ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



คน เข้มด้วยความรับผิดชอบ

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ความพยายาม ไม่ได้แปลว่า ต้องสำเร็จทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่สำเร็จ มาจาก "ความพยายาม" ทั้งนั้น การทำหน้าที่อันดีต่อกันเป็นคุณธรรมอย่างเกื้อกูล สังคมทุกระดับโดยธรรมชาติ จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน คุณธรรมประจำใจยังคนให้แสดงภาวะความมีน้ำจิตน้ำใจอันดีต่อกัน ถึงแม้จะแตกต่างหน้าที่ แต่คุณงามน้ำใจในมิตรภาพและเนติธรรม เป็นไปเพื่อความสงบสุขทางสังคมร่วมกัน การรู้จักตนเองคือรู้จักหน้าที่ รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ รู้จักทำมาหากิน เช่น หน้าที่ชาวประมง คือหาปลา หน้าที่พ่อค้า คือหากำไร หน้าที่ศิลปิน คือสร้างศิลปะ

หน้าที่พระ คือสอนมนุษยชนให้เป็นคนดี ตั้งมั่นอยู่ในคุณความดี


หน้าที่ดี มีคุณค่า ชูราศี

หน้าตาดี แต่เกียจคล้าน นั้นคนหยาม

หน้าที่ดี สำคัญกว่า คนหน้างาม

หน้าตาดี หน้าที่ทราม ไม่งามเลยฯ


คนที่หวังความสำเร็จจะต้องมีวิริยะบารมี ดั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า "วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา เกิดเป็นคนควรพยายามร่ำไป จนกว่าผลที่หมายจะสำเร็จ" ความพยายาม ไม่ได้แปลว่า ต้องสำเร็จทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่สำเร็จ มาจาก "ความพยายาม" ทั้งนั้น นั่นคือ ต้องมีความพยายามต่อเนื่อง จนกว่าจะถึงเป้าหมาย ดั่งคำว่า ตาดูดาว เท้าติดดิน นั่นคือ ตาอยู่ที่เป้าหมาย เท้าต้องก้าวเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งระหว่างทางต้องมีการสะดุด เพราะเจออุปสรรค ก็ต้องลุกขึ้นมา แม้จะล้มไปอีก แต่ก็ต้องลุกครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นคือ พยายามร่ำไป ไม่ยอมหยุดฟันฝ่าแม้จะเจออุปสรรค

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ แปลว่า คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร “Effort is the cause of freedom from suffering.”


คน เข้มด้วยความรับผิดชอบ ลูกผู้ชายต้องเพียรร่ำไป

วายเมเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต

ปสฺสามิ โวหํ อตฺตานํ อุทกา ถลมุพฺภตนฺติ ฯ

พระบาลีเป็นคาถานำศึกษาเรื่อง จูฬชนกชาตกํ ลูกผู้ชายที่เกิดมามีชีวิตเพื่อการต่อสู้ สู้ให้สมปรารถนา ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุเกียจคร้านอีกรูปหนึ่ง จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ คือคาถาที่ปรากฏ ณ เบื้องต้น


ปัจจุบันชาติ

เรื่องย่อได้เล่ามาว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติธรรม จึงกลายเป็นคนเกียจคร้าน พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า ภิกษุเอ๋ย ตัวเธอได้บวชในพระศาสนาที่สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้ แล้วทำไมถึงได้กลายเป็นคนย่อท้อไปได้ ในสมัยก่อน บัณฑิตทั้งหลาย แม้เรือแตกจมลงในทะเลก็ไม่ได้ท้อแท้ใจ ทำการแหวกว่ายอยู่ในทะเลถึง 7 วัน ต่อมา ได้กลับกลายเป็นพระราชาก็เพราะความเพียรที่ไม่เสื่อมถอยนั้นเอง จากนั้น ได้ทรงนำเรื่องราวในอดีตชาติมาตรัสเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้


อดีตชาติเนื้อหาชาดก

ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่ามหาชนกทรงครองราชย์อยู่ในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ พระองค์มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระเชฏฐาพระนามว่าอริฎฐชนก พระอนุชาพระนามว่าโปลชนก ทรงพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรสองค์โต และตำแหน่งเสนาบดีแก่องค์น้อง ต่อมา เมื่อพระองค์สวรรคต พระอริฎฐชนกได้ขึ้นครองราชย์ได้พระราชทานตำแหน่งมหาอุปราช แก่พระอนุชา

