ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร
คิด พูด ทำ อย่างพระธุดงค์ (หลงกรุงเทพฯ)

จากลอสแองเจลีส ถึงมาตุภูมิประเทศไทย การเดินทางทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในเส้นทางที่เราสัมผัส ธรรมชาติของแต่ละสิ่ง บุคคลแวดล้อม ภาษา วัฒนธรรม ความคิด และการแสดงออกอื่นๆ อีกมากมาย อาตมาในฐานะพระภิกษุธรรมดาๆ รูปหนึ่ง ระลึกเสมอว่าต่างจากบุคคลอื่นๆ ด้วยเพศภาวะที่ต่างจากฆราวาสผู้ครองเรือน จริยาวัตรของพระภิกษุ เรามักคาดหวังเข้าใจกันว่าพระต้องเรียบร้อย แต่บางครั้งเหตุปัจจัยมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มารยาทเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับสังค เพื่อความงดงามน่าดูชมเลื่อมใส เพื่อให้เกิดศรัทธามหาชน และเกิดการยอมรับ

“เสขิยวัตร” ซึ่งเป็นหมวดพระวินัยในพระพุทธศาสนา ความงามสง่าในศีลาจารวัตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ยังความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ที่พบเห็น และพระพุทธองค์ทรงอบรมสั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ให้มีศีลาจารวัตรงดงามเรียบร้อย โดยทรงบัญญัติหมวดพระวินัย “เสขิยวัตร” ขึ้นครั้นพระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยหมวดนี้แล้ว ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ สำรวม งามสง่า และทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย

หมวดที่ ๑ เรียกว่า “สารูป” แปลว่า ธรรมเนียมที่ควรประพฤติเวลาเข้าบ้าน ตามธรรมดา พระอยู่ในวัด แต่ถึงเวลาจะเข้าบ้านประชาชนหรือไปในหมู่บ้านต่าง ๆ ควรจะปฏิบัติอย่างไร

เรื่องนี้นำมาใช้ปรับปรุงตัวเราเองได้ เวลาอยู่บ้านเราจะทำตัวอย่างไรก็ได้ แต่ออกนอกบ้านจะต้องทำอย่างไรบ้าง เอามาเปรียบเทียบกันกับพระภิกษุ

หมวดที่ ๒ เรียกว่า “โภชนปฏิสังยุต” แปลว่า ธรรมเนียมในการรับบิณฑบาตและการฉันอาหารซึ่งจะเอามาปรับใช้เป็นมารยาทในการกินอาหาร

หมวดที่ ๓ “ธัมมเทสนาปฏิสังยุต” ว่าด้วยธรรมเนียมของการแสดงธรรม ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิธีที่จะอบรมลูก ๆ หลาน ๆ หรือตักเตือนคนให้ได้ผลอยู่ตรงนี้ ใครที่อบรมลูกอบรมหลานไม่ค่อยได้ผล ลองศึกษาดูว่าพระท่านทำอย่างไร

หมวดที่ ๔ “ปกิณณกะ” ว่าด้วยธรรมเนียมในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ทรงสอนหมด ขออภัยไม่มีศาสดาที่ไหนในโลกจะมาสอนลูกศิษย์ว่า การถ่ายอุจจาระควรทำอย่างไร การถ่ายปัสสาวะควรทำอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงสอน สอนละเอียดด้วย ซึ่งต่อมากลายมาเป็นธรรมเนียมในการใช้ห้องน้ำห้องท่า และการรักษาความสะอาดบ้านเรือนของพวกเรารวมไปในนั้นด้วยอิทธิพลทางศาสนา

อาตมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงเทพฯ หลายวัน รอให้ลูกหลานว่างงานพาไปทำธุระหาเลือกของอัฏฐบริขารบริภัณฑ์ ต่างๆ ดูว่าจะลำบากลำบนพอสมควร เลยต้องการที่จะหาประสบการณ์ในกรุงเทพฯ ด้วยตนเองบ้าง หลายๆ คนกล่าวถึงคนไทยในเมืองไทยว่า “คนไทยทำอะไรๆ ตามใจฉัน” อาตมาเห็นระเบียบการใช้รถใช้ถนนแล้วต้องทำใจ เพราะธรรมชาตินี้คงเปลี่ยนวิถีธรรมวิถีทางนี้อยากแล้ว (เว้นเสียแต่จะฟื้นฟูการปลูกสำนึกคุณธรรมประจำใจร่วมกัน) เรียกเท็กซี่คันที่ว่างในช่วงเย็นๆ จอดทุกคัน แต่ปฏิเสธเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ตกใจว่าจะกลับอย่างไร ตอนนั้นเหนื่อยและร้อนมากๆ ด้วย จึงตัดสินใจโทรให้หลานๆ มารับ อาตมาก็บอกจุดที่ให้ไปรับไม่ถูกอีก นี้คงเป็นที่มาของคำว่าหลงกรุงหรืออย่างไร (ตื่นเต้นดีเหมือนกัน เออ...แต่เห็นฝรั่งเขาสนุกเดินกันจริง)

อีกคราหนึ่งหลานๆ ชวนจะพาไปไหว้พระตามวัดต่างๆ ที่นั่น โน้น นี่ ว่าเคยไปรึยัง ก็ยังไม่เคยไปสักแห่งหนึ่ง ไปๆ มาๆ เขาพาผ่านไปถึงเมืองสมุทรปราการ เมืองชลบุรี อะไรของเขา หลานๆ พาไปห้างใหญ่ซื้อรองเท้าแตะถวาย อาตมาประทับใจพนักงานและผู้คนบนห้างใหญ่ยกมือไหว้นมัสการ บ้างก็ยืนไหว้ บ้างก็นั่งไหว้ อาตมาได้ยินเสียงคนเขากระซิบร้องบอกกันว่าพระๆ แล้วเขาก็ออกมายกมือไหว้พระกันน่าชื่นชมชื่นใจ อาตมาก็ก็เลยบอกคนเหล่านั้นไปว่า “บุญรักษา บุญรักษา” เขาก็สาธุๆ กัน เลยหันมาถามหลานๆ ว่าที่นี่มันที่ไหน หลานๆ บอกว่าเมืองชลบุรี อาตมาก็บอกหลานๆ ว่าคนเมืองชลบุรีนี้ดีจริงๆ เขาบอกกลับมาว่า หลวงน้าไม่ใช่แต่คนเมืองชลนะ เขาก็มากันทั่วๆ ไป ญาติโยมทุกคนทุกท่าน บางทีการเดินธุดงค์ในเมืองหลวงก็มีธรรมะให้เห็นเยอะแยะเหมือนกัน สำคัญที่ตัวเราใจเราที่จะรักษาวัตรปฏิบัติของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นคนชาวบ้าน หรือเป็นพระชาวบ้าน มันอยู่ที่จิตสามัญสำนึกต่อศาสนาต่อคุณธรรมที่ควรใส่ใจ เราบริสุทธิ์ใจ คิดดี พูดดี ทำดี อยู่ที่ไหนๆ ก็ก่อเกิดสังคมให้ดีได้ เจริญพร