ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 19 มีนาคม 2565

รู้จักโรคไบโพลาร์ มีอาการเป็นอย่างไร พร้อมสาเหตุและการรักษา

ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินชื่อโรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว อยู่บ่อยๆ และมักจะเข้าใจผิดว่าอาการอารมณ์ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวอารมณ์ดี อีกสักพักก็เปลี่ยนเป็นอารมณ์ร้าย นั้นคืออาการของผู้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ แต่ความจริงแล้วอาการของโรคไบโพลาร์เป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร และรักษาได้หรือไม่ เรารวมข้อมูลมาให้แล้ว

โรคไบโพลาร์คืออะไร

โรคไบโพลาร์ จัดเป็นโรคในกลุ่มจิตเวช ที่เกี่ยวข้องกับด้านอารมณ์ สามารถพบได้สูงถึง 1.5-5% ของจำนวนประชากร มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมาคืออายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี และยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้สูงถึง 70-90% เลยทีเดียว

ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์แปรปรวนสลับกันระหว่างอารมณ์ดี หรือก้าวร้าวผิดปกติ กับอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใดๆ ทั้งนี้อาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ จึงต่างกับความเข้าใจผิดที่หลายคนคิดว่าอาการอารมณ์แปรปรวนที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วนั้นคืออาการของโรคไบโพลาร์ ที่สำคัญอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และการดูแลตัวเองเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

อาการของโรคไบโพลาร์

อารมณ์ดีผิดปกติ

• ร่าเริงผิดปกติ

• ไม่หลับไม่นอน

• พูดมาก พูดเร็ว

• ใครขัดใจจะหงุดหงิด

• เชื่อมั่นในตัวเองสูง

• ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

• มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มมากขึ้น

อารมณ์เศร้าผิดปกติ

• เศร้า หดหู่

• ไม่อยากพบใคร

• ไม่อยากทำอะไร

• คิดช้า ไม่มีสมาธิ

• คิดลบ

• คิดว่าตัวเองไร้ค่า

สาเหตุของโรคไบโพลาร์ และแนวทางการรักษา

ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุของโรคไบโพลาร์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ปัจจัย คือ

1. ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย, การนอนหลับที่ผิดปกติ, ความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์

2. ปัจจัยทางสังคม เช่น การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเครียด หรือปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ขึ้นมาได้เช่นกัน ทั้งนี้ปัจจัยทางสังคมไม่ใช่สาเหตุของโรค แต่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้โรคแสดงอาการได้

3. ปัจจัยทางพันธุศาสตร์ ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบรูปแบบของการถ่ายทอดผ่านยีนที่ชัดเจนของโรคไบโพลาร์ แต่จากการศึกษาพบว่าสามารถพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นไบโพลาร์มากกว่าในประชากรทั่วไปที่ครอบครัวไม่มีประวัติด้านนี้

สำหรับแนวทางการรักษาโรคไบโพลาร์อาจต้องใช้ทั้งยาและการบำบัดทางจิตใจควบคู่กัน

• การรักษาด้วยยาทางจิตเวช เพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารณ์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการผิดปกติ และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมภายในเวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์

• การรักษาด้วยจิตบำบัด ผู้ป่วยไบโพลาร์บางรายอาจจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยาเพื่อจัดการกับภาวะเครียดได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียดลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ควรหยุดทานยาเอง และควรทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปีสำหรับผู้ที่เป็นครั้งแรก เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งระยะเวลาที่ทานยาอาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เคยเป็น และความรุนแรงของอาการในการรักษา

นอกจากนี้ญาติและบุคคลใกล้ชิดควรทำความเข้าใจอาการ และให้กำลังใจผู้ป่วยอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติ

ทั้งนี้วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปีคือ “วันไบโพลาร์โลก” (World bipolar day) ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ต้องพบเจอ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนทั่วไปว่าอาการของโรคนี้เป็นอย่างไร และช่วยกันลดความเข้าใจหรือความเชื่อผิดๆ ที่สร้างแผลทางใจต่อผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

