ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ทำบุญวันเข้าพรรษา

พิธีกรรมของพุทธศาสนิกชน อันเนื่องในวันเข้าพรรษา

พุทธศาสนิกชนมีการกระทำบุญตักบาตรกัน ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และขนมที่นิยมทำกันในวันเข้าพรรษาได้แก่ ขนมเทียน และท่านสาธุชนที่มีความเคารพนับถือพระภิกษุวัดใด ก็จัดเครื่องสักการะ เช่น น้ำตาล น้ำอ้อย สบู่ แปรง ยาสีฟัน พุ่มเทียน เป็นต้น นำไปถวายพระภิกษุวัดนั้น ยังมีสิ่งสักการะบูชาที่พุทธศาสนิกชนนิยมกระทำกันเป็นงานบุญน่าสนุกสนานอีกอย่างหนึ่งคือ "เทียนเข้าพรรษา" บางแห่งจะมีการบอกบุญเพื่อร่วมหล่อเทียนแท่งใหญ่ แล้วแห่ไปตั้งในวัดอุโบสถ เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอด ๓ เดือน การแห่เทียนจำนำพรรษาหรือเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นงานเอิกเกริก มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน และเทียนนั้นมีการหล่อหรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงาม

เทศการเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษ พุทธศาสนิกชนจึง ขะมักเขม้นในการบุญกุศลยิ่งกว่าธรรมดาบางคนตั้งใจรักษาอุโบสถตลอด ๓ เดือน บางคนตั้งใจฟังเทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา มีผู้ตั้งใจทำความดีต่าง พิเศษขึ้น ทั้งมีผู้งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาล

เข้าพรรษาและคนอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษาตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกละอายมุกและความชั่วสามานย์ต่าง ๆ โดยตลอดไป จึงนับเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งอันเป็นมงคล


หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ

ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวาย ทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่วบำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ "วิรัติ"คำว่า "วิรัติ" หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปวิรัติ การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออกได้เป็น ๓ ประการ คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา

๒. สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง

๓. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น