ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 10 เมษายน 2564

เช็กสัญญาณเบื้องต้น “ปวดท้องข้างซ้าย” เป็นอะไร เตรียมพร้อมป้องกัน

“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” แต่หากโรคที่เป็นอยู่นี้เป็นแล้วไม่หายสักที โดยเฉพาะอาการปวดท้อง อาจบ่งบอกแจ้งเตือนปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะการปวดท้องเป็นๆ หายๆ หรือปวดท้องข้างซ้ายตลอด จนนอนไม่ได้ หากเป็นเรื้อรัง คือสัญญาณบอกโรคอะไรได้บ้าง

“ปวดท้องข้างซ้าย” เกิดจากสาเหตุอะไร

ในร่างกายของคนเรา อวัยวะภายในที่อยู่ในช่องท้องด้านซ้าย คือ ม้าม, ไต, ท่อไต ในผู้หญิงจะมี ปีกมดลูก ด้วย แต่อาการปวดท้องของแต่ละคนนั้นต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าปวดแบบใด เช่น ปวดเคืองๆ, ปวดร้าว, ปวดจี๊ดๆ, ปวดจนนอนตะแคงไม่ได้ หรือปวดจนมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ต้องมาดูว่าเกิดจากสาเหตุใด

บริเวณช่องท้องด้านซ้าย ประกอบด้วยอวัยวะภายในสำคัญ ที่เกี่ยวกับระบบขับถ่ายของเหลว อาการปวดท้องด้านซ้ายที่เกิดขึ้น ต้องพิจารณาควบคู่กับอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้, หนาวสั่น, ตกขาวในผู้หญิง เป็นต้น

ปวดท้องข้างซ้าย ร้าวไปถึงหลัง

อาการปวดท้องด้านซ้าย แบบเกร็ง และร้าวมาที่ต้นขา มีโอกาสเกิดนิ่วในไต

ปวดท้องข้างซ้าย จี๊ดๆ

อาการปวดท้องด้านซ้ายแบบจี๊ดๆ บริเวณท้องน้อย ร่วมกับมีอาการปัสสาวะหรือถ่ายกะปริดกะปรอย เป็นอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือปวดเกร็งเมื่อเป็นประจำเดือน

ปวดท้องข้างซ้าย แบบมีลมในท้อง

อาการปวดท้องข้างซ้ายแบบมีลมในท้อง เมื่อเกิดบริเวณใต้สะดือ หมายถึงอาการเกี่ยวกับลำไส้เล็ก หากเป็นๆ หายๆ หรือเป็นเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาว่าเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะ หรือสำไส้ทำงานผิดปกติ

ปวดท้องข้างซ้าย จนเวียนหัว

อาการปวดท้องข้างซ้ายจนเวียนหัว มีโอกาสเป็นได้หลายโรคมาก เช่น แพ้ท้อง, แพ้อาหาร, ติดเชื้อในลำไส้ ฯลฯ เมื่อเป็นแล้วควรนั่งพัก อยู่ในที่ที่หายใจได้สะดวก เพื่อสังเกตอาการที่อาจรุนแรงมากขึ้น และควรพบแพทย์ให้ตรวจอย่างละเอียด

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าปวดท้องแบบใด ถ้าบรรเทาด้วยการรักษาพยาบาลเบื้องต้นแล้วไม่หาย ร่วมกับมีภาวะที่เสี่ยงต่อการชัก และเสียชีวิต ควรรีบพบแพทย์ และอย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปี ด้วยการตรวจเชิงลึก เพื่อจะได้ป้องกันโรคที่มีสัญญาณมาจากอาการปวดท้องในอนาคต.


