ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



Family Comes First ด้วยรักและผุพัง โดย นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ คว้ารางวัลซีไรต์ 2566

เรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง จากผลงานปลายปากกาของ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ คว้ารางวัลซีไรต์ประจำปี 2566

คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ มีมติให้เรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ผลงานของ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช 2566

เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์แซลมอน ได้เขียนคำอธิบายถึงหนังสือ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง เอาไว้ว่า เป็นเรื่องสั้น 11 เรื่องที่บอกเล่าถึง “ความเป็นจีน” ในหลายบริบท ตั้งแต่การเอาตัวรอดในสังคมลูกชายเป็นใหญ่จนเกิดปัญหารักลูกไม่เท่ากัน ความกดดันจากบรรดาญาติที่อยากเห็นลูกหลานได้ดี ความประณีตในวันไหว้บรรพบุรุษที่กลายเป็นความบาดหมาง ลูกสะใภ้ผู้ถูกจองจำจนกว่าจะให้กำเนิดลูกชาย ความรักและความสัมพันธ์ของคนหลากเพศหลากวัย เป็นต้น

จุดเด่นของงาน "Family Comes First ด้วยรักและผุพัง" อยู่ตรงที่ผู้เขียนถ่ายทอดการเล่าเรื่องที่หลากหลาย ทั้งแนวสมจริง แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ และอุปมานิทัศน์ ซึ่งเชื้อเชิญและชักชวนให้ผู้อ่านได้ตีความในประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมในสังคม

นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ผู้เขียนเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแคะและจีนกวางตุ้ง เป็นนักเขียนที่ชื่นชอบผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่มีผลงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 50 ภาษาทั่วโลก โดยที่ตัวของ นริศพงศ์ กำลังทำงานเป็นก๊อบปี้ไรเตอร์ในเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง.

นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ผู้เขียนเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแคะและจีนกวางตุ้ง เป็นนักเขียนที่ชื่นชอบผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่มีผลงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 50 ภาษาทั่วโลก โดยที่ตัวของ นริศพงศ์ กำลังทำงานเป็นก๊อบปี้ไรเตอร์ในเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง.


ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเร็วกว่า 20 ปีที่แล้วถึง 5 เท่า

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ระบุ ภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายเร็วขึ้น 5 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

น้ำแข็งละลายของกรีนแลนด์เป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งโบราณกักเก็บน้ำได้มากพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างน้อย 20 ฟุต (6 เมตร) หากน้ำแข็งละลายทั้งหมด

Anders Anker Bjork ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาธรณีศาสตร์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนระบุว่า การศึกษาธารน้ำแข็งนับพันครั้งในพื้นที่แสดงให้เห็นว่าอัตราการละลายได้เข้าสู่ระยะใหม่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

“มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนมากระหว่างอุณหภูมิที่เราพบบนโลกนี้กับการเปลี่ยนแปลงที่เราสังเกตเห็นว่าธารน้ำแข็งละลายเร็วแค่ไหน”

นักวิทยาศาสตร์สรุปหลังจากศึกษาการพัฒนาของธารน้ำแข็งในช่วง 130 ปีผ่านภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายเก่าๆ 200,000 ภาพว่า ธารน้ำแข็งโดยเฉลี่ยลดลง 25 เมตรต่อปี เทียบกับ 5-6 เมตรเมื่อประมาณสองทศวรรษที่แล้ว

โลกร้อนขึ้นแล้วเกือบ 1.2C (2.2F) เหนืออุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม และปี 2023 “ค่อนข้างแน่นอน” จะเป็นปีที่อบอุ่นที่สุดในรอบ 125,000 ปี นักวิทยาศาสตร์จากสหภาพยุโรปกล่าวเมื่อต้นเดือนนี้

Jørgen Eivind Olesen ผู้อำนวยการสถาบัน Climate Institute แห่งมหาวิทยาลัย Aarhus กล่าวว่าอุณหภูมิที่ลดลงจะต้องอาศัยความพยายามระดับโลกในการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์มักใช้เพื่อคาดการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 17.3% ระหว่างปี 2549 ถึง 2561 และธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์มีส่วนประมาณ 21% โดยกรีนแลนด์มีธารน้ำแข็งทั้งหมดประมาณ 22,000 แห่ง


โลกเดือดสุดรอบแสนปี

ยกให้เป็นปีที่สภาพภูมิอากาศวิปริตแปรปรวนที่สุดปีหนึ่งเลยทีเดียวก็ว่าได้

สำหรับ ปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่กำลังผ่านพ้นหมดปีอีกเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น โดยสภาพภูมิอากาศที่วิปริตแปรปรวนข้างต้น ก็เป็นคำกล่าวของบรรดานักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมโลก จากสถาบันต่างๆ ที่ติดตามศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่าง “สำนักงานให้บริการด้านการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส” หรือ “ซี3เอส” แห่ง “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” และ “สำนักงานสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ “เอ็นโอเอเอ” หรือที่หลายคนเรียกแบบย่อๆ กันจนติดปากว่า “โนอา” ล้วนมีผลการศึกษาติดตาม ออกมาไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ อุณภูมิของโลกเรานั้นสูงขึ้น คือ ร้อนขึ้น นั่นเอง

