ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



"อยู่ด้วยธรรม เป็นอยู่ด้วยความเข้าใจ"

ท่านพุทธบริษัทสาธุชน ท่านบัณฑิตนักปราชญ์ ผู้ฉลาดผู้เจริญทั้งหลาย การศึกษาพุทธธรรมในประเทศไทย คนยุคต้น ฟังธรรม ฟังพระ ก็ไม่ต้องขีดเขียนอะไรกันมากมายนัก แค่ฟังข้อคิดชีวิตก็เปลี่ยนได้ ทฤษฎีบัว 3 เหล่า 4 เหล่า นำเอามาสอนคนสอนสังคมได้ทุกยุกทุกสมัย การศึกษาธรรม การเข้าใจความมุ่งหมายคือประโยชน์สูงสุด ที่เถียงกันเป็นการร่วมค้นหาเหตุผล จะเป็นทฤษฎีบัว 3 หรือ 10 เหล่าก็ถือเป็นการจำแนกให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจในความมุ่งหมายนั้น ๆ


บุคคล 4 จำพวก ตามอุคฆฏิตัญญุสูตร

1) อุคคฏิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที

2) วิปจิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาดี เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป

3) เนยยะ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

4) ปทปรมะ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน

สามจำพวกแรกเรียกว่าเวไนยสัตว์ (ผู้แนะนำสั่งสอนได้) ส่วนปทปรมะเป็นอเวไนยสัตว์ (ผู้ไม่อาจแนะนำสั่งสอนได้)

ที่นี้ญาติโยมผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาบางกลุ่มกล่าวคำว่า "ชาวพุทธสมัยใหม่สอนมั่ว แบ่งบัวเป็น 4 เหล่า" หลวงพ่อก็เข้าใจกลุ่มบุคคลนั้น "กลุ่มผู้ศึกษาบัญญัติ มองปรมัติไม่เข้าใจ และพอให้พูดปรมัติ ก็ย้อนแย้งบัญญัติไปเสียทั้งหมด" จึงบอกไว้เบื้องต้นว่า "อยู่ด้วยธรรม เป็นอยู่ด้วยความเข้าใจ"


เข้าใจธรรม เข้าใจโลก

เดือนที่แล้วมีญาติโยมมาทำบุญที่วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด โยมได้เล่าถึงปัญหาชีวิตที่เมืองไทย มากมายพอสมควร ทราบว่าพึ่งมาอเมริกาได้เป็นครั้งที่ 2 โดยระยะเวลาทิ้งห่างกัน 6 - 7 ปี ตอนแรกก็ยังไม่คิดว่าจะมาอยู่อเมริกา ตอนหลังมาคิดอยากมาอยู่ ฟังเบื้องต้นก็เป็นปัญหาว่าจะอยู่จะกิน จะไปจะมาอย่างไร จะเช่าบ้านที่ไหน จะทำงานอะไร ทำที่ไหน ได้เงินอย่างไร สารพันปัญหา ????

ตามหลักกัลยาณมิตรแล้ว ต้องขอบคุณทุกคนทุกปัญหาที่มีความจริงใจนำมาเปิดตาให้มองเห็น เปิดประเด็นให้ข้อคิด เปิดจิตให้เห็นภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา เปิดปัญหาให้เห็นทางออก หลวงพ่อว่าการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ต้องอาศัยหลักความเป็นกัลยาณมิตร 1) ด้วยจิตที่มีความเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข

2) ความกรุณาช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์

3) มุทิตา ความมีจิตพลอยยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น

4) อุเบกขา ความวางเฉยต่อสิ่งที่เกินหน้าที่ของตน ๆ

วันนั้นหลวงพ่อจำได้ว่าได้แนะนำหลักคิดข้อธรรมให้ไป 7 ประการ ทั้งสามารถนำไป ประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งกับตนเอง และพร้อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ด้วย หลักมีอยู่ว่า :-

1) สติ : ต้องตั้งสติระลึกว่า ด้วยปัจจัยอันหนึ่งอันใดไหมที่เป็นเหตุ เกิดปัญหาเกิดความทุกข์

