ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



เจมส์เวบบ์เผยกาแล็กซีในกระจุกกาแล็กซี

“เอล กอร์โด” (El Gordo) เป็นกระจุกกาแล็กซีที่เกิดขึ้นเมื่อเอกภพหรือจักรวาลมีอายุ 6,200 ล้านปี นักดาราศาสตร์จึงกำหนดเป้าหมายให้ เอล กอร์โด ทำหน้าที่เป็นแว่นขยายจักรวาลตามธรรมชาติผ่านปรากฏการณ์ที่เรียกว่าเลนส์ความโน้มถ่วง ซึ่งแรงโน้มถ่วงที่ทรงพลังของมันจะโค้งงอและบิดแสงของวัตถุที่อยู่ข้างหลัง เหมือนกับเลนส์แว่นตา ปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงของ “เอล กอร์โด” ได้ช่วยเพิ่มความสว่างและขยายขนาดของกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลให้เราได้เห็น

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซนา ในสหรัฐอเมริกา เผยการวิเคราะห์ภาพใหม่ของกระจุกกาแล็กซีเอล กอร์โด เป็นภาพอินฟราเรดฝีมือของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ แสดงให้เห็นวัตถุที่อยู่ห่างไกลและเต็มไปด้วยฝุ่นแบบไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้บอกใบ้เป็นนัยไว้ ภาพใหม่ของกล้องเจมส์เวบบ์จึงเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สดใหม่อย่างมาก เช่น ได้เห็นส่วนโค้งสว่างที่แสดงด้วยสีแดงเหมือนตะขอที่ด้านขวาบนของภาพ เป็นกาแล็กซีชื่อ “เอล อันซูเอโล” (El Anzuelo) สีแดงที่โดดเด่นเกิดจาก การรวมกันของสีแดงจากฝุ่นภายในกาแล็กซีเองและการเปลี่ยนแปลงทางจักรวาลวิทยาเนื่องจากระยะทางไกลสุดขั้ว หรือเส้นบางๆที่ตรงกลางค่อนไปด้านซ้าย คือกาแล็กซีชื่อ “ลา ฟลากา” (La Flaca)

และไม่ไกลจาก “ลา ฟลากา” ก็มีกาแล็กซีอีกแห่งหนึ่ง เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบดาวยักษ์แดงที่ตั้งอยู่ในนั้น มีชื่อว่า Quyllur เป็นคำในภาษาเกชัวที่แปลว่า “ดาวฤกษ์”.

Credit : Image: NASA, ESA, CSA, Science: Jose M. Diego (IFCA), Brenda Frye (University of Arizona),


คุณเสี่ยงเป็น"โรคซึมเศร้า" หรือไม่?

“ซึมเศร้า” ทางการแพทย์ หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีความรุนแรงมากกว่าอารมณ์เศร้าตามปกติ โดยบางรายอาการเด่นอาจจะมีลักษณะ ความสุขหายไปก็ได้ สาเหตุของโรคเกิดจากมีความผิดปกติในการหลั่งสารเคมีของสมองบริเวณส่วนของความคิด อารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรม พบได้ทั้งในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มพบได้ในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดสูง ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายขาดได้ด้วยการใช้ยา หรือการใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด

ความเครียด สาเหตุของ "โรคซึมเศร้า" ที่พบบ่อย

เกิดจากความเครียดที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดโทษกับชีวิตได้ บางกรณีอาจจะพัฒนากลายเป็นโรคจิตเวชอื่นๆต่อไป... แล้วจะเริ่มสังเกตตัวเองอย่างไร?

