เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 สำนักข่าว Hong Kong Free Press ของฮ่องกง รายงานข่าว After arrests in 2023, Hong Kong’s Songkran water-splashing festival moved off the streets ระบุว่า ทางการฮ่องกงไม่อนุญาตให้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 บนท้องถนน ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดกันมาอย่างยาวนานในบริเวณถนนกำแพงใต้ (South Wall Road) เขตเกาลูน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนของชาวไทยที่อาศัยอยู่ในฮ่องกง ทำให้ในทุกๆ ปี จะมีการเล่นสาดน้ำกันบนนถนนสายนี้อย่างสนุกสนาน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ที่ผ่านมาเกิดกรณีชาย 3 คน ถูกจับกุมฐานฉีดน้ำใส่ตำรวจและนักข่าว ทำให้ในปี 2567 มีการประกาศให้ไปจัดงานสงกรานต์ในสนามบาสเก็ตบอลที่อยู่ใกล้เคียง โดย อลิซ ชอย (Alice Choi) เจ้าหน้าที่เขตเกาลูน กล่าวเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2567 ว่า งานสงกรานต์ 2567 จะย้ายไปจัดที่สนามบาสฯ กลางแจ้ง ในสวนสาธารณะคาร์เพนเตอร์โรด โดยกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ในปีก่อนหน้าว่าไม่เหมาะสม และการทบทวนการจัดงานสงกรานต์ในครั้งก่อนๆ ก็เห็นความเหมาะสมที่จะย้ายไปจัดในสนามบาสเก็ตบอล โดยจะมีการตั้งบูทดีเจเปิดเพลงเพื่อความสนุกสนานด้วย
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมายของการสาดน้ำบนถนนกำแพงใต้ ชอย ขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นจากการกระทำดังกล่าว เนื่องจากจะมีการจัดตลาดนัดเปิดท้ายขายของที่นั่นแทน โดยย้ำว่าถนนเป็นสถานที่สาธารณะ และไม่ใช่ทุกคนที่เดินบนท้องถนนต้องการถูกสาดน้ำ อย่างไรก็ตาม ยังอนุญาตให้มีการเล่นสาดน้ำกันที่ย่าน ไหลชิก๊ก (Lai Chi Kok) ในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งครอบครัวต่างๆ จะมาเล่นสาดน้ำกันนอกห้างสรรพสินค้า D2 Place
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ชาย 3 คน ที่ถูกจับกุมฐานฉีดน้ำใส่ตำรวจและนักข่าว ในงานสงกรานต์ฮ่องกงเมื่อปี 2566 ยืนยันตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด โดยจะมีการตัดสินคดีนี้ในวันที่ 18 เม.ย.2567 ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าบริเวณถนนกำแพงใต้ ยอมรับว่า การห้ามเล่นสาดน้ำบริเวณดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกตน ด้าน จาตุรนต์ ไชยะคำ (Chaturont Chaiyakam) กงสุลใหญ่ของไทย ณ เมืองฮ่องกง กล่าวว่า ชาวไทยบางคนหวังว่าจะเฉลิมฉลองปีใหม่บนท้องถนน แต่ขอให้พวกเขาเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างฮ่องกงและไทย
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการเฉลิมฉลองที่สวนสาธารณะคาร์เพนเตอร์โรด ในวันที่ 13 เม.ย.2567 จะต้องลงทะเบียนล่วงหน้า และจะได้รับการจัดสรร 1 ใน 8 ช่วงเวลาตลอดทั้งวัน แต่ละแห่งสามารถรองรับคนได้ประมาณ 200 คน
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 เว็บไซต์ nippon.com ของ The Nippon Communications Foundation สื่อภาคประชาสังคมในญี่ปุ่น รายงานข่าว Half of Japanese University Students Have Used Generative AI ระบุว่า การสำรวจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของนักศึกษาที่จัดทำโดยสหพันธ์สมาคมความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ พบครึ่งหนึ่งของนักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเคยใช้ ChatGPT หรือ Generative AI รูปแบบอื่นที่คล้ายคลึงกัน โดยรวมแล้วประมาณร้อยละ 30 ใช้เป็นประจำ
จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 28.9% ใช้งานเป็นประจำ และร้อยละ 17.8 ระบุว่า เคยใช้แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว ซึ่งหมายความว่าทั้งหมดร้อยละ 46.7 มีประสบการณ์ในการใช้ generative AI นอกจากนั้นอีกร้อยละ 28.2 ระบุว่า ยังไม่เคยใช้แต่ก็ต้องการใช้ในอนาคต บ่งชี้ว่าการใช้งานมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อจากนี้ไป ขณะที่เมื่อถามเกี่ยวกับจุดประสงค์ในการใช้ generative AI เหตุผล 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 การอ้างอิงสำหรับการเขียนงานวิจัยหรือรายงาน ร้อยละ 22.1 รองลงมา การแปลหรือเรียบเรียงภาษาต่างประเทศ ร้อยละ 12.1 และอันดับ 3 ขอคำแนะนำหรือใช้ป็นคู่สนทนา ร้อยละ 11
การสำรวจนี้ดำเนินการทางออนไลน์ในเดือน ต.ค. - พ.ย.2566 โดยมีเป้าหมายเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยระดับชาติทั้งของรัฐและเอกชนรวม 31 แห่งในญี่ปุ่น และได้รับคำตอบจากกลุ่มตัวอย่าง 9,873 คน แม้ว่านี่จะเป็นการสำรวจครั้งที่ 59 แต่ก็เป็นครั้งแรกที่มีการถามผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้ Generative AI หรือการสร้างเนื้อหาโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ในเดือน ก.ค.2566 กระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ออกมาเตือนว่า การส่งรายงานที่ใช้ AI แบบไม่ได้เกลาหรือปรับแก้ด้วยตนเองอีกชั้นหนึ่ง ทำให้เกิดผลลัพธ์คือไม่ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น และอาจเป็นการโจรกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงขอให้มหาวิทยาลัยจัดทำกฎเกณฑ์การใช้ AI ด้วย
เมื่อเดือน พ.ค.2566 โอตะ คุนิฮิโระ (Ota Kunihiro) รองประธานบริหารของมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้กล่าวว่า การใช้ประโยคที่สร้างขึ้นโดยใช้เครื่องมือ AI แล้วอ้างเป็นงานของตนเองเพื่อส่งงานตามที่หลักสูตรกำหนดนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในเดือน มี.ค.2566 มหาวิทยาลัยโซเฟีย สถาบันการศึกษาเอกชนในญี่ปุ่น ยังได้จัดทำนโยบายที่ชัดเจน โดยแจ้งให้คณาจารย์และนักศึกษาทราบว่า การใช้งานไม่ได้รับการอนุมัติ จะดำเนินการอย่างเข้มงวดหากได้รับการยืนยันการใช้งาน แต่หากได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์แล้วอาจนำไปใช้ได้ภายในขอบเขตแห่งการอนุมัตินั้น
9 เมษายน 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าพลเมืองนับล้านคนร่วมชมปรากฏการณ์ 'สุริยุปราคาเต็มดวง' ที่เริ่มขึ้นที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่เวลาประมาณ 23.39 น. ของวันที่ 8 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย ก่อนที่เงาของสุริยุปราคา จะไปถึงเมืองมาซาตลัน ของเม็กซิโกเป็นแห่งแรก แล้วเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเรื่อยไปจนถึงเกาะนิวฟาวด์แลนด์ ของแคนาดา ในเวลาประมาณ 02.55 น. ของวันที่ 9 เม.ย. ตามเวลาประเทศไทย
โดยระหว่างทางนั้น แนวสุริยุปราคาคราสเต็มดวงจะเคลื่อนตัวทะแยงมุมตัดผ่าน 15 รัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยอยู่ถึง 44 ล้านคน ทำให้ทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิด เหมือนเป็นตอนกลางคืนนานประมาณ 4 นาที ส่วนพื้นที่อื่นๆ ของทางฝั่งอเมริกาเหนือที่ไม่ได้อยู่ตามแนวคราสนี้ก็ยังสามารถชมสุริยุปราคาได้เช่นกัน
ซึ่งปรากฏการณ์'สุริยุปราคาเต็มดวง'ในครั้งนี้นั้น ที่เกิดขึ้นในอเมริกาเหนือครั้งแรกในรอบ 7 ปี ซึ่งหากพลาดไปจนต้องรอจนถึงเดือนสิงหาคม 2587 หรือ 20 ปีข้างหน้า กว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ซึ่งปรากฏการณ์ทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมและบริการห้องพักให้เช่าตามจุดชมวิวยอดนิยมถูกจองจนเต็มเอียด เพราะประชาชนหวังชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดังกล่าวนี้
9 เม.ย.67 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ซิโนเปก (Sinopec) บริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ของจีน เปิดเผยการขุดเจาะ “ฝูเซินเร่อ 1” (Fushenre-1) บ่อสำรวจพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ลึกที่สุดของประเทศในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ ได้เสร็จสิ้น ณ ความลึกใต้ดิน 5,200 เมตร ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของบ่อสำรวจฯ ในจีน