ปวดท้องข้างขวาหมายถึงอะไร ส่งสัญญาณต้องระวังโรคใดบ้าง

อาการปวดท้องเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะช่วงท้องเป็นจุดรวมอวัยวะภายในที่สำคัญต่อการดูดซึมสารอาหาร และขับของเสีย โดยเฉพาะ ตับ ม้าม ไต แต่หากวันหนึ่งพบว่า “ปวดท้องข้างขวา” ข้างเดียว ปวดจี๊ดๆ ปวดเฉียบพลัน อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกโรคอะไรได้บ้าง มาดูกัน

ปวดท้องด้านขวาตอนกลางคืน

อาการปวดท้องด้านขวาช่วงตอนกลางคืน หากปวดรุนแรง ก็ต้องระวังอาการไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน แต่หากปวดไม่รุนแรงมาก มีโอกาสเป็นได้หลายอย่าง เช่น ท้องเสีย, ท้องผูก ในเบื้องต้นหากมีอาการที่แย่ลงควรรีบพบแพทย์

ปวดท้องน้อยข้างขวาเฉียบพลัน

อาการปวดท้องน้อยด้านขวาเฉียบพลัน มีโอกาสเป็นไส้ติ่งอักเสบมากที่สุด โดยเจ็บรอบสะดือ หากคลำแล้วเจอก้อนเนื้อแล้วรู้สึกเจ็บ ต้องระวังว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ ต้องรีบพบแพทย์

ปวดท้องน้อยด้านขวาจี๊ดๆ

อาการปวดท้องข้างขวาด้านล่าง และท้องเสีย อาจเป็นภาวะท้องเสียเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพิ่มเติม ป้องกันการเป็นโรคลำไส้อักเสบ

ปวดท้องข้างขวาแบบไม่ถ่าย

อาการปวดท้องข้างขวาแบบไม่ถ่าย เบื้องต้นเป็นสัญญาณท้องผูก อาจมาจากการรับประทานผักและผลไม้น้อย หรือรับประทานยาที่ส่งผลข้างเคียงให้ท้องผูก แต่หากไม่สบายตัว และมีอาการปวดเกร็ง ร้าวถึงต้นขา อาจเกี่ยวกับกรวยไต หากปวดที่ท้องน้อยร่วมกับมีไข้ ในผู้หญิงอาจเป็นปีกมดลูกอักเสบ

ปวดท้องข้างขวา หายใจไม่สะดวก

อาการปวดท้องข้างขวาร่วมกับอาการหายใจไม่สะดวก อาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน อย่างไรก็ดีควรนั่งพักในพื้นที่อากาศถ่ายเท สังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการวิงเวียน ควรพบแพทย์

อาการปวดท้องมีหลายระดับ ซึ่งหากปวดท้องเฉียบพลัน หรือปวดเรื้อรัง มีโอกาสเป็นโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น นิ่วในถุงน้ำดี, ไส้เลื่อน, ไส้ติ่ง, แผลในกระเพาะอาหาร, ลำไส้อักเสบ, กรดไหลย้อน, ตับอ่อนอักเสบ, ตับอักเสบ, กระเปาะลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ และโรคทางนรีเวช

ปวดท้องด้านขวา เสี่ยงไส้ติ่งอักเสบมากที่สุด

อย่างไรก็ดี อาการปวดท้องด้านขวา ต้องเฝ้าระวังโรค “ไส้ติ่งอักเสบ” เมื่อมีอาการเฉียบพลัน มีโอกาสเสียชีวิตได้ อาการปวดท้องที่ส่งสัญญาณไส้ติ่งอักเสบ ได้แก่