อ้างอิงข้อมูล: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


ผวา WHO ยืนยัน 'เดลตาครอน' มีจริง พบคนติดเชื้อแล้วใน 4 ประเทศ

WHO ยืนยันเชื้อโควิด'เดลตาครอน' ลูกผสมระหว่าง โอมิครอน+เดลตา มีจริง เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ พบผู้ติดเชื้อแล้วใน 4 ประเทศ หลังนักวิทย์ในไซปรัสประกาศพบครั้งแรกเมื่อต้นปี แต่ถูกคัดค้าน

องค์การอนามัยโลก(WHO) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เชื้อโควิดกลายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์โอมิครอนกับเดลตา ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า 'เดลตาครอน' มีจริง เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ และขณะนี้เริ่มพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาครอนเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆในประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์แล้ว ในขณะที่เว็บไซต์ สกายนิวส์ รายงานว่า มีคนติดเชื้อโควิด เดลตาครอนในสหรัฐฯแล้ว 2 ราย

องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่ามีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ลูกผสม เดลตาครอน อย่างเป็นทางการเมื่อ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา เมื่อได้เกิดข้อกังขาในเรื่องนี้ หลังจากทีมนักวิจัยในสาธารณรัฐไซปรัส นำโดย ศ.ลิออนดิออส คอสตริคิส ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มหาวิทยาลัยไซปรัสได้ประกาศการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นการผสมผสานทางพันธุกรรมระหว่างเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตากับโอมิครอน ตั้งชื่อเรียกว่า เดลตาครอน (Deltacron)เมื่อเดือนมกราคม 2565

แต่ต่อมา ได้มีนักวิทย์จำนวนหนึ่งออกมาคัดค้านทันที โดยชี้ว่าเชื้อโควิดเดลตาครอน น่าจะเป็นการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในห้องแล็บ มากกว่าจะเป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ผสมผสานทางพันธุกรรมระหว่างเชื้อโอมิครอน ซึ่งเป็นเชื้อโควิดที่เกิดการกลายพันธุ์มากที่สุด กับเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่ก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรง

ที่มา : health, Skynews


พบยาลดไขมันในเลือด ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งเนื้องอก

ศาสตราจารย์อัลไรก์ สไตน์ นักวิจัยของศูนย์วิจัยเชิงทดลองและทางคลินิก (ECRC) เป็นสถาบันร่วมของ Max Delbrück Center for Mole cular Medicine ใน Helm holtz Association (MDC) และ Charité-Universitätsmedizin Berlin ในเยอรมนี ค้นพบปฏิกิริยายับยั้งเซลล์มะเร็งของยาลดไขมันในเลือดชื่อ “สตาติน” (Statins)

ศ.สไตน์อธิบายว่า การวิจัยนี้เริ่มจากการค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของมะเร็งในลำไส้ใหญ่ที่ชื่อว่า MACC1 ซึ่งมีส่วนสำคัญในกระบวนการแพร่กระจายของมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ตับ และมะเร็งเต้านม โดยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลายรายที่ผ่าตัดเนื้องอกไปแล้ว แต่กลับเสียชีวิตจากการที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย การทำความเข้าใจกลไกระดับโมเลกุลของการแพร่กระจายจึงเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับมะเร็ง “มะเร็งหลายชนิดแพร่กระจายเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการแสดงออกของยีน MACC1 สูง ทำให้มั่นใจว่ายีนชนิดนี้มีส่วนสำคัญของการแพร่กระจายของมะเร็ง” สไตน์ บอกพร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้ร่วมมือกับ ดร.โรเบิร์ต เพรริเน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย, มหาวิทยาลัยการแพทย์ในเบอร์ลิน และ European Molecular Biology Laboratory (EMBL) ในเมืองไฮเดลเบิร์ก ทำการวิจัยเพื่อค้นหาสารยับยั้ง MACC1 โดยการนำยาลดคอเลสเทอรอล 7 ชนิดทดสอบกับเซลล์เนื้องอกหลายชนิด ในหนูที่ดัดแปลงพันธุกรรม

