ข่าวกงสุล



ข่าวกงสุล 14 กรกฎาคม 2561

พิธีทำบุญตักบาตรและเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลและพิธีถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๖ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑

วันเสาร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ณ วัดไทยลอสแองเจลิส

๐๙.๐๐ น. กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ข้าราชการ หัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทย เจ้าหน้าที่ ผู้แทนสมาคม ชมรม ผู้ร่วมพิธีเดินทางถึงวัดไทยลอสแองเจลิส ประจำโต๊ะตักบาตรหน้าพระอุโบสถ

๐๙.๓๐ น. เจ้าอาวาสวัดไทยลอสแองเจลิสและพระสงฆ์ออกรับบิณฑบาต

๑๐.๐๐ น. กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส และผู้เข้าร่วมพิธีฯ พร้อมบริเวณหน้าเวที

๑๐.๑๐ น. ๑. พิธีสงฆ์

๑.๑ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ประธานในพิธีฯ เดินไปยังบริเวณโต๊ะหมู่บูชา จุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ บูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

- เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล

- พระเทพมงคลวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยฯ และพระสงฆ์ให้ศีล

- พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๑.๒ ประธานในพิธีและหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทย ข้าราชการ ประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จำนวน ๑๐ รูป พระสงฆ์อนุโมทนา

๑๐.๕๐ น. ๒. พิธีถวายพระพรชัยมงคล

๒.๑ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ประธานในพิธี เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายราชสักการะ เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กล่าวถวายราชสดุดี เฉลิมพระเกียรติ ถวายพระพรชัยมงคล

๒.๒ ผู้แทนศาสนาคริสต์ กล่าวอธิษฐานภาวนาขอพร

๒.๓ ผู้แทนศาสนาอิสลาม กล่าวดุอาขอพร

๒.๔ ผู้เข้าร่วมพิธีร่วมร้องเพลง

๒.๕ หลังจากเสร็จพิธีถวายพระพรชัยมงคล ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

หมายเหตุ การแต่งกาย ข้าราชการ / ประชาชน แต่งกายผ้าไทยโทนสีเหลืองหรือสีสุภาพ หรือชุดสุภาพโทนสีเหลืองหรือสีสุภาพ


การให้บริการกงสุลสัญจร ณ เมืองเบิร์คเลย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ขอเชิญคนไทยในมลรัฐแคลิฟอร์เนียและพื้นที่ใกล้เคียงเข้ารับบริการ กงสุลสัญจร ณ เมืองเบิร์คเลย์กำหนดการ ดังนี้

วันเสาร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ และวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.

ณ วัดมงคลรัตนาราม เมืองเบิร์คเลย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย 1911 Russell St., Berkeley, CA 94703-2221 โทรศัพท์ ๕๑๐ – ๘๔๙ – ๓๔๑๙

บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้ ประกอบด้วย (๑) การทำหนังสือเดินทาง (passport) (๒) การทำบัตรประจำตัวประชาชน (๓) งานนิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ เช่น การรับรองลายมือชื่อ การทำหนังสือมอบอำนาจ การขอสูติบัตรไทย เป็นต้น และ (๔) การให้คำปรึกษาด้านกงสุล

ผู้ประสงค์จะทำหนังสือเดินทางควรทำนัดหมาย เพื่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ว่าท่านสามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางได้หรือไม่ (เพื่อไม่ให้เสียเวลาเดินทางไป)

ระบบนัดหมายจะเปิดบริการตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นต้นไป จนครบจำนวนที่จะให้บริการได้

ท่านสามารถทำนัดหมายได้ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

- ระบบนัดหมายออนไลน์ที่ www.thaiconsulatela.org (กดเลือกแบนเนอร์ “นัดหมายทำหนังสือเดินทางที่กงสุลสัญจร” ด้านขวามือของหน้าเว็บไซต์ และกดเลือกสถานที่และวันเวลาที่ต้องการ)

