ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร
ความคิดคือความตั้งใจ

9 วิธีคิดแบบตั้งใจ

1. คิดตามสภาวะที่เป็นจริง เช่น ความเป็นทุกข์ที่เป็นอยู่จริง ณ ปัจจุบัน มันมีเหตุเกิดจากอะไรถึงทำให้ถึงกับเป็นทุกข์ การพิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผลให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริงว่า เป็นทุกข์ทางกาย – หรือเป็นทุกข์ทางใจ การค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ เพื่อเข้าใจและรู้จักระงับยับยั้งความทุกข์นั้นๆ คิดแบบรู้ต้นเรื่อง – ปลายเรื่อง การคิดตามสภาวะที่เป็นจริง อย่างเรื่องความทุกข์ที่มีในอริยสัจจ์ 10 ประการ คือ

1) สภาวทุกข์ ทุกข์ประจำสังขาร คือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย

2) ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส

3) นิพัทธทุกข์ ทุกข์เนืองนิตย์ คือ หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ

4) พยาธิทุกข์ ทุกข์พระโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

5) สันตาปทุกข์ ทุกข์เกิดจากกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง

6) วิปากทุกข์ ทุกข์เกิดจากกรรมเก่าตามมาให้ผล

7) สหคตทุกข์ (วิปริณามทุกข์) ทุกข์เกิดจากโลกธรรม 8 คือ

มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข

มีเสื่อมลาภ มีเสื่อมยศ มีนินทา มีทุกข์

8) อาหารปริเยฏฐิทุกข์ ทุกข์เกิดจากการหาอาหาร หิวก็เป็นทุกข์ อิ่มก็เป็นทุกข์

9) วิวาทมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการทะเลาะวิวาท เช่นเรื่องแย่งผัวแย่งเมีย

10) ทุกขขันธ์ ทุกข์รวบยอด คือความยึดมั่นในขันธ์ 5

2. คิดตามประเด็นที่ตั้งสมุติฐานเชิงตรรกะ เป็นวิธีคิดแบบยกประเด็นขึ้นตั้ง แล้วจำแนกแยกแยะองค์ประกอบย่อยๆ นั้นค้นหาความจริง การคิดวิเคราะห์เจตคติของคนแต่คนที่แตกต่างอุปนิสัย และพฤติกรรมที่บุคคลนั้นๆ ได้แสดงออกมาเชิงพฤติกรรม การค้นหาเจตคติของคนนั้นๆ คิดตามประเด็นที่ตั้งสมุติฐาน เราจะได้ทราบถึงก้นบึ้งของใจเขาเหล่านั้นว่า น่าชื่นชมยกย่องในเกียรติภูมิ หรือประการใด? บางคนหน้าซื่อใจคด หน้าไหว้หลังหลอก ปัจจุบันสุภาษิตเหล่านี้แทบจะไม่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันเลย แต่ยังคงเป็นพื้นฐานทางกลุ่มความคิด ที่จะนำไปขยายการมองเจตนาของคน อาตมาจึงเปรียบเหมือนยามเฝ้าประตู เพื่อจะรู้ว่าอะไรสิ่งใดหรือใครจะผ่านเข้ามาได้บ้าง เป็นต้นฯ

3. คิดแบบเข้าใจสิ่งสามัญลักษณ์ คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง จริงๆ จะบอกว่าเป็นเรื่องลึกซึ้งก็ว่ากันไป หรือจะว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ ก็ว่ากันไป “ตถตา ความเป็นเช่นนั้นเอง” ในวารดิถีปีใหม่หากมีโอกาสสวดมนต์ก็ลองไปทบทวนบทสวดดูกันเองว่า

ชราธัมโมมหิ ชะรัง อะนะติโต

เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้

พะยาธิธัมโมมหิ พะยาธิง อะนะตีโต

เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้

มะระณะธัมโมมหิ มะระณัง อะนะตีโต

เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

สัพเพหิ เม ปิเยหิ มะนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว

เราจักพลัดพรากจากของที่รัก ของชอบใจทั้งหลาย เป็นต้น

4. คิดแบบตัดภพจบปัญหา (แบบอริยสัจ) คือ

อิมสฺมี สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี

อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.

อิมสฺมี อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี

อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป.

