รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของปอดในการขยายและรับอากาศ หรือบางสิ่งที่ไม่ปกติ ในกลุ่มอาการหายใจลำบาก แต่ผู้ป่วยมีความทนทานสูง และยังคงมีการหายใจที่ปกติ จนไม่ทันสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการไม่ปกติบางอย่างในการหายใจ

ในรายงานของแพทย์ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่ผิดปกติในผู้ป่วย COVID-19 ที่ผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำอย่างยิ่ง แต่กลับไม่มีการหายใจที่ผิดปกติ จึงถูกเรียกว่า “การขาดออกซิเจนเงียบ” หรือ “การขาดออกซิเจนในเลือด” ซึ่งหมายถึงออกซิเจนในเลือดต่ำ โดยอาการนี้จะยังไม่ถูกตรวจพบจนกว่าผู้ป่วยจะป่วยหนัก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ความเสียหายและอาการอักเสบของถุงลมในปอดอาจรุนแรง จนร่างกายไม่สามารถถ่ายโอนออกซิเจนเข้าไปในเส้นเลือดฝอยเล็กๆได้ อาการที่เกิดขึ้น คือ หายใจเร็วเพื่อรับออกซิเจนมากขึ้น

คนกลุ่มนี้เมื่อมาถึงโรงพยาบาล มักต้องใส่ท่อช่วยหายใจทันที เพราะระบบหายใจล้มเหลว โดยส่วนหนึ่งอาจเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล British Journal of Anesthesia ได้ถอดบทเรียนจากเวชศาสตร์การบินและแนะนำว่าอาการของภาวะ hypoxemia เงียบ อาจเป็นเพราะออกซิเจนในเลือดต่ำ และเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง

หลังจากรายงานนี้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่าผู้คนควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีปัญหาเรื่องการหายใจหรือความเจ็บปวดที่เริ่มรู้สึกว่ามีแรงกดทับที่หน้าอก

เพจดัง Drama Addict จึงบอกว่า คนไข้ที่ติดโควิดจำนวนมาก แม้ค่าออกซิเจนจะต่ำกว่าปกติมาก แต่ยังชิลๆ กระทั่งถึงจุดหนึ่ง จะเริ่มมีอาการเหนื่อยแบบรุนแรง จนระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่ออกซิเจน ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังจากแสดงอาการ

ขณะนี้วงการแพทย์ทั่วโลก กำลังศึกษาว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดอาการแบบนี้กับผู้ติดเชื้อ ส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการที่เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อาจส่งผลต่อสมองหรือระบบประสาททำให้การทำงานของสมองที่ควรจะตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจน ทำงานได้ลดลง.


ค้นพบซากฟอสซิลต้นไม้ขนาดใหญ่กลายเป็นหิน อายุ 20 ล้านปี

หลายครั้งที่ของหายากบางสิ่งก็ปรากฏตัวขึ้นแบบง่ายดาย โดยเฉพาะค้นพบโดยบังเอิญจากการทำงาน เช่นกรณีของคนงานที่กำลังสร้างถนนใกล้กับป่าหินโบราณอายุนับหลายล้านปีบนเกาะเลสบอส ในประเทศกรีซ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลต้นไม้หายาก