ด้วยการแสดงออกของ MACC1 และพบว่ายาลดไขมันในเลือดหรือคอเลสเทอรอลช่วยยับยั้งการก่อตัวของเนื้องอกและการแพร่กระจายในสัตว์ได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะยาลดไขมันในเลือด “สตาติน” มีส่วนในการยับยั้งการแสดงออกของยีน MACC1 ที่มีส่วนในการแพร่กระจายของมะเร็งในระดับที่แตกต่างกันของเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด สอดคล้องกับการศึกษาของ ดร.โรเบิร์ต เพรริเน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ที่ได้ตรวจสอบข้อมูลจากผู้ป่วยทั้งหมด 300,000 รายที่ได้รับยาสตาติน พบว่าผู้ป่วยที่กินยาสตาตินมีอุบัติการณ์ของมะเร็งเพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป.


ชวนตะลึง “ฟอสซิลอาร์คีโอเซติ” วาฬโบราณ 50 ล้านปีกลางทะเลทรายอียิปต์

ซินหัว เผยแพร่ภาพถ่ายสุดอลังการของ “ฟอสซิลวาฬ” กลางทะเลทรายในวาดี อัล-ไฮตัน (Wadi Al-Hitan) หรือหุบเขาวาฬในเมืองอัลฟัยยูม ทางตอนกลางของ ประเทศอียิปต์

หนึ่งในนั้นคือซากโบราณของ “อาร์คีโอเซติ” (Archaeoceti) วาฬสายพันธุ์ย่อยเก่าแก่ที่สุด มีชีวิตอยู่เมื่อ 53 ถึง 45 ล้านปีและสูญพันธุ์ไปแล้ว

ซากฟอสซิลเหล่านี้บอกเล่าหนึ่งในเรื่องราวสลักสำคัญของวิวัฒนาการ อาทิ การถือกำเนิดของวาฬในฐานะสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยที่อพยพจากผืนแผ่นดินลงสู่ทะเล


บ่าวสาว 110 คู่ชื่นมื่น! ร่วม “พิธีสมรสหมู่” ในอัฟกานิสถาน

ซินหัว รายงานบรรยากาศชื่นมื่นของพิธีวิ วิวาห์หมู่ 110 คู่ในนครลัชการ์ กาห์ เมืองเอกของจังหวัดเฮลมานด์ ทางตอนใต้ของ ประเทศอัฟกานิสถาน

นายเซย์เยด อาหมัด เซลาบ ผู้จัดงานและประธานมูลนิธิการกุศลเซลาบ เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า “อัฟกานิสถานเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ทำให้หลายครอบครัวประสบปัญหาการว่างงาน โดยคู่รักหลายคู่มีความขัดสนทางการเงินที่จะจัดพิธีแต่งงาน”

นายเซลาบกล่าวว่าพิธีสมรสหมู่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิการกุศลหลายแห่งในท้องถิ่น เป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้คู่รักได้แต่งงานกัน และทิ้งท้ายว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มการกุศลของเขาได้จัดพิธีสมรสหมู่ให้คู่รักกว่า 2,500 คู่ได้สมประสงค์


'อิสราเอล'พัฒนาเทคโนโลยี สกัด‘ออกซิเจน’จากดินของดวงจันทร์

สำนักข่าวซินหัวรายงาน องค์การอวกาศแห่งอิสราเอล (ISA) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศว่าฮีเลียส (Helios) บริษัทสตาร์ตอัปของอิสราเอล ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถสกัดออกซิเจนจากดินของดวงจันทร์

“เทคโนโลยีใหม่นี้อาจปูทางสู่การตั้งถิ่นฐานถาวรของมนุษย์บนดวงจันทร์ โดยพึ่งพาดินจากดวงจันทร์ในการดำรงชีวิต” องค์การฯ ระบุ โดยองค์การฯ ยังจะส่งเสริมการปฏิบัติภารกิจในอวกาศห้วงลึก เช่น การส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร

เทคโนโลยีใหม่นี้ถูกคิดค้นขึ้นเนื่องจากการขนส่งออกซิเจนจากโลกไปยังดวงจันทร์มีต้นทุนมหาศาล โดยการขนส่งออกซิเจน 1 กิโลกรัมใช้เงินมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.13 ล้านบาท) ขณะมวลดินดวงจันทร์ประกอบด้วยออกซิเจนถึงราวร้อยละ 45