ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



รู้วิธีรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากเจ้ากรรมนายเวร

การสร้างลักษณะนิสัยสู่การสร้างบุคลิกภาพ ท่านทั้งหลายไม่ต้องคิดให้มันซับซ้อน เพราะมันคือการลงมือปฏิบัติในศีลในวินัยที่จะเคารพตนของตน และเคารพคนอื่นด้วยนี้เอง ทางพระเรียกกันว่าเจริญศีลสิกขาคือสำรวม ระวัง รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย อันที่จริงก็มิใช่เรื่องซับซ้อนนะ ไม่ทราบว่าท่านทั้งหลายเข้าใจคำว่าสำรวมในพระปาฏิโมกข์ อันเป็นพื้นฐานของความบริสุทธิ์กันเพียงใด ก็เอาไว้ค่อยๆ ศึกษากันไป เรื่องพระปาฏิโมกข์กล่าวกันว่าเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ 4 ประการนี้เลย

1. ปาฏิโมกขสังวร คือการสำรวมอยู่ในศีล 227 ข้อ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงให้ปฏิบัติ

2. อินทรียสังวร คือการรู้จักสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เพลิดเพลินไปกับ อารมณ์อันน่าใคร่ อันเกิดจากการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และการรับรู้อารมณ์ทางใจ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรถูกต้องสัมผัสก็อย่าไปสัมผัสและอะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด

3. อาชีวปาริสุทธิ คือการหาเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ได้แก่ การบิณฑบาต สำหรับการ เลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่น การหาลาภสักการะด้วยการ ใบ้หวย การเป็นหมอดู การเป็นพ่อสื่อแม่ชัก การประจบชาวบ้าน จัดเป็นการกระทำที่ผิดพระวินัย

4. ปัจจยปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาก่อนที่จะบริโภคหรือใช้ ปัจจัย 4 ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ เหมือนน้ำมันหยอด เพลารถให้รถแล่นไปได้เท่านั้น

พิจารณาดังนี้แล้วย่อมบรรเทาความหลง ความมัวเมาในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคได้ ทำให้กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน

นี้อาตมายกวิถีชีวิตของนักบวชมาให้ลองพิจารณาเป็นแนวคิดแนวปฏิบัติเท่านั้น แต่เนื่องจากเราชาวพุทธมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนั้นวินัยทางพระพุทธศาสนาจึงมี 2 ประเภท ต้องฉลาดเลือกว่าจะทำเพื่อละเลิกถึงขั้นหลุดพ้น หรือเพื่อจะทำเพื่อเหตุผลอย่างหลังคือเพื่อ "รวย" อาตมาว่าอย่างหลังนั้นคนเลือกกันเยอะมากๆ ก็เลยเป็นเรื่องเกี่ยวโยงผูกพัน แข่งขันชิงไหวชิงพริบ ที่นี้แหละเรื่องเจ้ากรรมนายเวรมีบทบาทกับทุกคนทุกท่านอย่างปฏิเสธไม่หลุดจากวงจรแห่ง สงสาร วัฏฏ์ ที่นี้เรื่องการรู้วิธีรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากเจ้ากรรมนายเวรเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องกันหล่ะ

ด้วยต่างคนที่เกิดมา ต่างความรู้ ต่างประสบการณ์ ต่างอาชีพ ต่างปัญหา ต่างความทุกข์ ต่างชีวิตจิตใจ ความหลากหลายอาชีพบุคคลชนชั้นนั่นเองจึงจำเป็น “ต้องมีวินัย” โดยเนื้อแท้แล้ว วินัยก็คือ "ศีล" ดีๆ นี่เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพุทธบริษัทศาสนิกชน ให้เป็นคนฉลาดรู้ฉลาดทำ ทำได้จะห่างไกล และปลอดภัยจากเจ้ากรรมนายเวร ก็หากกล่าวกันโดยไม่ต้องให้พิศดาร เรื่องเจ้ากรรมนายเวร ก็คงต้องบอกแบบทุบโต๊ะว่า การกระทำหรือพฤติกรรมทั้งหมดที่เราเกี่ยวเนื่องอยู่กับบุคคลและหมู่คณะนั่นแหละ ทำให้เกิดรัก ชอบ เกลียด ชัง เกิดตัณหาพยาบาท ผูกกรรมจองเวร จนถึงการปองร้ายทำลายกันให้เป็นให้ตายไปข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้คุณธรรมขาดหายไปจากจิตใจของกัลยาณมิตร กลายใจหน่ายรักเคียดแค้นชิงชังเป็นปาปมิตรไปเลย

ศีลหรือวินัยจึงเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ สำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผน อันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย ไกลจากเจ้ากรรมนายเวรพยายาบาท ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับความกลัวว่าจะมีใครมาจ้องคอยปองร้าย ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างโปร่งใจ

หากการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นคณะ ที่ขาดศีลขาดวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งยิ่งชิงก็จะเกิดขึ้นและรุนแรงไปตามอารมณ์ที่จะบันดาล หาความสงบสุขได้ไดยยาก การงานที่ทำก็จะเสียผล วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมคน ให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร ทำหน้าที่ออกมาดีเพราะมีศีลดีมีวินัยไม่พร่อง สังคมน่าอยู่ เพราะสังคมต้องอยู่รวมกัน จึงให้ความสำคัญเรื่องศีลเรื่องวินัย แล้วจะไกลเหตุจากเจ้ากรรมนายเวร อาทิ สีลํ ปติฏฺฐา จ กลฺยาณานญฺจ มาตุกํ. ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย. (ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์)


ขอจำเริญพร

หลวงพ่อเจ้าอาวาส วัดทุ่งเศรษฐี

ธรรมะสมสมัย 2 ตุลาคม 2558