ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



เที่ยวชม ‘ลิงโคโลบัสแดง’ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในแทนซาเนีย

ลิงโคโลบัส เป็นลิงที่กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา กินพืชเป็นอาหาร ทั้ง ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ กิ่งไม้ เมล็ดพืช อาศัยอยู่กันเป็นฝูง

สำนักข่าวซินหัว-ฝูงลิงโคโลบัสแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลิงที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กำลังปีนป่ายเล่นซนตามต้นไม้เขียวชอุ่มในเกาะแซนซิบาร์ ของแทนซาเนีย โดยส่วนใหญ่พวกมันมักอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในเขตป่าสงวนของเกาะแห่งนี้

ลิงโคโลบัส เป็นลิงที่กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา กินพืชเป็นอาหาร ทั้ง ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ กิ่งไม้ เมล็ดพืช อาศัยอยู่กันเป็นฝูงประมาณ 9 ตัว ในป่าหลากหลายประเภททั้งป่าที่สมบูรณ์และป่าเสื่อมโทรม รวมถึงป่าทุ่งหญ้าและป่าริมแม่น้ำ และจะพบได้มากขึ้นในที่ราบสูง มีระบบย่อยอาหารที่สามารถย่อยชิ้นส่วนต่าง ๆ ของพืชได้เป็นอย่างดีที่ลิงสกุลอื่นไม่สามารถทำได้ เป็นลิงที่ถูกล่าจากมนุษย์เพื่อเอาเนื้อบริโภคเป็นอาหาร

กอปรกับป่าไม้ซึ่งเป็นสถานที่อยู่อาศัยถูกทำลาย อีกทั้งในธรรมชาติยังตกเป็นอาหารของชิมแปนซีที่มีความต้องการสารอาหารประเภทโปรตีนอีกด้วย.


5 พฤติกรรมเสี่ยงทำร้ายกระดูกสันหลัง อวัยวะสำคัญที่ควรดูแลอย่างดี

กระดูกสันหลังถือเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกาย โดยมีความยาวเริ่มตั้งแต่ส่วนคอไปจนถึงอุ้งเชิงกราน นอกจากจะเป็นแกนกลางโครงสร้างกระดูกลำตัวแล้ว กระดูกสันหลังยังมีเส้นประสาทอยู่จำนวนมาก

แต่ทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันคนเราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง อันเป็นผลจากการใช้ชีวิตหรือการทำกิจกรรมต่างๆ จนบางครั้งอาการร้ายแรงจนทำให้ต้องผ่าตัดกระดูกสันหลังเลยทีเดียว

5 พฤติกรรมเสี่ยง ทำร้ายกระดูกสันหลัง

1. การยกของหนักโดยไม่ย่อเข่าและหลังไม่ตั้งตรง พฤติกรรมแบบนี้อาจทำให้กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อเกิดอาการบาดเจ็บ

2. การนั่งท่าเดิมนานๆ ซึ่งพบเห็นมากในกลุ่มคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะคนนั่งห่อไหล่ ไขว่ห้าง

3. การสะพายกระเป๋าหนักเป็นประจำ ตัวการทำกล้ามเนื้ออักเสบและส่งผลต่อกระดูกสันหลัง

4. การนอนท่าที่ไม่ถูกต้อง นอนคุ้ดคู้ หรือการนอนบนที่นอนแข็งเกินไป ทำให้กระดูกสันหลังไม่เป็นเส้นตรง จนเกิดผลข้างเคียงภายหลัง

5. การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน เพราะกระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักคอ บ่า ไหล่ วิธีเล่นมือถือที่ถูกต้องจึงควรตั้งคอตรงและไม่ห่อไหล่

ผลกระทบจากพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจถึงขั้นผ่าตัดกระดูกสันหลัง

