ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ปิดวาจา ศึกษาใจตน

ญาติโยมทุกคนทุกท่าน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราจะพูดหรือจะทำอะไร เราปฏิเสธสภาวะธรรมที่เกิด ขึ้นจากเพื่อนรอบข้างเราไม่ได้เลยจริงๆ เพื่อนเราในสังคมทุกตำแหน่งแห่งหน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1. จิตใจคิดเป็นกุศลกับเรา 2. มีจิตใจคิดเป็นอกุศลกับเรา 3. ไม่คิดยินดียินร้ายกับเรา (เฉยๆ)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ญาติโยมศิษย์วัดทุ่งเศรษฐี เดินทางมาจากเมื่องไทย ได้ทำสติ๊กเก้อร์มาฝาก กลุ่มผู้สมาทานถืออุโบสถศีล ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษา โดยก่อนทำสำรวจความเห็นกับผู้เข้าปฏิบัติ เนกขัมมจารินีเรียบร้อยดี และได้ทำสติ๊กเก้อร์ออกมาอย่างสวย ทุกคนในกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมยิ้มรับ Happy มีความสุข ดังนั้นใครได้ไปปฏิบัติธรรมร่วมกัน อย่าลืมขอเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเราได้ร่วมโครงการปฏิบัติธรรมกันมาแล้ว เอาหละ... ทีนี้มาทำความเข้าใจความหมายคำว่า "ปิดวาจา"

ความตอนหนึ่งในบทสวดโอวาทปฏิโมกข์แสดงไว้ว่า "อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย ปาติโมกเข จะ สังวะโร การสำรวมในปาติโมกข์" เรามาศึกษาแยกย่อยให้ได้เนื้อธรรมกันดีไหม? ก่อนที่ตัดสินใจติดสติ๊กเก้อร์ "ปิดวาจา" กัน


การศึกษาหัวข้อธรรมที่ว่า: ปาริสุทธิศีล 4

ปาริสุทธิศีล แปลว่าข้อปฏิบัติที่ทำให้ศีลบริสุทธิ์ เรียกว่าปาริสุทธิศีล แปลว่า ศีลอันหมดจดรอบ ศีลอันบริสุทธิ์ หรือ ศีลที่ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ และหมายถึง ผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลทั้ง 4 มีปาติโมกขสังวร เป็นต้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว งดงาม หาโทษมิได้ เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ ปาริสุทธิ กอปรด้วยลักษณะ 4 ดังนี้

1. ปาติโมกขสังวร สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่ พระองค์อนุญาต สำรวมในพระปาติโมกข์ หมายถึง ศีลที่เป็นหลักสำคัญตามภูมิตามชั้นของพุทธบริษัท

2. อินทริยสังวร สำรวมอินทรีย์ 6 คือ ไม่ยินดียินร้ายในเวลา (ตา เห็นรูป) (หู ฟังเสียง) (จมูก ดมกลิ่น) (ลิ้น ลิ้มรส) (กาย ถูกต้องโผฏฐัพพะ = สิ่งที่กายสัมผัสแตะต้องได้) (ใจ รู้ธรรมารมณ์) ไม่ให้ยินดีในส่วนที่น่าปรารถนา ไม่ให้ยินร้ายในส่วนที่ไม่น่าปรารถนา เรียกว่า สำรวมอินทรีย์

3. อาชีวปาริสุทธิ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต หมายความว่า เลี้ยงชีวิตในทางที่ดี ที่ชอบตามสมควรแก่ภาวะ เช่น เป็นบรรพชิต ก็เลี้ยงชีวิตให้สมควรแก่ความเป็น บรรพชิต คือ เมื่อแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพ ไม่หลอกลวงเลี้ยงชีพ ด้วยการทำอเนสนา คือการแสวงหาไม่สมควร หรือ พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภสักการะ เป็นต้น เป็นคฤหัสถ์ ก็เลี้ยงชีวิตให้สมควรแก่การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต

4. ปัจจยปัจจเวกขณะ ไม่บริโภคด้วยตัณหา พิจารณาเสียก่อน จึงบริโภคปัจจัย 4 คือ เครื่อง นุ่งห่ม (จีวร) อาหาร (บิณฑบาต) ที่อยู่อาศัย (เสนาสนะ) และยารักษาโรค (เภสัช) พิจารณาให้เห็นเป็นธาตุ เป็นของปฏิกูล เสียก่อนจึงใช้สอย เรียกว่า ปัจจยปัจจเวกขณะ


พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาติโมกข์ไว้ เพื่อจะให้สงฆ์ เป็นหมู่ภิกษุอันดีงาม มีความประพฤติเป็นอันเดียวกัน นำให้เกิดความเลื่อมใสแก่มหาชน เหตุเพราะว่าผู้ที่มาบวชเป็นภิกษุมาจากสกุลต่างๆ กัน สูงบ้าง ต่ำบ้าง มีพื้นเพต่างกัน การศึกษาที่ต่างกัน อัธยาศัยก็ต่างกัน จึงต้องการกฎหมาย และขนบธรรมเนียม ไว้คอยควบคุม เช่นเดียวกับกฎหมายบ้านเมือง แม้ญาติโยมก็อนุวัตรตามระดับศีลของตนๆ เช่น ผู้ถือศีล 5 ศีล 8 ก็มีข้อประณีตที่มีลำดับความต่างกันไป ถ้าถามว่า การสำรวมในปาติโมกข์ จะมีผลดีอย่างไร?

- ไม่เป็นเหตุให้เพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันเกิดความรังเกียจ

- ไม่เกิดความร้อนใจของตัวในเวลาเข้าที่ชุมชนสมาคม

- ไม่หวาดหวั่นคั่นคร้ามต่อคำคนคำใครที่เขาจะทักท้วง

- ไม่ทำให้ศาสนาตกต่ำมัวหมองต้องภัย

- ประชาชนยกมือไหว้ด้วยความสนิทใจในทิศทั้งปวง


การไม่สำรวมในปาติโมกข์ มีผลเสียอย่างไร ?

- เป็นเหตุให้เพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันเกิดความรังเกียจ

- เกิดความร้อนใจของตัวในเวลาเข้าที่ชุมชนสมาคม

- หวาดหวั่นกลัวเกรงต่อคำคนคำใครที่เขาจะทักท้วง

- ทำให้ศาสนาตกต่ำมัวหมองต้องภัย

- ประชาชนยกมือไหว้ด้วยความสนิทใจในทิศทั้งปวง


ภิกษุสำรวมในอินทรีย์ 6 มีผลดีอย่างไร ?

- ทำให้ดำรงอยู่ในสมณะเพศได้นาน

ภิกษุไม่สำรวมในอินทรีย์ 6 มีผลเสียอย่างไร ?

- ย่อมพินาศจากพรหมจรรย์ตกสู่เพศฆราวาส

ปาติโมกขสังวร ที่กล่าวมาข้างต้น ชื่อว่า ปาริสุทธิศีล นั้นก็เพราะว่า เป็นเครื่องทำศีลให้บริสุทธิ์ มีความสำคัญต่อผู้ประพฤติธรรมนี้ ตามสมควรแก่ภาวะของตนๆ เพื่อขัดเกลาศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุให้จิตบริสุทธิ์ และปัญญาบริสุทธิ์โดยลำดับจนกระทั้งเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง เป็นไปเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ คือ เพื่อพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง

บรรยากาศในการปฏิบัติธรรม อารมณ์กัมมัฏฐาน การเจริญสติภาวนา สมาธิภาวนา ปัญญาภาวนา ให้เจริญในใจอยู่ ปฏิบัติตามอยู่ บางทีการติดสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ "ปิดวาจา" ช่วยเป็นเครื่องเตือนสติในบุญ ป้องกันไม่ให้อารมณ์กัมมัฏฐานรั่วฟุ้งไปไกล มองเห็นสติ๊กเกอร์ "ปิดวาจาปั๊บ" ก็สามารถดึงสติดึงอารมณ์กลับมาภาวนาต่อไป นี้เรียกว่ากลุ่มของผู้มีกุศลจิต ไม่กล่าวหาว่าร้ายต่อใครๆ เขา ไม่หลงผิดคิดอิจฉาริษยาต่อใครๆ เขา ไม่โมโหโกรธาใครๆ เขา ทว่า "ปิดวาจา ศึกษาใจตนและคนอื่น" คือรู้ว่าใจเขาคิดเป็นอย่างไร ใจเราคิดเป็นอย่างไร อย่างรอบคอบสำรวมระวังในบุญในบาป เป็นต้นฯ

ส่วนกลุ่มของผู้มีอกุศลจิต ก็ชอบกล่าวหาว่าร้ายต่อใครๆ เขาไปไม่เลือกที่ไม่เลือกหน้า ใจอกุศลก็คิดอิจฉาริษยาต่อใครๆ เขาไปไม่เลือกที่ไม่เลือกหน้า "ไม่ปิดวาจา ศึกษาใจตนและคนอื่น" ไม่รอบคอบ ไม่สำรวมระวังในบุญในบาป แถมยังกล่าวสบประมาทว่า "จะปฏิบัติอะไรๆ จะเคร่งจะอะไรๆ ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องไปบอกให้ใครๆ เขารู้ ไม่เห็ต้องจำเป็นต้องติดสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์บ้าบออะไรๆ เลย เป็นต้นฯ หากใครพูดแบบนี้ต้องให้ไปสำรวจใจของตนเองดูเลย ว่ายังเปิดเพจเล่นเฟ็ชบุ๊ค เล่นไลน์ และยังใช้โทรศัพท์อยู่หรือเปล่า เพราะมิฉะนั้นต้องเรียกให้มาปรับทัศนคติกัน ในเรื่องศีลสามัญตา และทิฏฐิสามัญตา กันเลยทีเดียว เอาน่า...! นะ

ธรรมะก่อนลาขอกล่าวอนุโมทนาด้วยหัวใจกับนี้ว่า

"แม่ คำนี้คำเดียว คือทุกสิ่งของชีวิต รักแม่มากเท่าใด ให้เคารพตัวเองมากเท่านั้น เพราะทั้งหมดที่เราเป็น คือ แสงสว่างที่แม่ฝากไว้"


เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา วัดทุ่งเศรษฐี และสานุศิษย์พร้อมใจถวายพระพร 84 พรรษาองค์ราชินี ผ่านทางโทรทัศน์ ISTV โดยคุณแมวอภิญญา และคุณวัธ ได้สนับสนุนให้ทางวัดจัดกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหามหาราชินี พร้อมกันนี้ได้ตัดยอดขายสินค้าในวันที่ออกอากาศ 20 เปอร์เซ็นต์ ถวายเป็นพระราชกุศลบำรุงวัดทุ่งเศรษฐี ประกาศอนุโมทนาทุกคนทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

คติธรรมก่อนจาก "ธรรมะ ใครทำใครได้ ทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่" การเพ่งดูจิตของตนๆ ย้อนรอยแลหลังไปพร้อมศึกษาธรรมนั้นว่า อะไรๆ ก็มีอดีต, มีอนาคต, เพราะเหตุที่มีปัจจุบัน, ฉะนั้นอดีตจะดีได้เพราะทำปัจจุบันไว้ดี, อนาคตจะดีได้เพราะทำปัจจุบันไว้ดี เวลาเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง จงเร่งประกอบความเพียร บุญทานการกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ควรประมาท การทำหน้าที่ให้สมบูรณ์อย่างเต็มกำลัง คือ การปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุด หลวงพ่อเพชรมีชัย คุ้มครองบุญผองพุทธชน ให้เต็มพร้อมเปี่ยมล้นยิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ ขอจำเริญพร