ความจริงหรือความคิด
ไพฑูรย์ สุขสิขารมย์
โรงเรียนของแม่ ตอนที่ 7

แม่พร่ำสอนลูก การสอนลูกให้เป็นคนดี มีวิชาติดตัวคืองานหลักที่แม่ต้องทำ ถ้าลูกทำตามขยันอ่านหนังสือ เขียน เรียนรู้คณิตศาสตร์ ลูกของแม่จะมีวันสดใส รอรับในวันข้างหน้า แม่ชอบธรรมชาติแถวบ้าน มองดูเมื่อไหร่ สบายใจ สงบ ไม่มีวัตถุล่อใจ สายน้ำไหลหน้าบ้าน สิ่งปะปน คนทำมาหากินจากสายน้ำ แตกต่างเป็นการเรียนรู้อีกแบบ ชีวิตคนจะยืนอยู่ในสถานะอย่างไหน ถ้ารู้จักปรับกายใจจะสงบ ความกระตือรือร้นไม่เคยหลับไหลที่จะสร้างงานทางความคิด

แม่เติบโต และฝากชีวิตในสังคมต่างจังหวัดจะไปไหนมากวันจะคิดถึงบ้าน จำได้ไหมแม่เคยไปอเมริกาอยู่กับลูกหลายเดือน กลางวันหลานไปโรงเรียน ลูกๆ ไปทำงานที่ร้าน บ่อยครั้งแม่น้ำตาไหลคิดถึงบ้าน แม่ลงจากบ้านเดินไปไหนๆ จะมีการทักทาย หยุดพูดคุย ทุกคนใช้ภาษาเดียวกัน ก่อนแม่อายุ 80 3-4 ปีก่อน แม่ยังแข็งแรง ยังชอบอ่านหนังสือ ยังมีงานเล็กๆ น้อยๆ ทำ เดินคล่อง ไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน สำหรับแม่คือศูนย์กลางของธรรมชาติ ธรรมชาติเกิด เติบโต ตาย ธรรมชาติเป็นผู้กระทำ แม่เป็นเพียงผู้ช่วยปรับปรุงให้ธรรมชาติ เติบโต ขยายพันธุ์ และยังคงให้ความอบอุ่นกับคน แต่จะแตกต่างกับคนในเมือง เป็นผู้บงการธรรมชาติ เอาธรรมชาติมาวางกองใกล้ตัว และบ่อยครั้งธรรมชาติไม่เป็นไปตามใจคิด ใจย่อมรับรู้ความเจ็บ

สำหรับผม ชีวิตเกือบจะไม่ตามวัตถุจะมีบ้างก็ได้ของตกรุ่น เพื่อความบันเทิงของครอบครัว ยิ่งอุปกรณ์สื่อสารใหม่ๆ แม่ล้าหลังเสมอ ไม่สนใจ ไม่กระตือรือร้นที่จะมี แต่อย่างคิดว่าแม่หลบหลีกสังคมนะ สังคมของคนต่างจังหวัด อาศัยวัฒนธรรมเป็นสื่อ ผิดกับคนในเมือง ชีวิตเริ่มเดินห่างวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ สมสู่กับวัฒนธรรมต่างประเทศที่คิดว่าเจริญกว่า ที่จริงวัฒนธรรมใหม่ๆ มาแทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิม เหตุผลอ้างมากมาย ของเราล้าหลัง แท้จริงแล้วเราทอดทิ้งสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้เหมือนกับชาวนา ก่อนโน้น ไถนาใช้ควาย เกี่ยวข้าวลงแขก ขนข้าวเข้าบ้าน ใช้ควายลากเลื่อน เอาฟ่อนข้าวมาเรียงเป็นวงกลม ใช้ควายขึ้นไปเหยียบย่ำ ข้าวจะหลุดจากซังข้าว ทุกอย่างใช้แรงงานคนและสัตว์ แต่ปัจจุบัน ทุกสิ่งใช้รถ ผ่อนแรง สะดวก เร็ว จริงแม่ยอมรับเครื่องผ่อนแรงใหม่ๆ ดีกว่าเก่าแน่ แต่คนทำนา ส่วนมากจะเช่านาปลูกข้าว ถึงเป็นเจ้าของก็มีนาไม่มาก เมื่อใช้รถ จ้างทุกอย่าง ต้นทุนสูง บางปีรายได้น้อยมาก เรียกว่าขาดทุน วัฒนธรรมใช้แรงงานธรรมชาติเรียกว่าวัฒนธรรมหดหาย คนต่างจังหวัด จะคิดว่าทุกคนคือคนรู้จักในหมู่บ้าน พึ่งพาช่วยเหลือ ไม่โดดเดี่ยว เกื้อกูล คนในเมืองบ้านซอยเดียวกัน เดินสวนไม่ทัก ไม่มองหน้า ซ้ำร้ายไม่เคยมีรอยยิ้ม แม้แต่บ้านติดกัน หาเวลาสังสรรค์ แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น ความคิดชีวิตมีงาน มีเงิน ป่วยไปโรงพยาบาล หิวคนใช้วิ่ง ไม่ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านก็โอเค การเรียนของเด็กๆ ต่างจังหวัด ยังมีความเป็นธรรมชาติ มากกว่าเด็กในเมือง วันหยุดยังมีอิสระไม่ต้องกวดวิชา ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง กระเป๋าเรียนไม่ต้องถือจนตัวเอียง เด็กเมืองมีจุดหมายอยากเรียนโรงเรียนดีๆ มีชื่ออย่างโรงเรียนสาธิต ถ้าเป็นโรงเรียนมีวัดนำหน้า ก็ต้องท็อป 10 แม่ยอมรับโรงเรียนดีๆ จำเป็น แต่เมื่อใช้ต้นทุนชีวิตมากเกินขนาด สังคมของประเทศคนมีการศึกษาแน่น แต่ทุกสิ่งต้องพึ่งของนอกประเทศ อะไรล่ะคือความสำเร็จ