อาการบาดเจ็บและความรุนแรงที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมเสี่ยงอาจมีแนวทางการรักษาที่แยกย่อยออกไป ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนอิริยาบถประจำวัน ใช้ยาลดอาการปวด การฉีดยา ไปจนถึงขั้นการผ่าตัด มาดูกันว่ามีอาการและโรคกระดูกสันหลังอะไรบ้าง ที่อาจถึงขั้นเข้ารับการผ่าตัดหากยังคงมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อกระดูกสันหลัง

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

มักพบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี สาเหตุหลักเกิดจากการยกของผิดท่า รวมถึงการยกของหนักบ่อยๆ และพบมากในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป เพราะกระดูกสันหลังต้องรับบทหนัก เคลื่อนตัวออกและอาจกดทับเส้นประสาท อาการเบื้องต้นคืออาการชาและปวดร้าวลงขา

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

เกิดจากการที่โครงสร้างกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพ ทำให้ทรุดตัวและกดทับเส้นประสาท ส่งผลให้เส้นประสาทอักเสบ มักปวดบริเวณหลังหรือช่วงเอวเป็นระยะ ปวดร้าวตั้งแต่ขาไปจนถึงข้อเท้า หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจะทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมโพรงเส้นประสาทตีบแคบ

มักเกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลังที่แคบผิดปกติ เส้นประสาทไขสันหลังจึงถูกกดทับ มักพบมากบริเวณแผ่นหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยมักมีอาการปวด ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดกระดูกสันหลัง

เพราะกระดูกสันหลังทำหน้าที่ประคองร่างกายและรับน้ำหนัก หากกระดูกสันหลังมีความผิดปกติทำให้ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลัง แม้อาจฟังแล้วดูน่ากลัวแต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น ตรงจุด และเห็นผลลัพธ์ชัดเจน

โดยที่ kdms โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข ได้นำนวัตกรรมเหล่านี้เพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง spine-surgery/ โดยคำแนะนำจากทีมแพทย์มากประสบการณ์ ดูแลรักษาไปจนถึงขั้นตอนการฟื้นฟูร่างกาย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับการรักษาจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติที่สุด...


นักวิจัยสดร.ไขปริศนาสิ่งมีชีวิตนอกโลก-มนุษย์ต่างดาว มีจริงไหม

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยของกลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และชีวดาราศาสตร์ แห่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) หรือ NARIT เปิดเผยในรายการของช่องยูทูบ’KornKT’ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอวกาศเมื่อเร็วๆ กรณีข้อสงสัยที่ว่าสิ่งมีชีวิตนอกโลกมีจริงหรือไม่ว่า สิ่งมีชีวิตนอกโลกมีจริงไหม สิ่งเกิดขึ้นต้องบอกก่อนว่าคำนิยามของสิ่งมีชีวิตที่เราต้องการศึกษาคืออะไร ถ้าเราบอกว่าสิ่งมีชีวิตเพียงแค่เซลล์เดียว นอกโลกถามว่ามีไหมยังไงก็ต้องมี เพราะเราเจอกรดอะมิโน อะไรต่างๆ ที่เกิดเป็นโปรตีน หรือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวได้

เราน่าจะเจอได้อย่างง่ายๆ เพราะประกอบด้วยธาตุที่เจอในอวกาศเป็นปกติอยู่แล้ว คำถามคือสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญา หรือที่เราเรียกว่าเอเลี่ยน มันมีจริงไหม แล้วก็ถามต่อว่าการที่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาขึ้นมา ต้องมีปัจจัยอะไรต่างๆ ตรงนี้ก็มีนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาอยู่ เพราะฉะนั้นแล้วเราก็ยังตอบไม่ได้ว่าอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเกิดขึ้น

แต่จะถามว่าจะเป็นเรื่องที่แปลกมากเลยว่า ทั้งจักรวาลเรามีดาวฤกษ์จำนวนมากเป็นพันล้านดวง แค่กาแลกซี่ของเรา และเรามีหลายพันล้านกาแลกซี่ในจักรวาลของเรา ถ้าเราเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา จะเป็นเรื่องที่แปลกมาก

