ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ไม่มีความยากจน ในหมู่ชนผู้มีอริยะทรัพย์

ท่านพุทธบริษัททั้งหลายฯ เราทุกคนทุกท่านไม่ว่าจะเป็นภาคคฤหัสถ์ หรือภาคบรรพชิต เราต่างมีต้นทุนทางธรรมมาเหมือนๆ กัน มีเวลา 24 ชั่วโมงในแต่ละวันๆ เท่าๆ กัน มีรูป - นาม การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนๆ กัน มาก็ตัวเปล่า - ไปก็ตัวเปล่า หากแต่จะบริหารเวลาให้กับตนเองให้ทุกข์มากสุขน้อย หรือสุขมากทุกข์น้อย ถ้ามีสติระลึกธรรมให้บุญเกิดมาก ส่วนที่เป็นบาปก็จะน้อยลงตามเหตุนั่นเอง แต่กลัวความลำบากอย่าติดความสบาย อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ ให้เวลาย้อนไปศึกษาชีวิตและงานของพระพุทธเจ้ากันให้มากขึ้น พระองค์มีความเพียบพร้อมทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวาร ด้วยพระเมตตาพระองค์ก็ทรงแสวงหาสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าทรัพย์เหล่านั้น เพื่อ.....ได้สมบัติที่ประเสริฐกว่า และก็เป็นสิ่งที่มีค่าจริงแท้ประทานมอบมาให้แก่เราทุกคนมาตราบถึงทุวันนี้

ก่อนอื่นอยากบอกไว้ก่อนว่า ณ ปัจจุบันอาตมาคือผู้ดูละครที่มีผู้อื่นแสดงให้รับชมทุกวี่ทุกวัน และเดี๋ยวนี้รับชมง่าย โดยรับชมผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ศีลธรรมของสังคม ข่าวสารบ้านเมืองก็มีติดตามบ้าง เพื่อก้าวไปให้รู้เท่าทันโลก เราปฏิสธการรับรู้ปัญหาบ้านเมืองคงไม่ใช่ บ้านเมืองอยู่รอดศาสนามั่นคง จริงๆ อยากตะลุยลงความเห็น แต่...55....คุยธรรมะสบายให้ใจดีกว่า เรื่องที่คนอื่นสร้างปมปัญหากันขึ้นก็ให้คู่กรณีแก้ไขกันไป มีแต่ข้อคิดสะกิดใจไว้ว่า..."พระสงฆ์ต้องเป็นกัลยาณมิตร และต้องไม่เป็นอันตรายกับทุกคน" สังฆัง สรณัง คัจฉามิ พระสงฆ์หนึ่งในองค์ประกอบของพระรัตนตรัยก็จะมีคุณค่าทรงอานุภาพ ขอยืนยันอันตรายก็จักไม่เกิดกับพระพุทธศาสนาถ้าพระสงฆ์เป็นกัลยาณมิตรกับบุคคลทั้งผอง คำว่าสมณะ -ผู้สงบด้วยคุณสมบัติ3อย่างคือ

1.สงบกาย คือมีความสำรวมในการกระทำทุกอย่าง

2.สงบวาจา คือการพูดจาให้อยู่ในกรอบของความพอดีสุภาพในคำพูดและภาษาที่ใช้

3.ต้องสงบใจ คือปราศจากกิเลสครอบงำไม่ว่าจะเป็นโลภโกรธหลงหรือความพยาบาทใดๆตั้งมั่นอยู่ในสมาธิภาวนาการได้เห็นสมณะมีอยู่ดังนี้คือ

1.เห็นด้วยตา เห็นแล้วมีความประทับใจให้เกิดสุข

2.เห็นด้วยใจ หมายถึงการเปิดใจเราให้รับฟังและนำมาศึกษาปฏิบัติ

3.เห็นด้วยปัญญาหมายความถึงการรู้โดยการใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาในการสัมผัสและเข้าถึงและรับรู้ถึงคำสอนของสมณะผู้นั้นและรู้ว่าท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง

การกระความทำดีย่อมมีมารมาเป็นอุปสรรค มีมาในทุกยุคทุกสมัย อยู่ที่เราต้องเข้มแข็ง ถึงจะผ่านอุปสรรคที่โหดร้ายเหล่านั้นได้ อริยทรัพย์ คือ ต้นทุน ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานมอบให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมอริยทรัพย์ หมายถึงทรัพย์อันประเสริฐ หรือทรัพย์ของพระอริยะ เป็นคุณธรรมที่ทำนุบำรุงจิตใจไม่ให้เคว้งคว้างเปล่าเปลี่ยว ดีกว่าทรัพย์สินเงินทองที่เป็นทรัพย์ภายนอก

1. สัทธาธนัง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ

2. สีลธนัง รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย

3. หิริธนัง ความละอายต่อบาปทุจริต

4. โอตตัปปะธนัง สะดุ้งกลัวต่อบาป

5. พาหุสัจจะธนัง ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมาก คือทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก

6. จาคะธนัง สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน

7. ปัญญาธนัง รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

1. ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาด้วยเหตุและผล ไม่ใช่น้อมใจเชื่อไปตามไปเขาโดยปราศจากการใคร่ครวญ สัทธานี้มี 4 ชนิดคือ

1) เชื่อกรรม คือสิ่งที่บุคคลทำจะดีหรือชั่วมีผล

2) เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าที่บุคคลได้รับสุขหรือทุกข์ก็เพราะกรรมดีหรือชั่วที่ตนทำไว้

3) เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน

4) เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

2. สีล หมายถึง การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ในทางปฏิบัติคือการงดเว้นจากการประพฤติผิดด้วยกายวาจาเมื่อมีศีลจึงมีความสง่าผ่าเผยในการเข้าสังคม เพราะไม่กลัวต่อคำนินทาจากใครๆ

3. หิริ หมายถึง ความละอายต่อบาปทุจริต

4. โอตตัปปะ หมายถึง ความสะดุ้งกลัวต่อบาป

5. พาหุสัจจะ หมายถึง ความเป็นคนได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก เป็นผู้ศึกษามากมีความรู้มีประสบการณ์มาก หรือเรียกง่ายๆ ก็คือความเป็นผู้คงแก่เรียนเกิดจากการขยันหาความรู้ 4 ทางคือ การฟัง การคิด การสอบถาม และการบันทึก ผู้มีความรู้ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญ เฉลียวฉลาดในการตอบคำถามจากผู้อื่น ไม่ประหม่าตกใจเมื่อถูกถาม กล้าที่จะแสดงออกทางความคิดเห็นที่ถูกต้อง

6. จาคะ หมายถึง การสละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน การสละสิ่งของและความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขผู้อื่นเป็นการกำจัดความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ใจแคบให้ออกไปจากสันดาน ผู้พิจารณาแล้วให้ถือว่าเป็นผู้มีปัญญา

7. ปัญญา หมายถึง รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ความรอบรู้สิ่งที่ควรรู้ รู้ทั่วถึงเหตุและผลถึงสิ่งที่ควรทำและไมทำควรทำ ผู้มีปัญญาจึงเป็นผู้มีความกล้าหาญองอาจไม่มีความสะดุ้งกลัว ต่อเหตุใดๆ เพราะมีปัญญาสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เมื่อถูกไต่ถามก็กล้าที่จะตอบโดยทันที หรือแม้ตกอยู่ในภาวะอันตราย ก็กล้าคิดหาอบายให้เอาตัวรอดได้

ธรรมทั้ง 7ประการนี้ เรียกว่า อริยทรัพย์ ทรัพย์ที่ประเสริฐ เพราะเป็นเครื่องบำรุงจิตให้อบอุ่น แม้จะตายก็ไม่เปลี่ยวใจ เพราะรู้สึกว่าได้เตรียมทรัพย์สำหรับเดินทางในปรโลกไว้พร้อมแล้ว เชื่อว่าไม่ไปทุคติ มีแต่ไปสู่สุคติฝ่ายเดียว และสามารถเข้าสู่โลกุตรได้

อริยทรัพย์ 7 ประการนี้ มีค่ากว่าทรัพย์ภายนอกมีเงินทองเป็นต้นบางคนต้องเสี่ยงอันตรายเอาชีวิตเข้าแลกกับเงินทอง เป็นต้น แต่อริยทรัพย์ยิ่งมีมากยิ่งอิ่มใจ สบายใจมาก ไม่ต้องลำบากในการคุ้มครองป้องกันเป็นของเฉพาะตัว ใครแย่งชิงไปไม่ได้ แม้มีน้อยก็สุขใจ เย็นใจ ไม่ต้องกลัวภัย ไม่ต้องกลัวหมด เพราะยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ท่านจึงแนะนำว่า ควรแสวงหาไว้ให้มีในขันธสันดาน หมายความว่า ทุกคนสมควรแสวงหาอริยทรัพย์ไว้ให้มีในตน คือควรฝึกฝนตนให้เป็นคนมีศรัทธา มีศีล มีหิริ-โอตตัปปะ-พาหุสัจจะ-จาคะและปัญญา เมื่อฝึกได้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตย่อมมีคุณค่ามีสาระ ไม่ว่างเปล่าประโยชน์ เพราะเหตุมีธรรม 7 ประการนี้ จึงไม่มีความยากจน ในหมู่ชนที่มีอริยะทรัพย์ ขอให้ไม่เจ็บ ไม่จน ไม่ทนทุกข์ทรมาร พร้อมให้ร่ำรวยมีเงินมีทองเพิ่มพูนมากมายด้วยสายธรรม 7 ประการ ทุกท่านทุกคน เทอญ