แม่สอน ถ้าลูกเรียนหนังสือได้เหมือนเล่นกับเพื่อนๆ อยากเล่น สนุก หาหนทางเอาชนะ คิดสัมพันธ์กับการเล่นชนิดอื่นๆ การเรียนจะเจริญก้าวหน้า เมื่อเห็นหนังสือ อยากเร่ไปอ่าน อยากรู้เนื้อหา อ่านแล้วเพลิดเพลิน สนุก ความรู้พัฒนากับวิชาอื่น ถ้าทำได้อย่างที่กล่าว ตำแหน่งต้นๆ จะไม่พลาด ความรู้จะตกตะกอนเอง จะสัมพันธ์กับสิ่งใหม่ๆ ตอนเป็นเด็ก เคยสังเกตแม่เวลาตักน้ำในแม่น้ำ มาใส่ตุ่ม (โอ่ง) พอเต็ม แม่จะนำสารส้ม เป็นก้อนสีขาว แกว่งน้ำ แล้วปิดฝาโอ่ง ไม่นานมาเปิดดูน้ำ ใสสะอาด มองเห็นหน้าตัวเอง ตะกอนที่เคยผสมกับน้ำ ตกรวมก้นโอ่ง น้ำที่ใสสะอาด ถ้ามีสารเคมีผสม สารเคมีมาจากการลักลอบเทลงน้ำของโรงงาน แทนที่จะเทใส่บ่อบำบัด ความมักง่ายเกิดจากการประหยัดเงิน แต่ไม่คิดบ้างสารเคมีทิ้งลงคลอง ปลา คนใช้น้ำรดพืช คนใช้อาบ อาจเป็นผื่นคัน ใช้กินเกิดโรคมากมาย เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ เหมือนรัฐบาลขี้โกง ถ้าขาดการลงโทษ ทางอาญา ยากที่สูญพันธ์ ถ้าเป็นความรู้ตกตะกอน ยิ่งกวนยิ่งเพิ่มงาน เป็นทุนดีๆ ของชีวิต

แม่ชอบทำงาน ถึงงานที่ทำจะซ้ำ แต่ก็มีผลต่อความเป็น ความมีของครอบครัว ทำทุกวันจนกลายเป็นความชอบพอ ทำให้เกิดความขยันในงาน แม่เรียกการทุ่มเทเพื่อการทำงานคือ “พลังของชีวิต” ทำแล้วสุขภาพกายใจดี มีเงินใช้ ถอยหลังตอนแม่เป็นเด็ก วิชาเรียนแม้แต่ธรรมะ จะอ้างการพัฒนาปัญญาเกิดจากงาน

