ชุมชนไทยในแอล.เอ.
ข่าวจากกงสุลฯ 23 เมษายน 2559

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ของดให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนในวันศุกร์ที่ 6 และวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2559 ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องนำเครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชนไปให้บริการที่กงสุลสัญจร ณ วัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีมอนท์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในช่วงสุดสัปดาห์ เพราะขณะนี้เครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้สำหรับกงสุลสัญจรชำรุดและอยู่ระหว่างการแก้ไข

ทั้งนี้ บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนตามปกติที่สถานกงสุลใหญ่ฯ จะเปิดในวันอังคารที่ 10พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป


รู้หรือยังว่าทะเบียนบ้านกลางคืออะไร ?

เชื่อว่าคนไทยทุกคนคงรู้จักทะเบียนบ้านกันเป็นอย่างดี ทะเบียนบ้านเป็นเอกสารที่ออกให้โดยสำนักงานเขตหรืออำเภอ ซึ่งจะระบุข้อมูลว่าบ้านนี้ตั้งอยู่ที่ไหน มีใครอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้บ้าง ส่วนรูปร่างหน้าตาของทะเบียนบ้านก็มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ สมัยก่อนเป็นแผ่นกระดาษสีขาวค่อนข้างแข็ง ปัจจุบันเป็นเล่มปกสีน้ำเงิน ดูคล้ายสมุดเงินฝากธนาคาร หรือหากจะพูดกันตามภาษากฎหมายก็ต้องบอกว่า “ทะเบียนบ้าน” หมายถึง ทะเบียนประจําบ้านแต่ละบ้านซึ่งแสดงเลขประจําบ้าน และรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน ทางราชการจะมีตัวย่อเรียกว่า ทร. 14 ขอเรียกง่ายๆ ว่า ทะเบียนบ้านปกติ

ถ้าอย่างนั้นแล้ว ทะเบียนบ้านกลางคืออะไร เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จัก พอจะรู้จักหรือได้ยินเป็นครั้งแรกก็เกิดปัญหากับตัวเองเสียแล้ว อยู่ดีๆ ชื่อเราก็ไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลางได้อย่างไร แต่อย่าเพิ่งตกใจไปก่อน ที่ว่าเป็นปัญหาก็แก้ไขได้

ตามกฎหมาย “ทะเบียนบ้านกลาง” หมายความว่า ทะเบียนซึ่งผู้อํานวยการทะเบียนกลางกําหนดให้จัดทําขึ้นสําหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้านได้ หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ทะเบียนบ้านกลางไม่ใช่ทะเบียนบ้าน แต่เป็นทะเบียนที่ใช้สำหรับใส่ชื่อคนที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปกตินั่นเอง ตัวย่อของทางราชการจะเรียกว่า ทร. 97

แล้วทำไมพวกเราที่ย้ายมาอยู่อเมริกานานนับสิบปีแล้ว ชื่อที่เคยอยู่ในทะเบียนบ้านปกติถึงหลุดไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลางได้ สาเหตุนั้นก็มีมากมายหลายประการ แต่ที่พบบ่อยก็คือ เจ้าบ้านมาแจ้งย้ายออกโดยบอกว่าท่านได้ออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นแล้ว (เกินกว่า 180 วัน) และไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใดหรือบางทีก็บอกว่าย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางเขตหรืออำเภอก็จำต้องย้ายชื่อท่านจากทะเบียนบ้านปกติไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลางนั่นเอง เพราะไม่รู้จะแจ้งย้ายเข้าที่ทะเบียนบ้านไหน หรือบางครั้งเจ้าของบ้านเดิมซึ่งเป็นญาติพี่น้องของท่านได้ขายบ้านหลังนั้นไปแล้ว เจ้าของบ้านคนใหม่ก็เลยไปแก้ไขทะเบียนบ้านที่เขตหรืออำเภอ แล้วก็แจ้งย้ายชื่อบุคคลที่อยู่ในรายการทะเบียนบ้านเดิมออกไป จึงเป็นเหตุให้ชื่อท่านไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง

ถามว่าเมื่อชื่อของท่านไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลางแล้วจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง คำตอบคือท่านจะเสียสิทธิบางประการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้บุคคลต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือต้องใช้ทะเบียนบ้านมาประกอบเป็นหลักฐานในการติดต่อราชการ ตัวอย่างของการเสียสิทธิที่ชัดเจนที่สุดสำหรับพวกเราที่อยู่ในอเมริกาก็คือ ไม่สามารถทำหนังสือเดินทางและต่อบัตรประจำตัวประชาชนไทยได้ รวมทั้งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้อีกด้วย