พร้อมกันนั้น บรรดาหน่วยงาน สถาบันเหล่านี้ ต่างก็มีคำเตือนออกมา ด้วยความเป็นห่วงต่อโลกเรา และพลเมืองของโลกเรา ที่จะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่พุ่งสูงขึ้นนี้ หรือที่เรียกกันว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งในวิกฤติของโลกเรา และมนุษยชาติเราที่กำลังเผชิญ

ล่าสุด “สำนักงานให้บริการด้านการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส” หรือ “ซี3เอส” ได้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาติดตามสภาพภูมิอากาศของโลกประจำปีนี้ โดยระบุว่า ปี 2023 ที่ใกล้จะผ่านพ้นอีกเพียงเดือนครึ่งนั้น ก็มีอากาศร้อนอย่างสุดๆ จนทุบสถิติของปีต่างๆ เป็นว่าเล่น

ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับปี 2019 (พ.ศ. 2562) ซึ่งเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ เฉกเช่นเดียวกับปี 2023 นี้ แต่อุณหภูมิของโลกเราในปีนี้สูงกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่ 0.4 องศาเซลเซียส ซึ่งสถิตินี้จะดำเนินการจัดเก็บในช่วงเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา

นอกจากนี้ อุณหภูมิโลกของปี 2023 ก็ยังทุบสถิติเดิมของปี 2016 (พ.ศ. 2559) ซึ่งเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญอีกเช่นกัน ที่ 1.7 องศาเซลเซียส

โดยอุณหภูมิโลกของปี 2023 ที่ทุบสถิติของปีต่างๆ เป็นว่าเล่นนั้น ทาง “ซี3เอส” ก็ยังให้เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงที่สุด หรือร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี เลยทีเดียว

ทั้งนี้ การที่โลกเราร้อนขึ้น ก็ไปสำแดงออกผ่านภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่มีความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่าแต่ก่อน เช่น วาตภัยที่เกิดจากลมพายุในพื้นที่ต่างๆ การเกิดอุทกภัยจากฝนเทกระหน่ำตกลงมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน รวมทั้งการเกิดปรากฏการณ์ฟ้าผ่า ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าในปีนี้ถือว่ารุนแรงยิ่งกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนเป็นประการสำคัญ

โดยปรากฏการณ์ฟ้าผ่าที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลกระทบให้เกิด “ไฟป่า” ขึ้นตามมา จากการที่ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเหล่านั้น ไปเกิดขึ้นตามผืนป่าต่างๆ กอปรกับสภาพอากาศที่แห้ง ร้อน แล้ง เมื่อสายฟ้าฟาดถูกต้นไม้ ก็ทำให้ไฟไหม้ต้นไม้ และลุกลามเผาไปทั้งป่า รวมถึงบ้านเรือนของผู้คน ชุมชน ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งไฟป่าในปีนี้ก็เกิดจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นส่วนใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นกลุ่มประเทศซีกเหนือของโลก เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ และภูมิภาคยุโรป ใช่แต่เท่านั้น ไฟป่าในปีนี้ ก็ยังนับว่า รุนแรงยิ่งกว่าไฟป่าปีก่อนๆ อีกด้วย จนถือเป็นวิกฤติที่น่าสะพรึงอีกวิกฤติหนึ่ง เช่น ไฟป่าที่แคนาดา ไฟป่าที่รัฐฮาวายของสหรัฐฯ ไฟป่าที่เกิดประเทศของภูมิภาคยุโรป เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ผืนป่าในเขตร้อนชื้นก็ไม่รอดจากไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นผู้กระทำ โดยนักวิทยาศาสตร์ เหตุไฟป่าในปีนี้ร้อยละ 77 ก็มาจากการถูกฟ้าผ่า

ทาง “ซี3เอส” ยังระบุถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิโลกทะยานพุ่งสูงขึ้นจนทุบสถิติเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ว่า มาจากน้ำมือของมนุษย์เราเอง ที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยกิจกรรมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ซึ่งก็คือ น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหลาย นั่นเอง