คนต่างจังหวัด ระบบสังคมแคบ โดยเฉพาะหนุ่มสาว ความชอบพอ ปลงใจแต่งงาน ส่วนมากจะสัมผัสกันด้วยงานประเพณี และยึดถือสืบช่วงมานมนาน การยกลูกสาวให้ใคร จะยึดหลัก “ดูพ่อแม่” ของแน่ร่ำรวยย่อมอยู่ในสายตา แต่ถ้ายากจนก็ยังมีสิทธิ์ลุ้น แต่ต้องมีปัจจัยประกอบ ขยัน อดทน มานะ และสำคัญไม่ติดอยายมุข ประเภท เหล้า การพนัน และเจ้าชู้ เขาจึงบอกว่าควรดูพ่อแม่ ยิ่งขุดรากมาดูคือปู่ย่า ครอบครัวมีพฤติกรรมอย่างไร ลูกย่อมรับอิทธิพลแบบที่เห็นจากครอบครัว

แม่ผ่านวัย ที่สะสมประสบการณ์ของชีวิต จึงพูดได้เต็มที่ว่า คนอายุเกษียณก็ยังทำงานได้ดี มีความรอบรู้มาก แต่สังคมคนไทยไม่ชอบรับคนเกษียณทำงาน เพียงคิดตื้นอายุมาก มากสิ่งน่าจะแก่ตามอายุ ไม่จริง เคยเห็น หลังจากพ่อแม่เสียชีวิต ทิ้งสมบัติไว้ให้ลูก ถึงหยุดทำงาน เพียงรู้จักใช้ จะมีข้าวกินตลอดชีวิต ตายยังทิ้งมรดกให้คนรับช่วงไม่รังเกียจจะเผาผี ลูกทุกคนแม่ส่งในเรียนสูงๆ เมื่อมีการศึกษา ย่อมมีงานดีๆ ทำ เมื่อเห็นลูกไม่เดือดร้อน สมบัติไม่ต้องสะสมไว้ให้ก็ได้ ก็จริงเพราะการศึกษา คือหนทางทำมาหากิน แต่ถ้าชีวิตเรารู้จักใช้เงิน เก็บออมไว้ให้ลูกบ้าง แม่คิดว่าลูกๆ จะได้เปรียบเริ่มชีวิต มีหลักฐาน ก้าวเท้าไกลกว่าคนอื่น

การเก็บสะสมเงินทอง คือการใช้จ่ายอย่างมีระบบ เงินที่สะสมคือทุนของชีวิต โดยเฉพาะชีวิตคน เด็ก เป็นผู้ใหญ่ และสุดท้ายชรา อายุมากขึ้น กำลังก้าวไปถึงจุดยากที่จะช่วยตัวเองและตาย เมื่อสิ่งสะสมก็สามารถจะเป็นทุนให้ชีวิตเดินต่อไปพอสบาย และเป็นความจริงปลายชีวิตถึงจะใช้จ่ายน้อยลง กินน้อย หยุดซื้อของแต่งตัว แต่ปัจจัยที่ใช้เงิน เกี่ยวกับสุขภาพ ค่าภาษีบ้าน น้ำรั่ว ท่อตัน รถที่ใช้ รับใช้มานานต้องเข้าอู่ งานสังคม และงานบุญ เห็นไหม เงินสะสมย่อมมีค่า

เมืองไทย ถ้าชีวิตรับราชการ เกษียณชีวิตย่อมมีเงินกิน ยิ่งทำงานตั้งแต่จบจากโรงเรียน ทำงานราชการเลย เงินเกษียณที่ได้คือเงินเดือนสุดท้าย ไม่มีกั๊ก (หัก) รับเต็ม คนทำงานบริษัท เกษียณบริษัทจ่าย แต่ถ้าชีวิตบอกเต็มคำงานที่ทำเตะฝุ่น แบมือขอ หรืออาชีพเร่ร่อน ก่อสร้างไปที่ไหน ย้ายครอบครัว สร้างเพิงในบริเวณก่อสร้างจะไปด้วยทุกที่ ชาวไร่ชาวนาทำนาตลอดชีวิตเกษียณก่อนโน้นรัฐไม่มีเงินให้ เดี๋ยวนี้ยังดี ให้ 600-700 ขึ้นอยู่กับอายุ และพอถึงเวลาปลดระวางไปกรอกใบสมัครเดือนเดียวที่พิจารณา คือเดือนพฤศจิกายน เผอิญไปก่อนหลังโมฆะ ช่างเป็นความบังเอิญเหมือนกับโมฆะบุรุษ คือคนที่ไม่อยู่ในสายตา ถึงจะสมัครตรงตามเวลา อีกสองเดือนมาตรวจรายชื่อ ถ้าตกหล่นทำใหม่ เงินค่อยมาเอาพฤศจิกายนปีต่อไป ถามว่าแล้วจะกินอะไร ชะลอก่อนได้ไหมล่ะ น่าจะเป็นคำตอบ อดพึมพำด้วยคำหยาบคาย ถือโอกาสนำพระมารับรู้แช่งซ้ำ

