ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ. อมตะ 25 เมษายน 2563

เห็ดน้ำแป้ง

เห็ดน้ำแป้ง ชาวบ้านภาคอีสานนิยมเก็บมาทำแกงผสมกับเห็ดชนิดอื่นๆ ในช่วง พ.ค.-มิ.ย. ซึ่งหากมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2-3 วัน แล้วตามด้วยแดดร้อน อากาศอบอ้าว จะพบเห็ดชนิดนี้ผุดขึ้นในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง

ขึ้นเป็นดอกเดี่ยว ขนาด 3-10 ซม. รูปทรงคล้ายกระจกนูน กลางดอกเป็นแอ่งเล็กน้อย ปกคลุมด้วยเกล็ดสีขาว ขอบมีริ้ว ดอกมีขนาด 5-7 ซม. เมื่อดอกแก่จัดสามารถนำมาบริโภคได้ บริเวณขอบมักฉีกขาด ครีบติดก้าน ครีบกว้าง เรียงห่างเล็กน้อย ครีบสีขาว ริมขอบม้วนงอลงเล็กน้อย ผิวแตกเป็นแผ่นบางๆ สีขาวหรือน้ำตาลอ่อน กระจายตามรัศมีดอก

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.) และ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหาร สุขภาพ (ศนอ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกันศึกษาวิจัยเห็ดน้ำแป้ง สกัดเอาสารสำคัญ

พบว่ามีสาร 4, 5-dicaffeoylquinic acid สรรพคุณทางเภสัชวิทยา ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage ซึ่งทำหน้าที่กำจัดจุลินทรีย์ สิ่งแปลกปลอม และเซลล์ที่ตายแล้ว ได้สูงกว่าสารเบต้ากลูแคน 2 เท่า และยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูก (HeLa cells) ชักนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะเซลล์มะเร็งปากมดลูก และเซลล์มะเร็งตับ

จากสรรพคุณทางเภสัชวิทยา วว. จึงนำสารสกัดจากเห็ดน้ำขาวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล “รัสซูล่า (RUSSULA)”

ช่วยเพิ่มมูลค่าเห็ดพื้นเมืองให้เกษตรกร และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคหากมีการเพาะเห็ดน้ำแป้งได้แพร่หลาย... สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2577-9000 หรือ Call center วว. 0-2577-9300.

ประโยชน์ของวิตามินซี ต้านไวรัสโรคหวัดได้แค่ไหน?

เราได้ประโยชน์จากวิตามินซีจากผลไม้และอาหารที่รับประทานทุกวันได้ แต่อาหารแบบไหนมีวิตามินซีสูงและต้องบริโภคแค่ไหนถึงจะเหมาะสม และคำถามที่ว่ามีฤทธิ์ต้านไวรัสนั้นจริงหรือเปล่า

ในช่วงปี 2019 – 2020 ทางสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เน้นรณรงค์ให้คนไทยดูแลตัวเองจากโรคไข้หวัด โดยแนะนำคนไข้สังเกตตัวเองหรือถามหมอว่าเป็นหวัดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากได้รับยาไม่ถูกโรคร่างกายก็จะดื้อยาในอนาคต ส่งผลต่อการตื่นตัวเรื่องการจำแนกโรคหวัดมากขึ้น

ไข้หวัดจากไวรัสและแบคทีเรียต่างกันตรงที่ อาการหายใจติดขัดร่วมกับไอจาม หากเป็นหวัดจากแบคทีเรีย จะไม่มีอาการไอ และมักจะมีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ซึ่งโรคไข้หวัดนี้คนส่วนใหญ่มีโอกาสเป็นมาก

ไข้หวัดจากไวรัสสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรับยา เพียงแค่คุณพักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำมากๆ ดูแลเรื่องอาหารและสุขภาพ อาการจะดีขึ้นใน 5 – 7 วัน และเมื่อมีผู้สนใจดูแลตัวเองมากขึ้น มีหนึ่งข้อสงสัยที่ได้รับความสนใจมากก็คือ วิตามินซีช่วยต้านไวรัสโรคหวัดได้จริงหรือไม่ ถ้าจริงต้องบริโภคอย่างไร

