ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ล้อเลียนกับความเจ็บไข้ บังสุกุลตายให้ตัวเอง

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ เปลี่ยนฤดูกาลใหม่ หลายคนหลายท่าน ป่วยเป็นหวัดเป็นไข้ไปตามๆ กัน เนื่องจากอิทธิพลของฝนที่ตกติดต่อกันหลายวัน ฝนตกนั้นดีมาก ๆ ในภาวะที่แคลิฟอร์เนียขาดแคลนน้ำ รัฐก็จะมีน้ำเก็บไว้แจกจ่ายให้กับประชาชนไว้ใช้ ตามที่อาตมา สังเกตเรื่องพระพิรุณศาสตร์ ปี 2558 ฝนตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ปี 2559 ฝนตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า และปีนี้ 2560 ฝนตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า ปีนี้นับว่าฝนน้อย อย่างไรก็ตามความเจ็บความไข้ เป็นสิ่งที่ติดตามเราทุกคน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นรื่องธรรมดา อาตมาเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น


ล้อเลียนกับความเจ็บไข้ บังสุกุลตายให้ตัวเอง

อาการของความเจ็บไข้ สิ่งที่รู้สึกได้ในขณะนั้น คือคั่นเนื้อคั่นตัวหนาวสั่นห่มผ้านวมสองผืนสามผืน ก็ไม่อุ่น หนาวมาก หนาวแสบเนื้อเลยทั้ง ๆ ที่ เหงื่อไหลภายใต้ผ้าห่มที่คุมกายหลายชั้น หายใจรวยรินไม่มีกำลังจากภายใน เหนื่อยเพลียคลื่นไส้จะอาเจียนให้ได้ ปวดหัวมาก ๆ ใครพูดไม่ถูกไม่ควรไม่เข้าหูพาลให้อารมณ์หงุดหงิดรำคาญ ภาษาอีสานว่า "ใจฮ้าย" พระพุทธองค์ทรงแนะนำสั่งสอนเรื่อง ความตายกับความเจ็บไข้ไม่สบาย มีความสำคัญว่า

1. ถ้าป่วยทางกาย ให้พิจารณามรณานุสสติ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต เพราะความตายอาจเกิดขึ้นได้ ในทุก ๆ ขณะจิต ทุกชีวิตมีความตายเป็นของธรรมดา เพราะคนไม่ตาย ไม่มีในโลก อาตมากลัวหมอมาแต่เด็ก ๆ แล้ว ตอนเด็ก ๆ โยมแม่พาไปฉีดวักซีน แม่อุ้มไว้ที่สะเอว แม่บอกว่าหมอจะเปิดโทรทัศน์ให้ดู (สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ) โชคดีชีวิต ไม่ค่อยเจ็บป่วยกับใครเขา ใครชวนไปไหนไป แต่อย่าชวนไปหาหมอ (กลัว ตายเป็นตาย) แม้แต่การไปหาหมอคลีนฟันเหงื่อนี้ออกเต็มหน้าเต็มหลัง เกรงไปทั้งตัว

2. ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง จงอย่ามีความประมาทในชีวิต อาการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นการบอกเตือน ให้ระลึกนึกถึงร่างกายตามความเป็นจริง โดยให้พิจารณารูป เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ว่าไม่เที่ยง และไม่ใช่เรา มิใช่ตัวตนของใคร ปล่อยวางให้สบาย ๆ การรักษาให้ยาก็จำเป็นที่จักต้องรักษาเพื่อบรรเทาทุกขเวทนาชั่วคราว มิใช่รู้ว่าไม่ใช่เราแล้วปล่อยช่างมัน ไม่รักษา ทุกขเวทนายิ่งเบียดเบียนหนักยิ่งขึ้น ทุกอย่างจักต้องอาศัยปัญญา

"โรคบางโรค รักษาไม่รักษาก็หาย
โรคบางโรค รักษาหาย ไม่รักษาตาย
โรคบางโรค รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย"

3. อันตรายของชีวิต สุขภาพของร่างกายเรานั้น เพราะมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความสำคัญอยู่ที่ว่า เวลาฝึกฝนจิตใจให้อดทนเข็มแข็งนั้นเพียงพอหรือยัง อาตมาชอบล้อเลียนกับความเจ็บไข้ ดูอาการของมัน เวทนาที่เกิดขึ้นมันเจ็บปวดได้อารมณ์สุด ๆ คือประสบการณ์ตรงจากชีวิตจริง (หลายคนบอกว่าอาตมาดื้อ) ในโลกมนุษย์นี้ หยูกยามีมากมายจริง ๆ อาตมาไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องกินยา เพราะยาแก้ไข้ส่วนมากมักทำให้เราหลับ มันไม่ได้บังสุกุลตายให้ตัวเอง ความพยายามใช้ปัญญาเป็นตัวปลดปลง ปล่อยวาง ก็เอาเวทนาที่เกิดขึ้นของร่างกายนี่แหละเป็นตัวชี้วัด

