ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 1 พฤษภาคม 2564

สกัดออกซิเจนบริสุทธิ์และใช้หายใจได้เป็นครั้งแรก จากอากาศของดาวอังคาร

ลำพังการลงจอดของยานโรเวอร์ 6 ล้อ เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ และเฮลิคอปเตอร์สำรวจดาวอังคาร อินเจนูอิตี (Mars Helicopter Ingenuity) บินได้ครั้งแรกบนดาวเคราะห์สีแดงเพื่อนบ้านของโลก ก็นับเป็นก้าวย่างสำคัญของวงการอวกาศอเมริกาและของโลกแล้ว

ล่าสุด เทคโนโลยีขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง นั่นคือการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารให้เป็นออกซิเจนบริสุทธิ์และใช้หายใจได้เป็นครั้งแรก ด้วยอุปกรณ์ทดลองบนยานเพอร์เซเวียแรนซ์ ที่ชื่อ “ม็อกซี” (Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment-MOXIE) ขนาดเท่ากับเครื่องปิ้งขนมปัง สามารถผลิตออกซิเจนประมาณ 5 กรัม เทียบเท่ากับการหายใจของนักบินอวกาศประมาณ 10 นาที

ม็อกซีทำงานผ่านกระแสไฟฟ้าซึ่งใช้ความร้อนสูงในการแยกอะตอมของออกซิเจนออกจากโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่คิดเป็นประมาณ 95% ของบรรยากาศบนดาวอังคาร ส่วนที่เหลืออีก 5% ประกอบด้วยโมเลกุลของไนโตรเจนโมเลกุลและธาตุอาร์กอน ขณะที่ออกซิเจนมีอยู่บนดาวอังคารก็จริง แต่ก็ในปริมาณที่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าออกซิเจนที่ผลิตได้นี้จะค่อนข้างน้อย ทว่าความสำเร็จนี้ก็ถือเป็นการทดลองครั้งแรกในการสกัดทรัพยากรธรรมชาติจากสิ่งแวดล้อมของดาวเคราะห์ดวงอื่นเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ได้โดยตรง.


วันคุ้มครองโลก (Earth Day) 22 เมษายน ประวัติและกิจกรรมสำคัญ 2564

วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ตรงกับวันที่ 22 เมษายน จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 ตามประกาศของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program : UNEP) เพื่อสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกในเครือข่ายกว่า 193 ประเทศทั่วโลก ประสานงานผ่านเว็บไซต์ส่วนกลางในชื่อ Earthday.org

ประวัติ “วันคุ้มครองโลก” สากล

จุดเริ่มต้นของวันคุ้มครองโลกเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2512 นายJohn McConnell นักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ ได้เสนอให้จัดตั้งวันคุ้มครองโลกเพื่อให้เป็นเกียรติแก่โลก โดยเลือกใช้วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ ภายใน 1 เดือนต่อมา Gaylord Nelson หนึ่งในวุฒิสภาก็เสนอให้ระบุการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา โดยจ้างนาย Denis Hayes นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประสานงาน ภายหลังใช้ชื่อวันคุ้มครองโลก (Earth Day) และในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513 ผู้คนกว่า 20 ล้านคนก็เดินทางหลั่งไหลมาตามถนน เพื่อร่วมแสดงพลังตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม วันนี้จึงกลายเป็นวันที่มีผู้ชุมนุมมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ในวันคุ้มครองโลกปี พ.ศ. 2533 Denis Hayes ได้รวบรวมประเทศสมาชิกได้มากถึง 141 ประเทศ และในปีพ.ศ. 2559 ประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และอีก 120 ประเทศสมาชิก ได้ลงนามข้อตกลงเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ และรับรองโดยฉันทามติของ 195 ประเทศ

กิจกรรมสำคัญในวันคุ้มครองโลก ประชาชนจะจัดงานตลอดสัปดาห์ เพื่อมุ่งเน้นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกเผชิญอยู่ ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เกิดการระดมมวลชนออนไลน์ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อร่วมสังเกตการณ์ในรอบ 50 ปี ของวันคุ้มครองโลก

กิจกรรมวันคุ้มครองโลกปี 2564

วันคุ้มครองโลกปี พ.ศ. 2564 ได้จัดการประชุมสุดยอดเยาวชนระดับโลกหลายร้อยคน ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ ในวันที่ 20 เมษายน การประชุมครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ และการอภิปรายกับนักเคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศในปัจจุบัน

ในวันที่ 22 เมษายน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะร่วมประชุมด้านสภาพอากาศโลกผ่านเว็บไซต์ earthday.org พร้อมกับประเทศสมาชิกทั่วโลกในรูปแบบการพูดคุยออนไลน์ เวลา 12.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก หัวข้อสำคัญประกอบด้วย

• ความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

• เทคโนโลยีฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ

• การปลูกป่า ฟื้นฟูป่า

• ระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture)

• ความเสมอภาคและความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม

• อาสาสมัครช่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยวิทยาศาสตร์ และการสำรวจ