ผลการศึกษาประโยชน์ของวิตามินซีต่อโรคหวัด

การศึกษาประสิทธิภาพของวิตามินซีต่อการป้องกันและบรรเทาการติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Manipulative and Physiological Therapeutics ตั้งแต่ปี 1999 ด้วยวิธีติดตามและรักษากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดสอบ

ผู้วิจัยวิเคราะห์จากการให้ยา และวิตามินซีในปริมาณสูง 3,000 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นปริมาณที่เกินว่าร่างกายต้องการต่อวัน พบว่าการใช้ปริมาณวิตามินซีสูงกว่าที่ร่างกายต่อวันให้ผลว่าช่วยลดอาการของไข้หวัดใหญ่ได้จริง

มีหลักฐานอีกจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงความนิยมบริโภควิตามินซีในระดับเกินกว่าความจำเป็นต่อร่างกายเพื่อคาดหวังว่าจะช่วยลดอาการไข้หวัด เช่น การใช้วิตามินซีในกลุ่มนักกีฬา และนักวิ่งมาราธอน เพราะเป็นสารที่ไม่ได้ระบุต้องห้ามไว้ในกติกา

ดังนั้นจึงมีหลายคนที่บริโภควิตามินซีสูงกว่าความจำเป็น โดยผู้ใช้คาดหวังไปถึงผลการป้องกันและรักษาโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึงโฆษณาผลของการลดริ้วรอย ซึ่งทั้งหมดก็ยังไม่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์

มีการศึกษาประโยชน์ของวิตามินซีไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดโอกาสเกิดมะเร็งในช่องปาก กระเพาะอาหาร ลำไส้ ปอด แต่ก็ไม่ได้มีการศึกษาที่ระบุได้ชัดเจนว่าต้องใช้ปริมาณวิตามินซีเท่าไหร่ถึงจะเห็นผล เพราะผลของวิตามินซีอาจได้ผลดีร่วมกับวิตามินอื่นๆ

ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวัน

- ผู้หญิงที่สุขภาพดีอยู่แล้ว 75 มิลลิกรัม

- คุณแม่ให้นมบุตร 120 มิลลิกรัม

- ผู้ใหญ่ทั่วไปไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม

- ผู้มีประวัติโรคตับหรือไต โรคเกาต์ โรคนิ่ว ไม่ควรใช้เกิน 1,000 มิลลิกรัม

การบริโภควิตามินซีที่มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วง, โรคกระเพาะ, ปวดหัว, อ่อนเพลีย รวมถึงอาการนอนไม่หลับ และผู้ที่มีประวัติโรคตับหรือไต ไม่ควรรับประทานเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน

การบริโภควิตามินซีที่เกินกว่า 3,000 มิลลิกรัมต่อวันนั้น หากไม่ได้มีผลข้างเคียงกับร่างกายก็ยังไม่เป็นไร แต่จะเป็นการสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เพราะร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมด และยังเป็นการเปลืองพลังงานร่างกายให้ขับวิตามินซีส่วนเกินนั้นออก เพื่อเป็นการรักษาสมดุลย์ในร่างกายให้ปกติ ควรรับประทานวิตามินซีที่ขนาด 500 มิลลิกรัม หรือ 1,000 มิลลิกรัมได้ในบางวัน แต่อย่าลืมว่าร่างกายของเราได้รับวิตามินซีจากผักและผลไม้อยู่แล้ว เพื่อเป็นการรักษาคุณค่าของวิตามินซีได้ดี ควรแช่ไว้ตู้เย็นเพื่อป้องกันความร้อนทำลายวิตามินต่างๆ ในผัก

ตัวอย่างผักผลไม้วิตามินซีสูง ได้แก่ ฝรั่ง, สตรอว์เบอร์รี่, แคนตาลูป, มะละกอ, พริกระฆัง, น้ำส้ม, ผักคะน้า, บร็อกโคลี, พริกระฆังสีเขียว, มะเขือเทศ, มะม่วง, น้ำมะนาว เป็นต้น