• ปวดท้องขวาด้านล่างถี่ๆ มากขึ้น

• ปวดท้องมากขึ้นเมื่อขยับตัว โดยเฉพาะขณะไอ หรือจาม

• รู้สึกคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หรือเบื่ออาหาร

• มีอาการท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด ร่วมด้วย

• มีไข้สูง

• ปัสสาวะถี่ ปัสสาวะแสบขัด

“ไส้ติ่ง” คือส่วนหนึ่งของลำไส้ที่มีลักษณะเป็นท่อแยกออกมาจากลำไส้ส่วนต้น อยู่บริเวณท้องน้อยด้านขวา ไส้ติ่งจะอักเสบได้ก็ต่อเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมมาอุดตัน เกิดจากการรับประทานอาหารที่หลุดมาขวางกั้น หรือเป็นอุจจาระแข็งตัวบริเวณไส้ดังกล่าว เมื่อเกิดการอักเสบจะส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองโต เกิดเป็นเนื้องอก หรือแหล่งสะสมของพยาธิได้ หากไส้ติ่งอักเสบแล้วรักษาไม่ทันเวลา จะส่งผลให้ไส้ติ่งแตก เป็นอันตรายถึงชีวิต

เมื่อผู้ป่วยมีโอกาสได้เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดช่องท้อง คุณหมออาจจะผ่าตัดไส้ติ่งออกให้ด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในอนาคต ปัจจุบันมีการรักษาไส้ติ่งด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้องด้วยแผลผ่าตัดเล็กๆ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ดังนั้นเมื่อเกิดอาการปวดท้องน้อยด้านขวา ส่วนมากคุณหมอจะช่วยกดหน้าท้องเพื่อคลำหาก้อนเนื้ออันมีโอกาสลุกลามเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่หากปวดท้องด้านขวาบ่อยๆ จากสาเหตุท้องผูก ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เลือกอาหารที่มีเส้นใยธรรมชาติ ดื่มน้ำตามมากๆ ร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อช่วยรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ.

ที่มา : เว็บไซต์โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4, เว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงเทพ


ปวดท้องตรงกลาง เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นสัญญาณบอกโรคหรือไม่?

อาการปวดท้องพบได้ในทุกเพศทุกวัย มีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะการ "ปวดท้องตรงกลาง" เป็นอาการที่หลายคนน่าจะเคยเป็นกันบ่อยๆ หากใครที่ปวดท้องตำแหน่งดังกล่าวเป็นประจำ ยิ่งต้องหาสาเหตุให้เจอ เพราะอาจเป็นสัญญาณบอกโรคต่างๆ ได้

ปวดท้องตรงกลาง สัญญาณบอกโรคที่ไม่ควรมองข้าม เกิดจากสาเหตุอะไร?

อาการปวดท้องตรงกลาง เป็นความผิดปกติของอวัยวะบริเวณส่วนท้องภายในร่างกาย ตำแหน่งของการเกิดโรคสามารถบอกสาเหตุของอาการได้ ซึ่งการปวดท้องก็มีระดับความหนัก-เบาที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อรู้สึกปวดท้องเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น รู้สึกจุก ท้องเสีย วิงเวียน คลื่นไส้ รวมถึงปวดหลัง ปวดเอว การรู้จักสังเกตอาการต่างๆ ขณะปวดท้อง จะช่วยให้รู้สาเหตุของโรคในเบื้องต้นได้ ดังนี้

ปวดท้องตรงกลางจุกๆ

หากรู้สึกปวดท้องแบบจุกๆ เสียดๆ รวมถึงมีอาการแสบท้องร่วมด้วย เป็นไปได้ว่าเป็นสัญญาณของโรคกระเพาะ อาหารอักเสบ บางคนอาจจะปวดท้องตรงกลางเป็นๆ หายๆ หรือเกิดขึ้นเฉพาะตอนท้องว่าง รู้สึกหิว กินอาหารผิดเวลา หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ก็อาจนำไปสู่โรคกรดไหลย้อน ทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอก ซึ่งจะอาการกำเริบทันทีหลังกินอาหารเสร็จในแต่ละมื้อ

ปวดท้องตรงกลาง ท้องเสีย คลื่นไส้

อาการปวดท้องตรงกลาง จนทำให้รู้สึกคลื่นไส้และท้องเสีย หากเป็นประจำ อาจสามารถบ่งชี้อาการเริ่มต้นของโรคต่างๆ ได้ เช่น ลำไส้อักเสบ จะรู้สึกปวดท้องบริเวณรอบๆ สะดือ เป็นๆ หายๆ อันเกิดจากลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ในบางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบ ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ ปวดท้องเหมือนจะท้องเสีย แต่ไม่รู้สึกอยากขับถ่าย ควรไปพบแพทย์ทันที