ทางกาย

1. พฤติกรรมการกินเปลี่ยน น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

2. การนอนผิดปกติ บางคนอาจจะมีการนอนไม่หลับแต่บางคนอาจจะนอนมากเกินกว่าปกติ

3. ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ปวดคอบ่าไหล่ อ่อนเพลีย ไม่สดชื่นเท่าปกติ

4. มีการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ามากขึ้น

5. โรคประจำตัวเดิมอาจจะคุมได้ลำบากขึ้น เช่นความดันขึ้น

ทางอารมณ์

1. มีความกังวล รู้สึกเครียดตลอดเวลา

2. ซึมเศร้ารู้สึกทุกข์ใจมากกว่าปกติ

3. อารมณ์หงุดหงิดมากผิดปกติ

4. มีความกระวนกระวายใจ ว้าวุ่นใจ

ทางความคิด

1. ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ หลงลืมมากกว่าปกติ

2. การตัดสินใจหรือการแก้ไขปัญหาแย่ลง

3. คิดฟุ้งซ่าน คิดหมกมุ่นในเรื่องอดีต

4. ความมั่นใจในตนเองลดลง

5. มีความคิดทำร้ายตนเอง คิดเรื่องตาย

หาก “คุณ” มีอาการเหล่านี้หลายข้อ หรือ ครบทุกข้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาจจะต้องระวังว่า “คุณ” กำลังเสี่ยงเป็น โรคซึมเศร้า

จำเป็นต้องปรึกษาและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์เฉพาะทาง เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นและนำไปสู่การสูญเสียได้ ฉะนั้นการปล่อยให้มีอาการที่สะสมขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดโทษกับชีวิตได้

ข้อมูล :โรงพยาบาล Bangkok Mental Health Hospital (BMHH)


หน่วยงานสภาพอากาศอียูชี้ กรกฎาคมปีนี้ ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์

ศูนย์สังเกตการณ์การณ์สภาพอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป (อียู) ยืนยันในวันที่ 8 กรกฎาคมว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ในโลก

ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคมปีนี้เต็มไปด้วยคลื่นความร้อนและไฟป่าที่เผาผลาญในหลายจุดทั่วโลก ทำให้อุณหภูมิของเดือนกรกฎาคมสูงกว่าสถิติที่ร้อนที่สุดในปี 2019 ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 16.63 องศาเซลเซียส

ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนกรกฎาคมในปีนี้ อุ่นขึ้นกว่าปี 1991-2020 ที่ 0.72 องศาเซลเซียส

โลกร้อนขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 1800 โดยมีแรงผลักดันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทำให้คลื่นความร้อนยิ่งร้อนมากขึ้น นานขึ้น และบ่อยขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงขึ้น อาทิ พายุและน้ำท่วม

ศูนย์สังเกตการณ์การณ์สภาพอากาศโคเปอร์นิคัสระบุว่า คลื่นความร้อนเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคในซีกโลกเหนือ รวมถึงทางตอนใต้ของยุโรป อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยนั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศในอเมริกาใต้ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอนตาร์กติกา

“ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิทั่วโลกในปี 2023 สูงเป็นอันดับ 3 จากสถิติเท่าที่เคยบันทึกมา จาก 0.43 องศาเซลเซียส ในระหว่างปี 1991-2020 เทียบกับ 0.49 องศาเซลเซียสในปี 2016 และ 0.48 องศาเซลเซียสในปี 2020 คาดว่าช่องว่างระหว่างปี 2023 กับปี 2016 จะแคบลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากครึ่งหลังของปี 2016 อากาศค่อนข้างเย็น แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2023 น่าจะอุ่นขึ้นเนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญ

อุณหภูมิของมหาสมุทรโลกก็ยังสร้างสถิตใหม่ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความวิตกกังวลถึงสภาพอากาศของโลก สิ่งมีชีวิตในทะเล และชุมชนชายฝั่ง

ตามข้อมูลของศูนย์สังเกตการณ์การณ์สภาพอากาศโคเปอร์นิคัส อุณหภูมิของมหาสมุทรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 20.96 องศาเซลเซียสในวันที่ 30 กรกฎาคม โดยอุณหภูมิที่ครองสถิติก่อนหน้านี้คือ 20.95 องศาเซลเซียสในเดือนมีนาคม 2016

