ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ศรัทธานำสู่ประเพณีกวนข้าวทิพย์

เป็นครั้งแรก ถ้าไม่เริ่มต้นแล้วจะมีครั้งต่อๆ ไปนั้นคงต้องคิดกันอีกนาน ประเพณีพิธีกวนข้าวทิพย์วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นที่ เพ็ญเดือน 6 วิสาขะปุณณมี ปีแรก ครั้งแรกที่ทางวัดจัดพิธีกวนข้าวมธุปายาส ดั่งได้กล่าวเกริ่นไว้ว่าจะชวนเชิญเจริญพรท่านผู้มีใจใสศรัทธาในการสมาทานถือบวชเนกขัมมจาริณี (ถือศีล 8 นุ่งขาวห่มขาวไม่โกนผม) มาปฏิบัติพุทธิสาวิกา เนกขัมมจาริณี เข้าพิธีกวนข้าวทิพย์กับทางวัด ความคิดที่จะทำวิสาขะอยู่แล้วนั้น เลือกตัดสินใจอยู่นานพอควรว่าจะทำพิธีกวนข้าวทิพย์ได้หรือไม่ได้ เพราะไม่ใช่ง่ายเลยที่จะทำทุกอย่าง โดยปราศจากความร่วมมือจากท่านผู้ใจบุญ “บุญเป็นสิ่งนำมา ศรัทธาเป็นสิ่งนำไป ต้นทุนและกำไร อยู่ที่ผู้มีใจใสใจศรัทธา” ความลำบากเบื้องต้นคือกระทะใบบัวหม้อใหญ่ๆ สัก 2 – 3 ใบ ก็หายากอยู่แล้ว อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในพิธีก็มิใช่น้อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทะเหล็กใบขนาดใหญ่ที่เป็นเรื่องสำคัญ ใจนะบอกว่าไหวๆ แต่ทำจริงๆ ก็ (ท้อ) เอาเรื่องอยู่ แต่ก็จะพยายามที่จะทำออกมาให้ดีที่สุด เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ความสำคัญ พิธีกวนข้าวทิพย์ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในหมู่ของชาวพุทธทั่วไป เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น 14 ค่ำ แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ 1 วัน โดยถือว่ามีผลานิสงส์มาก ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ข้าวทิพย์มธุปายาสนี้เชื่อกันว่า เมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคลแด่ผู้ทำและผู้บริโภค สมควรจะเซ่นสรวงเทพารักษ์ตามเจตจำนงหลักของนางสุชาดา ผู้ใดที่ได้บริโภคข้าวทิพย์แล้ว จะประสบโชคลาภต่างๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล อันเป็นคติมาจากมหาบุรุษได้รับซึ่งข้าวมธุปายาส แล้วเสวยภายหลังได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้งรู้แจ้งโลก มีมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ และเป็นผู้สะอาดหมดจดปราศจากมลทินและโทษ