มนุษย์ต่างดาวมีจริงแต่จะอยู่ในรูปฟอร์มไหม อาจจะอยู่ในรูป Carbon Basedหรือบางคนบอกว่าอาจจะเป็นSilicaon-Based ซึ่งตอบไม่ได้ณ วันนี้ว่าสิ่งมีชีวิตที่เราจะเจอนอกโลกรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อาจจะอยู่ในรูปออกซิเจนเบส อาจจะไม่เสถียรในมุมมองของสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่อาจจะเสถียรในดาวเคราะห์ดวงอื่น โอกาสเหมือนเราซื้อหวย ที่มีเลขแค่ 6 ตัว โอกาสถูกหลักล้าน

“คำถามคือถ้าโลกเราอยู่ใน เพียงแค่ดาวเคราะห์ดวงเดียว ที่อยู่ในล้านๆ ดาวเคราะห์ต่างๆ ที่คิดว่าจะเจอในอนาคต คงเป็นเรื่องแปลกมากที่หนึ่งในล้านๆ ๆ หรือหนึ่งในพันล้านๆ โอกาสที่เราจะเป็นหนึ่งในเพียงแค่ดวงเดียวคงเป็นเรื่องยากมาก ถ้าสรุปง่ายๆ มุมมองของนักวิทยาศาสตร์ก็คือ มีโอกาสที่เราจะเจอสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกแน่ๆ” ดร. ศุภชัยกล่าว


ร่วมสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ไตลื้อ ผ่านงาน สืบสานฮีตฮอย กอยไตลื้อ เมิงโป ปี 66

จ.น่าน จัดงาน "สืบสานฮีตฮอย กอยไตลื้อ เมิงโป ประจำปี 2566" ชวนคนไทยร่วมสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ไตลื้อ กลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดงาน “สืบสานฮีตฮอย กอยไตลื้อ เมิงโป ประจำปี 2566” ที่สนามที่ว่าการ อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมี ร้อยเอกอดุลย์ อนุภาพบรรเจิด ประธานชมรมชาวไตลื้อ อำเภอปัว ร่วมกับประชาชนชาวไตลื้อ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอท่าวังผา อำเภอสองแคว และอำเภอสันติสุข และพี่น้องไตลื้อ จาก 6 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่

นำขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ โดยจัดริ้วขบวนแห่ประเพณีของชาวไตลื้อ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไตลื้อ ซึ่งกันและกัน โดยมี นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ นายกสมาคมไตลื้อแห่งประเทศไทย และเจ้าหม่อมตาลคำ รอดเจริญ (คำลือ ณ เชียงรุ้ง) ร่วมเปิดงาน เมื่อวันก่อน

งาน “สืบสานฮีตฮอย กอยไตลื้อ เมิงโป ประจำปี 2566” จัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไตลื้อ กลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรม ไตลื้อให้เป็นความเป็นชาติพันธ์ให้อยู่คู่กับอำเภอปัว และพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อในแต่ละตำบลแต่ละอำเภอให้เหนียวแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพื่อสืบสานตำนานไตลื้อของจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน

อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ ที่มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น รองรับการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน ของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชุมชนได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ภายในงานมีขบวนแห่ การแสดงของชนเผ่าชาวไตลื้อ การฟ้อนรำของชาวไตลื้อจากแต่ละตำบล เช่น การฟ้อนล่องน่าน ของกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อขบวนยาวเกือบ 2 กิโลเมตร ซึ่งชมรมชาวไทลื้อ อำเภอปัว จังหวัดน่าน, การแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตไตลื้อตามซุ้มหมู่บ้าน และซุ้มตำบล ของกลุ่มชาติพันธ์ไตลื้อ โดยเฉพาะอาหารหลัก และวิถีชีวิตของชาวไตลื้อ ได้นำออกมาจำหน่ายภายในงาน นอกจากนี้จัดให้มีขันโตก สำรับข้าว นำออกมาให้ผู้ร่วมงานได้รับประทาน ชมการแสดงบนเวที โดยมีนักท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆ มาร่วมงานจำนวนมาก