ซาแมนธา เบอร์เกส รองผู้อำนวยการโคเปอร์นิคัสกล่าวว่า เราเพิ่งได้เห็นอุณหภูมิโลกและอุณหภูมิของพื้นผิวมหาสมุทรที่ทำสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคม สถิติเหล่านี้ส่งผลร้ายแรงทั้งต่อผู้คนและต่อโลก ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ด้านสภาพอากาศรุนแรงที่หนักหนาสาหัสขึ้นและถี่ขึ้นไปพร้อมๆ กัน

เบอร์เกสบอกด้วยว่า ปี 2023 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 0.43 องศาเซลเซียสเหนือค่าเฉลี่ยล่าสุด โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม

“แม้ว่ามันเป็นเป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนต่อความพยายามอันทะเยอทะยานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเบื้องหลังสถิติเหล่านี้” เบอร์เกสกล่าว


'เปิดไฟนอน' เปิดไฟสลัวๆ นอน ผลวิจัย พบ เสี่ยง 3 โรค ร้าย

การนอนหลับ ไม่ใช่ดีเสมอไป เมื่อเปิด ผลวิจัย การ 'เปิดไฟนอน' หรือแค่ 'เปิดไฟสลัวๆ นอน พบ เสี่ยงเป็น 3 โรค เปิดสาเหตุ การนอนหลับ ถือเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ที่จะเป็นการหลั่งสารเมลาโทนิน แต่ปัจจัยเรื่องแสง และความสว่าง ก็ส่งผลต่อการหลั่งเมลาโทนินเช่นกัน เนื่องจากเมลาโทนินจะหลั่งออกมาในเวลากลางคืน หรือเมื่ออยู่ในที่มืด มีแสงน้อย และร่างกายจะถูกยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน เมื่ออยู่ภายใต้แสงไฟ ความสว่างของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

ซึ่งผลวิจัยพบว่า การ เปิดไฟนอน หรือแม้แต่การ “เปิดไฟสลัวๆ” นอน ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งเสี่ยงเป็นทั้งโรคเบาหวาน, ดื้ออินซูลิน และ อ้วนขึ้น ในอนาคต แล้วสาเหตุเป็นเพราะอะไร

ผลวิจัยนี้ เป็นผลการวิจัยและศึกษาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการเปิดเผยจาก หวัง ซื่อเหิง ผู้อำนวยการ เน่ยหู เหิงซินแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่ทดลองโดยให้คนหนุ่มสาว 20 คน นอนในห้องนอนที่มืดและสว่าง ความสว่างของห้องนอน ประดับด้วยโคมไฟเพดานทังสเตน 60 วัตต์ 4 ดวง หรือ เปิดไฟสลัวๆ นอน

ซึ่งผลวิจัยพบ การนอนหลับ โดยเปิดไฟไว้ จะทำให้อาสาสมัครมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หลังจากรับประทานกลูโคสในวันรุ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่า อาสาสมัครมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน และสภาพแวดล้อมที่สว่างสดใส จะทำให้อาสาสมัครอายุสั้นลง และมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น

นักวิชาการคาดการณ์ว่า แสงในเวลากลางคืน ทำให้การทำงานของเส้นประสาทซิมพาเทติกเพิ่มขึ้น เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอน และส่งผลต่อความสามารถของร่างกายในการเผาผลาญกลูโคส นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างปัญหาการนอนหลับกับโรคเบาหวาน

สอดรับกับการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวส์ทเทิร์นไฟน์เบิร์ก ในชิคาโก พบว่า การนอนหลับในขณะที่สัมผัสกับแสงประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นจากสมาร์ทโฟน เปิดทีวีทิ้งไว้ข้ามคืน หรือแม้กระทั่ง “เปิดไฟสลัวๆ” เชื่อมโยงกับการเพิ่มโอกาสเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ในผู้สูงอายุ

นักวิจัยพบว่า โอกาสในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 74% โรคอ้วน 82% และเบาหวาน 100%

ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นสัญญาณของภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่างกายจะหยุดใช้กลูโคสอย่างเหมาะสม และตับอ่อนจะทำงานหนักเกินไป ทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินมากเกินไปเพื่อชดเชย จนสูญเสียความสามารถในการทำเช่นนั้นในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป ภาวะดื้อต่ออินซูลิน สามารถนำไปสู่โรคเบาหวานประเภท 2 ได้ในที่สุด

ทั้งนี้ จากผลวิจัยดังกล่าว รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน กรรมการบริหารศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เคยให้ความรู้ในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากการ “เปิดไฟนอน” ว่า เป็นการขัดขวางการหลั่งของสารเมลาโทนิน ซึ่งหลั่งจากส่วนหนึ่งในสมอง มีความสำคัญต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้น ผู้ที่เปิดไฟนอน หรือมีการพักผ่อนที่ไม่ดี อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคอ้วน

“เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน มีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ และระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบเมตาบอลิซึม ระบบประสาทอัตโนมัติ ความดัน ความจำ เมลาโทนินจะถูกยับยั้งโดยแสง ดังนั้นมีโอกาสที่การนอนเปิดไฟจะส่งผลให้เมลาโทนินถูกกด ส่งผลให้นอนไม่ดี และอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้” รศ.พญ.นฤชา กล่าว

ดังนั้น หากเมลาโทนินถูกขัดขวางการหลั่ง อาจส่งผลต่อระบบความจำ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะแรกส่วนหนึ่งพบว่า มีการลดลงของสารเมลาโทนิน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine ที่ศึกษาในผู้หญิงกว่า 4 หมื่นคน เรื่องการเปิดและปิดไฟนอน ที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว หลังจากการติดตามในระยะ 5 ปี พบว่า คนที่เปิดไฟนอน หรือแค่ “เปิดไฟสลัวๆ นอน” มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกว่าคนที่ปิดไฟนอน โดยน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 5 กิโลกรัม ดังนั้น ความสว่างจากการเปิดไฟนอน จึงมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว

ขอบคุณภาพจาก Lovepic.com


ต้องมีฮาคิเเน่ๆ! Sven พิชิตคู่แข่งใน Street Fighter 6 ทั้งที่ตาบอด

หนุ่มผู้พิการทางสายตา "BlindWarriorSven" สามารถพิชิตคู่แข่งที่สายตาปกติ ในการชิงชัยทัวร์นาเมนต์ใหญ่ "Evo 2023" เกมต่อสู้ "Street Fighter 6"...

กลายเป็นไวรัลไปทั่ววงการเกม เมื่อ “BlindWarriorSven” (Sven) นักแข่งเกมต่อสู้ “Street Fighter 6” ที่ตาบอดสนิท สามารถเอาชนะคู่แข่งที่สายตาปกติได้ ในการแข่งขันทัวร์นาเมมนต์ระดับโลก “Evo 2023”...

BlindWarriorSven เลือกใช้นักสู้ E. Honda เพื่อดวลกับ EternalPancake ที่เลือกใช้ Luke แม้ Sven จะมองไม่เห็น แต่เขาก็สามารถเล่นงานคู่แข่งจนเอาชนะไปได้อย่างสวยงาม พร้อมเสียงปรบมือจากเหล่ากองเชียร์ที่ดังสนั่นหวั่นไหว แม้แต่คู่แข่งอย่าง EternalPancake ก็เข้ามาแสดงความยินดีและยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดี

Sven ตาบอดตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แต่แม้จะตาบอด ทว่า สิ่งที่เขาหลงรักอย่างมากคือการเล่นเกม Street Fighter โดยเขามีวิธีเล่นเกมนี้จากการฟังเสียงในเกมเพื่อจับจังหวะและการเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ ซึ่งเกมก็ได้มีการใส่ฟีเจอร์ช่วยให้คนตาบอดเล่นเกมได้ดีขึ้นด้วย ก่อนเขาจะตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขัน และสามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างน่าประทับใจและน่าปรบมือให้อย่างยิ่ง