เมื่อชื่อของท่านไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลางแล้วจึงควรรีบย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางโดยเร็ว และแจ้งขอเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านปกติของญาติพี่น้อง หรือหากไม่มีญาติพี่น้องอยู่แล้วเลยไม่รู้จะขอเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านไหน ท่านก็สามารถแจ้งย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางไปเข้า “ทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ” ซึ่งเป็นทะเบียนบ้านชั่วคราวที่กรมการปกครองกำหนดให้แต่ละเขตหรืออำเภอจัดทำขึ้นสำหรับใส่ชื่อบุคคลที่ไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานานหรือไม่มีบ้านในประเทศไทย

การย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางไปเข้าทะเบียนบ้านปกติ หรือ ทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศให้ดำเนินการได้ ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ โดยมี 2 วิธี คือ

(1) ดำเนินการด้วยตนองที่ประเทศไทย ในกรณีผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางเป็นผู้เยาว์ ต้องให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ

(2) มอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นคำร้องขอแจ้งย้ายแทน หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถแจ้งการย้ายออกได้ด้วยตนเอง

สำหรับหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการแจ้งที่ท่านจะต้องเตรียมนั้น ประกอบด้วย

- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอแจ้งย้ายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง

- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ได้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน)

- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่ยินยอมให้ย้ายเข้าทะเบียนบ้านปกติ

- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะแจ้งย้ายเข้า

- กรณีที่จะย้ายเข้าทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ ให้ท่านแจ้งต่อ นายทะเบียน ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ

- หลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับตัวบุคคลผู้ขอย้าย (กรณีไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน) เช่น หนังสือเดินทางไทย สูติบัตรไทย ทะเบียนบ้านเดิมที่เคยมีชื่ออยู่ เป็นต้น

นายทะเบียนของเขตหรืออำเภอจะทำการตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานทั้งหมดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ขอแจ้งย้ายเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านกลาง และอาจเรียกดูเอกสารหลักฐานอื่นๆ จากท่านเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี ซึ่งขอแนะนำว่าท่านควรติดต่อสอบถามกับเขตหรืออำเภอที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่ให้ชัดเจนเสียก่อนเกี่ยวกับหลักฐานที่อาจต้องนำไปแสดงเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้ไม่เสียเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทน เพราะในบางครั้งหลักฐานที่มีอยู่อาจไม่สมบูรณ์ และทางเขตหรืออำเภอมีความจำเป็นต้องขอพูดคุยหรือสอบถามข้อมูลจากท่าน

ผู้ที่จะมอบอำนาจให้ญาติพี่น้องไปยื่นคำร้องขอแจ้งย้ายแทนที่ประเทศไทยนั้น ท่านจะต้องทำหนังสือมอบอำนาจกับสถานกงสุลใหญ่ฯ เท่านั้น โดยให้สถานกงสุลใหญ่ฯ เป็นผู้รับรองลายมือชื่อของท่านเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ไม่เช่นนั้นแล้วเขตหรืออำเภออาจไม่ยอมดำเนินการให้

การทำหนังสือมอบอำนาจกับสถานกงสุลใหญ่ฯ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนไทย หรือหนังสือเดินทางไทยที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมสำเนา 2 ชุด ไปที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (รับคำร้องเวลา 09.00 – 12.00 น. ของวันทำการ) เพื่อกรอกคำร้องนิติกรณ์และหนังสือมอบอำนาจ พร้อมลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ จากนั้น ชำระค่าธรรมเนียม 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อตราประทับ สถานกงสุลใหญ่ฯ จะทำการรับรองลายมือชื่อของท่าน ท่านสามารถรับเอกสารคืนได้ในวันทำการถัดไป (รับเอกสารคืนเวลา 13.00 – 16.00 น.) สรุปแล้วใช้เวลาเพียง 2 วันทำการเท่านั้น

ในกรณีที่ไม่สะดวกไปทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ท่านสามารถยื่นเรื่องได้ทางไปรษณีย์ โดยดูรายละเอียดที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiconsulatela.org (ที่แถบเมนูด้านซ้ายมือ ให้เลือกหัวข้อ “นิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์” / เลือก “การรับรองลายมือชื่อในเอกสารไทย (หนังสือมอบอำนาจ)”) และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ท่าน สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้บรรจุคำร้องนิติกรณ์และแบบฟอร์ม “หนังสือมอบอำนาจสำหรับการย้ายทะเบียนบ้าน” ไว้ในเว็บไซต์ด้วยแล้ว

เมื่อรู้เช่นนี้แล้วคงไม่มีใครอยากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางเป็นแน่ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามกับสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ที่ 323 – 9629574