ความสำเร็จของการขุดเจาะบ่อสำรวจพลังงานความร้อนใต้พิภพข้างต้นแสดงกลไกการก่อตัวของพลังงานความร้อนใต้พิภพทางตอนใต้ของจีน และจะช่วยยกระดับการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานความร้อนใต้พิภพในภูมิภาคดังกล่าวอย่างมาก
กัวซวี่เซิง หัวหน้านักธรณีวิทยาของซิโนเปก กล่าวว่าพลังงานความร้อนใต้พิภพคือพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่งที่มีเสถียรภาพและปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยมีปริมาณสำรองมหาศาลและกระจายตัวเป็นวงกว้าง
ซิโนเปกมุ่งดำเนินการพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยมีการสร้างกำลังการทำความร้อนจากความร้อนใต้พิภพเกือบ 100 ล้านตารางเมตร และสร้างโครงการทำความร้อนใต้พิภพระดับภูมิภาคหลายแห่ง
9 เมษายน 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า 'จอห์น อัลเฟรด ทินนิสวูด' (John Tinniswood) ชายชาวอังกฤษวัย 111 ปี ได้รับการยืนยันจากกิสเนส เวิลด์ เร็คคอร์ดสว่า เขาคือ 'ชายที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก' หลังจากที่ 'ฮวน วิเซนเต เปเรซ' เพิ่งเสียชีวิตไปขณะมีอายุ 114 ปี และ 'กิซาบุโร โซโนเบะ' ซึ่งมีอายุมากที่สุดในลำดับถัดมาคือ 112 ปี ก็เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 31 มีนาคม ที่ผ่านมานี้
'จอห์น อัลเฟรด ทินนิสวูด' เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2455 ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เขาใช้ชีวิตผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเขารับราชการในกองทัพอังกฤษด้วย โดยเขาเป็นแฟนสโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่าง 'ลิเวอร์พูล' ตลอดชีวิต และใช้ชีวิตผ่านการคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ 8 สมัย และ 17 สมัยของการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก จาก 19 สมัย
คุณทวดวัย 111 ปี กล่าวว่า การรู้จักความพอดีและพอประมาณเป็นกุญแจสำคัญในการมีสุขภาพที่ดี เขาไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่ค่อยดื่มเหล้า และไม่รับประทานอาหารใดๆ เป็นพิเศษ ยกเว้นการทานฟิชแอนด์ชิปส์เป็นมื้อเย็นสัปดาห์ละครั้ง "ถ้าคุณดื่มมากไป กินมากไป หรือเดินมากไป ถ้าคุณทำอะไรมากเกินไป ในที่สุดแล้วคุณก็จะต้องทรมานเอง"
9 เมษายน 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของฟิลิปปินส์ได้ประกาศเตือนภัยดัชนีความร้อนสูง 42-51 องศาเซลเซียสในพื้นที่อย่างน้อย 9 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจัดอยู่ในระดับอันตราย ส่วนพื้นที่ที่เหลือของฟิลิปปินส์คาดมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 33-41 องศาเซลเซียส จัดอยู่ในระดับ ระมัดระวังสูงสุด
นอกจากนี้สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของฟิลิปปินส์ยังได้ออกมาเตือนประชาชนถึงการป่วยด้วยโรคลมแดด (heat stroke) หากตากแดดนานต่อเนื่อง พร้อมแนะนำให้ประชาชนจำกัดการทำกิจกรรมกลางแจ้งและดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากอากาศร้อนจัด
โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า โรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 3,954 แห่ง ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้การเรียนการสอนทางออนไลน์ เพื่อปกป้องนักเรียนจากดัชนีความร้อนพุ่งสูง ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ทั้งนี้ดัชนีความร้อนจะวัดว่ามนุษย์รู้สึกร้อนเท่าใดผ่านการพิจารณาความชื้นสัมพัทธ์ตามสถานที่ที่กำหนด โดยพื้นที่ที่มีดัชนีความร้อนระดับอันตรายมักเป็นสาเหตุให้เกิดตะคริวจากความร้อน (heat cramps) และภาวะอ่อนเพลีย