ปวดท้องตรงกลาง เหนือสะดือ

หากรู้สึกปวดท้องบริเวณเหนือสะดือกลางตัว และใต้ลิ้นปี่ เป็นสาเหตุความผิดปกติของตับอ่อน กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี หรือหลอดอาหาร ในบางรายที่ปวดรุนแรงเป็นประจำ จนรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน อาจเกี่ยวข้องกับโรคตับอ่อนอักเสบ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค

ปวดท้องตรงกลาง ใต้สะดือ

ใครที่ปวดท้องบริเวณใต้สะดือ บริเวณช่องท้องส่วนล่าง เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การยกของหนัก ออกกำลังกายโดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องมากเกินไป ซึ่งสามารถกินยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการได้ หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะร่วมด้วย ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เช่นกัน

ปวดท้องตรงกลาง ปวดหลัง

หากรู้สึกปวดท้องเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน หลายคนมักจะมีรู้สึกปวดหลังเป็นผลของอาการข้างเคียง เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย หากส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะอาการปวดท้องตรงกลาง ลามมาปวดหลัง อาจเป็นสัญญาณของโรคกรวยไตอักเสบ ซึ่งจะแสดงอาการร่วมกับการมีปัสสาวะสีขุ่น มีไข้ หนาวสั่น

ปวดท้องตรงกลาง บิดๆ

อาการปวดท้องแบบบิดๆ อาจเกิดจากโรคลำไส้อักเสบ ซึ่งจะมีอาการถ่ายเหลวและท้องเสียร่วมด้วย ควรหันไปกินอาหารอ่อนที่ปรุงสุกสะอาด ดื่มน้ำสะอาดมากๆ กินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้น รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ งดยกของหนักทุกชนิด แต่หากปวดท้องบิด ไข้สูง หนาวสั่น ปวดแสบขัดเมื่อปัสสาวะ อาจเป็นสัญญาณของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในบางรายจะรู้สึกมวนท้อง คลื่นไส้ ไม่อยากกินอาหาร ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค

วิธีรักษาอาการปวดท้องตรงกลาง ควรกินยาอะไร?

อาการปวดท้องตรงกลางมีหลายสาเหตุ เกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ของตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงเป็นสัญญาณบอกโรคที่ไม่ควรมองข้าม หากอาการไม่รุนแรง เกิดจากปัจจัยที่คาดเดาได้ ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้จุกเสียดแน่นท้อง ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร แต่หากมีอาการเรื้อรังหรือรุนแรงเฉียบพลันก็อย่านิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย จะได้หาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย

อาการปวดท้องตรงกลางเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ทางที่ดีควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้รักษาอาการต่างๆ อย่างทันท่วงที.

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์


ลิ่มเลือดอุดตัน...ภาวะแทรกซ้อน “โควิด 19 - วัคซีน”

ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ความกลัว ความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องที่หลายคนกังวล โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวการเสียชีวิตด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ที่สันนิษฐานว่า น่าจะเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ยิ่งทำให้ความไม่แน่ใจต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกามีมากขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนกลับไปดูข้อมูลก่อนหน้านี้ การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 มีผลกระทบต่ออวัยวะระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง เป็นเรื่องที่แพทย์ทั่วโลกตระหนักดีอยู่แล้ว

แต่ข้อมูลล่าสุดจากผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาระบุว่า นอกจากโควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19 ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

งานวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตีพิมพ์ในวารสาร Thrombosis Research เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า จากการศึกษาผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 184 ราย ที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู (ICU) พบว่า ผู้ป่วย 31% มีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง

แม้ผู้เชี่ยวชาญจะไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า ภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19 อย่างลิ่มเลือดอุดตันนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่ก็มีคำอธิบาย พอเข้าใจได้ว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการที่ต้องรักษาตัวอยู่แต่ในห้องไอซียู และร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ร่างกายเกิดอักเสบรุนแรง

Harlan Krumholz แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ประจำโรงพยาบาลเยล-นิวเฮเวน (Yale-New Haven) ให้ข้อมูลกับเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) ว่า “เมื่อระบบภูมิคุ้มกันพบผู้บุกรุกอย่างไวรัสโคโรนา 2019 ก็จะเริ่มกระบวนการสร้างลิ่มเลือดหรืออาการเลือดออกเพื่อต่อสู้กับไวรัส โดยอาศัยปัจจัยการแข็งตัวของเลือด

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ พบได้ในผู้ป่วยอีโบลา ต่างกันตรงที่ผู้ป่วยอีโบลาส่วนใหญ่จะเกิดอาการเลือดออก ในขณะที่ผู้ป่วยโควิด-19 มักพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่า

ซึ่งก็มีผู้ป่วยบางรายที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขาจนต้องตัดขา แม้จะใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแล้ว

นิค คอร์เดโร (Nick Cordero) นักแสดงละครบรอดเวย์ชื่อดัง ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโทนีอวอร์ด (Tony Award) บอกว่า ความน่ากลัวของภาวะลิ่มเลือดอุดตันเพราะโควิด-19 ยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ แตก และถ้าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีปัญหาโรคไตถึงขั้นต้องฟอกเลือด หรือฟอกไต อาจจะยิ่งเสี่ยงอันตรายร้ายแรงมากขึ้น

ซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า เครื่องฟอกไตของผู้ป่วยโควิด-19 บางรายมีปัญหาเนื่องจากลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดของเครื่องฟอกไต นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า หากผู้ป่วยโควิด-19 มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดอุดตัน ก็จะยิ่งมากขึ้นด้วย

ล่าสุด มีข่าวแทบไม่เว้นแต่ละวัน ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนต้าน Covid-19 จากแอสตราเซเนกา ที่ทดลองในคน ว่าปลอดภัย แต่กลับพบว่า มีชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยที่ได้รับวัคซีนดังกล่าว มีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันและเลือดออกผิดปกติ ส่งผลให้หลายประเทศระงับการใช้วัคซีนไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนระหว่างรอผลการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม แดเนียล แซลมอน ผอ.สถาบันเพื่อความปลอดภัยวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ บอกว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันพบได้ตามปกติในประชาชนทั่วไป และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน

สเตฟาน มอลล์ นักโลหิตวิทยาและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ยกตัวอย่างว่า ชาวอเมริกันมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดหรือ เท้าหรือส่วนอื่นๆ ราว 300,000-600,000 คนต่อปี หรือราว 1,000-2,000 คนต่อวัน สหรัฐฯมีประชากรราว 253 ล้านคน ซึ่งถ้าชาวอเมริกันฉีดวัคซีนวันละ 2.3 ล้านคน หมายความว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 1% ได้รับวัคซีนในแต่ละวัน และเมื่อคำนวณต่อไปจะพบว่า ในจำนวนคนที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 1,000-2,000 คนต่อวัน มีเพียง 1% หรือ 10-20 คนต่อวันเท่านั้นที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนซึ่งเป็นอัตราปกติ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน

เดวิด วอห์ล ผู้อำนวยการคลินิกวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา เผยว่า การใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาจริงในประเทศอังกฤษกับประชากร 9.7 ล้านคนเมื่อเดือนที่แล้วพบว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นน้อยมากกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเท่าๆกับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แต่พบภาวะเกล็ดเลือดต่ำผิดปกติในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกามากกว่าไฟเซอร์

ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดอุดตันและภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non–Communicable Diseases)