ข่าว – ภาพ : สมาน สุทำแปง ผู้สื่อข่าว จ.น่าน


'ต้อหิน'ภัยเงียบที่อาจทำให้สูญเสียดวงตา แพทย์เผยเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ

วันจันทร์ ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2566 : ต้อหินเป็นโรคที่นำมาสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ในคนไทยที่อายุมากกว่า 50ปี จะพบต้อหินได้ถึง5% โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) แนะนำการตรวจตาและการมองเห็นด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอทำให้สามารถรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นของตนเองได้และหากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคต้อหินให้เข้ารับการตรวจตาเพื่อพบโรคได้แต่ระยะแรกและทำการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของโรค

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การดูแลสุขภาพดวงตาและการตรวจการมองเห็นด้วยตัวเองเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญซึ่งหากพบความผิดปกติ และเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขทางจักษุและตรวจพบโรคแต่ระยะแรกก็สามารถรักษาและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ การคัดกรองโรคตาจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นต้อหิน ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางตา ผู้มีสายตาสั้นมาก สายตายาวมาก ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ควรได้รับการตรวจสายตาและวินิจฉัยโดยทีมจักษุสาธารณสุข

นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า ต้อหินเป็นโรคความเสื่อมของประสาทตาที่แทบไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น ต่อเมื่อโรคดำเนินไปจนระยะท้ายทำให้สูญเสียลานสายตาและการมองเห็นได้ การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพตาและการได้รับการวินิจฉัยโรครวมถึงการติดตามอาการและการรักษาอย่างทันท่วงทีจะสามารถชะลอโรคและรักษาการมองเห็นไว้ได้

แพทย์หญิงกุลวรรณ โรจนเนืองนิตย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ จักษุแพทย์ด้านต้อหินกล่าวเสริมว่า เนื่องจากโรคต้อหินแทบไม่มีอาการแสดงในระยะต้นเลยจนเมื่อโรคดำเนินไปจนสุดทางจึงมีอาการเช่นมุมมองของภาพแคบลงและมีการสูญเสียการมองเห็นในระยะสุดท้าย การเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคตาในคนไทยยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องการการพัฒนาและจัดสรรในระบบจักษุสาธารณสุขต่อไป เพื่อให้การคัดกรองโรคตาต่างๆเช่นโรคต้อหินมีความเป็นไปได้

ต้อหินแบ่งตามกายวิภาคตาได้เป็นต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิดและหากแบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรคได้เป็นต้อหินปฐมภูมิและต้อหินทุติยภูมิ โดยกลไกการเกิดโรคนั้นเกิดจากการสูญเสียสมดุลของการสร้างและระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา

ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงใดๆในระยะแรก มีเพียงภาวะต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลันที่อาจมีอาการแสดงเช่นปวดตา ตาแดง การมองเห็นลดลง การตรวจลักษณะประสาทตาเสื่อมที่เข้าได้กับการสูญเสียลานสายตาจึงสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้

เป้าหมายของการรักษาต้อหินนั้นคือ ชะลอความเสื่อมของโรคโดยรักษาการมองเห็นและคงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิตโดยการรักษาที่ได้ผลคือการควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อประสาทตาด้วยการใช้ยาหยอดลดความดันลูกตา การเลเซอร์ และการผ่าตัด แต่เนื่องจากต้อหินเป็นโรคความเสื่อมการรักษาไม่หายขาด ความเข้าใจโรค ความมีวินัยในการหยอดยา และการหมั่นติดตามการรักษาส่งผลโดยตรงต่อผลลัพธ์ของการรักษา การรักษาทางเลือกอื่นๆเช่นอาหารเสริม การนวดตาเป็นการแอบอ้างและโฆษณาที่เกินจริง