ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การอธิษฐานธรรม กับคำบนบานศาลกล่าว

เจริญธรรมพุทธบริษัทสาธุชน ผู้ปรารถนาความสำเร็จในชีวิตทุกท่าน ปกติชาวพุทธเราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีอย่างยิ่งยวด ในครั้งที่เสวยพระชาติเป็นโพธิสัตว์ ฉะนั้นผู้ที่จะมีบารมีได้นั้นจะต้องเป็นผู้ทรงธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ บารมี 10 ทัศน์ หรือ ทศบารมี เป็นปฏิปทาอันยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยวดยิ่งนั้น คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุถึงจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น บารมีนั้น ท่านกล่าวว่าจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ต้องครบ 3 ขั้น คือ

1) ระดับ สามัญ เช่น ทานบารมี ให้ทรัพย์สินเงินทอง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

2) ระดับ อุปบารมี เช่น ทานอุปบารมี การเสียสละอวัยวะเป็นทาน ช่วยชีวิตผู้อื่นให้รอด

3) ระดับ ปรมัตถบารมี เช่น ทานปรมัตถบารมี การสละชีวิตเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

การบำเพ็ญทั้ง 10 บารมี ครบ 3 ขั้นนี้ เรียกว่า บารมีบริบูรณ์เต็มถ้วน 30 ทัศน์ บารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ 10 ประการหลัก ๆ มีดังนี้

1. ทาน การให้ การเสียสละ การแบ่งปัน

2. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย มีความประพฤติดีงามถูกต้อง

3. เนกขัมมะ การออกบวช การปลีกตัวปลีกใจจากความยินดีในกามา

4. ปัญญา ความรอบรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

5. วิริยะ ความเพียร ความแกล้วกล้า พยายามบากบั่นอุตสาหะ ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่

6. ขันติ ความอดทน อดกลั้น สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล เพื่อบรรลุจุดหมายอันชอบ โดยไม่ลุแก่อำนาจกิเลส

7. สัจจะ ความจริงแท้ จริงใจ พูดจริง ทำจริง

8. อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้ แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่

9. เมตตา ความรักใคร่ ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้ง ปวงมีความสุขความเจริญ

10. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอเที่ยงธรรม ไม่เอน เอียงไปด้วยความยินดียินร้ายกับความรู้สึกชอบหรือชัง


สำหรับทศบารมีที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญในครั้งเสวยโพธิสัตว์ทศชาตินั้น นับจากปลายไปหาต้น คือจากพระชาติสุดท้ายย้อนลงไป มีดังนี้

10. เวสสันดรชาดก : ทรงบำเพ็ญทานบารมี

9. วิธุรชาดก : ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี

8. นารทชาดก : ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี

7. จันทชาดก : ทรงบำเพ็ญขันติบารมี

6. ภูริทัตชาดก : ทรงบำเพ็ญศีลบารมี

5. มโหสถชาดก : ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

4. เนมิราชชาดก : ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี

3. สุวรรณสามชาดก : ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี

2. ชนกชาดก : ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี

1. เตมีย์ชาดก : ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี


การอธิษฐานธรรม กับคำบนบานศาลกล่าว

อธิษฐานบารมี เป็นหนึ่งในบารมี 10 ประการ (ทศบารมี) ที่มีความสำคัญยิ่ง บารมี แปลว่า "เต็ม" บางโวหารอาจารย์ ท่านกล่าวถึงบารมีว่าคือบริวารรอบข้างอีกด้วยว่า การสำเร็จอันยิ่งใหญ่ต้องมากด้วยบริวารคอยช่วยส่งเสริมสนับสนุน และพร้อมที่จะเดินตามท่านผู้นำ ดังนั้น อธิษฐานธรรม แปลว่า "ความมุ่งมั่นตั้งใจในธรรมที่จะพาข้ามให้ถึงฝั่ง โดยปรมัตถ์ว่าผู้สำเร็จเข้าถึงพระนิพพาน" ด้วยความตั้งใจเต็มอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ การตั้งใจไว้อย่างนั้นย่อมมีผล