• อื่นๆ

เว็บไซต์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ “วันคุ้มครองโลก”

• Earthday.org

• องค์การบริหารจัดการเรือนกระจก (องค์การมหาชน) www.tgo.or.th


ค้นพบซุปเปอร์เอิร์ธดวงใหม่คล้ายโลก โคจรรอบดาวแคระแดง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดง (red dwarf star) อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบในวงโคจรรอบๆ ซึ่งดาวแคระแดงเหล่านี้มีอุณหภูมิพื้นผิวที่ร้อนน้อยกว่าดวงอาทิตย์ แถมยังส่องสว่างน้อยกว่าด้วย พวกมันมีมวลระหว่าง 0.08–0.45 เท่าของมวลดวงอาทิตย์

ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในหมู่เกาะคะเนรี (Instituto de Astro física de Canarias-IAC) ในสเปน ซึ่งเชี่ยวชาญในการค้นหาดาวเคราะห์รอบๆ ดาวแคระแดงประเภทนี้ เผยว่าได้ค้นพบซุปเปอร์เอิร์ธ (super-Earth) คือดาวเคราะห์คล้ายโลกที่มีมวลมากกว่าโลก กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ที่ชื่อ GJ 740 เป็นดาวแคระแดงที่ห่างโลกออกไปประมาณ 36 ปีแสง ดาวเคราะห์ดังกล่าวโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ของตนด้วยระยะเวลา 2.4 วัน และมีมวลประมาณ 3 เท่าของมวลโลก

นอกจากนี้ นักวิจัยยังระบุถึงการปรากฏตัวของดาวเคราะห์ดวงที่ 2 ที่มีระยะเวลาโคจร 9 ปีและมีมวลเทียบได้กับดาวเสาร์ ทีมคิดว่านี่จะเป็นเป้าหมายของการวิจัยในอนาคตด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่มากในช่วงปลายทศวรรษนี้.

ภาพ Credit : Gabriel Pérez Diaz, SMM (IAC)


นักวิจัยวิเคราะห์จำนวนฝุ่นจากต่างดาว ที่ตกลงมายังโลกในแต่ละปี

ทุกๆปีโลกของเราต้องเผชิญกับสสารระหว่างดาวเคราะห์ เช่น ฝุ่นจากดาวหางและฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยที่เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลก ก่อให้เกิดดาวตกและบางดวงตกลงถึงพื้นโลกในรูปของอุกกาบาตขนาดเล็กจิ๋ว ทว่าการตกลงมาของอุกกาบาตก็มีอยู่เสมอและเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตาม ก็มีความสงสัยว่าในแต่ละปีสสารระหว่างดาวเคราะห์เหล่านี้ตกลงมาอยู่บนโลกมากมายแค่ไหน

เมื่อเร็วๆนี้ มีข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส, มหาวิทยาลัยปารีส-ซาเคลย์ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติโดยการสนับสนุนของสถาบันขั้วโลกของฝรั่งเศส ที่จับมือทำโครงการระดับนานาชาติดำเนินการมาเกือบ 20 ปี เผยว่าจากการรวบรวมและวิเคราะห์อุกกาบาตขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีอัตราการสะสมของหิมะต่ำและไม่มีฝุ่นบนบก ซึ่งไม่ไกลจากชายฝั่งแตร์อาเดลี อันเป็นส่วนหนึ่งของฝั่งทวีปแอนตาร์กติก ทีมวิจัยระบุว่าอนุภาคฝุ่นระดับไมโครเมตรจากนอกโลกนั้น ตกลงถึงพื้นดินบนโลกมีจำนวน 5,200,000 กิโลกรัมต่อปี

ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบการไหลบ่าของอุกกาบาตขนาดเล็กกับการคาดการณ์ทางทฤษฎี ก็ยืนยันได้ว่าอุกกาบาตขนาดเล็กส่วนใหญ่น่าจะมาจากดาวหาง คิดเป็น 80% โดยส่วนที่เหลือก็คือมาจากดาวเคราะห์น้อย.


ภาพความงามของปรากฏการณ์ “พิงก์ซูเปอร์มูน”ทอแสงสว่างไสวท้องฟ้าทั่วโลก

เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (26 เม.ย.) เหล่านักดูดาวได้ตื่นตาไปกับความงดงามของปรากฏการณ์ "พิงก์ซูเปอร์มูน" (Pink Supermoon) ซึ่งเป็นพระจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 4 ของปี 2021

แม้จะได้ชื่อว่า "พิงก์ซูเปอร์มูน" หรือ พระจันทร์สีชมพู ทว่าในความเป็นจริงสีของมันกลับไม่ต่างไปจากสีของพระจันทร์เต็มดวงทั่วไป

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า อันที่จริง "พิงก์ซูเปอร์มูน"เป็นการตั้งชื่อพระจันทร์เต็มดวงของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน ตามสัญลักษณ์ของเดือนที่เกิดพระจันทร์เต็มดวง