วันนี้คนเริ่มทะยอยมาโรงเรียนใต้ถุนบ้าน คนมีความรู้เรื่องการบัญชี รายรับรายจ่าย มาอธิบายชาวนา มีรายได้ปีละครั้ง เพราะทำนาครั้งเดียว เหตุผลง่ายๆ น้ำไม่มีให้ทำ เมื่อทำครั้งเดียว เงินจึงได้ครั้งเดียวเหมือนกัน ชาวนาส่วนมากเช่านาทำ แบ่งครึ่งข้าว หรือจ่ายไร่ละกี่ถัง พอขายข้าวได้จะมากหรือน้อย ประหลาดแท้อยากเป็นเจ้าของโน่นนี่ ท้องหิวพอดี ความรู้สึกอยากได้ สร้อย แหวน นาฬิกาผูกมือ รองเท้าไม่ต้องขนาดแบแร็ต เพียงบาจาก็โก้แล้ว ความคิดประเภทนี้ ย่อมใช้เงินเติบ คงไม่พอครบปี ย่อมหาแหล่งกู้ ประเภทให้กู้ดอกเบี้ยแพง หักดอกก่อน ไม่ต้องการเครดิต ถ้าผิดคำสัญญา อาจถูกตืบ แม่เล่าได้อ่านหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งกับตัวแทนของพระองค์ ที่ออกไปสอนชาวไร่ ปลูกพืชผล เมื่อขายพืชผลได้ ควรทำบัญชี รายรับรายจ่าย

การทำบัญชีจำเป็น เรารู้ว่าปีนี้มีรายได้เท่าไหร่ หักหนี้สินเหลือเงินสุทธิเท่าไหร่ เงินเหลือต้องใช้จนถึงข้าวปีต่อไปออก และครอบครัวมีหลายคนความจำเป็นที่ครอบครัวต้องใช้มีอยู่เสมอ เมื่อมีเงินเก็บ ใช้อย่างประหยัด ย่อมมีเงินพอเหลือ

แม่บอกว่า วันนี้คนมาจากอำเภอ จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำบัญชี รายรับ และรายจ่าย ถ้าสงสัย ควรถาม

การจ่ายเงิน ต้องทำบัญชี ต้องคิดถึงหลัก

1.ยอมรับต้องใช้เงิน ซื้ออาหาร ซื้อยา เสื้อผ้า

2.ใคร่ครวญว่าจำเป็นไหม ถ้าคิดว่าจำเป็นควรพิจารณาข้อที่ 3

3.เงินที่ใช้บอกว่าจำเป็น กระทบกับเงินสะสมหรือเปล่า

จบคำบรรยาย การทำบัญชี เพื่อสานต่อนโยบายใช้ชีวิตแบบพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การทำบัญชี สามารถรู้ที่มาที่ไปของเงิน ทุกครั้งสามารถคิดถึงความจำเป็น การทำบัญชีสามารถสร้างนิสัยอดออม มองข้างหน้าจนถึงคำว่า การใช้เงินที่เป็นระบบคือความเป็นปกติของชีวิต ใช้เงินไม่บีบ ไม่รัด ความรู้โปร่งโล่ง รับรู้ถึงคนจะใช้วัตถุ เมื่อเราบ่มตัวจนรู้คุณค่าของเงิน ถึงวัตถุและคนขายมาตีฆ้องโฆษณาที่บันไดบ้าน ความคิดมีได้เพียง “มันก็เท่านั้นเอง” ข้าไม่ใช้เงินซื้อโว้ย ไปบ้านอื่น