ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ระงับลิ้น สำรวมคำ สำคัญที่ใจ

ท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต. “ผู้ไม่ถูกนินทา ย่อมไม่มีในโลก” ธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติของปุถุชน ย่อมยากที่จะเลี่ยงพูดถึงเรื่องคนอื่นๆ เขาเรียกว่าคนชอบสาระแน ชอบนินทาคนอื่น ชอบเอาเรื่องไม่ดีหรือข้อเสียของคนอื่นมาพูดต่อ ทำให้เขาได้รับความเสียหาย เสร็จแล้วก็สรุปเองว่า ฉันว่าแล้ว มันต้องเป็นเช่นที่ฉันว่า บางทีหนักหน่อยก็บอกว่า "กูว่าแล้วๆ " ซึ่งคนประเภทนี้มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป น้อยนักที่จะพบเจอคนระงับลิ้น สำรวมคำ

แต่ก่อนเราจะเห็นบุคคลประเถทอย่างนี้ อย่างที่ชอบซุบซิบเรื่องชาวบ้านนี้ เขาชอบที่จะจับกลุ่มรวมตัวกันเป็นคุ้มๆ คือลงกระไดบ้านนั้น ขึ้นกระไดบ้านนี้ พอรวมกลั่มกันได้ก็สอใส่เกือก เสือกเรืองคนคนนั้นคนนี้เลื่อยไป อย่างถือเป็นเรื่องธรรมดาๆ สมัยนี้โทรทัศน์ก็นินทาคนโน้นที วิจารณ์คนนี้ที มีรายการเกาะชิดติดตามคนดัง ดาราคนไหนติดโพลข่าวก็เที่ยวเป็นเป้าให้พูดจ้อยอร่อยลิ้น เดี๋ยวนี้ยุคสมาร์ทโฟน ทั้งเฟส ทั้งไลน์กันสายไหมใช้เวลาจ้อกันเป็นวันๆ

นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต. (ผู้ไม่ถูกนินทา ย่อมไม่มีในโลก) คนทั้งหลายบนโลกใบนี้ ไม่มีใครเลยที่ไม่ถูกนินทา ทุกคนล้วนถูกนินทาหมด ไม่ว่าจะเป็นคนดีแค่ไหน ก็ยังมีคนนินทาว่าร้ายให้เสียหายอยู่ดี

อันนินทา กาเล เหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำ เหมือนเอามีด มากลีดเนื้อ
คงไม่หวัง ให้ใครเขา เฝ้าจุนเจือ
หวังว่าเขา คงจะเบื่อ เข้าสักวัน ฯ

ทุกวันนี้ มีข่าวดี - มีข่าวร้าย
รุมรบรอบ ใจ - กาย หลายสถาน
เป็นของมัน อย่างนี้ มาช้านาน
และจะเป็น ชั่วกาล นานนิรันดร์ ฯ

สำคัญที่ เราเป็น เช่นข่าวไหม
เป็นข่าวดี ข่าวร้าย ในข่าวนั้น
อยู่ที่เรา กระทำ เป็นสำคัญ
ดีสร้างสรรค์ ชั่วตอกย้ำ กรรมลามก ฯ

การกระทำ จำไว้ ได้ข้อคิด
ถูกหรือผิด จิตรู้ อยู่เต็มอก
สำนึกดี สังคมดี มีสาธก
อยู่ปลอดภัย ในโลก โชคยิ่งเอย ฯ


แม้แต่พระพุทธเจ้า ผู้ที่เป็นบุคคลผู้ยอดเยี่ยมในโลก ยังไม่พ้นที่จะถูกนินทาว่าร้าย พระองค์ไม่ได้ทำอะไรไม่ดี แต่ก็ยังถูกคนแต่งเรื่องไม่ดีขึ้นมานินทาว่าร้ายอยู่ดี เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เราก็ไม่ควรไปใส่ใจกับพวกที่ชอบนินทามากนัก เพียงแต่มาระลึกว่า สิ่งที่เขานินทาเรานั้น จริงหรือไม่ ถ้าจริง ก็ปรับปรุงตนเองเสียให้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่จริง ก็ไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจ เพราะใส่ใจมากไป ใจเราเองก็เป็นทุกข์เสียเปล่า โดยให้คิดเสียว่า เป็นเรื่องธรรมดาๆ ดังบทกลอนสอนใจที่โบราณท่านประพันธ์ไว้ว่า

เขาว่าเรา เราอย่าโกรธ ลงโทษเขา
ในเมื่อเรา นี้ไม่เป็น เช่นเขาว่า
หากเราเป็น จริงจัง ดังวาจา
เมื่อเขาว่า อย่าโกรธเขา เราเป็นจริง ฯ

สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย แปลว่า สิ่งทั้งปวง (ธรรม) ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ท่านพุทธทาส เรียกความรู้สึกยึดติดนี่ว่า "ตัวกู" "ของกู" อันเป็นแม่บทของกิเลสทั้งปวง เป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งปวง บทกลอนธรรมะของท่านเขียนไว้ว่า

- ตัวกู – ตัวสู -

อันความจริง “ตัวกู” มิได้มี
แต่พอโง่ มันก็มี ขึ้นจนได้
พอหายโง่ “ตัวกู” ก็หายไป
หมด “ตัวกู” เสียได้ เป็นเรื่องดี ฯ

เหตุดังนั้น จงถอน ซึ่ง “ตัวกู”
และถอนทั้ง “ตัวสู” อย่างเต็มที่
คงมีแต่ ปัญญา และปรานี
หน้าที่ใคร ทำได้ดี เท่านี้เอย ฯ


ระงับลิ้น สงบปาก สำรวมคำ สำคัญที่ใจ ด้วยความระวังนั้นเอง ศีลสิกขา ก็เกิดขึ้น สมาธิสิกขา ก็แกล้วกล้า ปัญญาสิกขา ก็แตกฉาน สังคมก็ไม่วุ่นวาย ใจก็ไม่เร้าร้อน จะพักผ่อนนอนหลับก็แสนจะสุขกายสบายอุรา จะยืน เดิน นั่ง นอน ที่ไหนๆ ก็โล่ง โปร่ง เบา สบาย ปัญญาก็สว่าง ศีลก็สะอาด สมาธิก็สงบ นั่งนบ นอนนบ พบพระนิพพาน แน่นอน สาธุๆ สาธุชนท่านใดมีใจกรุณา ขอเจริญพร ขอน้ำใจบริจาคช่วยค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า วัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี แคลิฟอร์เนีย เขียนเช็คส่งไปได้ที่ 6763 E AVENUE H., LANCASTER, CA 93535-7849 Donation check payable to "Buddhist Meditation Society" รูปขอจำเริญพร