หากเลือกที่จะคิดตามความข้อนี้ คนต้องมีบารมีหรือมีบุญญาธิการมากพอที่จะสนใจแสวงหา เหตุผลตามความข้อนี้ คืออาจต้องมีศรัทธา มีศีล สมาธิ วิริยะ ปัญญา พอสมควร เพื่อที่จะเข้าใจโจทก์เหล่านี้ได้ ว่ากันโดยองค์รวมคือ ต้องมีพุทธิปัญญาจึงจะสามารถไปสู่มรรควิธีได้

5. คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย “คิดแบบคนมีอุดมการณ์” เช่นเขียนคติธรรมประจำใจของตนเองไว้ว่า “คุณธรรมสูงส่ง สู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่” นี้เรียกว่าคิดตามอุดมคติที่ตนมีเจตนาตั้งไว้ เมื่อรู้หลักการเป็นอย่างไร ความมุ่งหมายเป็นอย่างไร ก็ทำให้ถูกต้องตามหลักการและจุดมุ่งหมายนั้น “เป้าหมายมีไว้ให้เราเดินเข้าหา ชีวิตต้องกำหนดทิศทางอย่างมีเป้าหมาย อย่าเดินไปไกลฝัน เพราะความสำเร็จอยู่ที่เป้าหมายที่วางไว้”

6. คิดแบบเอาประโยชน์ (คิดบวก) การปลูกอุปนิสัย ลักษณะนิสัย ให้คนทุกคนคิดไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มิได้ยากเกินกว่าที่จะทำได้จิตสำนึกมีกันได้ ปลูกสร้างกันได้ ทำให้เกิดสามัญสำนึกร่วมกันได้ หากแต่ทำแทนกัน คิดแทนกันไม่ได้ ดังนั้นจึงขอยกวิธีการ 6 ย่าง ตามนัยยพระปาฏิโมกข์ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการคิด (บวก) ดังนี้

1) ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร

2) ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

3) สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม

4) รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ

5) อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

6) ฝึกหัดจิตใจให้สงบได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพ คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี

คิดแบบเอาประโยชน์ ต้องพยายามเลี่ยงเหตุที่จะมองผิด จับผิด ตำหนิติเตียนผู้อื่น แต่ต้องชักชวนผู้อื่นให้เห็นคุณเห็นโทษและทางออก เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงและสร้างสรรค์

7. คิดแบบผู้บริหาร เป็นวิธีคิดเกี่ยวข้องกับความต้องการ และการประเมินค่าของบุคคล เช่นว่า เรามีธุระภาระมากมาย มีทั้งธุรกิจ ทั้งกิจธุระ โน้นก็ยังไม่ได้ทำ นั้นก็ยังทำไม่ได้ โน้น นี่ นั่น อีลุงตุงนัง สถานะการณ์อย่างนี้ต้องคิดเริ่มจากสิ่งที่จำเป็นสำคัญมากสำคัญน้อยก่อน แล้วมาวางแผนว่า ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เราต้องทำอะไรให้เป็นจังหวะขั้นตอน ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์สูงสุด และเมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็ต้องพัก เพราะมิฉะนั้นสมองจะไม่มีประสิทธิภาพ การงานก็จะไม่ประสบผลสำเร็จสูงสุด แถมชีวิตก็จะแย่ลง ดังนั้นสิ่งสำคัญของการจัดการที่ดี ต้องรู้จักบริหารเวลาให้เป็น

8. คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม การรู้จักนำเอาคุณธรรมมาคิดปรุงแต่งไปในทางที่ดีงาม เป็นประโยชน์ทางกุศล สร้างประโยชน์สาธารณะ มีจิตอาสาที่จะอุทิศตนสร้างสรรค์ศีลธรรมทางสังคม “เพราะสังคมต้องอยู่รวมกัน จึงต้องช่วยสร้างสรรค์ศีลธรรม” การมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม มีจิตใจที่สะอาดผ่องแผ้ว แล้วแสดงออกเป็นพฤติกรรมในทางสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจเสมอ

9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน คิดตามแบบมหาสติปัฏฐานสูตร เพ่งพิจารณามีสติระลึกอยู่กับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ เกิดขึ้นหรือรู้การกระทำทุกขณะจิต เป็นแนวคิดแห่งปัญญาไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นอยู่ขณะนี้ ล่วงไปแล้ว หรือเป็นเรื่องของการภายหน้า หากเป็นการคิดด้วยปัญญาถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา ก็นับเป็นความคิดในปัจจุบันทั้งสิ้น

สรุปว่า จะ 9 วิธีคิด 10 วิธีคิด หรือ 100 วิธีคิดก็ตาม คิดดี พูดดี ทำดี ดีแน่นอน เจริญพร