- โทรศัพท์ ๓๒๓ – ๙๖๒ – ๙๕๗๔ อีเมล์ passport@thaiconsulatela.org

ในกรณีที่ท่านมิได้ทำนัดหมายล่วงหน้า ท่านยังสามารถเดินทางไปทำหนังสือเดินทาง (walk-in) ณ วัดพุทธานุสรณ์ได้ แต่อาจใช้เวลาในการรอคิวทำหนังสือเดินทาง ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้นัดหมายทำหนังสือเดินทางล่วงหน้าที่มีการสำรองไว้แล้ว และความสมบูรณ์ของเอกสารที่ท่านต้องเตรียมมาประกอบการยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง

สำหรับการทำบัตรประจำตัวประชาชน นิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ ไม่ต้องทำนัดหมาย ท่านสามารถตรวจสอบเอกสารที่ต้องจัดเตรียมสำหรับการทำหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชน นิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaiconsulatela.org หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลที่ ๓๒๓ – ๙๖๒ – ๙๕๗๔ รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Facebook (Royal Thai Consulate – General, Los Angeles) Twitter (ThaiCGLA) และ Line (@thaiconsulatela)


กงสุลสัญจรเพื่อคนไทยในเมืองลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา และพื้นที่ใกล้เคียง

เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ และวันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้จัดกงสุลสัญจร ณ วัดป่าพุทยานันทาราม เมืองลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา เพื่อให้บริการชาวไทยทั้งในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับบริการด้านกงสุลที่นครลอสแอนเจลิส โดยมีกงสุลกนกพร ควรคิด นำคณะเจ้าหน้าที่ไปให้บริการ และมีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น ๑๗๘ คน จำนวน ๒๐๐ รายการ แบ่งเป็น

(๑) หนังสือเดินทาง ๑๓๗ รายการ

(๒) บัตรประจำตัวประชาชน ๔๑ รายการ

(๓) นิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ ๗ รายการ

(๔) ให้คำปรึกษาด้านกงสุล ๑๕ รายการ

ในโอกาสนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอขอบคุณวัดป่าพุทยานันทารามที่เอื้อเฟื้อสถานที่และอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวไทยที่มารับบริการ รวมทั้งอาสาสมัครกงสุลทุกท่านที่ร่วมทำงานกับสถานกงสุลใหญ่เสมอมา ในการช่วยให้คำแนะนำด้านเอกสารและให้ความรู้เกี่ยวกับงานกงสุลในเบื้องต้นแก่ผู้มารับบริการ ทำให้การจัดกงสุลสัญจรครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และชาวไทยได้รับความสะดวกในการใช้บริการ

ทั้งนี้ กงสุลกนกพรฯ ได้ใช้โอกาสดังกล่าวเป็นผู้แทนนายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เข้าเยี่ยมอาสาสมัครกงสุลท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้ารับการรักษาตัว และได้มอบแจกันดอกไม้จากกงสุลใหญ่ฯ เพื่อแสดงความห่วงใยและส่งกำลังใจให้มีสุขภาพแข็งแรงในเร็ววันด้วย


การให้บริการกงสุลสัญจร ณ เมืองบิลลิงส์ มลรัฐมอนทานา

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ขอเชิญคนไทยในมลรัฐมอนทานาและพื้นที่ใกล้เคียงเข้ารับบริการกงสุลสัญจร ณ เมืองบิลลิงส์ กำหนดการมีดังนี้

วันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ โรงแรม Residence Inn by Marriott Billings 956 South 25th Street West, Billings, MT 59102

บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้ ประกอบด้วย (๑) การทำหนังสือเดินทาง (passport) (๒) การทำบัตรประจำตัวประชาชน (๓) งานนิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ เช่น การรับรองลายมือชื่อ การทำหนังสือมอบอำนาจ การขอสูติบัตรไทย เป็นต้น และ (๔) การให้คำปรึกษาด้านกงสุล