โดยในเดือนเมษายน จะเป็นช่วงเวลาที่ท้องทุ่งต่าง ๆ เต็มไปด้วยสีชมพูของดอกฟล็อกซ์ (phlox) ที่กำลังเบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิ จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อพระจันทร์เต็มดวงในเดือนนี้นั่นเอง

สำหรับปราฏการณ์เมื่อคืนนี้ ดวงจันทร์ได้โคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 357,370 กิโลเมตร ทำให้เรามองเห็นพระจันทร์เต็มดวงมีขนาดใหญ่และสว่างสุกใสเป็นพิเศษ


7 ประโยชน์จากการเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม รู้แบบนี้จะไม่นอนดึกอีกแล้ว

เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังคงมีพฤติกรรมการเข้านอนดึกเป็นประจำทุกวัน ซึ่งแม้ว่าจะรู้ดีถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายจากการนอนดึก ก็ยังคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเช่นนี้ได้ อาจจะด้วยความจำเป็นหรือความเคยชินก็ตาม วันนี้เราจึงขอหยิบเอาประโยชน์ดีๆ ที่ร่างกายจะได้รับจากการเข้านอนเร็วก่อน 4 ทุ่มมาแชร์ให้ได้ทราบกันค่ะ เพื่อที่อย่างน้อยอาจจะทำให้หลายๆ คนอยากลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนของตัวเองบ้าง มาดูกันค่ะว่าผลดีจากการเข้านอนเร็วมีอะไรกันบ้าง

1.สมองช่วยสร้างเคมีแห่งความสุข

ในระหว่างที่ร่างกายกำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่นั้น สมองจะช่วยสร้างสารเคมีแห่งความสุขให้ร่างกาย มีทั้งเคมีนิทราหรือที่เรียกว่าเมลาโทนิน เคมีแห่งความสุขหรือที่เรียกว่าเซโรโทนิน และสร้างฮอร์โมนเพศ พร้อมทั้งเคมีบำรุงที่มีส่วนช่วยควบคุมระบบการทำงานในร่างกายให้มีความราบรื่น ตื่นขึ้นมาช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยอีกด้วย

2.สมองช่วยสร้างเคมีหนุ่มสาว

เคมีหนุ่มสาว หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ โกรทฮอร์โมน จะลดลงตามวัยที่มากขึ้น อีกทั้งการนอนดึกยังมีส่วนทำให้โกรทฮอร์โมนลดน้อยลงตามไปด้วย แต่ทั้งนี้โกรทฮอร์โมนจะถูกสร้างขึ้นในช่วง 4 ทุ่ม จึงแนะนำให้สาวๆ เข้านอนเร็วเพื่อที่ร่างกายจะสามารถสร้างเคมีหนุ่มสาวหรือโกรทฮอร์โมนธรรมชาติได้ดี

3.ซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย

การเข้านอนเร็วจะช่วยให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนสึกหรอกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสาวๆ ที่แต่ละวันต้องทำงานหนัก ควรเข้านอนเร็ว เพื่อให้สมองได้พักผ่อน หัวใจสงบ ความดันลดลง และช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว

4.ช่วยควบคุมความดันโลหิต

การเข้านอนเร็วมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในจุดที่สงบลง ไม่ขึ้นลงง่าย แถมยังช่วยในเรื่องของการควบคุมหัวใจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

5.ลดความเสี่ยงการเป็นโรคอ้วน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการเข้านอนเร็วมีส่วนในการลดความเสี่ยงไม่ให้เป็นโรคอ้วนได้อย่างไร คำตอบก็คือการเข้านอนเร็วไม่ทำให้เกิดอาการหิวกลางดึกนั่นเอง และยังช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี อีกทั้งยังกระตุ้นเตาเผาในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพตามไปด้วย

6.อวัยวะล้างพิษทำงานดีขึ้น

ในช่วงเวลาของการเข้านอนปกติ ถือเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ที่ทำหน้าที่ล้างพิษสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต หรือลำไส้ สังเกตได้ง่ายๆ สำหรับคนที่นอนดึกบ่อยๆ หน้าตาจะมีความหม่นหมองและมีปัญหาเกี่ยวกับอาการท้องผูกเป็นประจำ นั่นเพราะอวัยวะที่ทำหน้าที่ล้างพิษทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

7.ทำให้ความจำดีขึ้น

การนอนหลับเป็นเวลาและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน จะส่งผลให้สมองมีกลไกการจัดระเบียบได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่การนอนน้อยโดยเฉลี่ยวันละไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อคืนนั้น จะทำให้เกิดอาการมึน ลืมง่าย คิดอย่างพูดอีกย่าง และลิ้นพันกัน


จะเห็นได้ว่าผลดีจากการเข้านอนเร็วและนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอนั้นมีมากมายและล้วนมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของคนเราอย่างมาก เพราะการนอนเร็วนั้นมีส่วนทำให้ฮอร์โมนหรือสารต่างๆ สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง