ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ความหมายของคำว่าทอดกฐิน

ขอเจริญพร ญาติโยมศรัทธาสาธุชนทุกคนทุกท่าน ช่วงนี้ใกล้ออกพรรษาใกล้เขตฤดูกาลเตรียมงานบุญทอดกฐินของ พี่น้องชาวพุทธเรา วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ทั่วโลก) ต่างก็ทะยอยออกกำหนดการ มีหนังสือเชิญคหบดีผู้มีฐานะ มีคุณสมบัติ กอปรด้วยศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ให้มารับมาร่วม เป็นเจ้าภาพต้นประธานหลัก ท่านใดได้รับโอกาสเป็นประธานทอดกฐินแล้วนั้น ย่อมเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดศรัทธาอริยทรัพย์ วิริยะอริยทรัพย์ สติสมาธิบริบูรณ์ อีกพรั่งพร้อมด้วยบริวารมากมายในภายภพ ด้วยเดชแห่งบุญเทวดาและมนุษย์จักคุ้มครองรักษา อานิสงส์ผลบุญของผู้นำนั้น คิดทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะสำเร็จการยิ่งใหญ่ ดังนั้นบุญทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ ว่าด้วยมหาทานบารมีเพื่อให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพียง จึงมีกำหนดการ มีขั้นตอนลำดับพิธีให้เนื่องด้วยพระธรรม วินัย อันพระผู้มีพระภาคทรงมีพระบรมพุทธานุญาตไว้

นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่เพิ่มเติมตามเขตสมัย คือฎีกาบอกบุญบอกกำหนดการแจ้งเพื่อนสนิทมิตรสหายให้ได้ทราบ เพื่อร่วมบุญร่วมอนุโมทนาในบุญสร้างวัดสร้างโบสถ สร้างกุฏิวิหาร สร้างศาลาปฏิบัติธรรม สร้างอะไร ๆ ก็สำเร็จ ด้วยคุณธรรมอันสูงส่งสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

กฐินทาน คือการถวายผ้าให้แก่ภิกษุสงฆ์ ผู้ได้ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ผ่านการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ณ อารามใดอารามหนึ่ง นับว่าเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่ ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายแก่ผู้ทอดถวาย ดังที่จะนำมาเล่าให้ได้ทราบ แต่ก่อนที่จะได้ทราบอานิสงส์ เรามารู้จักความหมายของคำว่า "กฐิน" กันสักนิดหนึ่ง คำว่ากฐินแปลว่าสดึง คือไม้สำหรับขึงผ้าให้ตึง มีทั้งสี่เหลี่ยม บางครั้งก็เป็นรูปวงกลม เมื่อขึงผ้าด้วยสดึงแล้ว จะทำให้เย็บผ้าได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกความหมายหนึ่งนั้น หมายเอาผ้าจีวร ที่ถวายแก่พระสงฆ์ ที่อยู่ประจำอารามจนครบพรรษา คำว่าทอดกฐิน จึงหมายถึงการน้อมนำผ้าจีวร มาวางทอดลง เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใด

เทศกาลทอดกฐินจะเรียกอีกแบบก็คือ ฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่แก่พระภิกษุนั่นเอง โดยในอดีตกาล ยุคต้นที่พระพุทธศาสนาเริ่มบังเกิดขึ้น ผ้าที่ภิกษุได้มานั้น เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ หรือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่นผ้าห่อศพในป่าช้า หรือ ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองหยากเยื่อ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผ้าในยุคนั้นเป็นของมีค่า หาได้ยาก การที่ภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้หวงแหน มาใช้นุ่งห่ม จึงแสดงถึงความสันโดน มักน้อย ของนักบวชผู้มุ่งแสวงหาความหลุดพ้น อีกอย่างหนึ่ง จะได้ไม่เป็นที่หมายปองของพวกโจร จะได้ไม่ถูกขโมย หรือถูกโจรปล้นชิงไป เพราะในสมัยนั้นเขารังเกียจผ้าปุปะ หรือผ้าเก่า ๆ ถือว่าเป็นผ้าเสนียด จึงไม่มีใครอยากได้

แต่มาภายหลังทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับผ้าที่คหบดีนำมาถวายได้ เนื่องจากหมอชีวกะได้กราบทูล เพื่อที่จะถวายผ้าแก่พระภิกษุ เพราะเห็นว่า พระภิกษุทั้งหลาย ท่านมีความลำบากในการแสวงหาผ้าเหลือเกิน รูปแบบของจีวรนั้น เกิดขึ้นจากดำริของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือครั้งหนึ่งพระองค์ทรงชี้ให้พระอานนท์ แลดูคันนาของชาวมัคธ และให้ออกแบบตัดเย็บ โดยใช้แผ่นผ้าหลายชิ้นนำมาเย็บต่อ ๆ กัน เป็นขันธ์คล้ายคันนา เพื่อให้เป็นผ้ามีตำหนิไม่มีใครอยากได้ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้จีวรมี 5 ขันธ์ขึ้นไป ส่วนจีวรในปัจจุบัน มี 5 ขันธ์ นับเฉพาะแนวตั้ง เรียกว่า มณฑล ส่วนขันธ์ย่อย เรียก อัฏฐมณฑล จีวรที่พระภิกษุใช้กัน ในสมัยก่อนนั้น จะต้องวัดแต่ละชิ้น ให้ได้สัดส่วน แล้วก็ทำการตัดเย็บ และย้อมเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุ โดยวัสดุที่ทรงอนุญาต ให้นำมาย้อมผ้าจีวรได้ คือ

1. รากไม้ 2. ต้นไม้ 3. ใบไม้ 4. ดอกไม้ 5.เปลือกไม้ 6.ผลไม้

ซึ่งเมื่อเย็บเสร็จแล้ว ต้องนำมาย้อม สีที่นิยมใช้คือ สีเหลืองเจือแดง สีเหลืองหม่น หรือ สีกลัก ส่วนสีที่ห้ามใช้ได้แก่ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด สีชมพู และสีดำ เมื่อเย็บและย้อมเสร็จแล้ว ก็จะอธิษฐานให้เป็นผ้าครองต่อไป แต่ก่อนจะนำมานุ่งห่ม ก็จะต้องพิจารณาผ้าเสียก่อน จึงจะนำมาใช้ได้ โดยเมื่อสำเร็จเป็นจีวรแล้วนั้น พระภิกษุท่านจะใช้สอย และเก็บรักษาเป็นอย่างดี เพราะถือว่าผ้าจีวรนั้น เป็นธงชัยของพระอรหันต์ เมื่อพระภิกษุ ได้ผ้าจีวรผืนใหม่แล้ว ส่วนผ้าผืนเก่าก็จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำมาเป็นผ้าดาดเผดาน เมื่อผ้าดาดเผดานเก่า ก็จะนำมาเป็นผ้าปูฟูก หรือผ้าปูที่นอน ผ้าปูที่นอนผืนนั้นเมื่อเก่าลง ก็จะนำมาเป็นผ้าปูพื้น ผ้าปูพื้นที่เก่าแล้ว ก็เอามาเป็นผ้าชัดเท้า นำผ้าชัดเท้าที่เก่าแล้ว มาทำเป็นผ้าชัดธุลี และนำผ้าชัดธุลีที่เก่าแล้ว มาโขรกให้แหลก แล้วขยำกับโคลน เพื่อฉาบทาฝากุฎิ

ดังนั้นผ้ากฐินที่ได้ถวายพระภิกษุสงฆ์ไปแล้วนั้น ย่อมเกิดประโยชน์สูงสุด จึงก่อให้เกิดอานิสงส์แก่ผู้ทอดถวายมากมาย ส่วนประวัติการรับผ้ากฐิน และอานิสงส์กฐินนั้น มีความเป็นมาดังนี้

สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุ ชาวเมืองปาถยรัฐ จำนวน 30 รูป เดินทางเพื่อเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุธเจ้า ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี แต่เมื่อถึงเมืองสาเกตเท่านั้น ยังไม่ทันถึงกรุงสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงต้องเข้าจำพรรษาซะในระหว่างทางนั้นเอง

ในระหว่างนั้น ภิกษุชาวปาถยรัฐ มีใจระลึกถึงพระพุทธองค์ว่า เราแม้อยู่ห่างจากสาวัตถีเพียง 6 โยชน์ แต่พวกเรากลับไม่ได้เข้าเฝ้าพระองค์ ครั้นล่วง 3 เดือนแล้ว ภิกษุเหล่านั้น ได้ทำการปวารณาซึ่งกันและกันในวันมหาปวารณา ในตอนนั้น แม้ออกพรรษาแล้ว แต่ฝนยังตกอยู่ พื้นดินชุ่มไปด้วยน้ำและโคลน ภิกษุเหล่านั้นรีบเร่งเดินทางเพื่อเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ จึงทำให้สบง จีวรที่ท่านนุ่งห่ม เปียกปอน เปรอะเปื้อน และเปลื่อยขาด กว่าจะเดินทางมาถึงพระเชตวัน ก็ได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก เมื่อถึงพระเชตวันแล้ว ยังมิทันได้พักเลย ภิกษุเหล่านั้นก็เข้าไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งจีวรที่ชุ่มไปด้วยน้ำ เปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน

พระพุทธองค์ได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้น เรื่องความเป็นอยู่ และสุขภาพร่างกายว่า จำพรรษากันน่ะ ผาสุกดีอยู่รึ ทะเลาะวิวาทกันบ้างไหมหล่ะ อาหารบิณฑบาตรพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้รึ ภิกษุทั้งหลายได้ทูลตอบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า จำพรรษาด้วยความผาสุก พอยังอัตตภาพให้เป็นไปได้ ยังมีความพร้อมเพรียงกัน ไม่วิวาทกัน และไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตร พระพุทธองค์ทรงเห็นจีวรของภิกษุทั้งหลาย เก่า และขาด จึงทรงมีพุทธานุญาต ให้รับผ้ากฐินได้ แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 1 เดือน หลังออกพรรษาแล้ว โดยให้ภิกษุที่ได้รับผ้ากฐินแล้ว ได้อานิสงส์ 5 ประการคือ

1 เที่ยวไปสู่ที่สงัด เพื่อแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมได้ตามสะดวก โดยไม่ต้องบอกลา

2 เที่ยวไปได้ โดยไม่ต้องนำผ้าไตรไปครบสำรับ

3 ฉันคณะโภชนะได้ คือฉันภัตตาหารร่วมโต๊ะ หรือร่วมวงฉันด้วยกันได้

4 ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา คือรับผ้าจีวรได้มากผืน

5 จีวรที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้น จักได้แก่พวกเธอ คือหากได้ผ้าจีวรมาเพิ่มอีก ก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ ไม่ต้องเข้าส่วนกลาง


คุณสมบัติของผู้ถวายกฐิน

ในกาลทานสุตตคาถา ได้กล่าวถึงคุณสมบัติผู้ที่จะทอดกฐิน เป็นคาถาว่าด้วยพระบาลี ตอนหนึ่งว่า กาเล ททนฺติ สปญฺญา วทญฺญู วีตมจฺฉรา กาเลน ทินฺนํ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งมีใจความเป็นภาษาไทยว่า

"ทายกเหล่าใดเป็น ผู้มีปัญญา มีปรกติรู้จักคำพูด ปราศจากความตระหนี่ มีจิตใจเลื่อมใสในกิจของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ตรงคงที่ ทำโอกาสบริจาคทานโดยกาลสมัยให้เป็นของตน ทักษิณาของทายกเหล่านั้น เป็นคุณสมบัติที่มีผลไพบูลย์

อนึ่ง ชนทั้งหลายเหล่าใด อนุโมทนาหรือช่วยกระทำการขวนขวายในทานนั้น ทักษิณาของเขามิได้บกพร่องเลย เขาย่อมเป็นผู้มีสิทธิในส่วนของบุญนั้น เหตุนี้ทายกไม่ควรย่อท้อการให้ อย่างใดที่มีผลมาก ควรให้อย่างนั้น"

และสรุปด้วยคาถาบทสุดท้ายว่า ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ แปลว่า บุญย่อมเป็นที่พึ่งพิงอิงอาศัยของสรรพสัตว์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ดังนี้

จากใจความตามพระคาถาดังกล่าวนี้ ก็คือ การพรรณนาถึงคุณสมบัติของผู้นำ และผู้ตาม กับผลดีที่จะพึงได้ด้วยกาลสมัย

ทายก หรือ ผู้นำในกาลทานนี้ หมายถึงผู้มีหน้าที่ที่จะชักชวนผู้อื่นให้มาร่วมทำบุญทำกุศล ต้องมีธรรมะหรือคุณสมบัติอันงาม 4 ประการ คือ

1. สปัญญา เป็นผู้มีปัญญา รอบรู้ในกิจการทางพระศาสนา รู้บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ และที่ไม่ใช่ประโยชน์

2. วทัญญู เป็นผู้มีปรกติฉลาดในการพูด รู้จักชักชวนให้ผู้คนทั้งหลายเห็นด้วยคล้อยตาม สมัครใจมาทำบุญทำกุศลร่วมกับตน และคณะ

3. วีตมัจฉรา เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว คือ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว เสียสละเพื่อทำประโยชน์ส่วนรวม ไม่คิดเอาเปรียบหรือข่มเหงผู้อื้น แต่กระทำเพื่อความเจริญศรัทธาของสาธารณชน

4. กาเลน ทินนัง อริเยสุ เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระอริยเจ้า เพื่อก้าวสู่ความเป็นอริยชน ตามรอยธรรมของพระบรมศาสดา

ซึ่งคุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้ เป็นคุณสมบัติของทายกคือผู้นำในการบุญการกุศล ปรากฏอยู่ในกาลทานสุตตคาถา ดังกล่าวแล้ว นี้คือประวัติการรับผ้ากฐินและอานิสงส์โดยย่อ ที่เกิดแก่ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน

จึงขอเรียนเชิญท่านผู้ใฝ่บุบุญทั้งหลาย มาทอดกฐินร่วมกัน ที่วัดทุ่งเศรษฐี แคลิฟอร์เนีย ด้วยกัน ในวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม ศกนี้ และทุก ๆ ปี เพื่อสืบอารยะประเพณีมั่นคงยาวนาน โดยพร้อมเพียงกันสืบไป ขอความเจริญงอกงามไพบูลย์จงปรากฏแก่ท่าน อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ขอเจริญพร