ที่ว่าหายากก็คือซากฟอสซิลต้นไม้ต้นนี้มีขนาดใหญ่โตยาวประมาณ 19 เมตร กิ่งก้านและรากยังคงรูปร่างสมบูรณ์ แม้จะผ่านกาลเวลามานานถึง 20 ล้านปี ผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งป่าหินเลสบอส เผยว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการพบต้นไม้ในสภาพดีพร้อมทั้งกิ่งก้านและราก หลังจากการขุดเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2538 และยังเป็นการค้นพบที่ไม่เหมือนใคร เพราะด้วยสภาพที่ดีเยี่ยมของฟอสซิล ทำให้สามารถจะระบุชนิดของพืชได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดป่าหินบนเกาะเลสบอส ก็เป็นผลมาจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อ 20 ล้านปีก่อน ซึ่งทำให้ระบบนิเวศของป่ากึ่งเขตร้อนของเกาะในขณะนั้นปกคลุมไปด้วยลาวา ดังนั้น ซากฟอสซิลต้นไม้ใหญ่นี้จึงถูกเก็บรักษาภายใต้เถ้าภูเขาไฟหนาหลายชั้นหลังจากต้นไม้โค่นลง นอกจากนี้ยังพบใบของต้นไม้ ผลไม้จำนวนมากในจุดเดียวกัน และพบกระดูกสัตว์ที่มีอยู่ตามพื้นที่ทั่วไป ทั้งนี้ ป่าหินโบราณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันได้รับการคุ้มครองโดยองค์การยูเนสโก.


ประวัติศาสตร์จารึก UAE ชาติที่ 5 ส่งยานสำรวจถึงดาวอังคารสำเร็จ

ยูเออีกลายเป็นชาติที่ 5 ของโลก ที่ส่งยานสำรวจไปถึงดาวอังคารสำเร็จ หลังจากยานโคจร ‘โฮป’ เข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้เมื่อวันอังคาร

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ยานโคจร ‘โฮป’ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เดินทางถึงดาวอังคารแล้วในวันที่ 9 ก.พ. 2564 และสามารถเข้าสู่วงโคจรได้ในความพยายามเพียงครั้งเดียว ทำให้ยูเออีกลายเป็นประเทศที่ 5 ของโลกที่ส่งยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ได้สำเร็จ

สำนักงานอวกาศยูเออี เริ่มถ่ายทอดสดการเดินทางของยานโฮปตั้งแต่เวลา 10:00น. วันที่ 9 ก.พ. โดยหลังจากเข้าสู่วงโคจรสำเร็จ ยานโฮปก็ส่งสัญญาณยืนยันกลับมายังเจ้าหน้าที่บนโลก ซึ่งโพสต์ข่าวดีนี้ผ่านทวิตเตอร์เมื่อเวลาประมาณ 11:16น. ว่า “สำเร็จ! ติดต่อกับ #HopeProbe ได้อีกครั้ง การเข้าสู่วงโคจรดาวอังคารเสร็จสมบูรณ์แล้ว”

ทั้งนี้ ภารกิจดาวอังคารของยูเออีไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ยานโฮปซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 3 อย่าง จะเก็บภาพชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร รวมทั้งเก็บข้อมูลเพื่อประเมินฤดูกาลและความเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจมากขึ้นว่า ในบรรยากาศแต่ละชั้นของดาวอังคารมีสภาพอากาศอย่างไร และอาจไขปริศนาว่า พลังงานและอนุภาคอย่าง ออกซิเจนและไฮโดรเจน เคลื่อนตัวผ่านบรรยากาศและออกไปจากดาวอังคารได้อย่างไรด้วย

อนึ่ง ภารกิจ โฮป เป็น 1 ใน 2 ภารกิจสำรวจดาวอังคารที่ถูกส่งออกจากโลกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดยอีก 2 ภารกิจคือ ‘ยานเพอร์เซอเวอแรนซ์’ (Perseverance rover) ของนาซา และภารกิจ ‘เทียนเหวิน-1’ ของจีน โดยโฮปจะโคจรรอบดาวอังคาร ส่วนเทียนเหวินจะโคจรและลงจอด ขณะที่เพอร์เซอเวอแรนซ์จะลงจอดบนดาวอังคาร


สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ทางเลือกของคนอยากลดความอ้วนที่ต้องลอง