ต่อมา อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดของพระราชาไปเข้าเฝ้ากราบทูลยุยงว่า พระอุปราชจะปลง พระชนม์ยึดราชสมบัติ พระราชาจึงสั่งให้จับพระอุปราชมาจองจำไว้ พระองค์หนีออกจากคุกไปอยู่ที่บ้านนอกและด้วยความแค้นที่มิได้ทำผิดแต่ต้องมาถูกจองจำ จึงทำการรวบรวมไพร่พลมายึดราชสมบัติ พระเชษฐากับพระอนุชาได้ออกรบกัน พระเจ้าอริฏฐชนกสิ้นชีพตักษัยในสงคราม

พระมเหสีของพระองค์ผู้ทรงตั้งครรภ์พระโพธิสัตว์ จึงได้หนีข้าศึกไปอาศัยอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองกาลจัมปากะ ต่อมาไม่นาน นางก็ประสูติพระราชโอรสมีพระนามเหมือนพระอัยกาว่า มหาชนกกุมาร

พระราชกุมารเมื่อเจริญวัยได้ศึกษาจบศิลปศาสตร์ทั้งปวงแล้วจึงได้ขออนุญาต พระราชมารดาไปค้าขายที่เมืองสุวรรณภูมิ ในขณะที่เรือแล่นไปอยู่นั้นได้เผชิญกับคลื่นลมที่รุนแรงจนซัดเรือแตกจมลงไปในมหาสมุทร ก่อนเรือจะแตก พระโพธิสัตว์ได้ปีนขึ้นไปบนยอดเสากระโดง ตรวจดูทิศทางเมืองมิถิลา แล้วกระโดดลงจากกระโดงทำการว่ายน้ำช่วยเหลือตัวเองอยู่ถึง 7 วัน ในวันที่ 7 ท่านทราบว่า เป็นวันอุโบสถ จึงบ้วนพระโอษฐ์ด้วยน้ำเค็มสมาทานศีลอุโบสถ

ในเวลานั้น ท้าวจตุโลกบาลได้มอบหมายหน้าที่ให้นางเทพธิดาชื่อว่า มณีเมขลาคอยให้การรักษาดูแลรักษามนุษย์ที่ทำความดีมีการบำรุงรักษามารดาเป็นต้น ฝ่ายนางเทพธิดามัวแต่เสวยทิพยสมบัติเพลินจนลืมตรวจตรามหาสมุทรจนเวลาผ่านไปถึง 7 วัน

เมื่อนางตรวจดูทะเลในวันที่ 7 จึงพบพระมหาสัตว์กำลังแหวกว่ายในทะเล จึงเหาะไปยืนอยู่กลางอากาศกล่าวว่า "ใครกันหนอ เมื่อมองไม่เห็นฝั่งก็ยังอุตส่าห์พยายามว่ายอยู่ใน ท่ามกลางมหาสมุทร ท่านมองเห็นประโยชน์อะไรกันนะ จึงได้พยายามว่ายอยู่อย่างนี้"

"พระโพธิสัตว์มองเห็นนางเทพธิดามายืนกล่าวอยู่กลางอากาศจึงตอบโต้ไปว่า ดูก่อนนางเทพธิดา เรามองเห็นแนวทางของชาวโลกและอานิสงส์แห่ง ความเพียร เพราะฉะนั้น แม้เราจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายเรื่อยไปในทะเล"

"นางเทพธิดาอยากจะฟังธรรมกถาจากพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวต่อไปว่า ฝั่งมหาสมุทรลึกจนคำนวณไม่ได้ก็ไม่ปรากฏแก่ท่าน ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่านก็ดูเปล่าไร้ประโยชน์ ท่านไม่ถึงฝั่งก็จะต้องตายแน่ ๆ"

"พระโพธิสัตว์ตอบโต้ไปว่า บุคคลเมื่อกระทำความเพียรอยู่ ถึงจะตายก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ใครในระหว่างหมู่ญาติ บิดามารดา และเทวดา อนึ่ง บุคคลเมื่อได้ทำหน้าที่อย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง"

"นางเทพธิดากล่าวคาถาตอบมาว่า การพยายามทำความเพียรแต่ยังไม่สำเร็จเพราะความตายมาตัดรอนเสียก่อน ความพยายามอันนั้นจะมีประโยชน์อะไร"