2) เหตุผล : ทุกอย่างต้องเป็นหลักของเหตุและผล เพ่งทำความรู้จักให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างมีเหตุจึงมีผล เมื่อทราบว่าแค่ไหนเพียงไร

3) เข้าใจปัญหา : ต้องพยายามทำความเข้าใจกับปัญหา แล้วเพียรยกจิตขึ้นด้วยความเชื่อว่าเราต้องไม่ถูกบีบแน่นรัดตรึง เพียรเพ่งดูให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว ดูให้เห็นชัดว่าเราต้องไม่จมปลักลงไป

4) ยิ้มสู้อุปสรรค : ถ้าแม้นหนักหนาเกินที่จะระงับ การทำหน้าที่ที่สุดแล้วแม้ตายก็ต้องไม่เสียดาย อยู่กับตาย สู้กับตัวเอง ไม่ต้องกลัวตาย ถ้ามันจะถึงตายให้หายใจเข้าไว้ ยิ้มกับความตายได้

5) สงบสยบกรรม : ต้องให้รู้สงบที่ใจเราก่อน แล้วจึงถอนตัวออกจากอำนาจที่เข้ามาหมายเป็นศัตรูคู่เวรกับเรา เมื่อใจเราหมอบคลาน การปลดปลงปล่อยวางอย่างสงบสันติจะชนะความอัดอั้น เคืองแค้น สงบจากกรรมพยาบาทได้

6) เจริญสมาธิให้มากขึ้น : สมาธิจะผดุงจิตตนให้มั่นคง ต้านอำนาจแห่งมารได้อย่างฉมัง สมาธิต้องหนักแน่นแกล้วกล้า โดยตัวเราต้องเป็นผู้มั่นคง

7) ปล่อยวาง : อุเปกขา ปลงวางทุกอย่างไว้เพื่อรู้ สักว่ารู้ เห็นสักว่าเห็น สัมผัสสักว่าสัมผัส เฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนที่เรามองรถที่วิ่งผ่านหน้าบ้านเราไป ใจเราก็ไม่ได้ไปยึดมัน เพราะไม่ได้เป็นผู้ต้องเดินทางนั่งไปด้วยกับรถคันนั้น ต้องตั้งจิตไว้เหนือสัมผัสทั้งปวง ตั้งสัจจะไว้เพียงว่า “เราเป็นเพียงผู้ดู เป็นผู้รู้ เป็นผู้เห็น อย่าให้อวิชชามาพาเราดิ้นรน จิตเราพ้นแล้วอวิชชาก็เต้นแร้งเต้นกาไม่ได้อีกต่อไป” หลวงพ่อให้ไปทบทวนคำสอนนี้ให้ชัด บุญปกป้อง พระคุ้มครองรักษา


สำคัญต้องให้เกิดความเข้าใจ

จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อพูดอะไรสอนอะไรนั้น สำคัญต้องให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เพราะเชื่ออยู่ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน คำพูดของหลวงพ่อนั้นตั้งไว้เพียงว่า อาจจะไปเปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนอนาคตของคนอื่นได้ด้วยกรอบของความคิด และด้วยจิตที่ต้องการพัฒนา ส่วนความสำเร็จย่อมเกิดจาการกระทำของเจ้าเรือนนั้น ๆ ว่าต้องการอยู่อย่างไร ? เช่น :-

อยู่ร้อนนอนทุกข์ อยู่กับโลกยุค 4 G

อยู่ดีอยู่ได้ อยู่ให้เข้าใจปัญหา

อยู่ให้เกิดปัญญา อยู่มาอยู่ไป

อยู่อย่างไรถึงจะดี อยู่ที่จิตของตนเอง ฯ

ฉบับนี้ ฝากพุทธศาสนสุภาษิตไว้ว่า :-

สุวิชา โน ภวํ โหติ สุวิชาโน ปราภโว : ผู้เจริญก็รู้ง่าย ผู้เสื่อมก็รู้ง่าย รูปขอจำเริญพร