4. อย่ากังวลเรื่องสิ่งของ เป็นปกติธรรมของการเกิดเป็นมนุษย์ ต้องหาต้องเก็บ ข้าวของ เงิน ทอง เครื่องใช้ของสอยต่าง ๆ เต็มไปหมด สมบัติมากมายไม่รู้อะไรเป็นอะไร มันทำให้เรารู้จักปล่อยวาง เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เป็นทุกข์ไม่กังวลใจนั่นแหละ จึงจักเป็นการวางอารมณ์ที่ถูกต้อง

"ปล่อยวาง รู้ว่าวาง ถ้ารู้วาง ก็รู้เบา ไม่รู้วาง ไม่รู้เบา ผู้โง่เขลา ไม่เข้าใจ"

ตายไปแล้ว เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้สักอย่าง แล้วเราจะเป็นทุกข์เป็นกังวลใจไปทำไมหนอ ขอบคุณความเจ็บป่วยเน้อ ที่ประทานธรรมะ มาให้ได้ศึกษา เจ็บไข้แต่ละครั้งก็ได้สภาวะธรรมเป็นทรัพย์

5. ให้พิจารณาอารมณ์ของจิต ให้ทราบอารมณ์ของจิตว่า ที่มีความอึดอัดขัดข้องอยู่นี้ เป็นด้วยเหตุประการใด อย่าให้โมหะจริต หรือวิตกจริตเข้าครอบงำดวงจิตให้มากจนเกินไป พิจารณาให้ลงตัวให้ได้ แล้วจิตจักมีความสุขเกิดขึ้นได้ อย่าให้ความกังวลใด ๆ มาเป็นตัวถ่วงความเจริญของจิต ให้รู้ว่าจิตที่เสื่อมมีอะไรเป็นต้นเหตุ ให้รู้ว่าจิตที่เจริญมีอะไรเป็นต้นเหตุเช่นกัน อย่าให้จิตตกอยู่ในกระแสของโลกนานเกินไป พยายามให้จิตอยู่ในโลกพระนิพพานนานเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น อย่างน้อยให้จิตของเราเกาะอยู่กับพระนิพพานนั่นแล

6. จิตมีขันติธรรม อดทนเข้าไว้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นให้อดทน ถือว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ทนไม่ได้ก็ต้องทน แล้วพยายามมีสติปล่อยวาง ทุกสิ่งทุกอย่าง พยายามปลดทุกข์ออกจากจิตให้ได้มากที่สุด โดยใช้ปัญญาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง อย่าฝืนธรรม อย่าฝืนโลก แล้วจิตจักเป็นสุขเอง จิตเกิดขันติธรรมตอนไหน ก็เวทนามันเกิดความปวดหัวแทบระเบิด หนาวสั่นไปทั้งตัว นอนจำวัดในห้องส่วนตัวล้อเล่นกับเวทนา เมื่อเห็นว่าไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องออกมานอนข้างนอกให้คนเห็น ว่า เออ...นี้นะไข้จริง ของจริง ไม่ได้เพียงแค่ปากบอกว่าไข้ แล้วก็เป็นหน้าที่ของภิกษุที่ต้องกัน กาลนี้หากมิได้หลวงลุงพิสิษฐ์ อธิปัญโญ พยาบาลไข้คงเสี่ยงต่อความตายเป็นแน่แท้

7. มีสติอย่าประมาทในชีวิตและวัย สุภาษิตอีสานกล่าวอย่างนี้ ซื่อว่าความตายนี้แขวนคอซุบาทย่าง คำว่า ซุบาทย่าง หมายถึง ทุกย่างก้าว, ทุกก้าวเดิน ความหมายของวรรคนี้ กล่าวถึง ความตายว่า ติดตามแขวนคออยู่ทุกย่างก้าว เหมือนเงาตามตัว

