ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ.อมตะ 11 พฤศจิกายน 2560

“ศิลปินครู ผู้ปิดทองหลังพระ”

บทเพลงไพเราะและมีชื่อเสียงโด่งดังมากมายในโลกบันเทิง มีคนนิยมชมชอบหลงไหลในบทเพลงนั้นๆ น้อยคนนักที่จะรู้จักและให้ความสนใจในผู้ประพันธ์ อาชีพนักแต่งเพลงหรือครูเพลงทุกท่าน ก็เปรียบเหมือน “ผู้ปิดทองหลังพระ” เมื่อเพลงที่แต่งไว้ได้รับความนิยม ผู้ฟังเพลงก็จะมุ่งความสนใจไปที่นักร้อง จริงอยู่ที่บทเพลงนั้นจะประสพความสำเร็จได้ นักร้องก็มีบทบาทสำคัญ ในการให้เสียง ลีลาท่างทาง อารมณ์การถ่ายทอดบทเพลงที่อยู่ในกระดาษนั้น ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ หากบทเพลงในกระดาษนั้น ขาดซึ่งความไพเราะในเนื้อหาและท่วงทำนองที่ผู้แต่งบรรจงแต่งด้วยจินตนาการมาอย่างดีแล้ว ต่อให้นักร้องที่มีความสามารถพิเศษสักเพียงไร ก็ไม่สามารถที่ร้องบทเพลงนั้น ให้ไพเราะเพราะพริ้งได้

แต่ในทางกลับกัน นักร้องที่มีความสามารถเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก หากมีโอกาสได้ร้องเพลงที่มีคุณภาพของครูเพลงดังๆ ก็จะเป็นแรงเสริมที่ช่วยผลักดันให้นักร้องนั้นเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังโด่งดังมาแล้วหลายราย ภายใต้ฟ้าเมืองไทยมีนักแต่งเพลงเกิดขึ้นมากมายทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทั้งคำร้องและทำนอง ก็แตกต่างกันไป ตามยุคสมัย คำร้องของเพลง “อมตะ” ซึ่งจะมีคำร้องไพเราะ คำสัมผัสและภาษาของเพลงที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจทำให้ชวนฟัง

ผลงานอันทรงคุณค่าของบรมครูผู้ประพันธ์อาทิ ชาลี อินทรวิจิตร , สุรพล โทณะวณิก, สมาน กาญจนะผลิน,สง่า อารัมภีร , จงรัก จันทร์คณา , ป. ชื่นประโยชน์ , มนัส ปิติสานต์ ฯลฯ อาจทำให้

“ ความทรงจำที่เลือนลาง อาจเด่นชัด ขึ้นอีกครั้งเมื่อเพลงบางเพลงดังขึ้น ” ……..

เสน่หา….. “ความรักเอย เจ้าลอยลมมาหรือไร มาดลจิต มาดลใจ เสน่หา…..”

จงรัก….. “ โปรดอย่าถาม ว่าฉันเป็นใคร เมื่อในอดีต…..”

อาลัยรัก….. “ฉันรักเธอ รักเธอด้วยความไหวหวั่น ว่าสักวัน…..”

ตราบาป….. “ในชีวิตจริงของหญิงคนหนึ่ง ที่ถูกตรึงไว้ด้วยตราบาปตราบชีวี …..”

ลมรัก….. “เมื่อลมพัด ใบไม้สบัด โบกมือเรียกใคร เธอรู้บ้างไหม…..”

เมื่อบทเพลงไพเราะเหล่านี้ ดังขึ้น และเป็นที่นิยมของผู้ฟัง เราก็จะทราบทันทีว่า นักร้องท่านใด เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ สำหรับผู้แต่งหรือผู้ประพันธ์บทเพลงนี้แทบจะไม่มีผู้รู้จักเลย นอกจากบุคคลที่อยู่ในวงการเพลงเท่านั้น