ผู้ประสงค์จะทำหนังสือเดินทางควรทำนัดหมาย เพื่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ว่าท่านสามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางได้หรือไม่ (เพื่อไม่ให้เสียเวลาเดินทางไป) ระบบนัดหมายจะเปิดบริการตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป จนครบจำนวนที่จะให้บริการได้

ท่านสามารถทำนัดหมายได้ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

• ระบบนัดหมายออนไลน์ที่ www.thaiconsulatela.org (กดเลือกแบนเนอร์ “นัดหมายทำหนังสือเดินทางที่กงสุลสัญจร” ด้านขวามือของหน้าเว็บไซต์ และกดเลือกสถานที่และวันเวลาที่ต้องการ)

• โทรศัพท์ ๓๒๓ – ๙๖๒ – ๙๕๗๔ อีเมล์ passport@thaiconsulatela.org

ในกรณีที่ท่านมิได้ทำนัดหมายล่วงหน้า ท่านยังสามารถเดินทางไปทำหนังสือเดินทาง (walk-in) ณ โรงแรม Residence Inn by Marriott Billings ได้ แต่อาจใช้เวลาในการรอคิวทำหนังสือเดินทาง ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้นัดหมายทำหนังสือเดินทางล่วงหน้าที่มีการสำรองไว้แล้ว และความสมบูรณ์ของเอกสารที่ท่านต้องเตรียมมาประกอบการยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง

สำหรับการทำบัตรประจำตัวประชาชน นิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ ไม่ต้องทำนัดหมาย

ท่านสามารถตรวจสอบเอกสารที่ต้องจัดเตรียมสำหรับการทำหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชน นิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaiconsulatela.org หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลที่ ๓๒๓ – ๙๖๒ – ๙๕๗๔ รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Facebook (Royal Thai Consulate – General, Los Angeles) Twitter (ThaiCGLA) และ Line (@thaiconsulatela)


กงสุลใหญ่ฯ และสมาคมนวดไทยฯ สนับสนุนร่างกฎหมายยกเว้นการสอบใบอนุญาตพนักงานนวด

นายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส มีหนังสือถึงนาย Jerry D. Hill วุฒิสมาชิกแคลิฟอร์เนีย เขต ๑๓ เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย SB-1480 ซึ่งนาย Hill นำเสนอต่อวุฒิสภามลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๕๖๑ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งให้ยกเว้นการสอบเพื่อรับใบประกอบอาชีพนวด (Massage and Bodywork Competency Assessment Examination) เป็นเวลา ๒ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๖๒ จนถึงวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๖๔ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานนวด (รวมทั้งคนไทย) ซึ่งมีทักษะในการนวดสูงแต่ขาดความรู้ภาษาอังกฤษ มีเวลาฝึกฝนเพื่อขอรับใบประกอบอาชีพนวดในอนาคต สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวถึงสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่เป็นมิตรของชุมชนไทยด้วย เช่น นาย Kevin Deleon ประธานวุฒิสภาและนาง Laura Friedman สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีเขตครอบคลุมไทยทาวน์ ลอสแอนเจลิสด้วย

ทั้งนี้ นายกสมาคมนวดไทยฯ ก็ได้มีหนังสือถึง สว. Jerry Hill แสดงความขอบคุณและสนับสนุนการเสนอร่างกฎหมาย SB-1480 เช่นกัน