ไผกะแขวนอ้อนต้อนเสมอด้ามดั่งเดียว คำว่า ไผกะแขวนอ้อนต้อน หมายถึง ใครก็มีความตายติดตัวไปทุกหนแห่ง คำว่า เสมอด้ามดั่งเดียว หมายถึง เสมอภาค, เท่าเทียมกัน ไม่มีใครหนีความตายได้พ้น

ซื่อว่าความตายนี้แขวนคอซุบาทย่าง ไผกะแขวนอ้อนต้อนเสมอด้ามดั่งเดียว ความหมายโดยรวมของผญาภาษิตอีสานบทนี้ คือ ความตายนี้ติดตามทุกคนไปทุกย่างก้าว ใครก็เป็นเหมือนกันนี้ไม่มียกเว้น กล่าวคือ ทุกคนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้ อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน การสร้างความดี ให้ทำจิตให้มั่นคงไว้เสมอ ทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน นอกจากพระนิพพาน ทุกอย่างให้ทำเป็นหน้าที่เท่าที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ นอกเหนือจากนั้น ก็รักษากำลังใจให้เสมอต้นเสมอปลาย อย่าท้อแท้ต่ออุปสรรคทั้งหลายที่เข้ามาทดสอบ

8. รักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นสุข ความผ่องใสให้แน่วแน่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพานการทำเพื่อพระนิพพาน คือการกระทำกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา แล้วใครที่ไหนอื่นก็ไม่สำคัญเท่ากับกาย วาจา ใจ ของตนเอง อย่าไปเพ่งโทษตำหนิใครที่ไหนอื่น ให้เพ่งโทษตำหนิ กาย วาจา ใจของตนเองเข้าไว้ จักได้ประโยชน์กว่า เรื่องกฎของกรรม ไม่มีใครเขาทำเราไว้หรอก มีแต่ตัวของเราเองทำเอาไว้มาแต่อดีตทั้งสิ้น ให้พิจารณาแล้วจงยอมรับนับถือในกฎของกรรมพยายามรักษา กาย วาจา ใจ ให้มั่นคง อย่าได้ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เข้ามารุมเร้า รักษากำลังใจให้ตั้งมั่น จักอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง

9. การพิจารณาธาตุขันธ์ ร่างกายที่เห็นๆ กันอยู่นั้นแท้จริงเกิดจากสภาวะธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอากาศธาตุและวิญญาณธาตุ ส่วนขันธ์ 5 ประกอบด้วย 1.) รูปขันธ์ 2.) เวทนาขันธ์ 3.) สัญญาขันธ์ 4.) สังขารขันธ์ 5.) วิญญาณขันธ์ เข้ามาอาศัยอยู่เท่านั้น เป็นสมบัติของโลก ถ้าหากยังหลงติดอยู่ในร่างกาย ก็เท่ากับถูกจองจำอยู่ในโลกไม่มีที่สิ้นสุด ไป ๆ มา ๆ เกิด ๆ ดับๆ อยู่กับร่างกาย ไม่มีที่จักหลุดพ้นออกไปได้ จงพิจารณาร่างกายให้ปรากฏชัด ถึงอาการ 32 ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ สิ่งเหล่านี้เป็นของใคร ของเราหรือ ยึดได้ไหม ให้พิจารณาเอา ตัวใครตัวมัน ตายไม่กลัวแต่อาตมากลัวหมอ

10. สวดมนต์พิจารณาสำหรับการเจริญมรณสติ ปัจฉิมพุทโธวาท

หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า

วะยะธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

อัปปะมาเทนะ สัมปะเทถะ ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า


บังสุกุลตาย
อะนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง
อุปปาทะวะยะธัมมิโน มีการเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
เตสัง วูปะสะโม สุโข ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข

อภิณหปัจจเวกขณ์ 5
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า

เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้

เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทังสิ้น

เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น

และสุดท้ายเกิดความปล่อยลงปลงตก ความเข้าใจธรรม ความเข้าใจความจริง การได้บังสุกุลตนเอง อยู่ก็ดี ตายก็ดี เหมือนได้ทำหน้าที่สิ้นสุดลง ให้แผ่เมตตาให้ตนเอง และแผ่ให้ผู้อื่นทั้งที่เป็น "ปิยะมิตร และปาปะมิตร" ทุกครั้งไป ขอขอบคุณทุกท่านผ่านสื่อนี้ ที่เฝ้าคอยถามไถ่ดูแล เป็นห่วงเป็นใย ดังนั้นอาตมายังตายไม่ได้ จะขออยู่กับพระรัตนะตรัย อยู่สืบสร้างพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ขอจำเริญพร