โดยในประเด็นเรื่องผลกระทบจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลที่ก่อให้เกิดวิกฤติภาวะโลกร้อนตามมานั้น แม้กระทั่งองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับโลก อย่าง “แพทยสมาคมโลก” และ “สมาคมกุมารเวชศาสตร์สากล” ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 50 ล้านคน ก็ถึงกับทำจดหมายเปิดผนึกถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือค็อป28 (COP28) ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 12 ธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยเนื้อหาภายในจดหมายก็เรียกร้องให้ที่ประชุมสนับสนุนการยกเลิกการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ซึ่งเป็นปัจจัยก่อปัญหาภาวะโลกร้อน และสาธารณสุขของมนุษยชาติเราโดยด่วน


นักวิจัยจีนพบความลับ ‘ต้นกำเนิดไข่ไดโนเสาร์’ จากไข่ตัวอ่อนอายุ 190 ล้านปี

คณะนักวิจัยชาวจีนค้นพบความลับของต้นกำเนิดไข่ไดโนเสาร์ หลังศึกษาฟอสซิลไข่ที่มีตัวอ่อนไดโนเสาร์อยู่ด้านใน อายุประมาณ 190 ล้านปี และได้นำเสนอสมมติฐานว่าด้วยต้นกำเนิดของไข่ไดโนเสาร์ ว่ามีจุดเริ่มต้นจาก “ไข่เปลือกเหนียว” (leathery eggs) ซึ่งต่างจากสมมติฐานไข่เปลือกอ่อนและไข่เปลือกแข็ง

ศาสตราจารย์สวีซิง แห่งมหาวิทยาลัยยูนนาน หนึ่งในสมาชิกคณะวิจัยกล่าวว่า เมื่อปี 1999 หวังซิงจิน และไช่หุยหยาง เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์มณฑลกุ้ยโจว พบฟอสซิลโครงกระดูกและรังฟักไข่ของซอโรพอด (ไดโนเสาร์ขนาดยักษ์) จากบรรดาซากฟอสซิลไดโนเสาร์ในยุคจูราสสิกตอนต้น (ประมาณ 190 ล้านปีก่อน) ในเขตผิงป้า เมืองอันชุ่น มณฑลกุ้ยโจว โดยทีมวิจัยได้ตั้งชื่อไดโนเสาร์ซอโรพอดตัวใหม่ที่พบนี้ว่า “เฉียนหลง โส่วฮู่” (Qianlong shouhu) โดย “โส่วฮู่” ในภาษาจีนแปลว่า พิทักษ์หรือปกป้อง สื่อถึงพฤติกรรมการปกป้องทายาทของไดโนเสาร์ชนิดนี้

กลุ่มฟอสซิลไดโนเสาร์ข้างต้น ประกอบด้วยโครงกระดูกไดโนเสาร์โตเต็มวัย 3 ชิ้น และฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ที่ภายในมีตัวอ่อนอยู่จำนวน 5 ชิ้น โดยตัวอย่างฟอสซิลเหล่านี้แสดงถึงลักษณะสำคัญของการสืบพันธุ์ที่แตกต่างออกไป หรือที่เรายังไม่เคยพบมาก่อน จากเหล่าซอโรพอดชนิดอื่นในยุคแรก เช่น ไข่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เปลือกไข่ค่อนข้างหนาและพื้นผิวประกอบขึ้นจากโครงสร้างรูปพีระมิด ตลอดจนเป็นการฟักไข่ในเวลาไล่เลี่ยกัน (synchronous hatching) และมีลักษณะกึ่งกลางระหว่างตัวอ่อนก่อนฟักของจระเข้กับตัวอ่อนก่อนฟักของนกในปัจจุบัน สำคัญที่สุดคือฟอสซิลยุคจูราสสิกตอนต้นเหล่านี้ เป็นหลักฐานอันชัดเจนของสมมติฐานที่ระบุว่าไข่ไดโนเสาร์ในยุคแรกสุดนั้นเป็นไข่เปลือกเหนียว

“ไข่เปลือกเหนียว” หมายถึงเปลือกไข่ที่มีระดับความแข็งอยู่กึ่งกลางระหว่างไข่เปลือกอ่อนและไข่เปลือกแข็ง มีลักษณะเกือบคล้ายผิวหนัง หากพิจารณาจากความหนาของชั้นแคลเซียมและความหนาของเยื่อหุ้มเปลือก

เพื่อศึกษาวิวัฒนาการด้านวิธีการสืบพันธุ์ของไดโนเสาร์และสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลไข่สัตว์เลื้อยคลาน 210 ชนิดจากการศึกษาที่เคยมีมา และนำมาสร้างเป็นฐานข้อมูลไข่สัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจวบจนถึงปัจจุบัน จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ไข่ของสัตว์เหล่านี้ผ่านดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น ประเภทของเปลือกไข่ และความหนาของเปลือกไข่