สรุปแล้วหากจะกินวิตามินซีเพื่อคาดหวังในผลของการต้านโรคหวัด จะต้องกินเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าร่างกายต้องการต่อวัน แต่ก็ไม่ได้มีผลวิจัยรองรับว่ามันเป็นผลดีต่อร่างกาย เพราะมีผลเสียด้านสุขภาพอื่นๆ ตามมาด้วย รวมถึงปัจจัยด้านอายุและสุขภาพอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการรับวิตามินซีมากเกินไป และเราก็สามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินหลากหลายเพื่อประโยชน์อื่นๆ ต่อร่างกายได้ด้วย

ที่มาจาก :

1. อาการแบบนี้ไวรัสหรือแบคทีเรีย https://www.thaihealth.or.th

2. The effectiveness of vitamin C in preventing and relieving the symptoms of virus-induced respiratory infections https://www.jmptonline.org

แสง UVA กับมะเร็งผิวหนัง

หน้าร้อนเมืองไทยที่แดดดีเหลือใจ และยังเป็นอันตรายกับผิวหนัง

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ เผย แสงแดดมีทั้งประโยชน์ และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้ หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ช่วงเวลาที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด คือ ช่วงแดดจัดๆ ตั้งแต่ 10.00-15.00 น. โดยอันตรายจากแสงแดดที่สังเกตได้ เช่น มีอาการผิวไหม้แดง แสบร้อนทุกครั้งที่ออกแดด

แสงแดดประกอบด้วยแสงหลากหลายชนิด ซึ่งแสงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด คือ แสงอัลตราไวโอเลต หรือที่เรียกว่า UV มีผลทำให้ผิวแดงไหม้ ผิวคล้ำ ผิวแห้งกร้าน เป็นฝ้า ตกกระ แก่ก่อนวัย และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งของผิวหนังได้ในระยะยาว แสง UV ที่ส่องผ่านมายังโลกและเป็นอันตรายต่อผิวมนุษย์แยกได้เป็น 2 ชนิดคือแสง UVA และแสง UVB ซึ่งแสง UVA มีช่วงคลื่นยาวกว่า UVB สามารถผ่านทะลุเข้าไปถึงชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น ผิวคล้ำ เป็นฝ้ากระ และทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVB เป็นแสงช่วงคลื่นสั้นกว่า UVA ทำให้เกิดผิวไหม้แดด จะมีอาการผิวบวมแดง และอาจพองปวดแสบร้อน ผิวไหม้และแห้งกร้าน ผิวเหี่ยวย่น คล้ำ เป็นฝ้า กระ

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำมีความเสี่ยงอาจจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการตากแดด หากจำเป็นต้องตากแดดควรใส่เสื้อแขนยาวคอปิด กางร่มหรือใส่หมวกปีกกว้าง และทาครีมกันแดดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะโอกาสได้รับรังสี UV แม้อยู่ในร่ม เนื่องจากพื้นคอนกรีต พื้นน้ำ พื้นทราย สามารถสะท้อนรังสี UV เข้าสู่ผิวกายได้

สำหรับการเลือกใช้ครีมกันแดดควรเลือกชนิดที่เหมาะกับผิวและมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดอย่างแท้จริง ตัวเลข SPF คือ ความสามารถของครีมกันแดดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแดงไหม้ซึ่งเกิดจาก UVB โดยจะแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดเป็นตัวเลข เช่น SPF 15, 30 เป็นต้น ถ้า SPF 15 หมายความว่า คนๆ หนึ่งตากแดด 30 นาทีแล้วเกิดผิวแดง ไหม้แสบ แต่ถ้าทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 จะสามารถตากแดดได้นานเป็น 15 เท่าของ 30 นาที หรือ ประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแดงที่ผิวหนัง

ที่สำคัญต้องเลือกครีมกันแดดที่สามารถป้องกัน UVAได้ โดยต้องมีส่วนผสมของสารกันแดดหรือสารกันแดดที่สะท้อนแสง ซึ่งทาแล้วอาจจะทำให้หน้าขาวบ้าง แต่ข้อดีคือไม่มีอาการระคายเคืองและไม่แพ้ ทั้งนี้ การทาครีมกันแดดควรเริ่มทาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เรียนว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะแสงอัลตราไวโอเลตจะมีผลเสียต่อผิวหนังแบบสะสม ดังนั้น การทาครีมกันแดดจึงเป็นเกราะป้องกันผิวหนังที่ดี

ค้นพบ ดาวเคราะห์ดวงใหม่ใกล้เคียงโลก! ใหญ่กว่าเท่าตัว

ภารกิจหลักของนาซาคือการค้นหาโลกใบใหม่ในจักรวาล ซึ่งล่าสุดมีข่าวการค้นพบที่สำคัญอีกครั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ค้นพบ #ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ #มีขนาดและอุณหภูมิใกล้เคียงโลกมากที่สุด

15 เมษายน 2563 นาซาเผย นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ มีขนาดและอุณหภูมิใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด โคจรรอบดาวแคระแดงที่ห่างจากโลกประมาณ 300 ปีแสง

งานวิจัยครั้งนี้นำทีมโดยแอนดรูว์ ฟันเดอร์เบิร์ค นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัส ตีพิมพ์ลงในวารสาร Astrophysical Journal Letters วิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (ซึ่งปัจจุบันได้ปลดประจำการไปแล้วแต่ยังมีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่รอการวิเคราะห์)

#มีขนาดและอุณหภูมิใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด

ดาวเคราะห์ดวงนี้ชื่อว่า “Kepler-1649c” ใหญ่กว่าโลก 1.06 เท่า หรือมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลกประมาณ 800 กิโลเมตร โคจรอยู่ในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (habitable zone) รอบดาวแคระแดง กล่าวคือ เป็นระยะห่างที่พอเหมาะที่น้ำจะอยู่ในสถานะของเหลวได้

ดาวเคราะห์ดวงนี้ได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ดวงแม่คิดเป็นร้อยละ 75 ของพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ จึงคาดว่าจะมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับโลก การค้นพบทั้งหมดที่ผ่านมายังไม่มีดาวเคราะห์ดวงใดมีขนาดใกล้เคียงกับโลกและอยู่ในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต

อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า Kepler-1649c โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงแม่ใช้เวลา 19.5 วันบนโลก หมายความว่า ดาวเคราะห์โคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก (1 ปีบนดาวเคราะห์เท่ากับ 19.5 วันบนโลก) แรงโน้มถ่วงจากดาวฤกษ์อาจล็อคให้ดาวเคราะห์หันพื้นผิวด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ดวงแม่เสมอ คล้ายกับดวงจันทร์ที่หันด้านเดียวเข้าหาโลกตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์โดยละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ ยังพบดาวเคราะห์อีกหนึ่งดวงที่โคจรรอบดาวแคระแดงดวงนี้ มีขนาดใกล้เคียงกับ Kepler-1649c แต่อยู่ในวงโคจรที่ใกล้กว่าประมาณครึ่งหนึ่ง โคจรรอบดาวฤกษ์ด้วยคาบ 8.7 วัน คล้ายกับโลกของเราที่มีดาวเคราะห์ฝาแฝดคือดาวศุกร์และอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก

เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์บันทึกข้อมูลดาวฤกษ์จำนวนกว่า 200,000 ดวง นักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจจึงพัฒนาอัลกอริทึมที่ชื่อว่า “Robovetter” เพื่อค้นหาดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างลดลงจากข้อมูลที่บันทึกไว้ Robovetter จะต้องประเมินว่าดาวฤกษ์ที่แสงสว่างลดลงนั้นเกิดจากดาวเคราะห์จริง ๆ หรือไม่ และพบว่ามีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่เกิดจากดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ นอกนั้นเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ Robovetter ต้องเจอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ความซับซ้อนของข้อมูลอาจทำให้ Robovetter ตัดสินใจผิดพลาด จึงจำเป็นต้องมีทีมวิจัยที่ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกคัดทิ้งซ้ำอีกครั้ง ซึ่ง Kepler-1649c ก็เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ถูกคัดทิ้ง จนกระทั่งแอนดรูว์และทีมวิจัยนำข้อมูลมาวิเคราะห์อีกครั้ง และก็พบว่ามีข้อมูลที่เกิดจากดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์อยู่ จึงกลายเป็นที่มาของการค้นพบในครั้งนี้

แม้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์จะปลดประจำการไปแล้วตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2561 แต่ข้อมูลที่บันทึกได้ระหว่างที่ปฏิบัติภารกิจมีจำนวนมหาศาล ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งอาจมีดาวเคราะห์คล้ายโลกดวงอื่น ๆ ที่รอการค้นพบอยู่อีกไม่น้อย และหากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์พร้อมปฏิบัติภารกิจ อาจช่วยศึกษาชั้นบรรยากาศของ Kepler-1649c อย่างละเอียดได้

จากเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

"ฟ้าทะลายโจร" ฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้

ผลวิจัยหลอดทดลอง "ฟ้าทะลายโจร" ฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้โดยตรงในหลอดทดลอง เตรียมศึกษาค้นคว้าต่อ ย้ำหากไม่มีอาการไม่ควรกินยาเพื่อป้องกัน

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.63 ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าขณะนี้มี 2 มหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการร่วมทดลองวิจัยพัฒนา นั่นคือ คณะแพทย์ จุฬาฯ และคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ซึ่งในส่วนของคณะแพทย์ จุฬาฯ นั้นได้ผลิตวัคซีนทดลองในสัตว์ทดลอง 2 ครั้ง และได้ส่งผลมาให้ทางสถาบันชีววัตถุตรวจว่าสามารถฆ่าไวรัสได้หรือไม่ ส่วนคณะวิทย์ ม.มหิดล ได้ขอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพิ่มจำนวนไวรัส เพื่อให้ทางคณะได้ดำเนินการทดลองฆ่าให้ไวรัสให้เป็นวัคซีนที่สามารถฆ่าเชื้อให้ตายได้

“ทางสถาบันชีววัตถุ ได้มีการทดลองยาฟ้าทะลายโจร เพื่อนำมาใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเบื้องต้น ได้มีการทดลองในหลอดทดลอง 3 วิธี คือ

วิธีแรก เป็นการนำเอาฟ้าทะลายโจรมาใส่ไปในเซลล์เพาะเลี้ยง หรืออเซลล์เป้าหมายและอบตามอุณหภูมิห้อง 37 องศาเซลเซียล เพื่อดูว่าฟ้าทะลายโจรสามารถฆ่าเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงได้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าไม่สามารถทำลายไวรัสได้ ดังนั้น ผลการทดลองเบื้องต้นของวิธีนี้ (วิธีที่ 1) จะแสดงให้เห็นว่าการทานยาฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันการเกิดไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถทำได้

ต่อมาการทดลอง วิธีที่ 2 มีการนำฟ้าทะลายโจรไปร่วมกับไวรัส และเอาไวรัสไปอยู่ในกลุ่มเซลล์เป้าหมายพบว่า สามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้ และการทดลอง

วิธีที่ 3 เอาเซลล์ผสมกับฟ้าทะลายโจร และไปฆ่าไวรัส พบว่าสามารถฆ่าไวรัสได้เช่นกัน โดยสารสกัดในฟ้าทะลายโจร Semi solid medium ฆ่าไวรัสได้ทันที ดังนั้น ผลการทดลองเบื้องต้น เมื่อไวรัสเข้าเซลล์แล้ว ฟ้าทะลายโจรมีผลฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้โดยตรง และทำให้ไวรัสไม่เพิ่มจำนวนในเซลล์ หลังจากนี้คงต้องทำการทดลองต่อเนื่องต่อไป” ดร.สุภาพร กล่าว