เพลงแรก “เสน่หา” คำร้องและทำนอง เป็นผลงานของ ครูมนัส ปิติสานต์ นอกจากท่านจะมีความสามารถในการประพันธ์เพลงแล้ว ยังสามารถเล่นเปียโนร่วมกับวงดนตรีให้กับนักร้องนักแสดงร้องได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งเมื่อในอดีตผู้เขียนได้เคยร่วมงานกับท่าน เมื่อครั้งที่ ครูมนัส ได้บรรเลงเปียโนให้บรรยากาศกับละครดังหลายๆเรื่อง บางครั้งก็จะมีศิลปินดังๆ รุ่นใหญ่อย่าง สถาพร มุกดาประกร อดีตนักร้องคนดังรุ่นเก่า เจ้าของเพลง ม่านประเพณี ต้องขออภัยเพราะจำชื่อเพลงไม่ได้แม่นยำ ท่านเคยร้องให้ฟัง เมื่อมีการแสดงทางโทรทัศน์ โดยมี ครูมนัส เป็นผู้เล่นเปียโน ซึ่งเพลงนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำปี พ.ศ. 2505 ด้วย ในการนำมาบันทึกใหม่ โดยศิลปินแห่งชาติ สุเทพวงศ์ กำแหง ยังมีศิลปินอีกหลายคนอย่าง อัญชนา วงษ์เกษม อดีตนักร้องสาวสวยที่มาเอาดีทางการแสดง มนตรี สีหเทพสุวัจชัย สุทธิมาม ,เศวตชัย วิฑูรย์เทพ ทุกคนซาบซึ้งที่ ครูมนัส ได้เป็นผู้เล่นเปียโนให้

“อาลัยรัก” คำร้อง โดย ชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน

“จงรัก” คำร้อง-ทำนอง โดย จงรัก จันทร์คณา

“ลมรัก” คำร้อง-ทำนอง โดย สุรพล โทณะวณิก

“ตราบาป” คำร้อง-ทำนอง โดย ป. ชื่นประโยชน์ ในการบันทึกแผ่นเสียงต้นแบบ นักร้องท่านแรกที่ ป. ชื่นประโยชน์ ได้มอบบทเพลงรักฝนเศร้านี้ ให้กับนักร้องลูกสาวรัฐมนตรี พราวตา ดาราเรือง ซึ่งคุณพ่อ จำลอง ดาวเรือง อดีต รมต.พาณิชย์ ผู้จบชีวิตด้วยลงด้วยอิทธิพลทางการเมือง จากฝีมือตำรวจยุค “อัศวินผยอง” ที่มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีตำรวจสมัยในสมัยนั้น ด้วยความเจ็บปวดหรือด้วยเหตุผลใดไม่มีใครทราบ ที่ทำให้ “ตุ๊ก” พราวตา หันหลังให้กับการเป็นนักการเมือง หันมาเลือกทางเดินใหม่ โดยการเป็นนักร้องจากวงทหารราบ 21 รักษาพระองค์ สู่วงการในท์คลับและเธอก็ประสบความสำเร็จกับแผ่นเสียงบทเพลงแรก “ตราบาป” ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด เมื่อปี 2515 ปัจจุบันแฟนเพลงพบกับ พราวตา ดาราเรือง ได้ทุกวันจันทร์ ที่ “เครื่องเทศ” (ไนท์คลับ) ห้องอาหารไทย บนถนน Hollywood นคร Los Angeles

ปัจจุบันมีกฎหมายลิขสิทธิ์ออกมารองรับ ทำให้บรรดาครูเพลงทั้งหลาย ได้รับการคุ้มครอง ทำให้บทเพลงมีคุณค่าและราคาเพิ่มขึ้น ผู้แต่งก็ย่อมมีโอกาสให้ผู้คนรู้จักหน้าตามากขึ้นตามมาด้วย

ฉะนั้น ผลงานการปิดทองหลังพระของ “ครูเพลง” ทุกท่านก็จะมีคนมองเห็นว่ามีผู้นำ “ทองคำเปลว” ที่สุกเหลืองอร่าม มาปิดไว้เบื้องหลังองค์พระแล้ว

เฉกเช่นศิลปินนักร้องทั้งหลาย ก็ได้ตระหนักในความสำคัญของครูเพลง จึงได้พร้อมใจกันยกย่องจัดงาน “เชิดชู บูชา ครูเพลง” กันมาเป็นประจำทุกปี ไม่มีการปิดทองหลังพระ อีกต่อไป.