ผลการวิเคราะห์ที่ได้จากฐานข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่าไข่ไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดคือไข่เปลือกเหนียว ซึ่งแตกต่างไปจากสมมติฐานเรื่องไข่เปลือกนิ่มและไข่เปลือกแข็งที่เคยมีการเสนอในก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าไข่เหล่านี้แรกเริ่มสุดจะมีทรงรี และค่อนข้างเล็ก

การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าขนาดของไข่จระเข้ ไดโนเสาร์ และเทอโรซอร์ (สัตว์เลื้อยคลานบินได้ในยุคดึกดำบรรพ์) มีแนวโน้มใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างกระบวนการวิวัฒนาการ แต่หากมองจากด้านการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาของไข่ ไข่ไดโนเสาร์ในยุคแรกสุดนั้นมีลักษณะเป็นทรงเกือบกลมหรือทรงรี เห็นได้จากไดโนเสาร์เทอโรพอดที่มีแนวโน้มจะเป็นตัวยาวขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาของไข่สัตว์เลื้อยคลานที่น่าทึ่งที่สุด ก่อนที่พวกมันจะวิวัฒนาการไปเป็นสัตว์ปีก เกิดขึ้นในช่วงต้นของวิวัฒนาการของเทอโรพอด ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับช่วงที่นกถือกำเนิด

การวิจัยครั้งใหม่ยังเผยให้เห็นพฤติกรรมของไดโนเสาร์ในยุคแรกอีกมากมาย เช่น การสืบพันธุ์แบบรวมฝูง การฟักไข่ในเวลาไล่เลี่ยกัน และการเปลี่ยนแปลงท่าทางการเดิน เป็นต้น อนึ่ง ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เนชันแนล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) เมื่อไม่นานนี้


ผู้สูงอายุเสี่ยงภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ภัยเงียบของผู้สูงวัย

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย คือหนึ่งในภัยเงียบของผู้สูงอายุที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายถึงชีวิตของผู้สูงวัยได้

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยคืออะไร

ปกติแล้วเราจะมีมวลกล้ามเนื้อสูงที่สุดในช่วงอายุ 30-40 ปี หลังจากอายุ 40 ปี มวลกล้ามเนื้อก็จะเริ่มลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปี ในช่วงแรกอาจจะยังไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อหลังอายุ 50-60 ปี ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็จะลดลงด้วย ประมาณร้อยละ 1.5 ต่อปี และลดลงเร็วขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น จนเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลังอายุ 65 ปี ดังนั้นการรู้เท่าทันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย หรือ Sarcopenia คือ การสูญเสียมวลของกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งภาวะนี้ถือเป็นกลุ่มอาการของผู้สูงอายุ (Geriatric Syndrome) ที่พบบ่อยถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั่วไป

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่

การไม่ออกกำลังกาย

การทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง

อายุที่เพิ่มมากขึ้น

ภาวะทุพโภชนาการ

โรคไตเรื้อรัง

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้สูงวัยมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ที่เราสามารถ

สังเกตอาการและพฤติกรรมได้จาก

มีการทรงตัวที่ไม่ดี

ลุกนั่งลำบาก หกล้มได้ง่าย

รู้สึกเหนื่อยง่าย

บางรายไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันตามเดิมได้ จนก่อให้เกิดภาวะพึ่งพิง

แม้ว่าภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยจะไม่แสดงอาการที่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม รวมถึงการเกิดกระดูกหัก สูญเสียสมรรถภาพความสามารถทางกาย ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคให้ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีคุณภาพ

วิธีป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

แม้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น เราจะต้องสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปตามความเสื่อมของอายุขัย แต่ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยก็สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. บริโภคโปรตีนให้เพียงพอ

บริโภคอาหารที่มีโปรตีน เฉลี่ย 1-1.2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน แต่ถ้ามีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคไต อาจต้องการปริมาณโปรตีนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผู้สูงวัยจึงควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อควบคุมปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับในแต่ละวัน

2. ออกกำลังกาย

ควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกายโดยใช้ยางยืด ท่ากายบริหารสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่ละมัด การยกน้ำหนัก การออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัว เช่น โยคะ การรำมวยจีน เป็นต้น การออกกำลังกายชนิดนี้ควรทำให้ได้อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ หรือรวมกันให้ได้อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น โดยเราควรออกต่อเนื่องตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไป และออกกำลังกายอย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์ หรือรวมกันให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ตัวอย่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน การเต้นรำ เป็นต้น

3. ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

ไม่ว่าจะเป็น หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รักษาโรคเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

สำหรับใครที่เริ่มมีอายุเข้าสู่ช่วงผู้สูงวัย หรือต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุ ควรสังเกตอาการและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตบั้นปลายในระยะยาว

ข้อมูลอ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รพ.กรุงเทพ, รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี รพ.จุฬากลงกรณ์ฯ