"พระโพธิสัตว์ตอบโต้ทำให้นางมณีเมขลายอมจำนนต่อถ้อยคำว่า ดูก่อนเทวดา คนบางคนในโลกนี้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน จึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ช่างเถิด ดูก่อนนางเทพธิดา ตัวท่านเองก็ได้เห็นประจักษ์แก่สายตาของตัวเองแล้ว มิใช่หรือว่า คนอื่น ๆ ผู้ทอดทิ้งความเพียรต่างพากันจมน้ำตายในทะเลเสียหมดแล้ว ส่วนเราคนเดียวยังว่ายข้ามอยู่และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ ๆ เรา เรานั้นจักพยายามตามสติกำลัง จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทรให้ได้"

จนในที่สุด นางมณีเมขลาเกิดความพอใจในความมุ่งมั่นและสติปัญญาของ พระโพธิสัตว์จึงได้ช่วยเหลือนำท่านขึ้นไปส่งที่ฝั่งกรุงมิถิลา ในวันนั้น เป็นเวลาที่พระเจ้าโปลชนกผู้เป็นพระเจ้าอาของพระโพธิสัตว์สวรรคต พระองค์ไม่มีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดา และได้ทรงสั่งเสียเอาไว้ก่อนสวรรคตว่า ถ้าผู้ใดรู้ปริศนาธรรม 16 และสามารถทำให้พระราชธิดาสีวลี ของพระองค์พอพระทัยได้ ก็ให้พร้อมใจกันยกผู้นั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติสืบไป

พวกอำมาตย์ได้ไปพบท่านบรรทมอยู่ และทำการเสี่ยงทายจนมั่นใจว่านี้คือกษัตริย์ที่แท้จริงจึงได้ทำการอภิเษกพระมหาชนกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลานคร พระเจ้ามหาชนกเมื่อได้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ได้ประทับนั่งภายใต้พระเศวตฉัตรแล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

"บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ควรเพียรร่ำไปจนกว่าจะสำเร็จผล ไม่ควรท้อถอยขอให้ดูเราเป็นตัวอย่างเถิดในการขึ้นจากน้ำสู่บก"


ความหมายของคาถา

คนฉลาดต้องมีความพียรเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จผล อย่าได้ท้อถอยใจอย่างเด็ดขาดขอให้ดูตัวเราเป็นตัวอย่าง ทำการแหวกว่ายอยู่ในทะเลถึง 7 วัน จนเราสามารถขึ้นจากฝั่งและได้เป็นพระราชาในที่สุด ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอานุภาพของความเพียรนั่นเอง พระพุทธเจ้าครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า "พระเจ้ามหาชนกราชคือเราตถาคตนั่นเอง"


สรุปสุภาษิตจากชาดกนี้

เกิดเป็นคนควรเพียรร่ำไปจนกว่าสิ่งที่มุ่งหวังจะสำเร็จ วิเคราะห์แนวคิดเชิงจริยธรรมอันเป็นหัวใจหลักในชาดกนี้ ชาดกนี้เน้นที่ความเพียรเป็นหลักเพื่อกระตุ้นให้เกิดความอุตสาหะในการทำความดีโดยการยกปฏิปทาของพระองค์ในอดีตมาเป็นตัวอย่าง รายละเอียดจะได้แสดงไว้อีกครั้งในมหานิบาตว่าด้วยการเสวยพระชาติใหญ่ ๆ 10 ชาติ ฯ

ยกเหตุเรื่องนี้ขึ้นนั้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่ประสบเคราะห์กรรม ชีวิตประเดประดัง สูญเสียหลักทรัพย์หรือเสถียรภาพขาดความมั่นคง หรือแม้เรื่องการพลัดพราก จากบุคคลอันเป็นที่รัก เช่นพี่ น้อง ลูกหลาน หรือพ่อแม่ และบุคคลที่เคารพ เช่นครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ อุปสรรคเข้ามาปัญญาเกิด มารไม่มี บารมีไม่เกิด นับได้ว่าเป็นภาษิตที่เข้ามามีบทบาทในยามพิจารณาความทุกข์ที่กำลังรุมเร้าได้เป็นอย่างดี เพียงแค่หยุดตั้งสติ กำหนดดูลมหายใจ ปัญหาทุกอย่างก็จะค่อย ๆ ผ่อนคลายลง คนเข้มด้วยความรับผิดชอบ เกิดเป็นคนควรพยายามร่ำไป จนกว่าผลที่หมายจะสำเร็จ" ความพยายาม ไม่ได้แปลว่า ต้องสำเร็จทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่สำเร็จ มาจาก "ความพยายาม" ทั้งนั้น ในที่สุดเราก็จะสัมฤทธิ์ผลดั่งที่ใจปราถนาทุกประการ