ทีมประเทศไทย ณ นครลอสแอนเจลิส เยี่ยมชมและหารือกับผู้บริหารบริษัท Zodiac Aerospace มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ กงสุลใหญ่ฯ พร้อมด้วยนางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้า ณ นครลอสแอนเจลิส นางสุดากร เทวกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ณ นครลอสแอนเจลิส นางจิตรฉวี อรุณรุ่งเลิศ กงสุล (เศรษฐกิจ) และนักศึกษาฝึกงานของสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้พบหารือกับ นายพเนตร สัตยธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท Zodiac Aerospace มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท ทั้งในสหรัฐฯ และประเทศไทย ตลอดจนเยี่ยมชมสำนักงาน ห้องปฏิบัติการ และโรงงานของบริษัท สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. บริษัท Zodiac Aerospace ก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๓๙ โดยเริ่มจากการผลิตเรือเหาะ (airship) และเรือยางติดเครื่องยนต์ ต่อมาจึงหันมาผลิตระบบที่เกี่ยวข้องกับการบินและอุปกรณ์ที่ใช้ในเครื่องบิน จนมีความเชี่ยวชาญและมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกกว่าร้อยละ ๖๐ ล่าสุดเมื่อต้นปี ๒๕๖๑ บริษัท Zodiac Aerospace ได้ควบรวมกิจการกับกลุ่มบริษัท Safran (ฝรั่งเศส) มีมูลค่าการซื้อขายกว่า ๕ พันล้านยูโร ทำให้กลายเป็นกลุ่มบริษัทด้านการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจาก Boeing และ Airbus

๒. ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ระบบที่เกี่ยวข้องกับการบิน (AeroSystems) อาทิ ระบบความปลอดภัยภาคพื้นดิน อุปกรณ์ไฟฟ้าในห้องนักบิน และระบบควบคุมน้ำและของเสียในเครื่องบิน ๒) ส่วนประกอบต่าง ๆ ในห้องโดยสารเครื่องบิน (Cabin) อาทิ ประตูนิรภัยของห้องนักบิน ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะ ห้องสุขา ครัว และรถเข็นอาหารในเครื่องบิน และ ๓) เก้าอี้โดยสารในเครื่องบินทุกระดับชั้น โดยลูกค้าของบริษัท ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน สายการบิน ท่าอากาศยาน และเจ้าของเครื่องบินส่วนบุคคล

๓. กำลังการผลิตส่วนใหญ่ของบริษัท (ร้อยละ ๕๕) อยู่ในสหรัฐฯ ที่เหลืออยู่ในยุโรปและเอเชีย โดยบริษัทมีโรงงาน ๒ แห่งในประเทศไทย ได้แก่ ๑) โรงงานผลิตอุปกรณ์การขนส่งสินค้าทางอากาศ (air cargo) ที่จังหวัดสมุทรปราการ และ ๒) โรงงานผลิตอุปกรณ์การบริการอาหารบนเครื่องบิน (air catering) ที่จังหวัดลำพูน โดยเฉพาะรถเข็นอาหารในเครื่องบิน (trolley) ซึ่งกว่าร้อยละ ๙๐ ของรถเข็นอาหารในเครื่องบินที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกผลิตจากโรงงานแห่งนี้ โดยผลิตครบ ๒ ล้านตู้เมื่อปี ๒๕๕๙ ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานราว ๓๒,๕๐๐ คน เป็นคนไทยที่ทำงานอยู่ในสำนักงานในสหรัฐฯ ประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญ และมีพนักงานคนไทยในโรงงานที่ประเทศไทยอีกกว่า ๒,๐๐๐ คน

๔. จุดเด่นของบริษัท คือ มีความสามารถครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ (raw material) การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (เช่น การทดสอบความกัดกร่อน ความทนไฟ ฯลฯ) ซึ่งมีกระบวนการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration – FAA)

๕. กงสุลใหญ่ฯ และทีมประเทศไทยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) โดยเสนอให้บริษัทพิจารณาจัดตั้งห้องปฏิบัติการในประเทศไทย เพื่อทดสอบอุปกรณ์ที่ผลิตจากโรงงานในไทยและในเอเชีย แทนการจัดส่งมาทดสอบที่สหรัฐฯ ซึ่งจะต้องอาศัยการตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย (สำนักงานการบินพลเรือนแห่ง ปทท.) และสหรัฐฯ (FAA) ต่อไป