จะลดน้ำหนักทั้งที แต่ก็ยังโหยหาเมนูของหวาน จนทำให้การลดความอ้วนไม่เคยประสบความสำเร็จสักที หากสาวๆ กำลังเผชิญกับปัญหาแบบนี้กันอยู่ เรามีวิธีง่ายๆ มาแนะนำแบบที่ไม่ต้องลดหวานก็ลดน้ำหนักได้เหมือนกัน ด้วยทางเลือกของการใช้ "สารให้ความหวานแทนน้ำตาล" ด้วยคุณสมบัติของรสชาติที่ใกล้เคียงกับน้ำตาล แต่แคลอรี่ต่ำกว่า บางชนิดก็มีแคลอรี่เท่ากับ 0 ดังนั้น ถ้าอยากเดินสายกลาง กินอาหารแบบพอดี ไม่สุดโต่งจืดชืดจนน่าเบื่อ นี่คือทางเลือกที่น่าสนใจ ดังนั้น ลองเอาไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของตัวเองกันได้เลยค่ะ

1. น้ำผึ้ง น้ำผึ้งเป็นความหวานที่ได้มาจากธรรมชาติ มีกลิ่นหอมหวานเป็นเอกลักษณ์พิเศษ สารให้ความหวานชนิดนี้นอกจากจะนำไปใช้แต่งเติมรสชาติเพื่อให้ได้ความหวานและกลิ่นที่หอมแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไอ แก้เจ็บคอ ที่สำคัญช่วยลดอาการท้องผูก ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ ด้วย อีกทั้งยังสามารถช่วยลดน้ำหนักสำหรับคนอ้วน เพราะมีฤทธิ์คล้ายยาระบายอ่อนๆ โดยในน้ำผึ้งมีไพรโอติกส์ เป็นสารที่มีส่วนช่วยในการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี นิยมนำไปผสมในอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน จำพวกขนมและสลัด แต่กระนั้นน้ำผึ้งก็ยังมีแคลอรี่สูง หากแต่เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ร่างกายจึงสามารถนำไปใช้ได้เลย จึงช่วยลดการสะสมอยู่ในกระแสเลือดได้ในระดับหนึ่ง

2. เมเปิลไซรัป เมเปิลไซรัป เป็นน้ำเชื่อมที่ทำมาจากต้นเมเปิล โดยใช้กรรมวิธีในการนำน้ำจากต้นเมเปิล มาระเหยให้เกิดความเข้มข้นจนได้เป็นเมเปิลไซรัปที่มีรสชาติหวาน และมีกลิ่นหอมที่สามารถนำมาใช้แทนน้ำตาลได้ นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่มากมาย เช่น แคลเซียมที่มีมากกว่าน้ำผึ้งถึง 15 เท่า อีกยังทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ส่งผลดีต่อผู้ที่ต้องการจะลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ถือเป็นความหวานที่เข้ามาทำหน้าที่ได้ดีกว่าน้ำตาลทั่วไปในท้องตลาดได้อย่างดีเยี่ยม

3. หญ้าหวาน หญ้าหวานเป็นสารทดแทนความหวานที่อาจเรียกได้ว่ามีประโยชน์และให้ความหวานในระดับที่เข้มข้น ด้วยระดับที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลมากกว่า 250 เท่า แต่กลับให้พลังงานน้อยกว่า จึงกลายเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดี โดยหญ้าหวานเป็นสารสกัดที่มาจากธรรมชาติ จึงไม่ใช่ความหวานที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว แต่รสชาติของหญ้าหวานจะมีความหวานที่คนคุ้นเคยกับน้ำตาลอาจไม่ค่อยคุ้นลิ้นเท่าใดนัก เพราะเป็นรสหวานปะแล่มต่างจากน้ำตาลอยู่เล็กน้อย แต่ถ้าเพื่อการดูแลสุขภาพ สารให้ความหวานชนิดนี้ก็ถือเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพอย่างแพร่หลายเลยทีเดียวอย่างไรก็ตาม เมื่อเลือกเอาสารทดแทนความหวานเหล่านี้มาเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพกันแล้ว อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีวินัยในการจัดสรรเมนูอาหารแต่ละมื้อให้หลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารไร้ประโยชน์ที่อุดมไปด้วยไขมันและแป้งในปริมาณสูง เพราะทุกสารอาหารล้วนส่งผลต่อการลดความอ้วนของสาวๆ ด้วยกันทั้งสิ้น


แผนที่กาแลกซี่ฯล่าสุด! พบโลกเคลื่อนเข้าใกล้หลุมดำเร็วขึ้น

ผลวิจัยที่ทีมวิจัยสดร.ร่วมกับทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติเก็บข้อมูล พบว่าโลกเคลื่อนตัวเร็วขึ้น 7 กม./วินาที เข้าใกล้หลุมดำ แต่ยันจะไม่ถูกหลุมดำดูดไปง่ายๆ

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ แผนที่กาแล็กซีทางช้างเผือกล่าสุด บ่งชี้ว่าโลกเคลื่อนที่เข้าใกล้หลุมดำเร็วกว่าเดิม โดยนักวิจัย สดร. ร่วมทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ เก็บข้อมูลผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล VERA ของประเทศญี่ปุ่น พบว่าโลกเคลื่อนที่เร็วขึ้น ด้วยอัตรา 7 กิโลเมตรต่อวินาที และเข้าใกล้หลุมดำมวลมหาศาลใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกมากขึ้น ที่ระยะสั้นกว่าเดิมประมาณ 2,000 ปีแสง แต่อย่างไรก็ตาม โลกของเราจะยังไม่ถูกดูดเข้าสู่หลุมดำได้โดยง่าย ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงใน Publications of the Astronomical Society of Japan เมื่อสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

เนื่องจากโลกของเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุริยะและอยู่ภายในกาแล็กซีทางช้างเผือก ดังนั้น การถ่ายภาพลักษณะกาแล็กซีที่เราอาศัยอยู่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะทางดาราศาสตร์มาช่วยวัดตำแหน่งและศึกษาการเคลื่อนที่ของวัตถุ เรียกว่า การวัดตำแหน่งของวัตถุดาราศาสตร์ (Astrometry) เทคนิคดังกล่าวช่วยให้เข้าใจโครงสร้างทั้งหมด รวมถึงตำแหน่งระบบสุริยะของเราในกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โครงการเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกล VERA หรือ VLBI Exploration of Radio Astrometry (“VLBI” เป็นคำย่อจาก Very Long Baseline Interferometry) ของประเทศญี่ปุ่น ได้สรุปผลการสังเกตการณ์วัตถุทางดาราศาสตร์ 99 วัตถุและเผยแพร่เป็นข้อมูลแค็ตตาล็อกการวัดระยะทางดาราศาสตร์ขึ้นมาเป็นเล่มเเรก

โครงการ VERA เริ่มศึกษาการสร้างแผนที่ความเร็วในรูปแบบสามมิติและโครงสร้างเชิงพื้นที่ของกาแล็กซีทางช้างเผือก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ใช้เทคนิคพิเศษ เรียกว่า การแทรกสอดข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุหลายสถานีเข้าด้วยกัน มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีขนาดหน้าจานกว้างถึง 2,300 กิโลเมตร และให้ค่าความละเอียดเชิงมุมแม่นยำถึง 10 ไมโครฟิลิปดา (เทียบเท่ากับการที่เราสามารถมองเห็นเหรียญบาทที่วางอยู่บนดวงจันทร์ได้)

นักดาราศาสตร์ได้สร้างแผนที่ตำแหน่งและความเร็วจากข้อมูลแค็ตตาล็อกดังกล่าว ร่วมกับผลการสังเกตการณ์โดยกลุ่มวิจัยอื่น ๆ จนสามารถคำนวณหาศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกได้ ยิ่งไปกว่านั้นแผนที่นี้ยังบ่งชี้ถึงจุดศูนย์กลางของกาแล็กซีที่มีหลุมดำมวลมหาศาล อยู่ห่างจากโลก 25,800 ปีแสง ซึ่งพบว่ามีระยะทางสั้นกว่าค่าเดิม (ระยะทางเดิม 27,700 ปีแสง) ที่สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ หรือ IAU (the International Astronomical Union) เคยคำนวณไว้เมื่อปี พ.ศ. 2528 และยังพบว่าโลกหมุนรอบจุดศูนย์กลางกาแล็กซีทางช้างเผือกด้วยความเร็วเฉลี่ย 227 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อเทียบกับค่าความเร็วมาตรฐานที่เคยคำนวณไว้ก่อนหน้านี้ คือ 220 กิโลเมตรต่อวินาที จึงพบว่าเร็วกว่าเดิมอยู่ 7 กิโลเมตรต่อวินาที

โครงการ VERA ได้ตั้งเป้าหมายสังเกตการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะวัตถุที่อยู่ใกล้หลุมดำมวลมหาศาลบริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงผลโครงสร้างและการเคลื่อนที่ของกาแล็กซีให้ถูกต้องครอบคลุมมากที่สุด โดยร่วมมือกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลในเอเซียตะวันออก EAVN (East Asian VLBI Network) ทำงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุจากหลากหลายสถานี ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ยิ่งจำนวนของกล้องฯ เพิ่มมากขึ้น และอยู่ห่างกันมากเท่าใด ก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ละเอียดแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลในเอเชียตะวันออก (East Asian VLBI Network: EAVN) มี KaVA เป็นอะเรย์ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุเครือข่ายที่ประกอบด้วย เครือข่าย VERA (VLBI Exploration of Radio Astrometry) ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากล้อง 20 เมตร จำนวน 4 ตัว และ เครือข่าย KVN (Korean VLBI Network) ในประเทศเกาหลีใต้ ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากล้อง 21 เมตร 3 ตัว ในอนาคต เครือข่าย KaVA จะมีความร่วมมือในหลากหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านทาง EAVN ร่วมกับประเทศอื่น ๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติของไทยด้วย

ดร. โคอิชิโร่ ซุกิยะมะ (Dr. Koichiro Sugiyama) นักวิจัยด้านการกำเนิดของดาวฤกษ์มวลมาก กลุ่มวิจัยดาราศาสตร์วิทยุ สดร. เป็นผู้ร่วมเขียนบทความในครั้งนี้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน สดร. กำลังดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี สร้างหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ขนาด 40 เมตร ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแผนจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลภูมิภาคเอเชียตะวันออก (EAVN) เชื่อมต่อกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวอื่น ๆ ได้ยาวมากขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพเครือข่ายและพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ตั้งอยู่บริเวณซีกฟ้าใต้มากสุดเมื่อเทียบกับกล้องฯ อื่น ๆ ในเครือข่าย ทำให้ตรวจจับสัญญาณที่มีความเข้มฟลักซ์ต่ำได้ดี ให้ค่าความละเอียดแม่นยำที่ดีกว่า เพิ่มโอกาสสังเกตการณ์วัตถุที่อยู่บริเวณซีกฟ้าใต้ รวมถึงหลุมดำมวลมหาศาล พร้อมทั้งประมวลผลภาพได้อย่างมีคุณภาพดียิ่งขึ้น”

อ้างอิง:

https://www.miz.nao.ac.jp/.../20201125_catalog/index-e.html

https://www.miz.nao.ac.jp/veraserver/index.html

https://radio.kasi.re.kr/kvn/main_kvn.php

https://radio.kasi.re.kr/kava/main_kava.php

https://radio.kasi.re.kr/eavn/main_eavn.php

เรียบเรียงภาคภาษาอังกฤษ: Dr. Ramsey Lundock - บรรณาธิการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น (หรือ NAOJ) / Dr. Tomoya Hirota - นักวิจัย NAOJ / Dr. Koichiro Sugiyama - นักวิจัย สดร.

เรียบเรียงภาคภาษาไทย: ดร.กิติยานี อาษานอก - นักวิจัย สดร. และ กลุ่มวิจัยดาราศาสตร์วิทยุ สดร.”