เราจะเห็นได้ว่า "การอธิษฐาน" กับ "การบนบานศาลกล่าว" มันคนละเรื่องกัน กล่าวคือ การตั้งจิตอธิษฐานให้สำเร็จกิจการที่ดีที่ประเสริฐสำหรับตนด้วยกำลังแรงบุญ โดยมิต้องไปกราบไหว้บนบานต่อเทพไทร้เทวาองค์ใดให้ช่วยเหลือ แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ ชาวพุทธคนไทยเรานั้น โดยส่วนมากไม่ค่อยเก็บรายละเอียดในด้านพุทธปรัชญา เวลาถึงคราวต้องแยกส่วนมักจะเกิดวิวาทะกันเรื่อยมา เป็นต้นว่าเรื่อง กลุ่มไหนพุทธแท้ กลุ่มไหนพุทธเทียม ดูแล้วกลายเป็นความวุ่นวายเป็นฝักฝ่ายกันไปคนละขั้วเลย น่าเสียใจกับความจริง น่าเสียดายกับบุคคล และกับกาลเวลาที่ผ่านมา และกำลังจะผ่านไป (ไกล) อีกยาวนาน

เอาหละ บางครั้งให้เราคิดใหม่เสียว่าเราเองก็มิอาจที่จะทำนิ้วมือนิ้วเท้าให้ยาวเท่ากันได้ แต่ก็ให้เราทราบว่าทุกอย่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ การบนบานศาลกล่าว" แม้มันคนละเรื่องกัน แต่ก็เป็นเรื่องการให้กำลังใจ คนเรามีกำลังใจก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจ แล้วก็นำพาตนของตนนั้นก้าวเข้าไปถึงความสำเร็จต่างๆ นั้นได้ เพราะส่วนใหญ่พี่น้องไทยเรา ได้มีวัฒนธรรมกันมาอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่รู้กันมากับเหตุผลเหล่านี้ แต่กลับต้องลำบากใจที่จะไปแก้ไข ยิ่งการเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้อื่นยิ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ

ที่นี้ผลระยะยาวของการขยายงานพระพุทธศาสนา เบื้องหน้ายิ่งจะสัดส่ายกับทิศทางที่จะนำทางไปสู่พระนิพพาน หรือสู่อุดมธรรมสูงสุด ส่วนการสร้างบารมีนั้น ก็ค่อย ๆ สั่งสมอบรมกันไปที่ละอย่างสองอย่างตามสติและกำลังของเราที่สามารถจะกระทำได้ในแต่ละคราว บุญบารมีนั้นใช่ว่าจะสร้างกันได้ในวันเดียว ดังภาษิตของฝรั่งที่กล่าวว่า "กรุงโรมไม่ได้สร้างเร็จในวันเดียว"

แหม...! อาตมาก็ไปยกเข้ามาทำไม พุทธศาสนสุภาษิตก็มีกล่าว เช่น "วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ แปลว่า คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร" "Effort is the cause of freedom from suffering." อย่างงั้นเราก็มาลองตั้งสัจจาธิษฐานกันแบบสั้น ๆ ให้เห็นทั้นตาเลยดีไหม? ลองพาไปปฏิบัติกันดู จะรู้ว่าเป็นได้ทันตาเห็นจริง ๆ


อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ 4 อย่าง

1. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้

2. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง

3. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ

4. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ


สุดท้ายฝากท่านทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ 5 ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และท่านผู้รู้ไม่ติเตียน วาจาประกอบด้วยองค์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. พูดถูกกาล 2. พูดคำจริง 3. พูดคำอ่อนหวาน 4. พูดคำประกอบด้วยประโยชน์ 5. พูดด้วยเมตตาจิต

วาจาประกอบด้วยองค์ 5 ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และท่านผู้รู้ไม่ติเตียน ขอให้ทุกคนทุกท่านประสบความสุข ความเจริญ สำเร็จสมความมุ่งมาดปรารถนา ในทุกสิ่งที่หวังโดยชอบประกอบธรรมจงทุกประการ ทุกท่าน เทอญ รูปขอจำเริญพรฯ