พิธีกรรม วัตถุที่กวน ได้แก่ น้ำนมโคสด (ปัจจุบันใช้นมข้นหวานแทน) น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอก ข้าวเม่า ธัญพืชต่างๆ ที่คั่วสุก ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เผือก มัน เมล็ดบัว มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เช่น มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมเท่าที่จะหาได้หรือปรับปรุงให้มีรสชาติ หอมหวาน อร่อย ตามความต้องการของผู้กวนในแต่ละท้องถิ่น บางท้องที่อาจใช้ผลไม้ชนิดต่างๆ ที่มี การจัดเตรียมการในพิธีกวนข้าวทิพย์ ต้องจัดเตรียมสิ่งสำคัญ ดังนี้ ต้องปลูกโรงพิธีขึ้น 1 หลัง ให้กว้างใหญ่พอสมควร ดูแล้วคงจะเป็นเต็นท์ผ้าใบที่มีใช้ในวัดนั่นแหละ ญาติโยมท่านใดพอที่จะว่างก็ไปช่วยแรงกายแรงใจกัน ได้โปรดสละเวลาแวะไปวัดช่วยจัดโน้นนี่นั่นกัน ไปได้ก็ไปกันนะ ช่วยกระทำสิ่งอันเป็นสมบัติมงคล สมบัติแห่งศรัทธา สมบัติเศรษฐีและผู้มีบุญ ไปช่วยตั้งโต๊ะบูชา ตั้งพระพุทธรูป ตั้งอาสน์สงฆ์ และผู้เข้าร่วมพิธี คือ สาวพรหมจรรย์ (ถ้ามี) หรือคงต้องประยุกต์ตามปฏิรูปเทศ หมายเอาว่าผู้บวชเป็นพุทธิสาวิกา เนกขัมมจาริณี เป็นเทพยดา นางฟ้า นางสุชาดา สาวพรหมจารี และทายก ทายิกา ฯลฯ นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และก่อเตาตั้งกระทะกวนภายในโรงพิธี จัดหาพายสำหรับกวนกระทะละ 3 เล่ม จัดหาฟืนให้เพียงพอ และตากให้แห้งสนิท (เมืองนี้คงต้องใช้เตาแก๊สมาประยุกต์) โรงพิธีมีเครื่องประดับตกแต่งควรใช้เครื่องขาว ตั้งราชวัตร ฉัตร ธง ผูกต้นกล้วย อ้อย ทั้ง 4 มุม หรือครบ 8 ทิศยิ่งดี บางแห่งยกศาลเพียงตาขึ้นไว้ในทิศที่เป็นศรีของวัน (เรื่องเหล่านี้เราทำเท่าที่ควร ผู้เคร่งเรื่องพุทธพิธีจะทำไปอีกแนวหนึ่ง สิ่งนี้ต้องดูภูมิหลังของนางสุชาดาประกอบด้วย นางเป็นพราหมณีเจตนาจะไปบวงสรวง) คือ ทิศที่เทวดาสถิตในวันกวน ตั้งเครื่องสังเวยบูชาเทวดาตามที่เหมาะที่ควร เช่น บายศรี เป็นต้นฯ เครื่องขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย เป็นต้นฯ

การแต่งกาย ส่วนสมมติเป็นเทวดา ให้นุ่งผ้าขาวโจงกระเบน สวมเสื้อชั้นในชั้นนอกสีขาว แขนยาว มีสไบเฉียง 1 ผืน ถ้ามีเสื้อ ครุยให้สวมเสื้อครุยแทนสไบเฉียง ส่วนสมมตินางฟ้า เลือกสตรีให้สวมใส่ชุดไทยๆ ดูรูปก็งาม นุ่งผ้าจีบ ห่มสไบเฉียง สวมมงกุฎ นางสุชาดาและสาวพรหมจารี แต่งชุดขาวทั้งชุด นุ่งผ้าจีบ ห่มสไบเฉียง โดยนางสุชาดาควรเป็นหญิงที่มีสามีแล้ว แต่สาวพรหมจารีควรเป็นเด็กหญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน หรือผู้บวชเป็นพุทธิสาวิกา เนกขัมมจาริณี และต้องกราบพระเป็นและรับศีลได้ ผู้เข้าร่วมพิธีจึงแต่งกายสวยงามตามสมัยนิยม

พิธีเริ่มต้น มนต์เดินโดยสวดเจ็ดตำนานกับธรรมจักรกัปปวัตนสูตรใช้สวดก่อนทำพิธีกวน สวดพาหุงฯ มหากาฯ เมื่อกำลังกวน ปี่พาทย์และฆ้องชัย ปี่พาทย์บรรเลงเมื่อก่อนเจริญพระพุทธมนต์แล เมื่อจบแล้ว เมื่อสวมตะลอมพอกหรือสวมยอดมงกุฎแลมงคล เมื่อพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อออกเวียนทักษิณรอบโรงพิธี และเมื่อเทน้ำนมหรือเครื่องกวนลงในกระทะ ฆ้องชัยตีเมื่อประกาศเชิญเทวดา เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบทุกๆ บท เมื่อสวมตะลอมพอกมงกุฎแลมงคล และเมื่อนางสุชาดาเทน้ำนมและเครื่องกวนลงในกระทะ (ตีเบาๆ ก็ได้งานที่ผ่านมาโยมปื๊ดตีดังไป 3 อำเภอเลย)


กำหนดการพิธี ทางวัดทุ่งเศรษฐีนั้น เราจัดไว้ให้เป็น 3 วาระ ดังนี้

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2559 วาระที่ 1 ต้นน้ำขั้นเตรียม พุทธิสาวิกาเนกขัมมจาริณี และผู้ร่วมบุญช่วยกันปลอกเปลือกเผือก - มัน จัดเตรียมนึ่งเผือกนึ่งมัน ขั้นจัดเตรียมอุปกรณ์

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 วาระที่ 2 กลางน้ำขั้นกวน พุทธิสาวิกาเนกขัมมจาริณี และผู้ร่วมบุญร่วมพิธี ช่วยกันลงมือกวนข้าวทิพย์ และในขณะที่กวน พระสงฆ์มีการเจริญพระพุทธมนต์เจ็ดตำนานและธรรมจักรฯ สวดพาหุงฯ มหากาฯ เป็นต้นฯ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2559 วาระที่ 3 ปลายน้ำกิน หากแต่ต้องหลังเสร็จพิธีถวายข้าวทิพย์เป็นพุทธบูชา และพิธีตักบาตรข้าวทิพย์ถวายพระสงฆ์เรียบร้อยก่อน ก็คงเริ่มตักบาตรก่อนเวลาฉันเพล เริ่มที่ 10 โมงเช้า หลังจากพระสงฆ์เสร็จภัตตกิจแล้วนั้น พุทธิสาวิกาเนกขัมมจาริณี จะเป็นผู้แจกจ่ายให้ผู้ร่วมบุญและบุคคลทั่วไป


สาระ ประเพณีกวนข้าวทิพย์วัดทุ่งเศรษฐีจะสำเร็จได้ ในปีนี้ซึ่งเป็นปีแรก ก็ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยความศรัทธาความมุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรคพอสมควร เช่น เรื่องกระทะใหญ่ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลัก ดีที่ยังมีความตั้งใจของพวกเราที่ยังเข้มแข็ง และมีผู้นำกลุ่มชนอย่างคุณป้าพเยาว์ ชอบชม, คุณนิด เจริญจิต งามวิไลดี, คุณอุ๊ อรทัย อังสะโวทัย, คุณศรี ศศิญา เชียงกราว, คุณมาลี ยามาส, คุณหมู, คุณศิราณี, คุณต่าย ณัฐพิศุทธิ์ เผือกสะอาด, คุณพิสิฐ วรรณประเสริฐ, คุณวัช คุณแมว ISTV, คุณป๋า คุณสุมาลี มีวงษ์ธรรม, คุณบัณฑูร คุณสุมาลี, คุณอาริยา ประเสริฐเลิศ, คุณวราภรณ์ ขจรคำ, คุณสมเกียรติ อัศจิมานนท์, โอ้....! งานนี้ MT News สนับสนุน จริงๆ มีมากนะ เดี๋ยวจะเกินเพจบทความไป ไว้ฉบับต่อไปมีโอการจะประกาศอนุโมทนา ที่ท่านได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ เพราะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของ ในการเตรียมการ การจัดหาอุปกรณ์ในการกวน แรงงานในการกวน และการเตรียมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินที่ใช้ในการจัดซื้อจัดหาสิ่งของต่างๆ เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลข้างต้นในปัจจุบันบางวัด บางท้องที่จึงเลิกประเพณีกวนข้าวทิพย์นี้ไป เพราะขาดความพร้อมในเรื่องต่างๆ ดังที่กล่าวมา ท่านใดที่มีโอกาสก็ขอเชิญแวะไปเยี่ยมวัดกันบ้าง หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ในทุกๆ เรื่องที่สามารถให้ข้อมูลได้ (562) 865 – 1716 รูปขอจำเริญพร